กรองกระแส / โมเดล เพ้อฝัน โมเดล เปรม ติณสูลานนท์ ในยุคของ คสช.

กรองกระแส

โมเดล เพ้อฝัน

โมเดล เปรม ติณสูลานนท์

ในยุคของ คสช.

เด่นชัดเป็นอย่างยิ่งว่า การเลือกตั้งจะต้องเกิดขึ้นภายในปี 2562 อย่างแน่นอน หากมิใช่ภายในเดือนกุมภาพันธ์ ก็อาจจะเป็นภายในเดือนมีนาคม
แม้กระทั่งที่หวังจะเลื่อนเป็นภายในเดือนพฤษภาคม ก็อาจจะยาก
กล่าวสำหรับตัว พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เริ่มกล่าวถึงวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2562 อย่างหนักแน่นและจริงจังมากยิ่งขึ้น
ที่ทุกอย่างเป็นเช่นนี้มี “ปัจจัย” มาจากอะไร
มาจากแรงกดดันจากต่างประเทศอย่างนั้นหรือ มาจากแรงกดดันของกลุ่มพลังต่างๆ ภายในประเทศอย่างนั้นหรือ
อาจใช่ แต่ก็ไม่ส่งผลในลักษณะชี้ขาด
ตรงกันข้าม มาจากการวางหมากทางการเมืองของ คสช.มากกว่า นั่นก็คือ เป็นการวางหมากบนพื้นฐานที่ต้องการสร้างความได้เปรียบให้กับตนเองมากที่สุดจนเป็นหลักประกันว่าจะสามารถเอาชนะปรปักษ์ทางการเมืองได้
กระนั้น หมากเดียวกันนี้กลับส่งผลในทางตรงกันข้าม กล่าวคือ ไม่ได้ส่งผลดีอย่างแท้จริง หากแต่ยิ่งยื้อ ถ่วง หน่วงออกไปกลับกลายเป็นผลดี
ผลสะเทือนอย่างหลังต่างหากที่ย้อนกลับมากดดัน คสช.

จากพฤษภาคม 2557
ถึงพฤษภาคม 2561

ยุทธศาสตร์ “อยู่ยาว” ของ คสช.เริ่มก้าวแรกด้วยการคว่ำร่างรัฐธรรมนูญฉบับของนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ เมื่อเดือนกันยายน 2558
สามารถต่อระยะเวลาอยู่ในอำนาจให้ คสช.ได้จริง
นั่นก็คือ จาก “ปฏิญญาโตเกียว” มาเป็น “ปฏิญญานิวยอร์ก” และจากปฏิญญานิวยอร์กมาเป็น “ปฏิญญาทำเนียบขาว” นั่นก็คือจากปี 2558 มาเป็นปี 2560
คสช.ต้องการใช้เวลาเหล่านี้ในการ 1 จัดวางกฎกติกา ไม่ว่ารัฐธรรมนูญ ไม่ว่ายุทธศาสตร์ 20 ปี ไม่ว่าการจัดฐานกำลังผ่านองค์กรอิสระ ผ่านกลไกระบบราชการ ขณะเดียวกัน 1 หวังว่าการดำเนินโครงการประชารัฐ โครงการไทยนิยม
อย่างแรกสร้างหลักประกันในการสืบทอดอำนาจ อย่างหลังสร้างคะแนนและความนิยมเพื่อที่จะเอาชนะในการเลือกตั้ง
ถามว่า 4 ปีที่ผ่านมา คสช.และรัฐบาลประสบความสำเร็จหรือไม่
คำตอบก็คือ สามารถวางระบบและโครงสร้างทางกฎหมาย รัฐราชการและองค์กรอิสระเอาไว้อย่างเหนียวแน่นและมั่นคง แต่มีปัญหาในเรื่องผลงานและความสำเร็จแม้จะลอกมาจากพรรคไทยรักไทย พรรคพลังประชาชน พรรคเพื่อไทยอย่างเต็มที่
การบริหารจัดการของ คสช.นั่นเองกำลังจะกลายเป็นกับดักและย้อนกลับมาส่งผลเสียให้กับ คสช.

แผนสืบทอดอำนาจ
เริ่มแปรเปลี่ยน

เดิมที คสช.คิดจะจัดตั้งพรรคการเมืองอันเป็นแขนขาของตนเพื่อเป็นหลักประกันให้กับการสืบทอดอำนาจนอกเหนือจากการจัดวางกำลังผ่าน 250 ส.ว.
แต่การไม่ประสบผลสำเร็จจากการบริหารตลอด 4 ปีทำให้เกิดการแปรเปลี่ยน
พรรคการเมืองอันเป็นเครือข่ายของ คสช.ยังคงมีอยู่ ไม่ว่าจะเป็นพรรคพลังประชารัฐ พรรครวมพลังประชาชาติไทย แต่ คสช.ก็ไม่คิดที่จะเข้าไปร่วมอย่างชนิดเต็มร้อย ตรงกันข้าม กลับเลือกยุทธวิธีสืบทอดอำนาจในแบบของ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์
นั่นก็คือ คสช.จะไม่เข้าไปแข่งขันโดยตรง หากแต่วางตัวอยู่เหนือความขัดแย้ง วางตัวเหมือนกับที่ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ เคยทำและประสบผลสำเร็จจากเดือนกุมภาพันธ์ 2523 ถึงเดือนสิงหาคม 2531
นั่นก็คือ คสช.จะใช้ความขัดแย้งของพรรคการเมืองมาเป็นประโยชน์
ยิ่งพรรคการเมืองขัดแย้งกันมากเพียงใดและเดินหน้าเข้าฟาดฟันกันด้วยความเคียดแค้นมากเท่าใดจึงยิ่งจะเป็นประโยชน์ให้กับ คสช.มากเพียงนั้น
นี่คือจุดแข็งเพียงจุดเดียวอันจะเป็นคุณให้กับการสืบทอดอำนาจของ คสช.

จากยุคของ “เปรม”
มายังยุคของ “คสช.”

สภาพการณ์ทางการเมืองปัจจุบันมีความขัดแย้งเหมือนกับที่เคยดำรงอยู่ในยุคของ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ จริง โดยเฉพาะนับแต่รัฐประหารปี 2549 ต่อเนื่องมายังรัฐประหารปี 2557
แต่สถานการณ์ก็แตกต่างไปจากยุคของ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ เป็นอย่างมาก
พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ในเบื้องต้นดำรงอยู่ในสถานะอันเป็นกรรมการ เป็นคนกลางอย่างเด่นชัด แต่สถานะของ คสช.มิได้ดำรงอยู่ในสถานะอันเป็นกรรมการหรือเป็นคนกลาง ตรงกันข้าม กลับอยู่ในฐานะเป็นคู่ความขัดแย้ง
จึงก่อให้เกิดกระแสเอา คสช. กับกระแสไม่เอา คสช. จึงนำไปสู่ทางแยกระหว่างแต่ละพรรคการเมืองว่าจะกำหนดท่าทีของตนอย่างไรกับ คสช.
สภาพการณ์นี้จะเป็น “ตัวแปร” และเป็น “ปัจจัย” ก่อให้เกิดการแปรเปลี่ยน
ปัญหาจึงมิได้ดำรงอยู่ในตอนก่อนการเลือกตั้ง หากแต่จะทวีความแหลมคมมากยิ่งขึ้นภายหลังการเลือกตั้งอันเนื่องแต่หมากกลและกับดักซึ่ง คสช.จัดวางเอาไว้
ปัญหาเหล่านี้ยากเป็นอย่างยิ่งที่ คสช.จะปฏิเสธความรับผิดชอบได้