ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ : จากพระสูตรมหายาน ถึงพระพุทธรูปทรงเครื่องไทย

ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ

ในขณะที่คนไทยส่วนใหญ่เข้าใจผิดไปว่าตนเองนับถือ “พุทธศาสนาแบบเถรวาท” ที่มั่นคงตามแบบฉบับออริจินอล ที่อิมพอร์ตมาจากอินเดียโดยตรงเสียเต็มประดา

เรากลับมีอะไรหลายๆ อย่างที่หากชาวพุทธเถรวาทยุคโบร่ำโบราณจากชมพูทวีป และปริมณฑลข้างเคียงอย่างชาวสิงหล ในลังกาทวีป มาพบเข้าก็ถึงกับงงกันจนไก่ก็ตาไม่แตกเท่า

เมื่อ พ.ศ.2398 ราชทูตลังกาได้นำพระภิกษุไทยที่ได้นำพระพุทธศาสนาแบบ “สยามวงศ์” ไปสืบไว้ที่ลังกาทวีปกลับเข้าสู่อยุธยา ได้มีโอกาสเห็น “พระพุทธรูปทรงเครื่อง” (คือพระพุทธรูปที่ทรงเครื่องอย่างกษัตริย์) ที่ประดิษฐานอยู่ในวัดพระศรีสรรเพ็ชญ์ ก็เกิดสงสัยในใจขึ้น จึงถามต่อเจ้าพนักงานที่ต้อนรับขับสู้ว่าเหตุไฉน สยามจึงสร้างพระพุทธรูปทรงเครื่อง คล้ายเทวรูป?

ความตรงนี้ทราบไปถึงพระกรรณของพระเจ้าอยู่หัวบรมโกฐ จึงรับสั่งให้เสนาบดีชี้แจงไปใน จดหมายของอัครเสนาบดีไทยมีไปถึงอัครเสนาบดีลังกา ปี พ.ศ.2399

ดังความว่า

“38 ทูตทั้ง 3 นาย ได้เห็นพระพุทธพิมพ์สุวรรณมัย เนื้อนิกข ทรงอุณหิศ สวมไว้ ประดับนพรัตน… หากมีใจสงสัยว่า พระพุทธพิมพประดับนพรัตนอย่างนี้ ในลังกาไม่เคยมีเลย เพราะเหตุนั้น พระพุทธพิมพ์ ประดับงามอย่างนี้ อย่าพากันพูดว่า เหมือนเทวรูปดังนี้เลย

39 พระเจ้าราชธิราชผู้อุดมนั้น หาทรงทำพระราชกิจอันเป็นพระกุศล ยวดยิ่ง ให้ผิดทำนองคลองพระพุทธพจน์ไม่ พระพุทธพิมพ์ที่ทรงมงกุฎเช่นนี้ ได้มีปรากฏในมหาชมพูบดีวัตถุ เหตุนั้น ราชบุตรผู้เล่าเรียนนิทานนั้น ชัดเจนบอกเล่ามีมาอย่างนี้แท้จริง

40 เราได้ส่งชมพูบดีวัตถุมาให้ท่าน อัครมหาเสนาบดีลังกา เพื่อให้ท่าน ได้สั่งสอนพราหมณ์ทั้งหลายในเกาะลังกา แล้วขอให้ช่วยทูลเรื่องนั้นแก่พระเจ้าอุดมมหาราชลังกาทวีปด้วย… ขอให้พระเจ้ากรุงลังกาทรงสร้างพระพุทธรูปทรงเครื่อง เหมือนอย่างกรุงเทพมหานคร (หมายถึง อยุธยา-ผู้เขียน) สร้างประดับเนาวรัตนล้วนเถิด พระราชกุศลจะได้เจริญยิ่งฯ ในกรุงศิริวัฒนบุรีตลอดแว่นแคว้นในลังกาทวีป”

(เน้นความโดยผู้เขียน)

 

เรื่องราวในชมพูบดีวัตถุ (หรือที่เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า มหาชมพูบดีสูตร) ที่ว่านี้ เล่าถึงท้าวมหาชมพู ผู้ครองมหานครใหญ่ที่ชื่อ นครปัญจาละ พรั่งพร้อมไปด้วยอิสริยยศและบริวารยศ หาผู้ใดในชมพูทวีปเสมอเหมือนไม่ได้ จึงสำคัญพระองค์ผิดว่าไม่มีใครสามารถสู้รบกับพระองค์

อยู่มาวันหนึ่งพระองค์ทอดพระเนตรเห็นกรุงราชคฤห์เจริญรุ่งเรืองยิ่ง ก็หมายจะสำแดงอิทธิฤทธิ์บังคับให้พระเจ้าพิมพิสารตกอยู่ใต้อำนาจของพระองค์ แต่ก็ไม่สำเร็จด้วยพุทธานุภาพของพระพุทธเจ้าคุ้มครองไว้

พระพุทธเจ้าทรงเห็นเหตุดังนั้นก็หมายจะทรมานท้าวชมพูบดีให้สิ้นฤทธิ์ จึงเนรมิตพระองค์เป็น “พระจักรพรรดิราช” คือราชาเหนือราชาทั้งปวง เนรมิตวัดเวฬุวันวิหารให้เป็นพระนครหลวง ให้พระอินทร์จำแลงกายเป็นราชฑูตไปทูลเชิญ “แกมบังคับ” ให้ท้าวชมพูบดีมาเข้าเฝ้า

เมื่อท้าวชมพูบดีได้ทอดพระเนตรเห็นนครของพระจักรพรรดิราชมั่งคั่งสมบูรณ์กว่าพระองค์ ได้เข้าเฝ้าและทรงสดับพระราชบริหารต่างๆ ก็ละมิจฉาทิฐิยอมแพ้แก่ฤทธิ์ของพระจักรพรรดิราช

พระพุทธองค์จึงคลายฤทธิ์ให้ท้าวชมพูบดีเห็นพระสรีระที่แท้จริง และแสดงธรรมเทศนาจน ท้าวชมพูบดีบรรลุเป็นพระอรหันต์

ผมไม่แน่ใจว่าหลังจากอัครเสนาบดีลังกากราบทูลพระเจ้าอยู่หัวของตนเองเรื่อง พระเจ้ากรุงสยามทรงแนะนำให้สร้าง “พระพุทธรูปทรงเครื่อง” แล้ว พระเจ้าแผ่นดินของลังกาทรงได้สร้างพระทรงเครื่องขึ้นตามคำแนะนำหรือไม่? แต่หลักฐานที่ปรากฏอยู่ในจดหมายฉบับนี้ก็สอดคล้องกันกับข้อมูลที่มีปรากฏอยู่ในลังกาทวีปว่า ไม่มีการสร้างพระพุทธรูปทรงเครื่องเลยแม้เพียงสักองค์หนึ่ง

อย่าลืมนะครับว่า ลังกาทวีป เป็นศูนย์กลางของพุทธศาสนาแบบเถรวาท ทั้งในแง่วิชาความรู้ในพระศาสนา และความศักดิ์สิทธิ์ ถึงขนาดที่ว่าในช่วง พ.ศ.900 เป็นต้นมา พระภิกษูอินเดียที่ต้องการศึกษาหาความรู้ในทางสายเถรวาทจะต้องข้ามน้ำข้ามทะเลมาศึกษาที่ลังกาทวีป

ตำนานเกี่ยวกับ พระพุทธโฆษาจารย์ ภิกษุชาวอินเดียที่พระศาสนาแบบเถรวาทถือว่าเป็นปราชญ์ที่สำคัญรูปหนึ่ง ซึ่งมีชีวิตอยู่ในช่วงเวลาดังกล่าว ยังต้องข้ามทะเลลงมาศึกษาพระธรรมในลังกาทวีป เพราะบนแผ่นดินอินเดียไม่เหลือพระธรรมฝ่ายเถรวาทให้ท่านศึกษาอีกต่อไป (การเดินทางข้ามทะเลในครั้งนี้ทำให้พระพุทธโฆษาจารย์ได้เขียนอรรถาธิบายพระไตรปิฎก ทั้งฉบับออกมา กลายเป็น พระไตรปิฎกชุดอรรถกถา ของฝ่ายเถรวาท)

จึงเป็นเรื่องน่าประหลาดใจอยู่ทีเดียวที่ลังกาทวีป ในฐานะศูนย์กลางของศาสนาพุทธแบบเถรวาท ไม่รู้จักพระสูตรที่ฝ่ายอยุธยาอ้างว่าเป็นเถรวาทอย่าง ชมพูบดีวัตถุ และใช้เป็นฐานอ้างอิงในการสร้างพระพุทธรูปทรงเครื่อง?

 

หลักฐานความนิยมในการสร้างพระพุทธรูปทรงเครื่อง กลับมีปรากฏอยู่มากมาก่อนในงานช่างอินเดียฝ่ายเหนือ ที่นับถือศาสนาพุทธฝ่ายมหายาน เรียกได้ว่าพบอยู่มากจนเป็นที่ชินตาทีเดียว

แต่ผลจากการที่ศาสนาพุทธเสื่อมสลายจากชมพูทวีปลงไปอย่างมากมายมหาศาล ภายหลังจากการเข้ามาของชาวมุสลิม จึงทำให้ตำราความรู้ในพระศาสนาถูกทำลายไปมาก

และแน่นอนว่าความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับรูปพระทรงเครื่องต่างๆ ก็สูญหายไปจากความทรงจำของผู้คน โดยเฉพาะเมื่อคนเหล่านั้นไม่ใช่ชาวพุทธอีกด้วย

เคราะห์ดีที่พระสูตรของพุทธศาสนาฉบับหนึ่ง ซึ่งถูกแปลออกเป็นภาษามองโกลชื่อ “กปินสูตร” เล่าถึงเรื่องของ พระเจ้ากปิน มีเนื้อหาใกล้เคียงกับเรื่องราวในชมพูบดีวัตถุ แน่นอนว่าพระสูตรฉบับนี้เป็นพระสูตรของฝ่ายมหายาน

พวกมองโกลแผ่ขยายอิทธิพลครอบคลุมพื้นที่แถบดินแดนประเทศมองโกเลียปัจจุบัน ประเทศจีน เอเชียกลาง และเข้าไปถึงยุโรปตะวันออก ในช่วงตั้งแต่หลัง พ.ศ.1700-1900 โดยประมาณ ระหว่างนั้นชาวมองโกลบางส่วนได้ยอมรับนับถือศาสนาพุทธเข้ามาเป็นสาสนาของพวกตนเองด้วย จึงไม่น่าประหลาดใจอันใดที่จะมีรายงานว่าจารึกหลักหนึ่งที่ถ้ำโม่เกา บริเวณเมืองตุนหวง ประเทศจีน ซึ่งเป็นพุทธสถานฝ่ายมหายานที่สำคัญที่สุดแห่งหนึ่งในสมัยราชวงศ์ถัง (ราว พ.ศ.1100-1450) จะจารึกปกรณ์ในพุทธศาสนาที่มีใจความคล้ายกปินสูตร ของมองโกล

เพราะเมืองโบราณแห่งนี้ นักประวัติศาสตร์และนักโบราณคดีถือว่า เป็นประตูเข้าสู่เส้นทางเดินทางไปยังโลกตะวันตก ที่เรียกกันว่า เส้นทางสายแพรไหมของจีนนั่นเอง

ผมอยากจะเตือนไว้ด้วยว่า ทัพมองโกลในนามของราชวงศ์หยวนช่วงเวลานั้นกรีธาทัพมาถึงตอนบนของอุษาคเนย์ ทั้งตอนบนของพม่า และเวียดนาม ในขณะเดียวกัน ศาสนาพุทธแบบมหายานก็เจริญอยู่ในอาณาจักรขอมโบราณ ณ ช่วงเวลาดังกล่าว ซึ่งก็มีการสลักรูปพระพุทธรูปทรงเครื่องกันเป็นปกติวิสัย

ด้วยร่องรอยข้อมูลเช่นนี้กลับไม่น่าประหลาดใจอะไรนักถ้า กปินสูตร ที่ว่าด้วยเรื่องพระพุทธเจ้าทรงเครื่องพระจักรพรรดิราช จะเป็นที่รู้จักกันในพื้นที่อุษาคเนย์ยุคก่อน พ.ศ.1800

 

นักวรรณกรรมศึกษาชั้นครูอย่าง ศ.ดร.นิยะดา เหล่าสุนทร แห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จึงอธิบายเอาไว้ว่า ชมพูบดีวัตถุ เป็นงานที่เขียนขึ้นที่อุษาคเนย์ ในช่วงระหว่าง พ.ศ.1900-2000 และเป็นที่นิยมรู้จักกันดีในอยุธยา

อย่าลืมนะครับว่า คำว่า “ชมพูบดี” ก็ไม่ใช่ชื่อ แต่เป็น ฉายานาม หมายถึง “ผู้เป็นใหญ่แห่งแคว้นชมพู” ในปรัมปราคติทางศาสนาทั้งพุทธ ทั้งพราหมณ์ “ชมพูทวีป” ก็หมายถึง “โลก” นั่นแหละครับ

ดังนั้น ใน “ท้าวชมพูบดี” ใน ชมพูบดีวัตถุ จึงอาจจะชื่อ “กปิน” มาแต่เดิมก็ได้ใครจะรู้?

พุทธศาสนาที่คนไทยภูมิใจกันนักหนาว่าเป็นเถรวาทเสียร้อยเปอร์เซ็นต์เต็ม ที่จริงแล้วจึงมีเรื่องราวของพุทธมหายาน (อย่างกรณีพระทรงเครื่อง) ประสมอยู่ด้วย

ชนชาวสยาม และอีกสารพัดชนชาติที่ยอมรับนับถือศาสนาพุทธในอุษาคเนย์ จึงมีธรรมเนียมที่ชนชาวพุทธในลังกาทวีปไม่มี นั่นก็คือการนับถือ “พระมหากษัตริย์” ในฐานะที่ไม่ต่างไปจาก “พระพุทธเจ้า” ไม่ว่าจะเป็นในฐานะของพระพุทธเจ้าในอนาคต (เช่นสร้อยพระนามของพระมหากษัตริย์อย่างคำว่า หน่อพุทธางกูร เป็นต้น) หรือองค์พระพุทธเจ้าเอง (เช่น พระนามของพระมหากษัตริย์ที่หมายถึง พระพุทธเจ้าอย่าง พระบรมไตรโลกนาถ เป็นต้น)

ไม่ต้องแปลกใจเลยที่ภาพลักษณ์พระมหากษัตริย์ในดินแดนอุษาคเนย์ โดยเฉพาะในไทยเกี่ยวเนื่องอยู่กับความศักดิ์สิทธิ์ในพุทธศาสนา และทรงมีภาพรางๆ ของพระพุทธเจ้าฉายทับอยู่บนพระวรกายของพระองค์อยู่เสมอ