จรัญ พงษ์จีน : ก้าวต่อไปของ “ซีพี” และวิธีทำธุรกิจแบบ “เจ้าสัวธนินท์”

จรัญ พงษ์จีน

ลึกแต่ไม่ลับฉบับนี้ขอเป็นฉบับพิเศษ ด้วยบทสัมภาษณ์ของเจ้าสัวธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานอาวุโสเครือเจริญโภคภัณฑ์ ทั้งวิสัยทัศน์ด้านการบริหารจัดการคน และการลงทุนของซีพี

ที่ “ลึกแต่ไม่ลับ” ได้สัมผัสมาอย่างเอ็กซ์คลูซีฟ

 

เรื่องการบริหารจัดการคน “เจ้าสัว” ให้ข้อคิดว่า คนยิ่งเก่งยิ่งอันตราย พอผิดผิดเรื่องใหญ่เลย ถ้าไม่เก่ง ผิดก็ผิดน้อย

ยิ่งเก่ง ยิ่งผิด แล้วไม่รู้จักผิด ผมครั้งเดียวก็ไม่เอา เพราะคุณเก่ง แต่คุณยังไม่รู้ แสดงว่าคุณก็ไม่เก่งจริง

ครั้งเดียวก็จบเลย ไม่มีครั้งที่สอง ยิ่งใหญ่ถ้าผิดแล้วยิ่งเสียหายหนัก แล้วคุณบอกว่าคุณทำงานใหญ่ได้เพราะคุณเก่ง

ถ้าเก่งแล้วไม่รู้จักผิด แล้วไม่กลัวทำผิด แต่กลัวว่าทำผิดแล้วไม่รู้

ผมไม่ได้กลัวว่า ไม่มีใครทำของใหม่ๆ แล้วไม่ผิด เราอาสาลองถูกลองผิดดู ถ้าทำเรื่องเก่า นี่อีกเรื่องหนึ่ง

แต่ยุคใหม่กำลังเปลี่ยนแปลง ทำเรื่องใหม่ยังไม่มีเส้นทางที่ชัด และมีโอกาสที่ผิดได้ แต่ถ้าวันนี้ผิดแล้วไม่แก้ ไม่ถูก

ไม่กำหนดว่าเขาผิดกี่ครั้ง แต่ถ้าเก่งแล้วผิดไม่รู้ผิด ครั้งเดียว ไม่มีครั้งที่สอง

ผมไม่กลัวเขาเก่ง กลัวทำผิดแล้วไม่รู้จักผิด ถ้าคนไม่เก่ง ผิดน้อย

ถ้าคนเก่งแล้วเราไว้วางใจให้ทำงานใหญ่ อาจทำให้บริษัทล้มละลายได้

ในยุคใหม่ จะไม่เหมือนยุคเก่า

ในยุคใหม่ เราอย่าเอาประสบการณ์ของรุ่นเก่าไปสอนเขา ต้องให้เขาลองถูกลองผิด อย่าชี้แนะ อย่าชี้นำ

บอกให้พวกเขาลองไปคิดดู แบบรุ่นเก่าอาจทำอย่างนี้ผิด แต่อาจไม่ผิดก็ได้ ประสบการณ์เรามองแบบรุ่นเก่าว่าผิด แต่รุ่นใหม่อาจจะไม่ผิดก็ได้ หรืออาจจะผิด แต่ต้องให้เขายอมผิด ถึงจะไปทางถูก เพราะเราก็ไม่รู้ว่านี่คือทางที่ถูก เพราะเราไม่เคยทำ

ถ้าเป็นเรื่องเก่าเราบอกเขาได้ แต่ถ้าเป็นเรื่องใหม่ ทำใหม่ รุ่นเก่าก็บอกเขาไม่ได้ ว่าทางนี้ผิด ต้องไปลอง

เจ้าสัวบอกว่า ปีหนึ่งในเครือทั่วโลกวางไว้ว่ารับคนรุ่นใหม่หนึ่งพันคนต่อปี เพราะเรามีพนักงานทั้งหมดสามแสนกว่าคน หนึ่งพันคนก็ไม่ได้เป็นเรื่องใหญ่ แล้วต้องทดแทน ทุกปีต้องมีรุ่นใหม่ทดแทน ถ้าขาดตอนจะมีช่วงหนึ่งไม่มีคนมาแทน

หาคนในหนึ่งพันที่จะมาเป็นผู้บริหารในอนาคตยาก ระดับเอบวกน้อย ในหนึ่งพันอาจมีหรือไม่มีพวกอัจฉริยะ เถ้าแก่ตัวจริง หายาก แต่ในวันนี้ผมใช้วิธีนี้ จะเร็ว คือ ผมเข้าไปหุ้นกับคนที่สำเร็จ แล้วสนับสนุนเขาเต็มที่ อย่าง start up หรือ SMEs คุณกำไรอยู่ แต่ทุนไม่พอ ตลาดต่างประเทศก็ไม่พร้อม ผมร่วมทุนกับคุณ ทุนผมพร้อม ตลาดต่างประเทศพร้อม แต่คนผมไม่พร้อม อย่างนี้จะเร็ว

ส่วนพันคนเราสร้างใหม่ ในสังคมที่มีคนสำเร็จแล้วก็ไปร่วมทุนกับเขา เราจะทำในธุรกิจอาหารและเกษตร ไม่มีข้อจำกัด แต่เกษตรคงจะมีน้อยคนที่จะสำเร็จ เพราะหนึ่ง ลงทุนสูง สอง ทุนกลับมาช้า พวก start up ไม่ไป ยิ่งฉลาดยิ่งไม่ไป งานเหนื่อย งานยาก งานอยู่ต่างจังหวัด อยู่ท้องถิ่น และในชีวิตเขาก็ไม่เคยไปสัมผัสท้องถิ่นต่างจังหวัด

เราจะต้องนำ เราต้องเอารุ่นใหม่ไปทดแทนรุ่นเก่า แต่รุ่นใหม่ทำงานสบาย ถ้าขับแทร็กเตอร์ ต้องติดแอร์ สเตอริโอ เป็นไฮดรอลิก ไม่สะเทือน ไม่เหมือนรุ่นเก่า เอวพังหมด เพราะแทร็กเตอร์รุ่นเก่าสะเทือนเหมือนรถถัง ในท้องนา บนถนนก็ขรุขระ เลยต้องมีไฮดรอลิก

จากสองสูง กลายเป็นสามสูง หนึ่งต่ำ ลงทุนสูง ประสิทธิภาพสูง คุณภาพสูง อันนี้เป็นเรื่องสำคัญ ถ้าเป็นอาหาร หรือเป็นอะไรก็ตาม สุดท้ายต้นทุนต้องต่ำ ยิ่งในเรื่องเกษตร ถ้าผลผลิตสูง ประสิทธิภาพสูง คุณภาพจะตามมา เราลงทุนสูง ก็ทำให้ประสิทธิภาพสูง ธุรกิจเกษตรแปลกตรงที่ ยิ่งประสิทธิภาพสูง ผลผลิต น้ำหนักยิ่งสูง ก็แสดงว่าต้นมันใหญ่ ต้นมีคุณภาพ ราคาแพงไปด้วย ธุรกิจเกษตรจะเป็นแบบนี้

ลงทุนสูงก็ธรรมชาติได้ แต่ไม่ใช่ปล่อยให้ธรรมชาติตามบุญตามเกิด นี่หมดยุคแล้ว นั่นมันเป็นการทำมาหากิน แล้วปล่อยให้หนอนหรืออะไรกินเหลือ แล้วเราค่อยกิน แล้วเรากินเหลือ ค่อยเอาไปขาย นี่คือการทำมาหากิน แต่ถ้าจะทำเป็นเศรษฐกิจ ไม่ใช่เราใช้ไฮเทคแล้วไม่เป็นธรรมชาติ เราใช้ไฮเทคแล้วผลิตสินค้าออกมาก็เป็นออร์แกนิกได้ ถ้าเราไม่จำเป็น เราก็ไม่ใส่ยาฆ่าแมลง หรือถ้าจำเป็นต้องใส่ ต้องหมดอายุของยาฆ่าแมลง หรืออย่าเอามาให้คนกิน หรือใช้ยาฆ่าแมลงที่ปลอดภัยต่อมนุษย์ หรืออาจใช้วิธี เช่น

วันนี้ผมปลูกข้าว ผมไม่ใช้ยาฆ่าแมลง แล้วจะใช้อะไร ปลูกข้าวมีรอบสี่เดือน แมลงมาสองครั้งแน่นอน ตอนที่งอกนุ่มๆ แมลงมากินยอด และอีกครั้งหนึ่ง ตอนออกดอกออกผล แมลงจะมาอีกแล้ว สองครั้ง ปกติจึงต้องพ่นยา แต่เราไม่ทำ เราใช้น้ำท่วมฆ่าแมลง ปล่อยน้ำให้ท่วมมิด เวลาน้ำท่วม นาข้าวอยู่ได้เต็มที่แปดชั่วโมงอยู่ในใต้น้ำ แมลงชั่วโมงหนึ่งก็ตายเรียบแล้ว หนูที่มีลูกอยู่ตามรูตามช่องก็ตายเกลี้ยง

นี่คือสิ่งที่ผมทำอยู่ที่กำแพงเพชร อยู่ในขั้นทดลองแต่สำเร็จแล้ว

 

เจ้าสัวธนินท์ย้ำว่า ซีพีเตรียมแผนที่จะลงทุนครั้งใหญ่ต้องใช้งบประมาณหลายแสนล้านบาท เพื่อสร้างเมืองใหม่ที่ฉะเชิงเทรา ใช้เนื้อที่ราว 10,000 ไร่ ภายใต้คอนเซ็ปต์ “สมาร์ท ซิตี้” วางผังเมืองและระบบสาธารณูปโภคแบบครบวงจร รวมทั้งบริการอื่นๆ ของเมืองให้อยู่ร่วมในจุดเดียวกัน มีทั้งโรงพยาบาล มหาวิทยาลัย ศูนย์การค้า

เหตุที่เลือกแปดริ้วเพื่อเป็นโครงการทดลอง เพราะสามารถเชื่อมต่อกับเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกหรืออีอีซี ซึ่งอยู่ไม่ห่างจากกรุงเทพฯ โดยก่อสร้างรถไฟฟ้าในระบบรางเชื่อมต่อเข้ามายังสถานีมักกะสันได้ภายใน 20 นาที ในเมืองที่จะสร้างจะใช้ระบบรีไซเคิลขยะให้เป็นศูนย์ แนวคิดเมืองใหม่รถจะต้องไม่ติด คนสามารถเดินไปทำงานได้ จำนวนประชากรต่อจุดต้องประมาณ 3 แสนคน เริ่มต้นจากแปดริ้ว ไปพัทยา และระยอง ทั้งหมด 20 แห่ง รองรับประชากร 6 ล้านคน

ทั้งนี้ ไม่ใช่ว่าซีพีจะลงทุนคนเดียว จะชักชวนนักธุรกิจไทยและต่างประเทศมาร่วมลงทุนด้วย