E-DUANG : เลือกตั้ง กับ สื่ออิเล็กทรอนิกส์ ผลสะเทือนต่อ “พรรคการเมือง”

ท่ามกลางความเชื่อมั่นว่า การเลือกตั้งครั้งหน้าจะสัมพันธ์กับกระ บวนการของ”โซเชียล มีเดีย”เป็นอย่างสูง

นี่คือ”พื้นที่”ใหม่ในทางการเมือง

ไม่เพียงแต่จะแตกต่างไปจากการเลือกตั้งในยุคก่อนรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 หากแต่มีความเด่นชัดว่าจะแตกต่างไปแม้กระทั่งในการเลือกตั้งล่าสุดเมื่อเดือนกรกฎาคม 2554

จึงเกิดการตระเตรียมเพื่อรับมือกับการเข้ามาของ”โซเชียล มีเดีย”อย่างเต็มที่

ไม่ว่าจะจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง

ไม่ว่าจะจากแต่ละพรรคการเมือง เพราะได้มีการเปิดเพจทั้งในระดับพรรคและในระดับส่วนตัวกันอย่างเต็มที่

เป็นการตระเตรียมโดยที่ยังไม่มีใครรู้ “คำตอบ

 

ตัวอย่างที่ดีที่สุดต้องเริ่มจาก”พรรคอนาคตใหม่”ที่อาจจะมีจุดเริ่มจาก นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ และ นายปิยบุตร แสงกนกกุล

เพียง 4 เดือนของการเปิดตัว

ใน 1 เดือนแรกไม่เพียงแต่ชื่อของ”ธนาธร”และ”อนาคตใหม่”จะได้รับความสนใจเป็นอย่างสูงใน “ทวีตเตอร์”

หากทุก “เพจ”อันเป็นเพจ”ข่าว”ก็เช่นกัน

แม้ว่าข่าวสารและการเคลื่อนไหวใน “สื่อเก่า” ยังมีไม่มากนักแต่กล่าวสำหรับ “สื่อใหม่” ประเมินได้เลยว่า ชื่อของ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ นายปิยบุตร แสงกนกกุล และพรรคอนาคตใหม่

อยู่อันดับต้นๆและดำเนินไปด้วยความคึกคัก

ไม่เพียงแต่เท่านั้นภายในแต่ละจังหวัดที่พรรคอนาคตใหม่ไปปรากฏตัวจะตามมาด้วย”เพจ”ของพรรคอนาคตใหม่ประจำจังหวัดเหล่านั้นโดยพลัน

เริ่มจากหลัก 10 เป็นหลัก 100 และค่อยๆเข้าสู่หลัก 1,000

เพียง 4 เดือนเศษชื่อของ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ และชื่อของพรรคอนาคตใหม่ก็ติดอยู่ 2 ริมฝีปาก

 

คำถามต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.)ก็คือ ระบบที่จะออกมามีเป้าหมายเพื่อ “ควบคุม” หรือ “ส่งเสริม”

หากต้องการควบคุมจะควบคุมได้หรือไม่

หากส่งเสริมจะส่งเสริมอย่างไรจึงจะสอดรับกับการเข้ามาของเทคโนโลยีและความตื่นตัวของประชาชน

นี่คือโจทย์ใหม่ในทางการเมืองและการเลือกตั้ง