เครื่องเคียงข้างจอ/วัชระ แวววุฒินันท์

วัชระ แวววุฒินันท์

เครื่องเคียงข้างจอ / วัชระ แวววุฒินันท์

 

หน้าจอ…อันตราย

 

หน้าจอที่ผมเขียนถึงครั้งนี้ ไม่ได้เป็นหน้าจอโทรทัศน์เหมือนทุกครั้งที่ผ่านๆ มา

แต่เป็นหน้าจอของโลกโซเชียล ไม่ว่าจะเป็นจอพีซี จอแท็บเล็ต หรือจอมือถือก็ตาม

ที่เขียนถึงหน้าจอดังว่านี้ สืบเนื่องจากที่ผมได้ไปชมภาพยนตร์เรื่อง Searching หรือที่มีชื่อไทยว่า “เสิร์ชหา…สูญหาย” มานั่นเอง

ที่จะพูดถึงคืออิทธิพลของโลกข้อมูลข่าวสารที่เกลื่อนอยู่เต็มหน้าจอของคนทั้งโลกอยู่ในขณะนี้นั้น มันเป็นได้ทั้งเรื่องบวกและลบ

เมื่อยี่สิบปีก่อน ผมเคยได้ชมภาพยนตร์เรื่อง Enemy of the State ตอนนั้นก็รู้สึกได้ถึงอิทธิพลของดาวเทียมที่โคจรอยู่เหนือโลกเรา ว่าสามารถไล่จับติดตามเสาะหาคนเดินดินอย่างเราได้อย่างง่ายดาย ไม่ว่าจะไปทำอะไรที่ไหนกับใคร เจ้าดาวเทียมแสนรู้สามารถดมกลิ่นติดตามเราได้หมด

ตอนนั้นรู้สึกว่า แล้วมนุษย์เราๆ จะมีโลกส่วนตัวได้อย่างไร

ซึ่งเป็นที่รู้กันว่าเรื่องนี้ไม่ใช่เป็นแค่เรื่องจินตนาการในหนังเท่านั้น แต่มันเป็นเรื่องจริงที่ประเทศผู้มีอำนาจและเป็นเจ้าของเทคโนโลยีดาวเทียมทั้งหลายใช้เป็นเครื่องมือในด้านความมั่นคง รวมทั้งทำลายล้างศัตรู ดังที่ปรากฏเป็นข่าวให้ได้เห็นกัน

แต่สำหรับโลกโซเชียลนั้น ไม่ได้ว่าใครติดตามสืบเสาะหาเรา แต่เป็นเราเองนั่นแหละที่ทิ้งข้อมูลเบาะแสต่างๆ ที่เกี่ยวกับตัวเราไว้บนอุปกรณ์การสื่อสารสมัยใหม่

 

ในหนังเรื่อง Searching นี้ เล่าถึงเหตุการณ์ที่นักศึกษาสาวสัญชาติเกาหลีคนหนึ่งหายตัวไป ผู้เป็นพ่อไม่รู้จะติดตามหาลูกได้จากที่ไหน เบาะแสต่างๆ ที่พอจะหาได้ก็จะมาจากโน้ตบุ๊กของเธอที่ทิ้งไว้ แน่นอนที่จะมีประวัติการสื่อสารผ่านโซเชียลมีเดียในรูปแบบต่างๆ ทั้งเฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ เมสเซนเจอร์  อินสตาแกรม และเว็บไซต์ หรือแอพพลิเคชั่นต่างๆ

แต่นั่นก็เพียงพอที่ผู้เป็นพ่อจะปะติดปะต่อข้อมูลเข้าด้วยกัน และมอบให้กับนักสืบหญิงเจ้าของคดีได้ใช้ในการติดตาม

 

หนังพาเราเหมือนยืนอยู่ข้างๆ ผู้เป็นพ่อ แล้วค่อยๆ ได้รู้จัก “นางสาวมาโก้ คิม” ผู้ลูกจากการแกะรอยผ่านพฤติกรรมการใช้โซเชียลของเธอ ได้เห็นว่าเธอมีเพื่อนในแต่ละกลุ่มเป็นใครบ้าง ใครนั้นๆ หน้าตาประวัติอย่างไร เบอร์โทร.ที่ติดต่อได้คืออะไร

เราได้เห็นว่าเธอพูดคุยผ่านการแชตกับใครบ้าง

ได้เห็นว่าเธอเคยวิดีโอไลฟ์กี่ครั้ง ในเรื่องอะไรบ้าง และใครที่เข้ามาพูดคุยด้วยระหว่างการไลฟ์นั้น

ได้เห็นคลังรูปที่เธอเก็บไว้ นั่นทำให้เห็นถึงบุคลิกลักษณะอุปนิสัยของเธอ

ผมจะไม่เล่าอะไรมาก กลัวผู้ที่ยังไม่ได้ชมจะขัดใจ ไว้ไปดูเองแล้วกันนะครับ

แต่ที่จะเล่าต่อคือ ก็ด้วยข้อมูลต่างๆ ของเธอบนโลกโซเชียลนี่เองที่ทำให้ “ภัย” มาถึงตัวเธอ ผู้ประสงค์ร้ายใช้ข้อมูลที่เห็นแฝงตัวเข้ามาเพื่อวัตถุประสงค์บางอย่าง

และด้วยกลไกของเทคโนโลยี จึงมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลนั้นๆ ได้ จนเกิดเป็นข้อมูลใหม่ที่พาให้หลงทาง สืบเสาะได้ยาก…ช่างน่ากลัวจริงๆ

นี่เองที่ผมจึงจั่วหัวตอนนี้ว่า “หน้าจอ…อันตราย”

ซึ่งพอจะเห็นคล้อยตามได้ เพราะในทุกวันนี้ผมก็สามารถล่วงรู้ข้อมูลส่วนตัวของคนอื่นได้ไม่ยาก เพียงแต่เปิดดูเฟซบุ๊กของเขา ติดตามสิ่งที่เขาโพสต์ ก็จะรู้ถึงความเป็นเขาได้ถึงไหนๆ

เคยดูคลิปคลิปหนึ่งของเมืองนอกที่เขาไปแอบเก็บภาพมา โดยมีการตั้งกระโจมหมอดูแม่นๆ และเชิญชวนให้คนเข้ามาลองให้ทายดู ปรากฏว่าพ่อหมอสามารถทายเรื่องราวของคนเหล่านั้นได้อย่างแม่นยำจนคนที่มาดูต้องตาโตด้วยความประหลาดใจว่าทำไมช่างทายแม่นอย่างนั้น

แต่เมื่อเฉลย ก็ทำให้ทุกคนอึ้งกิมกี่ไปเลย โดยบอกว่าไม่ยากเลย เรื่องที่เอามาทายนั้นก็มาจากข้อมูลในเฟซบุ๊กของแต่ละคนนั่นเอง…เงิบละสิ

 

จากผลการสำรวจของดิจิตอลเอเยนซี่แห่งหนึ่งเมื่อต้นปี 2018 พบว่าประเทศไทยเป็นประเทศที่ใช้โซเชียลมีเดียมากที่สุดในโลก…น่าภูมิใจดีไหมเนี่ย?

เพราะจากข้อมูลเดียวกันนี้ชี้ว่า คำที่คนไทยเสิร์ชหาในกูเกิลมากที่สุด 5 อันดับแรก มีบอล / หนัง / ผลบอล / เฟซบุ๊ก / แปล โดยมีคำว่า “ตรวจหวย” ติดอยู่ในอันดับสูงเช่นกัน

ช่างเป็นคำที่บ่งบอกถึงสติปัญญาโดยแท้เทียว

ข้อมูลยังบอกอีกว่า ในประชากรของไทย 69.11 ล้านคน มีคนใช้โซเชียลมีเดียถึง 51 ล้านคน ใช้ Smart Device 46 ล้านคน และใช้เวลากับอินเตอร์เน็ตเฉลี่ย  9 ชั่วโมง 38 นาทีต่อวัน มากกว่าเวลานอนหลับของบางคนเสียอีก

คนไทยใช้เวลากับมือถือเฉลี่ย 4 ชั่วโมง 56 นาทีต่อวัน

และใช้เวลากับโซเชียลมีเดียเฉลี่ย 3 ชั่วโมง 10 นาที ต่อวัน

เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว น่ากลัวจังนะครับว่าคนไทยใช้เวลากับเรื่องนี้มากมายในชีวิต ซึ่งดูจากพฤติกรรมแล้วเป็นการใช้ที่ไม่ค่อยจะได้ประโยชน์สักเท่าไหร่ด้วย

ซึ่งจากเรื่องที่ผมเขียนถึงในตอนแรก ก็ทำให้อดกังวลถึงความเป็นส่วนตัว และการถูกนำข้อมูลไปใช้ในทางประสงค์ร้ายไม่ได้

และจากข้อมูลของหมอจิตวิทยาของไทยกล่าวว่า คนที่ติดโซเชียลมีเดียมากๆ นั้นเป็นผลมาจากการรู้สึกดีถึง “การมีตัวตน” มีการยอมรับจากผู้อื่น ไม่ได้อยู่คนเดียวในสังคม

แต่ขณะเดียวกันก็จะสุ่มเสี่ยงต่อการเป็นโรคซึมเศร้าได้ง่าย หากการใช้โซเชียลมีเดียนั้นไม่ตอบสนองความพึงพอใจได้เพียงพอ

ใครที่ใช้มือถือบ่อยๆ ลองสำรวจตัวเองดูนะครับ

 

เริ่มต้นจากภาพยนตร์ที่เป็นเรื่องของจินตนาการ มาสู่เรื่องจริงข้อมูลจริงที่เกี่ยวข้องกับโลกโซเชียลมีเดีย หวังว่าเราน่าจะพอฉุกใจได้คิด และระแวดระวังตัวเองให้มากขึ้นนะครับ

คิดก่อนจะโพสต์ จะแชร์ จะโหลด จะแชต เราไม่ต้องบอกทุกอย่างให้โลกรู้ก็ได้…มั้ง?

คิดก่อนทุกครั้งที่ได้เสพข้อมูล เพื่อที่จะได้ไม่หลงเชื่ออะไรง่ายๆ

หน้าจอนั้น มันอันตรายจริงๆ ไม่เชื่อถาม 3 บุคคลแห่งหมู่บ้านกระสุนตกของสมาคมฟุตบอลของไทยยามนี้ดูก็ได้…แฮะ แฮะ