ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 24 - 30 สิงหาคม 2561 |
---|---|
คอลัมน์ | ผี-พราหมณ์-พุทธ |
ผู้เขียน | คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง |
เผยแพร่ |
ในเดือนสิงหาคม-กันยายนของทุกปี ชาวฮินดูในอินเดียและต่างประเทศ โดยเฉพาะจากภาคเหนือและภาคตะวันออกรวมทั้งชาวเนปาลีจะฉลองเทศกาลอันหนึ่งที่น่ารักมากๆ คือเทศกาล “รักษาพันธนะ”
รักษาพันธนะ (RakshaBandan) หมายถึงพิธีผูก (พันธนะ) สาย “รักษา” ที่ข้อมือ เพื่อให้ปกปักรักษาผู้ผูกนั่นเอง การผูกรักษาพันธนะจะทำในวันเพ็ญเดือน “ศราวณะ” ซึ่งอยู่ในราวสิงหาคม-กันยายน เรียกว่าวัน “ศราวณีปูรณิมา”
พิธีกรรมในวันนี้กระทำในครอบครัว น้องสาวจะนำสายรักษาสูตรหรือสายสิญจน์ของฮินดู (ภาษาฮินดีเรียกรักขี) มักทำด้วยด้ายย้อมสีแดงหรือเหลือง และอาจประดับประดาตกแต่งด้วยตุ๊กตาเล็กๆ ลูกปัด ไปจนถึงทองและอัญมณี มาผูกที่ข้อมือขวาของพี่ชาย
เมื่อผูกแล้วจะเจิมหน้าผาก เวียนประทีปอารตี ป้อนขนมหวานให้ และอวยพรให้พี่ชายอายุยืน พี่ชายจะมอบเงินหรือของขวัญตอบแทนให้ไป
ส่วนน้องสาวที่ออกเรือนไปแล้วก็จะได้กลับมาบ้านเดิมของตนเอง ซึ่งนานๆ จะมีโอกาสสักครั้ง
แต่ใครไม่มีพี่ชาย ก็ผูกข้อมือลูกพี่ลูกน้อง หรือผู้ที่ตนนับถือเป็นพี่ คนที่คุ้มครองดูแล หรือแฟนก็ยังได้ ทำนองว่า “น้องผูกสายสิญจน์ให้โอปป้านะเค่อะ”
ดูเป็นประเพณีที่น่ารักมากๆ
บางคนยังแบ่งปันเผื่อแผ่ไปยังเทพเจ้าด้วย ถือสาวๆ ทั้งน้อยและมากจะพากันนำสายรักขีไปผูกให้บรรดาเทพเจ้าผู้ชาย นัยว่าเพื่อให้ท่านได้คุ้มครองดูแลดุจพี่ชายดูแลน้องสาวอีกที
ส่วนใครไปย่านคนอินเดีย เช่นพาหุรัดในช่วงนี้ จะพบว่าร้านรวงต่างๆ นำเข้าสายสิญจน์ “รักขี” จากอินเดียอย่างมากมายหลากหลายรูปแบบ ทั้งแบบกุ๊กกิ๊กน่ารักเหมาะกับเด็ก หรือเว่อร์วังอลังการเพชรยิบยับเลยก็มี
การผูกสายสิญจน์นี้มีปรากฏในภาวิษยปุราณะ ซึ่งเล่าว่า นางศจี ชายาของพระอินทร์ได้ผูกสายสิญจน์ให้กับพระอินทร์ก่อนจะไปทำสงครามกับเหล่าอสูรเพื่อให้ปลอดภัย ตำนานนี้สะท้อนว่า แต่เดิมคงใช้สายสิญจน์รักขีในความหมายของเครื่องรางที่ผู้หญิงผูกให้ผู้ชายเพื่อจะปลอดภัยในการสู้รบมากกว่าอย่างอื่น
ในภาควัตปุราณะ มีเล่าออกไปอีกทางว่า ท้าวพาลีขอพรให้พระวิษณุอยู่กับตนในบาดาลโลก แต่พระนางลักษมีไม่โปรดวิมานที่ประทับใหม่ พระนางลักษมีจึงผูกรักขีให้กับท้าวพาลี เพื่อให้ท้าวพาลีมีสถานะเป็นพี่ชาย เมื่อผูกแล้วท้าวพาลีจึงให้พรหนึ่งข้อ พระลักษมีจึงขอพระวิษณุคืนไปอยู่ในไวกุณฐโลกกับตนดังเดิม
เรื่องในภาควัตปุราณะจึงฟังดูมีความเกี่ยวข้องกับพี่ชาย-น้องสาวมากขึ้น
ท่านอาจารย์ลลิต โมหันวยาส ครูของผม ท่านเคยเล่าว่า ที่จริงการผูกสายสิญจน์ในปุราณะ อาจไม่เกี่ยวกับเทศกาลรักษาพันธนะก็ได้ เพราะในอดีตเทศกาลรักษาพันธนะ หรือที่ถูกต้องเรียกว่าศราวณีปูรณิมา เป็นเทศกาลของพวกพราหมณ์เท่านั้น
คือที่จริงเป็นวัน “ชำระมลทินใหญ่” ของพราหมณ์ พราหมณ์จะกลับสำนักตนไปประกอบพิธี “อุปกรรม” คือการลงอาบน้ำในแม่น้ำลำคลอง ชำระตัวด้วยของต่างๆ เป็นต้นว่า ปัญจคัภย์ (โคทั้ง 5 คือ มูตร คูถ นม เนยใส และโยเกิร์ต) ดิน ขี้เถ้า ธัญพืช ทอง หญ้าคา ฯลฯ
การชำระล้างนี้เรียกอีกอย่างว่า “ปรายัศจิต” หรือกล่าวง่ายๆ ว่าพิธีล้างบาป
จากนั้นจะเปลี่ยนสายสิญจน์สังวาลที่คล้องตัวหรือสายธุร่ำ (สันสกฤตเรียกยัชโญปวีต) ทำการสวดพระเวทแต่ละเวทเพื่อรักษาทรงจำพอเป็นพิธี แล้วทำภาวนาคายตรีมนตร์ กราบขอพรครูบาอาจารย์
ส่วนผู้ที่มิใช่พราหมณ์ก็จะไปกราบไหว้ครูครูอาจารย์แล้วให้ท่านผูกสายสิญจน์ที่ข้อมือให้กันถ้วนหน้า
ท่านอาจารย์บอกว่า สมัยก่อนพิธีมีแค่นี้แหละ ภายหลังด้วยอิทธิพลของภาพยนตร์ที่เน้นความโรแมนติก ผู้คนจึงไปโฟกัสที่การผูกสายสิญจน์ระหว่างพี่ชาย-น้องสาวหรือคนรักมากกว่าการไปขอรับพรจากครูอาจารย์
นอกเทศกาลแล้ว คนฮินดูผูกสายสิญจน์กันแบบคนไทยเรานี่แหละครับ ผูกกันในพิธีบูชา ผูกเมื่อไปวัด ผูกเมื่อไม่สบายใจ ฯลฯ
ท่านยังบอกอีกว่า การแพร่หลายของแนวคิดเรื่องผูกกันระหว่างชาย-หญิงเกิดขึ้นในสมัยที่ชาวมุสลิมปกครองอินเดียแล้วด้วยซ้ำ กล่าวคือ ในสมัยนั้นมักมีปัญหาเรื่องของการลักพาตัวหญิงสาวในหมู่บ้านอยู่บ่อยๆ หญิงสาวจึงต้องไปขอรับความช่วยเหลือจากผู้ชายในหมู่บ้านตน โดยผูกสายสิญจน์ไว้เป็นสัญญาใจว่าคุณจะต้องปกปักรักษาฉัน เหมือนที่สายสิญจน์นี้รักษาคุณ เพราะฉันนับว่าคุณเป็นพี่ชายแล้ว ทำนองนั้น
ผมไม่ได้สืบค้นต่อจากคำบอกเล่าของครูบาอาจารย์ว่าจริงเท็จเพียงใด แต่เห็นได้ว่าพิธีผูกสายสิญจน์ (เฉพาะในเทศกาลนี้) มีความน่าสนใจคือ ปฏิบัติกันในตอนเหนือของอินเดีย ไม่นิยมกันในทางภาคใต้ ซึ่งแสดงว่าพิธีนี้ผูกพันอยู่กับบริบททางประวัติศาสตร์และสังคมของคนทางภาคเหนือเป็นอย่างมาก
ในปัจจุบันคงไม่มีใครห้ามความหมายใหม่ๆ ที่จะเกิดขึ้นจากตัวพิธีนี้ได้ และยังมีการปฏิบัตินอกชุมชนฮินดู เช่น ชุมชนชาวสิกข์ และชุมชนมุสลิมในบางแห่งของอินเดียด้วย
ก็เพราะมันมีความเป็นพิธีกรรมทางศาสนาน้อยลงเรื่อยๆ ไงครับ
ที่สำคัญคือ อิทธิพลของสื่อต่อความเชื่อและพิธีกรรมที่ค่อยๆ เปลี่ยนความหมายไปเรื่อยๆ
อาจารย์ประมวล เพ็งจันทร์ บอกว่า ในสมัยที่ท่านเรียนอยู่อินเดีย (และในปัจจุบัน) แหล่งของดนตรีในชีวิตผู้คนอินเดียมาจากสองอย่างเป็นหลัก คือภาพยนตร์และ “วัด”
คำกล่าวนี้มิได้เกินเลยไปแม้แต่น้อยในปัจจุบัน ซึ่งอินเดียมีดนตรีเพื่อความบันเทิงเองอยู่มาก และเป็นอุตสาหกรรมขนาดใหญ่มากๆ แต่ดนตรีก็ยังคงมาจากสองแหล่งใหญ่ คือภาพยนตร์และวัดอยู่ดี
ซึ่งแสดงให้เห็นอิทธิพลของภาพยนตร์ทั้งจอเงินและจอแก้วว่ามีต่อผู้คนเพียงไร
อีกพิธีหนึ่งที่ได้รับอิทธิพลจากภาพยนตร์อย่างเห็นได้ชัดคือพิธีแต่งงาน
ท่านบอกว่า ผู้คนจะรู้เพียงว่าการแต่งงานมีสาระสำคัญอยู่ที่การเดินรอบๆ ไฟ เพราะในหนัง (ซึ่งมีเวลาจำกัด) มักจะเน้นฉากนี้ หรือการที่บ่าวสาวจะคล้องพวงมาลัยให้กัน
แต่ที่จริงแล้ว การเป็นสามี-ภรรยาจะเกิดขึ้นในช่วงพิธี “สัปตปที” หรือการสาบานกันเจ็ดข้อต่างหาก เมื่อสาบานกันจบแล้ว พราหมณ์จะย้ายสลับที่นั่งของทั้งคู่ ซึ่งแสดงว่าทั้งสองเป็นสามี-ภรรยากันแล้วโดยสมบูรณ์ทั้งทางศาสนาและทางนิตินัย (ในสมัยโบราณ)
แต่สัปทีไม่มีแอ๊กชั่น ไม่ซึ่งที่ตรงไหน จึงไม่ได้เป็นไฮไลต์ในภาพยนตร์
นอกจากนี้ ในเวลาที่เจ้าบ่าวคล้องสาย “มงคลสูตร” แก่เจ้าสาว ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของผู้หญิงที่แต่งงานแล้ว (สุมังคลี) อาจารย์ของผมท่านก็เล่าว่า แต่เดิมไม่ได้มีบทสวดอะไร ต่อมาภาพยนตร์ทำให้พราหมณ์ในฉากนั้นสวดมนตร์บทหนึ่งขึ้นมา (สรวะ มังคละ มังคัลเย…) ผู้คนเลยพากันนิยม พราหมณ์เลยต้องพลอยสวดไปด้วย
กลายเป็นประเพณีที่มาจากภาพยนตร์
ในอินเดีย การโปรโมตประเพณีท้องถิ่น โปรโมตเทพท้องถิ่น โปรโมตวัดวา ยังคงมีอยู่อย่างมากมาย ผมยกตัวอย่างเรื่องพิธีผูกสายสิญจน์ ซึ่งขณะที่กำลังเขียนบทความนี้ก็ใกล้เข้ามาแล้ว (ปีนี้คือ 26 สิงหาคม 2561) จึงทำให้นึกขึ้นมาได้ เลยขอยกมาเป็นตัวอย่าง
ที่จริงบ้านเราก็มีการโปรโมตประเพณีพิธีกรรมแล้วทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทั้งความหมายและแนวปฏิบัติอีกเยอะ เผลอๆ จะมากกว่าอินเดียเสียอีก ตัวอย่างเช่น ลอยโคมนั่นปะไร ลอยกันทุกงาน ทุกเทศกาล
แต่เรื่องนี้ใครจะรู้เท่าคนวงการพระเครื่องหรือวงการเทพเจ้าล่ะครับ
มีนวัตกรรมใหม่ๆ กันเสมอ