เรื่องราวของผู้หญิงบนแสตมป์

เรื่องนี้ติดค้างท่านผู้อ่านมาร่วมเดือนแล้ว

ในบรรดาแสตมป์ของชาติต่างๆ ที่มีเรื่องราวพุทธศาสนาที่เคยเล่ามาให้ฟัง

แม้ประเทศที่ไม่ได้นับถือพุทธ ก็มีแสตมป์รูปพระพุทธเจ้าค่ะ เช่น แกมเบีย หรือแม้อัฟกานิสถาน เห็นแล้วตาโต เพราะเราไม่เคยทราบว่าเขาจะให้ความสำคัญและมาร่วมฉลองวันสำคัญในพุทธศาสนาถึงกับออกแสตมป์เป็นรูปพระพุทธเจ้า

คราวนี้ พาชมแสตมป์ที่มีเรื่องราวของผู้หญิงในพุทธศาสนา ประเทศที่ออกแสตมป์มากที่สุดคือศรีลังกาค่ะ

แสตมป์ไทยที่มีผู้หญิงส่วนใหญ่จะเกี่ยวข้องกับพระราชวงศ์มากกว่าเนื้อหาในศาสนา

เรื่องราวของผู้หญิงที่ปรากฏบนแสตมป์ของศรีลังกาเป็นเรื่องราวที่มาจากเถรีคาถาเสียเป็นส่วนใหญ่

แน่นอน เถรีคาถาเป็นเรื่องราวของพระภิกษุณีที่เป็นอรหันต์

โดยเฉพาะมักเน้นที่เอตทัคคะ คือภิกษุณีที่มีความเป็นเลิศในด้านต่างๆ ที่พระพุทธองค์ทรงยกย่องเห็นเป็นประจักษ์

พระอรหันต์เถรีที่เป็นเอตทัคคะ 13 รูปนี้ มากล่าวถึงอีกในคาถาที่พระสวดกันในมหาสันติงหลวง ซึ่งนิพนธ์โดยพระอาจารย์ธัมมานันทะ เมื่อ 200 ปีก่อน ในเชียงใหม่ มหาสันติงหลวงนี้ต้นฉบับ หายไปจากเชียงใหม่ แต่ได้รับการรื้อฟื้นขึ้นอีกครั้งเมื่อพบต้นฉบับจากพม่า

ในมหาสันติงหลวงนี้ กล่าวถึงพระพุทธเจ้า พระอรหันต์สาวก และพระอรหันต์สาวิกา คือ พระอรหันต์เถรี 13 รูป นาค พรหม ยักษ์ มากมาย

มหาสันติงหลวงนี้ เป็นบทสวดที่ใช้เวลาสวด 1 ชั่วโมง 5 นาทีอย่างต่ำ

ที่วัตรทรงธรรมกัลยาณีใช้สวดบทนี้ในวันส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ค่ะ

ถือโอกาสประชาสัมพันธ์ไปด้วยในตัว

 

เรื่องราวของภิกษุณีรูปแรกที่ปรากฏบนแสตมป์ของศรีลังกาเรื่องแรกคือเรื่องราวของปฏาจารา ซึ่งเป็นธิดาของเศรษฐีในเมืองสาวัตถี

แต่นางเลือกที่จะใช้ชีวิตกับชายคนรับใช้ในคฤหาสน์ท่านบิดา ทำให้ต้องหนีออกไปอยู่กับสามีอย่างลำบากยากแค้น

นางพยายามกลับบ้านพ่อแม่ตอนที่ท้องลูกคนที่สอง นางหลบหนีสามีออกมา แต่สามีก็มาตามทันท่ามกลางพายุฝน

คืนนั้นนางให้กำเนิดลูกคนที่สอง สามีออกไปหาฟืนก็ถูกงูกัดตาย ลูกคนเล็กถูกเหยี่ยวคาบไปต่อหน้าต่อตา ลูกคนโตถูกน้ำพัดไป โดยที่นางช่วยอะไรลูกไม่ได้เลย

ครั้นมุ่งหน้ากลับบ้าน ก็พบว่ามารดา บิดาและพี่ชายเพิ่งตายในพายุฝนนั้นเอง

นางจึงเป็นบ้าด้วยความทุกข์ที่ท่วมท้น

จนได้มาพบพระพุทธเจ้า นางจึงได้สติคืนมา

ต่อมานางได้ออกบวชและได้บรรลุธรรมในที่สุด

เรื่องราวของปฏาจาราจึงเป็นเรื่องราวที่กล่าวขานกันอย่างยิ่งในเรื่องความทุกข์จากการสูญเสียคนรักที่สุด 6 ชีวิต ภายในเวลาวันเดียว

แม้กระนั้น นางก็ยังบรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์ได้

 

ในแสตมป์ราคา 3 รูปี จะเห็นภาพนางเป็นบ้า ลูกคนหนึ่งตายในน้ำ ลูกคนหนึ่งถูกเหยี่ยวคาบไป สามีนอนตายอยู่เบื้องหน้าพร้อมกับงู ชาวพุทธเห็นรูปนี้ปั๊บจะบอกได้เลยว่าเป็นเรื่องราวของนาง

ในอีกชุดหนึ่ง เป็นแสตมป์ที่ออกมาใน ค.ศ.1996 พ.ศ.2539 แสตมป์ราคา 1 รูปี 2 รูปี 5 รูปี และ 10 รูปี ชุดนี้ราคา 18 รูปี

แสตมป์รูปแรก ซ้ายบน จะเป็นเรื่องราวของนางจาปา

เรื่องย่อของนางจาปาน่าสนใจ

ตรงที่พ่อยกนางให้กับอุปกะ ชายที่เป็นพระมานาน แล้วมาหลงรักนาง

ปรากฏว่า เมื่อนางมีลูกกับอุปกะ นางขออะไรจากอุปกะก็ทำไม่เป็นสักอย่าง

เวลาที่นางร้องเพลงกล่อมลูก นางจึงร้องเพลงเนื้อหาเยาะเย้ยสามีที่ทำอะไรไม่เป็น

ในที่สุดอุปกะเสียใจมาก จึงทิ้งลูกเมียออกบวชอีกครั้งหนึ่ง

นางจาปาต่อมาก็ได้ออกบวชเป็นภิกษุณีเหมือนกัน รูปที่ปรากฏบนแสตมป์เป็นรูปนางจาปากำลังเลี้ยงลูก โดยมีลูกชายนอนบนท่อนขาของนาง

อุปกะถือธนู กำลังออกไปล่าเนื้อ

 

ต่อมาเป็นเรื่องราวของนางสุภา ปรากฏบนแสตมป์ราคา 5 รูปี คราวนี้รูปที่ปรากฏบนแสตมป์เป็นรูปภิกษุณีงามมากรูปหนึ่งกำลังยืนคุยกับชายหนุ่ม

สุภาเดิมมาจากครอบครัวพราหมณ์ในเมืองราชคฤห์ นางออกบวชเป็นภิกษุณี ได้ฉายาว่าสุภา

เพราะความงามของนางนั่นเอง

วันหนึ่ง ชีวกกัมพวัน ชายหนุ่มลูกชายช่างทองพบนางและเกี้ยวพาชวนเชิญนางไปในทางกาม โดยเอาทรัพย์สมบัติมาเป็นตัวล่อ

นางพยายามสอนให้เขาละคลายความคิดที่เป็นอกุศล

แต่เขาก็ไม่ยอมลดละ ชื่นชมความงามของนางโดยเฉพาะนัยน์ตา

นางก็เลยควักลูกตาให้ แล้วว่า “อยากได้นี่ก็เอาไปเลย”

ชายหนุ่มตกใจในความเด็ดเดี่ยวของนาง แล้วขอขมาลาจากไป

ภิกษุณีเข้าไปเฝ้าพระพุทธเจ้า ทันทีที่ได้เห็นพระพุทธเจ้า ด้วยความศรัทธาในพระองค์นางก็ได้ดวงตากลับคืนมา

แสตมป์ดวงนี้ พระภิกษุณีงามมาก

 

อีกเรื่องหนึ่งเป็นแสตมป์เรื่องของภิกษุณีปุณณิกา ปุณณิกาเป็นธิดาของทาสในเมืองสาวัตถี มีหน้าที่ต้องแบกน้ำจากแม่น้ำไปให้เจ้านายใช้

วันนั้น นางเห็นพราหมณ์กำลังอาบน้ำชำระบาป นางจึงถามว่า ถ้าอาบน้ำชำระบาปได้จริง บรรดาปลา เต่า จระเข้ในน้ำก็คงไปสวรรค์กันหมดนะ

ที่พูดถึงแสตมป์ดวงนี้ เพราะมีความผิดพลาด ที่ดวงแสตมป์ว่าเป็นเรื่องของภิกษุณีปุณณา แต่จริงๆ แล้วเป็นเรื่องของภิกษุณีปุณณิกา

แสตมป์ชุดนี้ที่มีราคา 2 รูปี เป็นเรื่องราวของภิกษุณีชื่อทันติกา

เดิมทันติกาเป็นธิดาของพราหมณ์ในเมืองสาวัตถี เธอได้เข้ามาบวชเป็นภิกษุณีในสำนักของพระนางมหาปชาบดีโคตมีเถรี

ท่านได้เขียนโคลงบรรยายถึงสิ่งที่ท่านได้เห็นที่ชวนให้ท่านได้นึกถึงการปฏิบัติธรรม

วันหนึ่ง ขณะที่ท่านนั่งอยู่ที่เขาคิชฌกูฏ ได้เห็นช้างที่ขึ้นมาจากน้ำกับควาญช้าง ควาญช้างสั่งว่า งอขาหน่อย ช้างก็งอขาให้เพื่อให้ควาญช้างเหยียบขึ้นหลัง

ท่านเห็นแล้วก็รำพึงว่า ดูหรือ ช้างเป็นสัตว์แท้ๆ มนุษย์ยังฝึกได้

จากนั้น ท่านก็ออกไปนั่งสมาธิฝึกจิต

ในแสตมป์รูปนี้ ภิกษุณีทันติกากำลังนั่งสมาธิ ไกลออกไปเป็นช้างที่กำลังขึ้นมาจากริมน้ำมีควาญช้างกำกับ

ในปี ค.ศ.2014 มีงานฉลองแสตมป์ที่เมืองเวสาลี มีการทำรูปนางอัมพปาลีกำลังถวายพระกระยาหารกับพระพุทธเจ้าด้วย

ที่เลือกนางอัมพปาลี เพราะนางอัมพปาลีเป็นชาวเมืองเวสาลี และได้ถวายสวนมะม่วงอัมพปาลีวันไว้สำหรับพระพุทธเจ้า และคณะสงฆ์ด้วย

 

นางมาคัณฑิยา คราวนี้เป็นเรื่องของนางร้าย ก็มีโอกาสอยู่บนแสตมป์เหมือนกัน

นางมาคัณฑิยาเป็นลูกสาวพราหมณ์ที่มีความพึงพอใจพระพุทธเจ้า แต่พระพุทธเจ้าไม่สนพระทัย นางจึงผูกความอาฆาตแค้นไว้ในใจ ต่อมานางได้เป็นหนึ่งในสามของพระมเหสีของพระเจ้าอุเทน แห่งโกสัมพี

เมื่อนางทราบว่าพระพุทธเจ้าเสด็จมาโกสัมพี นางจึงว่าจ้างคนให้ไปตะโกนกล่าวร้ายพระพุทธเจ้า

จนพระอานนท์ทนไม่ได้ ทูลขอให้พระพุทธเจ้าเสด็จไปที่อื่น แต่พระพุทธองค์ทรงเลือกที่จะอยู่จนสามารถเอาชนะใจชาวเมืองและสร้างศรัทธาให้เกิดอีกต่างหาก

 

แสตมป์เป็นสื่อข้ามชาติอย่างวิเศษ นำเรื่องราวในพุทธศาสนาไปบอกเล่ากับนานาชาติได้เป็นอย่างดี

ศรีลังกาเป็นประเทศหนึ่งที่หยิบยกเปิดพื้นที่ให้กับเรื่องราวของภิกษุณี เพราะการสืบทอดภิกษุณีสงฆ์จากอินเดียมาศรีลังกาเป็นความภาคภูมิใจของชาวศรีลังกา

สืบทอดมาสู่ปัจจุบัน การรื้อฟื้นเรื่องภิกษุณีในสายเถรวาทจึงมีความเป็นไปได้ที่ศรีลังกามากกว่าประเทศอื่น เพราะอย่างน้อยที่สุดศรีลังกาเคยมีภิกษุณีเป็นเวลายาวนานกว่าพันปี การที่จะรื้อฟื้นจึงเป็นเรื่องที่ชาวศรีลังกายอมรับและสามารถสนับสนุนได้มากกว่าประเทศอื่นที่ไม่เคยมีวัฒนธรรมภิกษุณีมาก่อน

ศรีลังกาจึงเป็นประเทศที่ถือเป็นศูนย์กลางของการเกิดขึ้นของภิกษุณีสงฆ์สายเถรวาทในสมัยปัจจุบัน

ผู้หญิงไทยที่ประสงค์จะบวชเป็นภิกษุณีก็ยังต้องเดินทางไปศรีลังกา เรื่องราวของผู้หญิงบนแสตมป์จึงมีอิทธิพลต่อสังคมพุทธในระดับหนึ่งทีเดียว