ปริญญากร วรวรรณ : “ได้เรื่อง”

ม.ล.ปริญญากร วรวรรณ

มีหลายเรื่องราวที่เรามักได้ยินได้ฟังอยู่บ่อยๆ เป็นเรื่องง่ายๆ ที่รู้และมีคนพูดมากมาย เรื่องง่ายๆ ที่รู้ แต่ทำความเข้าใจได้ยาก

เช่น คำพูดที่ว่า “เราจะรู้คุณค่าสิ่งใดก็ต่อมเมื่อสูญเสียไปแล้ว หรือเมื่อขาดสิ่งนั้นๆ ไป ถึงรู้ว่าสิ่งที่ขาดหายไปนั้นมีประโยชน์หรือเราคิดถึงมากแค่ไหน” อะไรทำนองนี้

ในกรณีนี้ผมหมายถึงแสงแดด

ร่วมสองสัปดาห์ในป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันตก ผมไม่พบเห็นแสงแดดแม้แต่แสงดาวระยิบระยับยามค่ำคืน ตลอดวันและตลอดคืนเราอยู่ภายใต้ท้องฟ้าอันมีเมฆฉ่ำฝน

ช่วงเช้าฝนขาดหายไป แต่จากเวลาสายๆ ไปจนกระทั่งกลางคืนเป็นเวลาของฝนหนักสลับเบา

การขาดหายไปของแสงแดด ส่งผล “กระทบ” ต่อชีวิตประจำวันของคนในป่าบ้าง

เรื่องเส้นทางสัญจรหรือระดับน้ำในลำห้วยสูงเกินกว่าจะผ่านได้ หรือต้นไม้ล้มขวางเส้นทาง อะไรเหล่านี้คือเรื่องปกติ

หากมีเรื่องฉุกเฉินเร่งด่วน คนในป่าจะใช้วิธีเดินด้วยเท้า ระยะทางสัก 40 กิโลเมตร ใช้เวลาหนึ่งวันอยู่ในระยะปกติ

แน่นอนว่านี่ไม่ใช่การเดินไปบนทางเรียบๆ แต่ไปตามเส้นทางที่รถแล่นไว้เป็นร่องลึก โคลนลื่นไถล และขึ้น-ลง รวมทั้งลัดเลาะไปตามสันเขา บางครั้งเดินไปตามลำห้วยร่วม 5 กิโลเมตร

สิ่งที่กระทบจริงๆ เพราะไม่มีแสงแดด อย่างแรกคือเรื่องการสื่อสาร ไม่มีแสงแดดเพื่อผลิตพลังงานแสงอาทิตย์ สถานีแม่ข่ายเขาพระฤๅษีจึงจำเป็นต้องปิดสถานีเพราะขาดพลังงาน

เมื่อสถานีเขาพระฤๅษีหยุดการส่งข่าว ทุกหน่วยพิทักษ์ป่าก็คล้ายกับตัดขาดจากโลกภายนอก

ชุดลาดตระเวนต้องส่งข้อมูลให้สำนักงานเพื่อรวบรวมและนำเสนอในที่ประชุม ร่วมกันวิเคราะห์หาทางป้องกันปัจจัยคุกคามที่มี นี่คือส่วนหนึ่งของงานลาดตระเวนเชิงคุณภาพ

“ตอนนี้เราเริ่มเปลี่ยนระบบการจดข้อมูลในพื้นที่แล้วครับ” สิทธิชัย จินามอย เจ้าหน้าที่สมาคมอนุรักษ์สัตว์ป่า (WCS) ประเทศไทยบอก

“เราพัฒนาโปรแกรมให้เจ้าหน้าที่บันทึกลงเครื่องจีพีเอส ไม่ต้องจดลงกระดาษ พอกลับถึงหน่วยก็ส่งข้อมูลนั้นทางอินเตอร์เน็ต ให้ผู้รวบรวมข้อมูลที่สำนักงานเขตได้เลยครับ”

สิทธิชัยเล่าถึงโครงการที่สมาคมอนุรักษ์สัตว์ป่า ร่วมกับกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เพื่อพัฒนาระบบการลาดตระเวนเชิงคุณภาพ ซึ่งเป็นเครื่องมือสำหรับงานปกป้องชีวิตสัตว์ป่าและแหล่งอาศัยของพวกมันได้ดี

“งานต่อไปคือการพัฒนาให้หน่วยพิทักษ์ป่าสามารถใช้อินเตอร์เน็ตได้ครับ ตอนนี้ทำไปหลายหน่วยแล้ว” ขบวนการค้าสัตว์ป่าพัฒนาไปมาก งานป้องกันดูแลสัตว์ป่าก็พัฒนาไปไกลเช่นกัน

 

อยู่ในป่าเรารู้และยอมรับว่าแม้เทคโนโลยีจะพัฒนาไปไกลช่วยให้การทำงานในป่าไม่ได้อยู่ในสภาพ “อยู่หลังเขา” เหมือนที่ผ่านๆ มา

กระนั้นก็เถอะธรรมชาติยังเป็นผู้กำหนดไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเดินทางหรือเรื่องพลังงาน การสื่อสาร ในยุคก่อนเรามีเพียงวิทยุทรานซิสเตอร์ซึ่งต้องเป็นยี่ห้อ “ธานินทร์” เท่านั้นจึงจะรับฟังข่าวสารหรือเพลงจากสถานีในเมืองได้

ถึงวันนี้ทุกหน่วยพิทักษ์ป่ามีจานรับสัญญาณโทรทัศน์เพื่อดูละคร ข่าว กีฬา โดยเฉพาะวอลเลย์บอลและฟุตบอล

อยู่ในหน่วยพิทักษ์ป่าผมเพิ่งรู้ว่ามีรายการมวยมากมายจริงๆ หลายช่องพยายามแข่งขันการชกมวยให้สนุก ตื่นเต้น ทีวีเงียบสนิทเมื่อเกิดการขาดหายไปของแสงแดด

การไม่ได้ดูข่าวช่องไทยรัฐทีวี ช่วงเช้า ทำให้หลายคนบ่นเสียดาย เหตุผลหลักๆ น่าจะอยู่ที่ผู้ประกาศข่าวสาว 3 คนนั่นเอง

 

ปลายสัปดาห์ที่สอง แสงแดดเริ่มกลับมา แสงอ่อนละมุนสาดส่องผ่านแนวต้นไม้ตั้งแต่เช้ากระทบเกล็ดน้ำที่เกาะบนยอดหญ้าเขียวๆ สะท้อนเป็นเงาแวววาว ชะนีส่งเสียงเช่นเดียวกับนกหลายชนิดบินไป-มาอย่างร่าเริง

แสงแดดกลับมาพร้อมๆ กับผู้ชายคนหนึ่ง เขาคือชายหนุ่มอายุต้น 40 ชื่อ ก๊อง ผมเคยเขียนถึงเขามาครั้งหนึ่งแล้ว ก๊องเป็นคนที่ทุกคนในป่าทุ่งใหญ่ตะวันตกรู้จักอย่างดี เขาอยู่บ้านจะแก ความเป็นมาที่ นิรันดร์ น้องชายซึ่งทำงานอยู่ในหน่วยพิทักษ์ป่าเล่าให้ฟังว่า ช่วงเด็กๆ จนถึงอายุ 20 กว่าๆ ปกติดี แต่หลังจากไปได้เมียซึ่งเป็นบ้าน “กะเหรี่ยงนอก” และถูกทิ้งหรือเพราะสาเหตุอะไรไม่แน่ใจ ก็กลายเป็นคนขี้เมา เล่นการพนัน

“มันคงเล่นยามากไปด้วยครับตอนอยู่ฝั่งโน้น” นิรันดร์เล่า

“พอกลับมาอยู่บ้านไม่ยอมพูดจากับใคร มีอาการเพี้ยนๆ พาไปรักษาก็ไม่ดีขึ้น”

อาการ “เพี้ยนๆ” ของก๊องไม่เป็นพิษเป็นภัยกับใคร กิจวัตรประจำวันที่เขาทำคือ เดิน เริ่มต้นจากหมู่บ้านจะแก ออกไปทางหมู่บ้านเกาะสะเดิ่ง สเน่พ่อง ด้านอำเภอสังขละบุรี วนกลับมาทางเกริงกระเวีย เข้ามาบ้านห้วยเสือ หมู่บ้านคลิตี้ และเข้าป่าทุ่งใหญ่ ผ่านหน่วยพิทักษ์ป่าต่างๆ ไปถึงหมู่บ้านจะแก ถึงบ้านพักอยู่สักสัปดาห์สองสัปดาห์ ก็เริ่มต้นเดินอีก บางทีเริ่มออกมาทางป่าทุ่งใหญ่และออกไปเข้าทางสังขละฯ ไม่ว่าฤดูกาลใด ร้อน ฝน หรือหนาว

ในป่าทุ่งใหญ่ซึ่งฤดูฝน ฝนตกตลอดเวลา ฤดูหนาวสภาพอากาศต่ำกว่า 5 องศาเซลเซียส ก๊องเดินในชุดกางเกงขาสั้น เสื้อยืดสีมอมๆ อีกหนึ่งตัว สมบัติสำคัญที่มีติดตัวคือไฟแช็ก

ผมเคยพบเขาในห้องครัวของหน่วยพิทักษ์ป่า ไม่พูดจา คดข้าวใส่จานพูนๆ ตักแกงราด หยิบโน่นนี่เข้าปาก กินเสร็จก็เดินไปหามุมหนึ่งล้มตัวลงนอน

เขาตอบคำถามผมได้ดี บอกว่าเมื่อคืนนอนที่ไหนและพรุ่งนี้จะไปไหนต่อ ผมมองเขาที่อยู่ในชุดกางเกงและเสื้อบางๆ

“เราเคยเอาเสื้อกันหนาวให้ครับ” ศุภกิจ เล่า “เขารับไว้ แต่พอเดินไปสักพักก็โยนทิ้ง”

ก๊องทำให้ผมนึกถึงชายหนุ่มช่างซ่อมรองเท้าที่เจอกันในเมืองกูวาฮาตี รัฐอัสสัม ประเทศอินเดีย เขาใส่กางเกงขายาว เสื้อเชิ้ต หวีผมเรียบ ขี่จักรยานคันโตพร้อมกล่องเครื่องมือมาจอด ใช้หน้าโรงแรมเล็กๆ ที่ผมพักเป็นที่ทำงาน ผมเจอเขาทุกเช้า ส่งยิ้มทักทาย เอารองเท้าให้เขาซ่อม สิ่งที่สะดุดตาผมคือเขาไม่สวมรองเท้า ช่างซ่อมรองเท้าที่ไม่ใส่รองเท้า เขามองผมยิ้มๆ วันที่เราย้ายออกจากโรงแรมนั้นเพื่อเดินทางไปเมืองอื่น สัมภาระกองโตอยู่บนหลังคารถ

ช่างซ่อมรองเท้าแห่งเมืองกูวาฮาตี “สอน” ผมโดยไม่สอน ไม่มี ไม่ใช้ ไม่ต้องดูแลรักษา รู้แต่ยากที่จะทำ

 

“มาถึงตอนเย็นๆ พอถึงก็เข้าครัวและไปนอนหน้าบ้านนั่นแหละ” ศุภกิจหมายถึงก๊อง

“บอกเมื่อคืนนอนคลิตี้” หมายถึงวันนี้เขาเดินมากว่า 20 กิโลเมตร

ก๊องยังอยู่ในชุดเดิมๆ กางเกงขาสั้นเก่าๆ เสื้อยืดสีมอๆ ไม่ใส่รองเท้า เขาผงกหัวขึ้นมอง ขณะผมเดินผ่าน ไม่มีวี่แววว่าจะจำอะไรได้หรือทักทาย ผมเคยอยากรู้ว่าในโลกของเขาเป็นอย่างไร และเคยคิดว่าเขาอยู่ในโลกของเขาโดยไม่วุ่นวายกับใครๆ แท้จริงก๊องอยู่ในโลกที่เป็นโลกจริงๆ

โลกที่ชีวิตไม่ต้องการอะไร หิวกิน เหนื่อยหยุดพัก เช่นเดียวกับเหล่าสัตว์ป่า

ทั้งก๊องและสัตว์ป่ามีสิ่งที่เหมือนกัน และที่เหมือนอย่างยิ่งคือ “สอน” ใครๆ โดยไม่สอน

รุ่งเช้าก๊องกินข้าวเสร็จเดินจากไป แสงแดดส่องกระทบเกล็ดน้ำค้างเป็นเงาแวววาว สภาพรอบๆ ข้างเขาดูสวยงาม นี่คือโลกจริงๆ ของเขา “โลก” ที่เราเปลี่ยนสภาพมันจากเดิมมานานแล้ว

สภาพอากาศในป่าทุ่งใหญ่ที่ผ่านมาไม่ทำให้ผมได้งานนัก แต่ “เรื่อง” คือสิ่งที่ได้