หนุ่มเมืองจันท์ : อาณาจักร “ความรู้”

หนุ่มเมืองจันท์facebook.com/boycitychanFC

วันก่อน อ่านหนังสือเรื่อง “รู้ทันอนาคตที่ (อาจจะ) ไม่มีคุณ” หรือ THE INDUSTRIES OF THE FUTURE

คนเขียนชื่อ “อเล็กซ์ รอสส์” เป็นที่ปรึกษา “ฮิลลารี คลินตัน” และ “บารัค โอบามา” เรื่องนวัตกรรม

หนังสือเล่มนี้เล่าเรื่องนวัตกรรมทั้งหลายในโลกนี้ที่จะมีบทบาทต่อชีวิตของเราในอนาคต

และในบทสุดท้าย “รอสส์” เขียนจากมุมของคนที่เป็นคุณพ่อ

เขาอยากรู้ว่า “ความรู้” อะไรที่เด็กในวันนี้ต้อง “รู้”

เพื่อรับมือกับอนาคตที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว

เขาคุยกับคนหลายคน ทั้งผู้นำประเทศ ผู้บริหารระดับสูงของบริษัทเทคโนโลยี และคนรุ่นใหม่

ข้อสรุปที่ได้ก็คือ

1. ต้องให้เด็กเรียนรู้โลกกว้าง

“ความคุ้นเคยกับวัฒนธรรมที่หลากหลายมีความสำคัญอย่างมากในโลกธุรกิจยุคอนาคต การเรียนรู้และซึมซับความเป็นอยู่ของผู้คนในประเทศต่างๆ จะทำให้เกิดธุรกิจใหญ่โตมากมายในอนาคต”

2. ต้องมีความรู้ 2 ภาษา

ไม่ใช่ภาษาของประเทศที่เราเกิด กับภาษาอังกฤษที่คนส่วนใหญ่ใช้กัน

แต่เป็น “ภาษาแบบดั้งเดิม”

และ “ภาษาคอมพิวเตอร์”

“ภาษาแบบดั้งเดิม” หมายถึงภาษาของแต่ละประเทศ ยิ่งรู้มากยิ่งดี

แต่ภาษาที่สองที่จำเป็นมากคือ “ภาษาคอมพิวเตอร์”

เพราะโลกยุคใหม่เป็น “โลกไซเบอร์”

3. ต้องมีทักษะในการ “วิเคราะห์”

เขาบอกว่าเรื่องซ้ำซากที่คนเราทำอยู่ในวันนี้ “คอมพิวเตอร์” จะมาทดแทน

เพราะ “คอมพิวเตอร์” เก่งกว่า ฉลาดกว่า เร็วกว่า และถูกกว่า

“เอริก ชมิดต์” แห่ง “กูเกิล” บอกว่าคอมพิวเตอร์ต้องมีคนดูแล ทักษะวิเคราะห์จึงไม่มีวันตกยุค

4. “วิธีคิด” สำคัญที่สุด

ในอดีต โลกในห้องเรียนมักจะแยกกันระหว่าง “วิทย์” กับ “ศิลป์”

แต่วันนี้ “กำแพง” ของ 2 ศาสตร์นี้เริ่มหายไปแล้ว

การเรียนรู้ข้ามสาขาเป็นเรื่องสำคัญมากในอนาคต

นี่คือ “ความรู้” ยุคใหม่ 4 เรื่องที่ “อเล็กซ์ รอสส์” เชื่อว่าจำเป็นสำหรับเด็กในวันนี้

เป็น “ความเชื่อ” ในมุมของคนที่คลุกคลีอยู่กับ “เทคโนโลยี”

แต่โลกนี้มีหลายมุมให้มอง

ผมเพิ่งฟังคุณอนันต์ อัศวโภคิน แห่งแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ บรรยาย

ฟังมาหลายครั้ง แต่ทุกครั้งที่ฟังก็จะได้ “ความรู้” ใหม่เสมอ

คุณอนันต์เล่าว่า ในการประชุมประจำปีของแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์

วาระหนึ่งที่ทุกแผนกต้องเล่าให้ที่ประชุมฟัง ไม่ใช่เรื่อง “ความสำเร็จ”

ขายได้เท่าไร เกินเป้าแค่ไหน

ไม่เอา

วาระบังคับประจำปีคือ ปีนี้ทำอะไรผิดพลาดไปบ้าง

และแก้ไขอย่างไร

คุณอนันต์บอกว่านี่คือ “ความรู้” ที่แท้จริง

“ความรู้” ในโลกนี้มีหลายอย่าง แต่ “ความรู้” ที่จำเป็นที่สุดของการทำงานคือ รู้ว่าอะไรผิดพลาด

และแก้ไขอย่างไร

ผมเคยบอกน้องๆ นักศึกษาทุกครั้งว่าอย่าพึงพอใจกับเกรดดีๆ หรือเกียรตินิยมหลังจบการศึกษา

เพราะ “เกรด” หรือ “เกียรตินิยม” นั้นใช้ได้ครั้งเดียว

คือ ตอนสมัครงาน

คนที่ได้เกรดดีๆ หรือเกียรตินิยม จะมีเครดิตเหนือกว่าคนที่ได้เกรด 2 กว่า

แต่เมื่อเริ่มทำงานแล้ว “เกรด” จะไม่มีความหมายเลย

สิ้นปีหัวหน้าจะดูว่าคุณทำงานดีหรือไม่ดี

ไม่มีใครดูว่าคุณเกรดเท่าไร

ยิ่งโลกในวันนี้เปลี่ยนแปลงเร็วมาก

“ความรู้” ใหม่ๆ เกิดขึ้นตลอดเวลา

“บุญคลี ปลั่งศิริ” เคยนิยามคำว่า “คนเก่ง” ในมุมของ “คนทำงาน”

“คนเก่ง” คือ คนที่เรียนรู้สิ่งใหม่ได้เร็ว

ความรู้ใหม่ งานใหม่ คนใหม่

เป็นความรู้ที่ไม่มีเกรดรับรอง

และ “คนเก่ง” คือ คนที่ทำงานผิดพลาดแล้วแก้ไขได้เร็ว

เพราะโลกแห่งการทำงาน ไม่มีใครทำถูกทุกครั้ง

คนที่ไม่เคยทำอะไรผิดเลย คือ คนที่ไม่กล้าตัดสินใจ

การตัดสินใจย่อมมีผิดและถูก

ถ้าผิดต้องแก้ไขให้เร็ว

คนแบบนี้ ผู้ใหญ่จะไว้วางใจให้ทำงานใหญ่

เพราะรู้ว่าถ้าเกิดความผิดพลาดเมื่อไร

บริษัทจะเสียหายไม่มาก

ปัญหาไม่บานปลาย

เพราะเขาแก้ปัญหาได้เร็ว

นี่คือ “ความรู้” ที่จำเป็นในโลกของคนทำงาน

อีกมุมมองหนึ่ง

เคยได้ยินคำว่า Dunning-Kruger effect ไหมครับ

Dunning-Kruger คือ ชื่อคนคิดเรื่องนี้

Justin Kruger และ David Alan Dunning

เขาบอกว่าคนที่มีความรู้มาก ระดับความมั่นใจก็จะเพิ่มขึ้นมากเท่านั้น

จนถึงจุดหนึ่งเขาจะก้าวขึ้นสู่ระดับ “รู้แล้ว”

ครับ “รู้แล้ว” เมื่อไร น้ำก็เต็มแก้วทันที

“รู้แล้ว” จึงเป็น “ความรู้” ที่น่ากลัวที่สุด

Dunning-Kruger เรียกยอดเขานี้ว่า Mount Stupid

หรือ “ยอดเขาแห่งความโง่”

ทุกคนล้วนเคยผ่านยอดเขานี้มาแล้ว

แต่หลังจากนั้นประสบการณ์ชีวิตจะบอกเราว่าที่เราคิดว่าเก่ง แท้จริงมีคนอื่นเก่งกว่า

ที่คิดว่าเรารู้ มีคนอื่นรู้มากกว่า

ที่คิดว่าเรารู้เยอะ จริงๆ แล้วยังมีความรู้มากมายในโลกที่เราไม่รู้

ช่วงนี้เหมือนเรากำลังอยู่ใน Valley of despair หรือหุบเขาแห่งความสิ้นหวัง

ถ้าเขียนเป็นกราฟ เส้นกราฟจะเริ่มจาก 0 แล้วค่อยๆ ทะยานขึ้นมาสู่ยอดเขา

จากนั้นก็ตกลงมาเป็นท้องช้างอยู่ในหุบเหวนี้

เป็นช่วงเวลาของการเรียนรู้ของชีวิต

คนบางคนไม่ยอมลงจากยอดเขา

เขาใช้คำเรียกคนกลุ่มนี้ว่า “โง่จนไม่รู้ว่าตัวเองโง่”

เจ็บมาก

แต่บางคนเรียนรู้แล้วยอมรับ เส้นกราฟของคนกลุ่มนี้จะทะยานขึ้นไปอยู่บนยอดเขาอีกครั้งหนึ่ง

คนกลุ่มนี้เรียกว่า Expert

พอเริ่มรู้มากขึ้น “ความเชื่อมั่น” ก็จะกลับมาอีกครั้ง

ถ้าไม่เรียนรู้จากอดีต เขาก็จะกลับไปสู่ยอดเขาลูกเดิม

Mount Stupid

แต่ถ้าสรุปบทเรียนได้ รู้ว่ายังมีความรู้ใหม่ๆ อีกมากที่เขาไม่รู้

เขาก็จะคงความเป็น Expert เหมือนเดิม

คนที่เป็น Stupid กับ Expert จะแตกต่างกันตรงไหนรู้ไหมครับ

Stupid จะไม่รู้ว่าตนเองไม่รู้เรื่องอะไร

ยังคิดว่ารู้ทุกเรื่องเหมือนเดิม

แต่ Expert นั้น รู้ว่าตนเองรู้อะไร

และรู้ว่าอะไรที่เขาไม่รู้

เขาจะเชื่อมั่นในสิ่งที่รู้

และยอมรับในสิ่งที่เขาไม่รู้

เหมือนกับที่ “เจียง เจ๋อ หมิน” อดีตประธานาธิบดีจีนเคยบอกว่าความรู้ในโลกนี้มีอยู่แค่ 2 อย่าง

คือ รู้ว่ารู้อะไร

และรู้ว่าไม่รู้อะไร

ถ้า “ไม่รู้” ก็เรียนรู้

แค่นั้นเอง

ครับ โลกนี้มีหลายมุมให้มอง

“ความรู้” ก็เช่นกัน