สุจิตต์ วงษ์เทศ/เพลงลูกทุ่ง มาจากไหน? ‘จำนง รังสิกุล’ เมื่อ 2507 ผู้สร้างสรรค์ชื่อ ‘เพลงลูกทุ่ง’ ไทยทีวีช่อง 4 บางขุนพรหม

จำนง รังสิกุล (2456-2538) ผู้คิดสร้างสรรค์ชื่อ "เพลงลูกทุ่ง" เมื่อ พ.ศ.2507 บุคคลในตำนานโทรทัศน์ไทย และอดีตผู้บุกเบิกสถานีโทรทัศน์แห่งแรกของไทย (ขาว-ดำ) เมื่อ พ.ศ.2498 (ภาพสเก๊ตช์จากหนังสือ เปลวไฟจากใจรัก แด่ จำนง รังสิกุล พิมพ์เป็นที่ระลึกงานพระราชทานเพลิงศพ นายจำนง รังสิกุล ณ เมรุวัดมกุฏกษัตริยาราม วันจันทร์ที่ 29 พฤษภาคม 2538)

สุจิตต์ วงษ์เทศ

 

เพลงลูกทุ่ง มาจากไหน?

‘จำนง รังสิกุล’ เมื่อ 2507

ผู้สร้างสรรค์ชื่อ ‘เพลงลูกทุ่ง’

ไทยทีวีช่อง 4 บางขุนพรหม

 

“เพลงลูกทุ่ง” เป็นชื่อใหม่เมื่อปลายปี 2507 ที่คิดผูกคำขึ้นโดย จำนง รังสิกุล (บุคคลในตำนานโทรทัศน์ไทยและอดีตผู้บุกเบิกสถานีโทรทัศน์แห่งแรก ช่อง 4 บางขุนพรหม) เพื่อตั้งชื่อรายการเพลงทางสถานีโทรทัศน์

ประกอบ ไชยพิพัฒน์ เป็นผู้รับมอบชื่อ “เพลงลูกทุ่ง” (จาก จำนง รังสิกุล) ไปจัดรายการเพลงทางโทรทัศน์ไทยทีวีช่อง 4 เมื่อธันวาคม 2507 ต่อมาได้เขียนความทรงจำด้วยตนเองเป็นหลักฐานประวัติศาสตร์ไว้ในนิตยสารดารารัฐ จะคัดมาเป็นพยาน ดังนี้

“‘เพลงลูกทุ่ง’ เป็นคำมงคล—-ผมเองผู้ได้รับคำนี้มาจากคุณจำนง รังสิกุล ให้มาตั้งเป็นชื่อของรายการ” (นิตยสารดารารัฐ ฉบับวันที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2514 หน้า 100-101) แล้วเขียนเล่าเกร็ดต่างๆ หลายเรื่อง จะยกเฉพาะสำคัญๆ มาดังต่อไปนี้

 

“เพลงชาวบ้าน” ทางไทยทีวี

 

เพลงไทยสากล ประเภทเพลงตลาดหรือเพลงชีวิต (ยังไม่เรียกเพลงลูกทุ่ง) ช่วงก่อน พ.ศ.2507 เป็นที่นิยมของชาวบ้านทั่วไปมากขึ้น ประกอบ ไชยพิพัฒน์ เล่าว่า

“เดือนพฤษภาคม 2507 ไทยทีวีช่อง 4 ความคิดของ ท้วม ทรนง เห็นว่าเพลงประเภทนี้ ถ้าจะลองนำออกทีวีดูบ้างคงจะแปลกดี เพราะขณะนั้นทีวีมีเพียง 2 ช่องเท่านั้นคือ ช่อง 4 กับช่อง 7 จึงได้ลองเสนอให้คุณจำนง รังสิกุล (หัวหน้าฝ่ายจัดรายการทีวีช่อง 4 ขณะนั้น) ทราบ

คุณจำนง รังสิกุล เห็นดีด้วย แต่เกรงว่าจะควบคุมลำบาก จึงได้กำชับให้คุณอาจินต์ ปัญจพรรค์ เป็นผู้จัดควบคุมและคัดเพลงและนักร้องที่เห็นว่าสมควรทดลองทำดู โดยตั้งชื่อรายการให้ด้วยว่า ‘เพลงชาวบ้าน’ เพื่อให้เก๋สักหน่อย นัดนั้นคัดนักร้องได้ 3 คนคือ พร ภิรมย์ ผ่องศรี วรนุช ทูล ทองใจ”

“รายการวันนั้นสถานีถูกตำหนิจากผู้ชมมากมาย บ้างก็ตั้งข้อรังเกียจด่าว่าผู้จัดหาว่าไม่เข้าท่า จนคุณอาจินต์ ปัญจพรรค์ ซึ่งเป็นคนเจ้าอารมณ์อยู่แล้วต้องราข้อไป ของดจัดกับคุณจำนง รังสิกุล ด้วยตนเอง”

 

“เพลงลูกทุ่ง” จากความคิดของจำนง รังสิกุล

 

ประกอบ ไชยพิพัฒน์ ไม่ย่อท้อ เขียนเล่าต่อไปอีกว่า

“เหตุการณ์ผ่านมาจนถึงเดือนธันวาคม 2507 เป็นเดือนที่จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ สิ้น ผมได้นำนโยบายนี้ขึ้นเสนอฝ่ายจัดรายการใหม่

คุณจำนง รังสิกุล เองก็กลัวจะไปไม่รอด ผมก็ยังยืนยันเจตนาเดิมว่าจะขอต่อสู้ให้ได้รับความนิยมให้ได้ เป็นอันตกลง จึงเริ่มให้ผมได้มีโอกาสจัดรายการประเภทนี้ขึ้นใหม่ในเดือนต่อไป โดยตั้งชื่อรายการให้ใหม่อย่างเก๋ไก๋ว่า ‘เพลงลูกทุ่ง’ จำได้ว่าวงแรกที่ได้มาร่วมรายการนี้ คือวงดนตรีจุฬารัตน์ของครูมงคล อมาตยกุล”

[“เพลงลูกทุ่ง” จึงนับเป็นรายการเพลงทางโทรทัศน์สืบเนื่องจากรายการคราวแรกชื่อ “เพลงชาวบ้าน”]

“พอออกนัดแรก เอาอีกแล้ว ผู้ชมเล่นงานผมเสียย่ำแย่ ทั้งทางจดหมายและโทรทัศน์ หาว่าช่อง 4 เอาเพลงอะไรบ้าๆ บอๆ มาออก บ้างก็ด่าผมขุดโคตรก็มี ปู่ ย่า ตา ยายผมอยู่ในหลุม ขุดผมขึ้นมาบรรเลงหมด สารพัดจะบรรยาย”

“คุณจำนง รังสิกุล เรียกผมไปปรึกษาว่าจะเอายังไงดี จะถอยหรือจะสู้ ผมยังยืนยันเจตนาเดิมคือ ขอสู้ต่อไป เป็นอันตกลง”

 

ใครๆ ก็ชอบ “เพลงลูกทุ่ง”

 

“ผมได้สำรวจข้อบกพร่องที่มีอยู่เดิมให้เข้าหลักเกณฑ์ คือเอาใหม่ได้เชิญนักร้องสำคัญๆ มาพบกันครั้งละประมาณ 4 คน แล้วคัดเลือกเพลงที่เหมาะสมออก แล้วจึงผสมนักร้องเริ่มใหม่เข้าบ้างเพื่อส่งเสริม

ในระยะส่งเสริมนี้เราได้นักร้องมีชื่อเพิ่มขึ้นอีกหลายคน คือ ไวพจน์ เพชรสุพรรณ เพชร พนมรุ้ง ชัยณรงค์ บุญนะโชติ พจน์ พนาวัลย์ ไพรวัลย์ ลูกเพชร ขุนแผน ถนอม ยุพิน แพรทอง สังข์ทอง สีใส ชินกร ไกรลาศ พนม นพพร สมัย อ่อนวงศ์

ขณะนั้นนักร้องที่มีชื่อดังกล่าวยังไม่มีวงเป็นของตัวเองเลย ยังเป็นนักร้องที่อยู่ในสังกัดตามวงดนตรีอื่นมาก่อนทั้งสิ้น

รายการในขณะนั้น เริ่มออกอากาศโดยใช้ชื่อว่า ‘เพลงลูกทุ่ง’ นี้เดือนละ 2 ครั้ง คือ อยู่จันทร์เว้นจันทร์ เวลา 18.00 น. ผมได้พยายามเที่ยวกัดฟันต่อสู้ต่อไป จนย่างเข้าเดือนที่ 6 ประชาชนเริ่มยอมรับ คนชักกล่าวขวัญถึงแต่รายการนี้ ความนิยมนี้แทรกซึมไปตามวงดนตรีต่างๆ เริ่มเรียกวงของตนเองว่าวงดนตรีลูกทุ่ง และนักร้องนิยมเรียกตัวเองว่า เขาคือนักร้องเพลงลูกทุ่งได้อย่างเต็มปาก”

 

Your Cheating Heart เพลงลูกทุ่ง

 

“ระยะนั้นมีหนังฝรั่งเข้ามาเรื่องหนึ่ง ฉายที่คิงส์ ชื่อภาษาอังกฤษว่า Your Cheating Heart ยังต้องตั้งชื่อหนังเป็นภาคภาษาไทยตามรายการนี้ว่า ‘เพลงลูกทุ่ง’

ความจริงคำว่าเพลงลูกทุ่งนี้ต้องการจะตั้งให้เป็นชื่อของรายการทางทีวีมากกว่า แต่จะเป็นด้วยเหตุบังเอิญหรือไม่ก็ไม่ทราบที่ทั้งนักร้องและวงดนตรีได้นำไปเรียกเป็นชื่อของตัวเขาเสียอย่างเหมาะสมเช่นนี้ ความหมายของคำว่า ‘เพลงลูกทุ่ง’ จึงฝังใจท่านผู้ชมมาจนบัดนี้ ผมกล้ายืนยันได้ว่า เป็นคนแรกที่ริเริ่มจัดรายการ ‘เพลงลูกทุ่ง’ นี้มาก่อนทีวีช่องอื่นๆ มีพยานยืนยันได้เป็นหลักฐาน คือ ครูมงคล อมาตยกุล และ ชาย เมืองสิงห์

[จากนิตยสารดารารัฐ ฉบับวันที่ 10 เดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.2514 หน้า 100-101]

 

เพลงลูกทุ่ง ไม่มาจากเพลงไทยเดิม

 

เพลงลูกทุ่งไม่ได้มีกำเนิดจากเพลงไทยเดิม หรือเพลงพื้นบ้านพื้นเมือง ตามที่เชื่อถือ แล้วบอกกล่าวครอบงำมานาน

เพราะแท้จริงแล้ว เพลงลูกทุ่งมีกำเนิดจากเพลงไทยสากล แล้วแยกจากเพลงไทยสากลเรียกชื่อใหม่ว่า “เพลงลูกทุ่ง” ราว พ.ศ.2507 โดยความคิดสร้างสรรค์ของนักจัดรายการเพลงยุคนั้น

ส่วนชื่อ “เพลงลูกกรุง” เกิดหลังชื่อเพลงลูกทุ่ง โดยแฝงนัยยะเหยียดเพลงลูกทุ่ง

“คำ ‘ลูกกรุง’ อะไรเทือกนั้นผมว่าเป็นความพิเรนทร์ของคนที่นำมาเปรียบเทียบมากกว่า” ประกอบ ไชยพิพัฒน์ เขียนบอกไว้ด้วย