ทราย เจริญปุระ : ช่างแม่ง!

ก่อนหน้านี้ไม่นาน ฉันเพิ่งเขียนสรุปแบบทีเล่นทีจริงถึงสิ่งที่ฉันเพิ่งจะได้เรียนรู้ว่ามันจำเป็นกับชีวิต ก็ตอนอายุจะเข้าสี่สิบอยู่รอมร่อ

ก็เขียนถึงเรื่องนั้นเรื่องนี้ เรื่องใหญ่บ้างเล็กบ้าง เกร็ดเล็กๆ น้อยๆ ที่ช่วยให้แต่ละวันง่ายขึ้น

จนมาถึงข้อสุดท้าย

“เรียนรู้ที่จะพูดคำว่า-ไม่-โดยไม่ต้องรู้สึกผิด”

ปรากฏว่า ข้อนี้ดันกลายเป็นข้อฮิต ที่ใครหลายคนมาแสดงความเห็นด้วยกันอยู่เรื่อยๆ

สำหรับบางคน, การกล่าวปฏิเสธนั้นทำได้แสนง่าย สมองสั่งอย่างไร ปากก็พูดไปแบบนั้น

แต่กับบางคน-เช่นฉัน- ผู้ที่ชินกับการตอบรับมาทั้งชีวิตโดยแม่ มันยากมากเมื่อวันหนึ่ง ฉันต้องออกมารับงานเอง ลงวันที่เอง ติดต่อใครต่อใครเองโดยไม่มีแม่เป็นด่านหน้าให้เหมือนเคย

แต่ก่อนฉันก็แค่-โอเคค่ะ ได้ค่ะ- แล้วก็ออกไปทำตามที่แม่สั่ง ห้ามถาม ห้ามสงสัย ว่าทำไปทำไม ทำเพื่ออะไร ได้เงินเยอะมั้ย ทำไมต้องมาเจอคนนี้

จะว่าง่ายก็ง่ายดี ออกเดินทาง ไปทำงาน รับเงิน (หรือบางทีก็เซ็นชื่อตัวเองเป็นหลักฐานว่ามาทำงานแล้วจริงๆ จ้า ส่วนเงินนั้นเขาโอนให้ปลายทางคือบัญชีของแม่ไปแล้วเรียบร้อย) แล้วก็กลับ

ทำวนเวียนไปแบบนี้ ใครถามอะไรก็บอกไม่ทราบค่ะ เชิญโทร.ถามแม่ได้เลย ถ้าแม่สั่ง ดิฉันจึงจะไปปฏิบัติให้

ครั้นพอถึงเวลาต้องมาทำเอง ชีวิตก็ปั่นป่วนเหมือนกันนะ

ทำไมเราดูสำคัญจังเลย คนนั้นก็อยากให้เราไป คนนี้ก็บอกว่าพี่เหมาะกับงานนี้มาก อีกคนก็บอกแต่ก่อนเคยช่วยเหลือมาตลอด คนนู้นก็บอกว่าสนิทกับแม่

จะไปถามแม่ก็ไม่ได้ความเสียแล้วตอนนี้

วิธีที่ง่ายที่สุดสำหรับมนุษย์อย่างฉันก็คือ

เออ ทำละกัน

ง่ายดี ไม่ต้องคิดอะไร

ว่างก็ไปทำให้ครบทุกอย่างตามที่ถูกขอหรือจ้างมานั่นละ

พอสุดท้ายฉันกลับรู้สึกว่ามัน…มีอะไรสักอย่างที่ไม่ถูกต้อง

นี่มันเหนื่อยเกินไป

มันไม่ได้เหนื่อยแบบ–ฉันต้องวิ่งพร้อมแบกสัมภาระไปทำงานหรืออะไรอย่างนั้น

แต่เป็นความเหนื่อยล้าทางใจ ที่หลายครั้ง สัญญาเมื่อหน้างานก็สวยหรูดูดีกว่าเมื่อออกไปปฏิบัติจริง

คนที่ทำเหมือนเป็นเดือดเป็นร้อนอย่างแรงหากฉันไม่ไปงานนั้นงานนี้ในตอนแรกที่บอกฉัน ก็ดูปกติดีเมื่อถึงเวลางาน

งานที่บอกว่าถ้าไม่มีฉันแล้วเป็นแย่แน่ๆ ก็ปล่อยให้ฉันไปรอเก้อเสียพักใหญ่ ไม่เห็นจะแย่อะไรเลยนี่นา

เออ แล้วฉันจะมาหัวหมุนอยู่คนเดียวกับการวางแผนการเดินทาง การขับรถ การคิดเรื่องราวเตรียมการไปคนเดียวทำไมหว่า

งั้นไม่เอาละ คราวหน้าไม่ทำแล้ว

แต่เอาเข้าจริงมันก็ไม่ง่ายขนาดนั้นแฮะ

มันยาก เพราะเอาจริงๆ เวลาเราพูดว่าไม่ มันก็เหมือนยอมรับไปด้วย ว่าจริงๆ เราก็ไม่ได้สำคัญขนาดนั้น

คือไม่มีเรา เขาก็ไม่ตายหรอก

ที่ทำท่าจะเป็นจะตายในตอนแรกฟังคำปฏิเสธคงเพราะตกใจ ว่าทำไมหว่า ไอ้คนที่เคยพูดง่ายใช้คล่อง สั่งอะไรก็ทำให้ อยู่ๆ ถึงมาเสียงนิ่ง จ้องตา แล้วกล่าวว่าไม่ค่ะ

ไม่ไป ไม่เอา ไม่ทำ

-ไม่-ในที่นี้คือการบอกปฏิเสธอย่างตรงไปตรงมา สุภาพ สั้นกระชับ ไม่ต้องยกแม่น้ำทั้งห้ามาประกอบหรืออ้างเหตุผลอะไรใดๆ

ไม่คือไม่

เหตุผลนั้นเป็นเรื่องส่วนตัวของเรา

“หลายคนใช้เวลาทั้งชีวิตทำตามความคาดหวังของคนอื่น บ้างก็ทิ้งความฝัน เพื่อทำสิ่งที่ใครๆ บอกว่าดี และคิดว่านั่นจะทำให้ชีวิตเต็มไปด้วยความสำเร็จและความสุข

-แต่หารู้ไม่ว่าการทำเช่นนั้นจะย้อนกลับมาทำร้ายตัวคุณเอง-

เพราะการแคร์ทุกคน เกี่ยวกับทุกสิ่ง ย่อมแปลว่าคุณต้องเสียสละบางอย่างที่สำคัญในชีวิตไปด้วย”*

ฉันอ่านหนังสือเล่มนี้ด้วยความบันเทิงอย่างยิ่ง

เออ, มันต้องอย่างนี้สิวะ!!

อาจจะเป็นธรรมดาของพวกกล้าๆ กลัวๆ อย่างฉัน ที่พอหัดทำอะไรใหม่ๆ แล้วก็เกิดความไม่มั่นใจ จนต้องหาอะไรมายืนยันว่าสิ่งที่ทำอยู่นั้นน่ะถูกแล้ว

ในที่นี้คือการหัดปฏิเสธ หรือที่ผู้เขียนเล่มนี้บอกไว้ ว่าหัด “ช่างแม่ง” เสียบ้าง

โลกไม่ได้หมุนไปได้เพราะเราขยับตัวเดิน

กิจการหน้าที่ที่นอกเหนือจากความรับผิดชอบของเราจะไม่ล่มสลายหากเราไม่ยื่นมือเข้าช่วย

อย่าเอาคำว่าน้ำใจมาใช้หรือแจกอย่างพร่ำเพรื่อ

เข้าท่า เข้าท่า

ดังนั้น ฉันจึงอยากให้ทุกคนที่เริ่มเรียนรู้แบบเดียวกับฉัน คนที่ยังรู้สึกผิดกัดกร่อนใจยามต้องบอกปฏิเสธใครๆ มาอ่านเล่มนี้

แล้วหัดพูดดังๆ ว่า “ช่างแม่ง” กันเถอะ!!

“ชีวิตติดปีก ด้วยศิลปะแห่งการช่างแม่ง” (The Subtle Art of Not Giving A F*CK) เขียนโดย Mark Manson แปลโดย ยอดเถา ยอดยิ่ง จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์บิงโก

*ข้อความจากในหนังสือ