นงนุช สิงหเดชะ/’มหาธีร์’ คัมแบ๊กในสไตล์เดิม ‘ชน’ มหาอำนาจ (จีน)

บทความพิเศษ / นงนุช สิงหเดชะ

 

‘มหาธีร์’ คัมแบ๊กในสไตล์เดิม

‘ชน’ มหาอำนาจ (จีน)

เรียกได้ว่าไม่ทำให้แฟนพันธุ์แท้ผิดหวัง สำหรับมหาธีร์ โมฮัมหมัด ซึ่งกลับมาเป็นผู้นำมาเลเซียอีกครั้ง หลังจากชนะเลือกตั้งครั้งประวัติศาสตร์เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา และนายนาจิบ ราซัก ถูกโค่นล้มไป เพราะชาวมาเลเซียไม่พอใจปัญหาคอร์รัปชั่นกองทุนเพื่อการพัฒนาแห่งมาเลเซีย (กองทุน 1 MDB) ที่เกิดความอื้อฉาวระดับโลก
มหาธีร์เคยเป็นนายกรัฐมนตรีมาเลเซียที่ครองตำแหน่งติดต่อกันยาวนานที่สุด 22 ปี ก่อนจะวางมือไปเมื่อปี 2545 และส่งไม้ต่อให้กับอับดุลลาห์ บาดาวี และนาจิบ ราซัก ตามลำดับ
แต่ปัญหาคอร์รัปชั่นครั้งใหญ่ในกองทุนดังกล่าว ที่นายนาจิบถูกกล่าวหาว่ายักยอกเงินเข้ากระเป๋าส่วนตัวถึง 700 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
ทำให้มหาธีร์กลายมาเป็นหัวหอกวิพากษ์วิจารณ์และโจมตีนายนาจิบ และท้ายที่สุดลงสมัครรับเลือกตั้งจนได้รับชัยชนะ ทำให้เป็นนายกฯ ที่มีอายุมากที่สุดในโลกด้วยวัย 92 ปี
มหาธีร์ได้ชื่อว่าเป็นผู้นำที่มีความโดดเด่นในเรื่องการไม่ยอมก้มหัวให้กับชาติตะวันตก โดยเฉพาะอเมริกา โดยช่วงที่ดำรงตำแหน่งรอบแรกนั้นได้ชื่อว่าฝีปากกล้า ตอบโต้และวิพากษ์วิจารณ์ประเทศมหาอำนาจจากซีกตะวันตกอย่างสม่ำเสมอ พยายามยืนหยัดในวิถีเอเชีย ได้รับการยกย่องว่านำมาเลเซียไปสู่ยุคใหม่ มีความเจริญก้าวหน้าทางเศรษฐกิจ
ช่วงเกิดวิกฤตต้มยำกุ้งปี 2540 สามารถนำพามาเลเซียรอดพ้นภัยเศรษฐกิจครั้งใหญ่ไปได้โดยไม่พึ่งไอเอ็มเอฟ และไม่ยอมใช้วิธีตามที่ตะวันตกแนะนำ นั่นคือไม่ยอมปล่อยค่าเงินลอยตัว

การกลับมาครั้งนี้มหาธีร์ยังคงสไตล์เดิม นั่นคือ “ชน” กับมหาอำนาจในเอเชียอย่างจีน หลังจากจีนผงาดขึ้นอย่างรวดเร็วในเชิงเศรษฐกิจจนเป็นเบอร์สองรองจากอเมริกา
แต่ก่อนต้องชนกับอเมริกาเป็นหลัก แต่รอบนี้ต้องชนกับจีน ซึ่งปฐมเหตุก็เกิดจากโครงการ “หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” หรือโครงการสายไหมศตวรรษที่ 21 มูลค่า 1 ล้านล้านดอลลาร์ ที่จีนเป็นผู้ริเริ่ม
โครงการเส้นทางสายไหมดังกล่าวพาดผ่านประมาณ 70 ประเทศ มีทั้งถนน ท่อก๊าซ ท่อน้ำมัน ทางรถไฟ ท่าเรือ ซึ่งตามวัตถุประสงค์ที่แถลงไว้ของจีนก็เพื่อเพิ่มพูนการค้าและเศรษฐกิจโลก
แต่ในสายตาของมหาอำนาจเดิมอย่างอเมริกาและอีกหลายประเทศ โครงการนี้ถูกมองด้วยความหวาดระแวงไม่ไว้ใจ เพราะเชื่อว่าเป้าหมายหลักคือการแผ่อิทธิพลของจีนไปทั่วโลก
มาเลเซียเป็นหนึ่งในประเทศที่ลงทุนก่อสร้างโครงการในฐานะส่วนหนึ่งของเส้นทางสายไหม โดยรัฐบาลนายนาจิบ ราซัก เป็นผู้เข้าร่วม
แต่หลังจากมหาธีร์ชนะเลือกตั้ง ได้ประกาศทันทีว่าจะ “ระงับ” 2 โครงการในเส้นทางสายไหมเอาไว้ก่อน ได้แก่ โครงข่ายทางรถไฟเชื่อมต่อชายฝั่งทะเลตะวันออกของมาเลเซีย และโครงการวางท่อก๊าซ มูลค่าประมาณ 2.2 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยทั้งสองโครงการมีบริษัทจีนเป็นผู้รับเหมาก่อสร้าง และกู้เงินจากจีน
แต่สุดท้ายหลังจากไปเยือนจีนเมื่อสัปดาห์ที่ 3 ของเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา มหาธีร์แถลงว่าจะ “ยกเลิก” โครงการ เพราะมาเลเซียคงไม่มีปัญญาจ่าย อีกทั้งไม่มีความจำเป็นและไปไม่รอดในเชิงเศรษฐกิจ
นอกจากนี้มาเลเซียต้องการลดปัญหาหนี้ของประเทศก่อนเป็นอันดับแรก เพราะมีหนี้อยู่ราว 2.5 แสนล้านดอลลาร์ ซึ่งส่วนหนึ่งก็เป็นหนี้ที่กู้ยืมจากจีนอันเนื่องจากเส้นทางสายไหมดังกล่าว

ในการแถลงข่าวที่จีนนั้น มหาธีร์ยังฝีปากกล้าเช่นเดิม เพราะใช้คำว่า “เราไม่อยากเห็นลัทธิอาณานิคมเวอร์ชั่นใหม่” ที่ประเทศยากจนไม่สามารถแข่งขันกับประเทศรวย
เหตุที่มหาธีร์เห็นว่าโครงการนี้ของจีนเป็นลัทธิอาณานิคมสมัยใหม่นั้น เนื่องจากรูปแบบที่จีนดำเนินการนั้น เป็นการวางกับดักหนี้ให้กับประเทศที่อ่อนแอ โดยมีการเสนอให้กู้ยืมเงิน แถมผู้รับเหมาก่อสร้างก็จะเป็นบริษัทจากจีน เมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จ และไม่ประสบความสำเร็จทางธุรกิจ และประเทศที่กู้ยืมเงินนั้นไม่สามารถชำระหนี้ให้กับจีนได้ จีนจะถือโอกาสเทกโอเวอร์โครงการไป
ก่อนหน้านี้มหาธีร์ให้สัมภาษณ์กับสื่ออเมริกันอย่างนิวยอร์ก ไทม์ส ว่า พวกเขา (จีน) รู้ว่าเมื่อให้เงินกู้ก้อนใหญ่แก่ประเทศยากจน สุดท้ายแล้วพวกเขาก็อาจเทกโอเวอร์โครงการไปเป็นของตัวเอง จีนรู้เป็นอย่างดีว่าในอดีตจีนเคยถูกชาติตะวันตกปฏิบัติด้วยสัญญาที่ไม่เท่าเทียมมาแล้ว ดังนั้น จีนก็ควรเห็นอกเห็นใจเรา
สิ่งที่มหาธีร์พูดหมายถึง ในอดีตนั้นจีนได้รับความขมขื่นไม่เป็นธรรมจากชาติตะวันตกมาแล้วหลังจากแพ้สงครามฝิ่น ดังนั้น จีนก็ไม่ควรทำแบบเดียวกันกับชาติอื่น

สื่อของมาเลเซียอย่างนิว สเตรตไทม์ส ระบุว่า ปัญหาดังกล่าวเกิดขึ้นแล้วกับหลายประเทศทั้งศรีลังกา พม่า จิบูตี มอนเตเนโกร เมื่อพบว่าโครงการเส้นทางสายไหมไม่ได้ให้ประโยชน์แก่คนท้องถิ่นมากนัก เนื่องจากการประมูลงานใช้ระบบปิดทำให้ราคาก่อสร้างสูงเกินจริง อีกทั้งจีนก็นำแรงงานมาเอง กระทบต่อแรงงานในท้องถิ่น
ขณะที่นายลิม กวน อึ้ง รัฐมนตรีคลังมาเลเซีย พูดอย่างตรงไปตรงมาว่า มาเลเซียไม่อยากมีสภาพเหมือนศรีลังกา ที่ลงทุนก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกตามโครงการเส้นทางสายไหม โดยกู้ยืมเงินจีนและมีบริษัทจีนเป็นผู้ก่อสร้าง แต่ไม่ประสบความสำเร็จในเชิงธุรกิจ ทำให้ไม่สามารถชำระหนี้ได้
สุดท้ายต้องยอมให้จีนเช่าท่าเรือและที่ดินใกล้เคียงเป็นเวลาถึง 99 ปี ทำให้จีนคว้าทำเลทองที่มีการขนส่งทางเรือหนาแน่นที่สุด

สําหรับกรณีของมาเลเซียนั้น คาดว่าประเด็นใหญ่ที่ทำให้มหาธีร์ต้องยกเลิกโครงการ น่าจะเป็นเรื่องที่พบว่าบริษัทก่อสร้างจากจีนที่ชนะการประมูลไปนั้น โก่งราคางานไปหลายพันล้านดอลลาร์ ทั้งที่หากให้บริษัทมาเลเซียก่อสร้าง ก็จะใช้เงินไม่ถึงครึ่งของบริษัทจีน
สำคัญไปกว่านั้นก็คือ เงินที่โก่งราคาไปหลายพันล้านดอลลาร์ ถูกนำไปปลดเปลื้องหนี้ให้กับกองทุน 1 MDB ที่ประสบปัญหาขาดทุนในสมัยของนายนาจิบ
นอกจากนี้ยังพบว่าในช่วงที่กองทุนดังกล่าวขาดทุนและต้องขายทรัพย์สินออกไปอย่างเร่งด่วน ปรากฏว่าบริษัทวิสาหกิจขนาดใหญ่ของจีน 2 แห่งได้เข้ามาซื้อ ทำให้เกิดความสงสัยว่าจีนพอใจที่จะช่วยเหลือรัฐบาลนายนาจิบให้อยู่ในตำแหน่งต่อไป ซึ่งก็หมายถึงว่าจะเป็นผลดีต่อการสานต่อโครงการเส้นทางสายไหมของจีนในมาเลเซีย
อย่างไรก็ตาม น่าประหลาดใจที่สื่อของจีนไม่ได้มีปฏิกิริยาใดๆ เลยต่อการที่มาเลเซียยกเลิกโครงการ และไม่มีการตอบโต้ใดๆ ต่อคำให้สัมภาษณ์ของมหาธีร์ ทั้งที่ว่าไปแล้วคำพูดของมหาธีร์ถือว่าแรงทีเดียว
เป็นไปได้ที่จีนไม่ต้องการขยายประเด็นนี้ให้เอิกเกริก เพราะอาจกลายเป็นเรื่องเสียหน้าและอาจมีผลทางจิตวิทยาต่อประเทศอื่นให้เอาอย่างตาม