คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง : “พิธีเกี่ยวกับความตายในศาสนาพราหมณ์-ฮินดู”

คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง

ท่ามกลางความโศกเศร้าของพสกนิกรทั้งปวง คอลัมน์ “ผีพราหมณ์พุทธ” ขอร่วมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศ ร่วมกับพี่น้องชาวไทย จึงขอเสนอเรื่อง “พิธีกรรมเกี่ยวกับการตายในศาสนาพราหมณ์-ฮินดู”

เนื่องเพราะโบราณราชประเพณีของไทยเรานั้นมีกิจพิธีของศาสนาพราหมณ์เป็นส่วนสำคัญ และเป็นการประดับความรู้แก่ท่านผู้อ่านเท่าที่สติปัญญาของผมจะเอื้ออำนวย

ทั้งนี้ จะขอกล่าวถึงพิธีกระทำในพราหมณ์อินเดียหรือชาวฮินดูทั่วไปเป็นหลัก และเทียบเคียงกับของไทยบ้าง

 

ในไทย เครื่องประกอบพระศพและพระบรมศพนั้นคือ “พระโกศ” คำว่า “โกศ” เป็นภาษาสันกฤตหมายความว่า “เครื่องห่อหุ้ม”

แต่แม้พระโกศจะมีชื่อเรียกด้วยภาษาสันสกฤต แต่ในประเพณีของพราหมณ์ฮินดู ไม่มีการใช้ “โกศ” ในการพิธีศพแต่อย่างใด

โกศที่มักใช้กันในศัพท์ทางศาสนาและปรัชญาอินเดีย หมายถึงเครื่องห่อหุ้ม “อาตมัน” ในสรรพชีพซึ่งประกอบด้วยชั้นต่างๆ ห้าชั้น เรียกว่า ปัญจโกศ

ชั้นนอกสุดเรียกว่า อันนมัยโกศ แปลว่าเครื่องห่อหุ้มอันประกอบด้วยอาหาร (อันนะ) หมายถึงกายเนื้อของเรา เพราะร่างกายของเราก่อขึ้นด้วยอาหาร เรื่อยไปถึงชั้นในสุดเรียกว่า อานันทมัยโกศ หมายถึงเครื่องห่อหุ้มอันประกอบด้วยอานันทสุข

คำสอนนี้มีปรากฏในอุปนิษัทและปรัชญาฝ่ายเวทานตะ ท่านว่าอาตมันของคนไม่ปรากฏชัดแจ้งก็เพราะมีโกศเหล่านี้ห่อหุ้มไว้

 

แต่โกศในฐานะเครื่องใช้ในพิธีศพนั้นไม่มี ที่จริงแม้แต่โลงหรือหีบศพก็ไม่มีการใช้ เพราะชาวฮินดูไม่เก็บศพไว้นาน เมื่อมีผู้วายชนม์ก็จะห่อหุ้มศพด้วยผ้าประดับด้วยดอกไม้ วางบนแคร่และนำไปประชุมเพลิงทันที

ระหว่างหามไปเผาที่ริมแม่น้ำ ญาติพี่น้องจะเปล่งคำว่า “รามนาม สัตยา แฮ” แปลว่าพระนามของพระรามเท่านั้นจริงแท้ นัยว่าบอกทางผู้ตายให้ระลึกถึงพระเป็นเจ้า หรืออีกนัยหนึ่งคือบอกว่า สรรพสิ่งล้วนไม่จีรัง มีก็แต่พระนามของพระเป็นเจ้าเท่านั้นที่จริง เล่ากันว่าแม้แต่พระศิวะผู้สถิตในป่าช้าแห่งจักรวาลคือพาราณสีนั้นก็ท่องรามนามอยู่เป็นนิตย์

โกศจึงเป็นของพิธีศพในอุษาคเนย์ ซึ่งเป็นของ “ก่อนอินเดีย” คุณสุจิตต์ วงษ์เทศ (หนังสือพระเมรุ ทำไม? มาจากไหน?) ท่านว่าพัฒนามาจากพิธีศพครั้งที่สอง คือเก็บศพจนเน่าเปื่อยแล้วจึงค่อยนำกระดูกไปบรรจุในภาชนะ เช่น ไห (ไม่ว่าจะหินหรือดินเผา) แล้วฝังไว้ จนพัฒนามาเป็นโกศในปัจจุบัน

ต่อเมื่อรับศาสนาจากอินเดีย จึงเปลี่ยนจากฝังมาเป็นเผา

ของเราแม้เผาแล้วก็ยังต้องเก็บอัฐิใส่โกศ เก็บไว้ที่บ้านหรือวัดแล้วนำมาทำบุญหรือสักการะตามโอกาส

การเก็บอัฐิไว้นี้ของพราหมณ์ไม่ทำเลย เมื่อเผาศพเสร็จแล้วนำอัฐิใส่ไหดินเผา และจะนำไปโปรยที่แม่น้ำจนหมด

 

แต่อาจมีผู้เถียงว่า ก็พระพุทธเจ้ายังถวายพระเพลิงแล้วเก็บพระสารีริกธาตุใส่โถไปบรรจุในเจติยสถานต่างๆ แสดงว่าอินเดียก็ต้องมีประเพณีเก็บกระดูกใส่โกศ

ผมเข้าใจว่าอย่างนี้ครับ ในสมัยก่อนประวัติศาสตร์อินเดียคงได้มีการฝังศพเหมือนกับบ้านเรา แล้วตั้งเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ แต่ต่อมาเมื่อศาสนาฮินดูแพร่หลายแล้ว จึงมักเผาศพแทน กระนั้นก็มีบุคคลที่จะไม่ทำศพด้วยการเผา เช่น เด็กที่ยังไม่มีฟันแท้ หรือสตรีที่ไม่มีสามี เขามักถ่วงน้ำ และที่สำคัญคือ “นักบวช” หรือสันยาสี

นักบวชนั้นเมื่อสิ้นชีวิต ถ้าปรารถนาจะสละทุกสิ่ง ก็มักให้ศิษย์ถ่วงศพหรือลอยศพไปตามน้ำ แต่โดยมากศิษย์มักอยากจะเก็บสรีระไว้เป็นที่ระลึกและสักการะ จึงมักฝังศพในดิน

การตายของนักบวชนั้นถือว่าเป็น การเข้า “มหาสมาธิ” คือไม่ได้ตายในความหมายทั่วๆ ไป แต่เป็นการเข้าสู่สมาธิอันยิ่งใหญ่ อย่างสงบลึกล้ำ

การทำศพนักบวชจะจัดให้อยู่ในท่านั่งสมาธิแล้วฝังไว้ใต้ดินโดยขุดลงไปลึกพอสมควร ฝังแล้วทำเนินดินหรือแท่นศิลาไว้ด้านบนเพื่อเป็นอนุสรณ์สถาน หากนับถือไวษณวนิกาย แท่นเหนือหลุมศพจะเป็นที่ปลูกต้นกะเพราหรือต้นตุลสี เรียกอนุสรณ์สถานแบบนี้ว่า “พฤนทาวัน” หรือป่าแห่งความรักของพระกฤษณะ

ผมเข้าใจว่าพุทธองค์และหมู่สงฆ์คงต้องการให้ถวายพระเพลิงพระศพแทนการฝังอย่างนักบวชนอกพุทธศาสนา คงด้วยเพราะการเผาเป็นการทำศพของคนธรรมดาๆ เสร็จแล้วก็โปรยทิ้งไป สอดคล้องกับคำสอนเรื่องไม่ยึดมั่นถือมั่น และคงไม่ประสงค์จะให้เป็นดั่งคตินิยมลัทธิศาสนาอื่น

แต่สุดท้ายบรรดากษัตริย์ในชมพูทวีปนั้นคงเคยชินกับการตั้งเจติยสถานอันเป็นที่บรรจุศพของนักบวชตามประเพณีเดิมของตน จึงขอแบ่งพระสารีริกธาตุไปบรรจุยังเจติยสถานในแว่นแคว้นทั้งหลาย

การบรรจุศพหรืออัฐิในโกศจึงเป็นของอุษาคเนย์อย่างที่คุณสุจิตต์ท่านว่า ที่สำคัญอินเดียไม่มีประเพณีดองศพไว้นานๆ แล้วค่อยทำการปลงทีหลัง คือไม่มีพิธีการตายสองครั้ง

 

พิธีศพในศาสนาพราหมณ์-ฮินดูนั้น เรียกว่า อันตเยษฏิ หรืออันตกรณะ หมายถึงบูชายัญสุดท้าย หรือกิจสุดท้าย เป็นพิธีกรรมประเภท “สัมสการ” หรือ สังสการ

สัมสการ แปลว่า “ความสืบเนื่อง” หมายถึงพิธีกรรมตลอดชีวิตคนเรา เพื่อเปลี่ยนผ่านไปสู่ภาวะต่างๆ มีทั้งสิ้น 16 ประการ นับตั้งแต่เกิดไปจนตาย

คำนี้ในเราก็รับมาใช้ เช่นในภาคเหนือเรียกพิธีศพเจ้านายว่า “ส่งสการ” หรือในตำนานพราหมณ์เมืองนครฯ เรียก “สรงการศพ”

อันตกรณะมีความแตกต่างกันไปในแต่ละท้องถิ่นและนิกาย แต่พิธีกรรมหลักๆ เหมือนกัน คือการเผาศพ

ญาติพี่น้องจะหามศพไปที่แม่น้ำ ไปสู่บริเวณเผาศพ ซื้อไม้ฟืน ถ้ามีเงินก็ใช้ไม้หอมเช่นไม้จันทน์ ชำระศพด้วยน้ำศักดิ์สิทธิ์ ให้กลืนน้ำศักดิ์สิทธิ์หรือใบกะเพรา ประพรมศพด้วยเนย แล้วผู้สืบสกุลหรือผู้ “สปิณฑะ” (ร่วมข้าวบิณฑ์คือถวายข้าวบิณฑ์ให้ผู้ตายได้ตามลำดับ) จุดไฟเผาศพ

ที่น่าสนใจคือ จะมีหม้อดินเผาใส่น้ำใบหนึ่ง ก่อนจะเผาศพ ผู้เผาจะทุบหม้อน้ำนี้และวางไว้ข้างศีรษะผู้ตาย (คล้ายทุบมะพร้าวบ้านเรา) และเมื่อเผาไหม้แล้วจะทำพิธี “กปาล กิริยา” คือใช้ไม้ไผ่เจาะกะโหลกให้เป็นรูหรือแตก เพื่อให้ดวงวิญญาณออกจากร่างกาย

เสร็จแล้วเก็บอัฐิไปลอยน้ำ ในระหว่างนั้นต้องถวายอาหารและน้ำแก่ผู้ตายอย่างน้อยสามวันทั้งเช้าและเย็น จะต้องไว้ทุกข์อย่างน้อยสิบถึงสิบหกวัน โดยการกินแต่อาหารง่ายๆ ที่ไม่มีเกลือปรุงรส และทำบุญให้ทานตลอดช่วงนั้น

ที่สำคัญฝ่ายชายจะต้องโกนศีรษะ (เหลือปอยที่ท้ายทอยไว้หน่อยหนึ่ง สำหรับเป็นมวยผม เรียกว่าศิขา เป็นสัญลักษณ์ของชาวฮินดู)

ผมจึงเข้าใจว่าการพิธีพระศพเจ้านายของเราที่ข้าราชบริพารและราษฎร์โกนศีรษะรับมาจากอินเดีย

 

แต่ต่างกับพิธีของพราหมณ์ไทยในพระราชสำนักซึ่งจะไม่โกนผมอย่างพราหมณ์อินเดีย เพราะถือว่าการโกนผมเป็น “ปาราชิก” เพียงแต่จะปลดมวยสยายผมเข้าในกระบวนพิธี (เรียกในหน้าที่นี้ว่านาลิวัน) ซึ่งปกติพราหมณ์จะไม่ปลดมวยผมให้ผู้ใดเห็น การสยายผมจึงเป็นการแสดงความอาลัยโศกเศร้า

สำหรับชาวฮินดู การตายนั้นจึงเป็นการเปลี่ยนผ่านไปสู่ภพภูมิอื่น และจะต้องกลับมาเวียนว่ายในสังสารวัฏจนกว่าจะบรรลุโมกษะ ผู้ตายอาจไปสู่โลกของบรรพบุรุษหรือ ปิตฤโลก (โลกของเทพบิดร) กลายเป็นปิตฤ (ภาคใต้เราเรียกเปรต หมายถึงผีบรรพชน)

หรือหากมีศรัทธากล้า ก็อาจได้รับพระกรุณาของพระเจ้าให้ไปสู่ ไวกุณฑโลกของพระวิษณุ หรือสวรรค์ของเทพยเจ้าที่ตนนับถือโดยมิต้องกลับมาเวียนว่ายตายเกิดอีก

ทัศนคติและพิธีกรรมเรื่องความตายของพุทธ ฮินดู และศาสนาต่างๆ ในอินเดียคล้ายกัน เน้นความเป็นอนิจจังหรือความไม่เที่ยง และต่างน้อมนำให้เกิดการใคร่ครวญพินิจต่อชีวิตอย่างลึกซึ้ง