“วัดล่ามช้าง-วัดร้างต้นปูน” หัวใจเชียงใหม่ที่กำลังถูกย่ำยีด้วยทุนนิยม ตอนจบ

เพ็ญสุภา สุขคตะ

วัดล่ามช้างไม่ใช่รายแรกที่ต้องแลกช้ำ

การต่อสู้เพื่อปกป้องพื้นที่ซึ่งในอดีตเคยเป็นเขตโบราณสถานอันรุ่งเรือง

แต่ปัจจุบันกลับถูกขึ้นบัญชีภายใต้ชื่อคำว่า “วัดร้าง” นั้น บอกได้เลยว่า วัดล่ามช้างจังหวัดเชียงใหม่ หาใช่วัดแรกที่ต้องออกแรงเรียกร้องทวงคืนพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์กลับมา จนต้องบอบช้ำและเปลืองตัว เป็นรายแรกไม่

มีกรณีศึกษาในทำนองเดียวกันหรือคล้ายคลึงกันนี้นับครั้งไม่ถ้วนแล้ว เอาเฉพาะแค่ห้วงเวลาที่ดิฉันได้มาอยู่เมืองเหนือในรอบ 18 ปีที่ผ่านมา ไม่ว่าจะอยู่ในสถานะเจ้าหน้าที่ของรัฐ สังกัดตราพิฆเณศวร์มีกรมศิลปากรคุ้มหัว หรือออกจากราชการมาเป็นนักวิชาการอิสระก็ตาม ล้วนแล้วแต่ต้องเผชิญหน้ากับปัญหาอันหลากหลายเรื่องการช่วงชิงพื้นที่ของคำว่า “วัดร้าง”

ยกตัวอย่างกรณี “บ้านพักศึกษาธิการจังหวัดลำพูน” ซึ่งราว 30 ปีก่อนเคยเช่าพื้นที่จากกรมการศาสนา สร้างอาคารทับที่วัดร้างแห่งหนึ่งชื่อแปลกๆ เป็นภาษาโบราณว่า “วัดพระเจ้าเผ้อเหล้อ” (เพ่อเร่อ) ซึ่งแปลว่าพระพุทธรูปขนาดใหญ่ทาสีชาด (แดง) โดดเด่นสะดุดตา สร้างมาตั้งแต่สมัยหริภุญไชย ตั้งอยู่ไม่ไกลจาก “กาดหนองดอก” (กาด หมายถึงตลาด)

เมื่อราวปี 2555 ดิฉันทราบข่าวว่าจะมีการรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างในบ้านพักศึกษาธิการลำพูนนั้น ก็รู้สึกดีใจเป็นที่ยิ่ง รีบปรึกษาหารือกับเครือข่ายนักอนุรักษ์โบราณสถานในลำพูน ว่าเราจะต้องรีบเข้าไปเจรจากับสำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดลำพูน ว่าบัดนี้ถึงเวลาเวนคืนพื้นที่ดังกล่าวให้แก่กรมศิลปากรดำเนินการขุดค้นทางโบราณคดีแล้ว เพื่อเปิดวัดพระเจ้าเผ้อเหล้อ หาหลักฐานโบราณวัตถุสมัยหริภุญไชย ตอกย้ำความเป็นเมืองเก่า 1,300 ปีเศษ ให้ออกมาเป็นที่ประจักษ์ต่อสายตาชาวโลกกันเสียที

ผลปรากฏว่า สำนักพุทธลำพูนแจ้งว่า “ช้าไปต๋อย” ทางเทศบาลเมืองลำพูนได้มาติดต่อขอเช่าที่นานข้ามปีแล้วก่อนที่จะรื้อบ้านพักศึกษาธิการ

โดยมีแผนเตรียมจัดสร้าง “กาดโต้รุ่ง” อีกแห่งหนึ่ง ซึ่งขยายพื้นที่ต่อออกมาจากกาดหนองดอก ในราคาปีละไม่กี่สตางค์

ครั้งนั้นคนที่เป็นเดือดเป็นแค้นที่สุด ลุกขึ้นมาคัดค้านต่อสู้ ขอจารึกนามไว้ ณ ที่นี้คือ “เจ้าป้าชวนคิด ณ ลำพูน” ทายาทเจ้านายฝ่ายเหนือ สืบสายสกุลจากเจ้าราชภาติกวงษ์

(ตำแหน่งวังซ้าย ดูแลด้านการคลังและภาษีอากร สมัยเจ้าหลวงจักรคำขจรศักดิ์ เป็นเจ้าผู้ครองนครลำพูนองค์สุดท้าย) เจ้าป้าชวนคิดมีบ้านอยู่ในซอยภาติกวงษ์ ประชิดกับบริเวณวัดร้างพระเจ้าเผ้อเหล้อ ท่านเคยเห็นพระพุทธรูปมีหนวดสมัยหริภุญไชยองค์นั้นตั้งแต่วัยละอ่อนก่อนมีการสร้างบ้านพักศึกษาธิการ (ปัจจุบันท่านอายุ 76 ปี)

เจ้าป้าชวนคิดพยายามวิ่งประสานขอความเห็นใจจากหน่วยงานต่างๆ ทั้งทางสำนักพุทธ กรมศิลป์ในพื้นที่ลำพูน-เชียงใหม่ เทศบาลลำพูน รวมถึงฝ่ายปกครองที่ศาลากลางจังหวัด ขอให้ทุกฝ่ายช่วยกันห้าม ยับยั้งชะลอการปรับเปลี่ยนพื้นที่ของบ้านพักศึกษาธิการก่อน แต่แล้วก็มีรถแบ๊กโฮมาเกลดดินลาดซีเมนต์จัดสร้างเป็นกาดโต้รุ่ง

“แล้วเศียรพระพุทธรูปองค์สีแดงขนาดเบ้อเร่อเบ้อร่าที่เคยเป็นพระประธานล่ะ ก็ต้องถูกกลบฝังทำลายหลักฐานทิ้งอย่างไม่ไยดีใช่ไหม วันๆ พ่อค้าแม่ขายก็คงเข็นรถส้มตำ น้ำเมา จิ้มจุ่มเหยียบย่ำพระเจ้าเผ้อเหล้อไปมาไม่รู้กี่ร้อยรอบ ในขณะที่ปากหนึ่งเราเรียกร้องอยากให้ลำพูนเป็นเมืองมรดกโลก แต่สิ่งที่เห็นเบื้องหน้า ซากโบราณสถานสมัยเจ้าแม่จามเทวีถูกย่ำยีไม่มีใครสนใจเลย จะให้ป้าทำอย่างไรต่อ?”

นี่คือหนึ่งอุทาหรณ์ของการที่สำนักพระพุทธศาสนาแห่งชาติ อ้างสิทธิ์ทางกฎหมายว่าหน่วยงานตนมีอำนาจในการจัดสรรที่ของวัดร้างซึ่งไม่ใช้ประโยชน์แล้ว ไปดำเนินการปล่อยเช่าให้กับผู้เช่ารายใดก็ได้

โดยไม่คำนึงถึงรากเหง้าประวัติศาสตร์ความเป็นมาของวัดร้างแห่งนั้นๆ ไม่ว่าจะเผยโฉมให้เห็นกันจะจะบนพื้นดิน หรือซ่อนตัวอยู่ใต้ดินก็ตาม แต่อย่างใดเลย

 

กรมศิลปากรต้อง Take Action

ทุกครั้งที่ได้ยินข่าวว่าทางสำนักพุทธศาสนาแห่งชาติ อนุญาตให้หน่วยงานใดๆ สามารถเข้าไปใช้พื้นที่วัดร้างได้ ไม่ว่าจะเป็นกรณีของพระธุดงค์ที่เข้าไปปักกลดใกล้เขตโบราณสถานร้างก็ดี

(กรณีนี้ไม่มีค่าเช่า แต่เมื่ออยู่นานๆ ไป พระธุดงค์รูปนั้นเมื่อเป็นที่ยอมรับของชาวบ้าน อาจมีบารมีในการฟื้นฟูวัดขึ้นมาใหม่ก็ได้ หากไม่รุกล้ำทำลายโบราณสถานก็แล้วไป แต่มากกว่า 90% มักสร้างสิ่งแปลกปลอมใหม่ในเขตโบราณสถาน)

หรือกรณีของการปล่อยเช่าพื้นที่ให้สร้างตลาด ศูนย์การค้า ฯลฯ ก็ดี

เวลาที่ดิฉันโร่ไปเจรจากับสำนักพุทธว่าขอให้กรมศิลป์เข้าไปทำหน้าที่ตรวจสอบซากโบราณสถานในบริเวณนั้นๆ ก่อนได้หรือไม่ เผื่อว่าหากพบร่องรอยสำคัญก็ควรตอบปฏิเสธพระธุดงค์ หรือหน่วยงานที่จะขอเข้ามาประกอบธุรกรรมในพื้นที่วัดร้างแห่งนั้น

คำตอบที่ได้รับจากสำนักพุทธก็คือ “กรมศิลป์นั่นแหละที่ควรเป็นฝ่าย Take Action ก่อน ไม่ใช่นั่งรอนอนรอ จนวันดีคืนดีมีผู้ประสงค์จะใช้พื้นที่ไม่ว่าฝ่ายพระสงฆ์ต้องการฟื้นวัด หรือฝ่ายฆราวาสต้องการใช้พื้นที่ประกอบธุรกิจ อยู่ๆ กรมศิลป์ก็ชอบกระโจนเข้ามาขวาง ในช่วงที่เข้าด้ายเข้าเข็มทุกครั้งไป”

โดนตีแสกหน้าอย่างจังๆ กลับมาเช่นนี้ เป็นสิ่งที่น่าคิดอยู่เหมือนกัน เพราะสำนักพุทธให้ทางออกอย่างค่อนข้างชัดเจนว่า

“เอาอย่างนี้ไหม รบกวนกรมศิลป์ช่วยระบุรายชื่อวัดมาเลยว่า ในทำเนียบวัดร้างทั้งหมดนั้น มีที่แห่งไหนบ้างที่อยู่ในเป้าหมายโบราณสถานสำคัญทั้งบนดินและใต้ดิน ที่กรมศิลป์หวงห้าม ไม่อยากปล่อยให้มีการเช่าหรือไม่ให้พระธุดงค์เข้าไปยุ่มย่าม รบกวนกรมศิลป์ทำหนังสือตอบกลับมายังสำนักพุทธแบบตรงไปตรงมาเลยจะดีกว่าไหม พร้อมลิสต์รายชื่อกลุ่มที่ห้ามแตะต้อง และกลุ่มที่พอจะอนุโลมให้สำนักพุทธปล่อยเช่าได้หรืออนุญาตให้พระสงฆ์ขยายเขตอารามได้บ้าง เราอยู่ร่วมกัน เมื่อสำนักพุทธแฟร์ ดังนั้น กรมศิลป์ก็ต้องแฟร์”

อันที่จริงไอเดียนี้ก็เข้าท่าอยู่หรอก แต่ขอเรียนถามว่า แล้วบางจังหวัดที่ไม่มีหน่วยงานของกรมศิลปากรตั้งอยู่เลยล่ะ จะให้สำนักแม่ที่ดูแลพื้นที่คราวเดียว 7-8 จังหวัดลงพื้นที่ตะลุยสำรวจวัดร้างอย่างทั่วถ้วนได้เช่นไรกัน

คือเข้าใจไหมคะว่าสำนักศิลปากรในภูมิภาคมีแค่ไม่กี่สำนัก

แต่ละสำนักมีเจ้าหน้าที่ไม่กี่คน วันๆ แค่สะสางงานประจำก็ทำกันไม่หวาดไม่ไหวแล้ว

ครั้นจะให้จู่ๆ นักโบราณคดีทั่วประเทศพร้อมใจกันลุกขึ้นมากางทำเนียบรายชื่อวัดร้างแล้วลงพื้นที่ประเมินคุณค่าว่าแห่งไหนควรเป็นพื้นที่สีแดง (ห้ามยุ่งเด็ดขาด) หรือแห่งไหนสีเขียว (เปิดไฟเขียวให้เช่าให้ปักกลดกันได้เลย) เพื่อจะเอารายชื่อวัดร้างยื่นต่อสำนักพุทธแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ห้ามต่อรอง เห็นจะเป็นเรื่องยากเอาการทีเดียว

ฝ่ายกรมศิลป์มองว่า เรื่องนี้เกินศักยภาพของเจ้าหน้าที่ที่จะให้เข้าไปสำรวจประเมินสภาพวัดร้างในทำเนียบของสำนักพุทธได้หมดทั่วทุกแห่ง หากวัดร้างใดยังไม่มีปัญหา ก็ปล่อยให้เขาอยู่เฉยๆ ก่อนได้ไหม เอาไว้เมื่อมีปัญหาค่อยตามแก้ตามดูกันทีละกรณี

เมื่อรุกไม่ได้ ก็ต้องเป็นฝ่ายรับ!

กลายเป็นว่าระยะหลังๆ เมื่อมีปัญหาการปล่อยเช่าพื้นที่วัดร้างของสำนักพุทธ แล้วภาคประชาสังคมมาร้องเรียนกับกรมศิลป์ กรมศิลป์มักปล่อยผ่านไม่อยากเข้าไปชนหน่วยงานภาครัฐด้วยกันเอง เพราะถือว่าสำนักพุทธเคยยื่นโนติสมาให้กรมศิลป์แล้วเบื้องแรก ว่าให้ช่วยการายชื่อวัดร้างที่ไม่พึงประสงค์จะให้มีการปล่อยเช่ามาเลย ว่ามีแหล่งไหนบ้างที่ตัวเป้งๆ แต่กรมศิลป์ยังมิอาจปฏิบัติภารกิจนั้นได้สำเร็จ

ดีไม่ดี ยิ่งหากกรมศิลป์ (หมายถึงตัวดิฉันเองสมัยที่ทำงานอยู่ลำพูน ไม่ได้หมายรวมถึงกรมศิลป์ทั้งหมด) ไปจี้ไปไล่บี้สำนักพุทธให้ยกคืนวัดร้างกลับมาให้กรมศิลป์เข้าไปขุดค้นตรวจสอบในทุกๆ เคส บ่อยครั้งเข้า สำนักพุทธเคยตอกหน้าดิฉันหงายเก๋งกลับมาแล้วว่า

“อย่าดีแต่พูดเลย แม้แต่สำนักงานของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หริภุญไชย เองก็ยังตั้งอยู่ในเขตวัดร้าง ชื่อวัดแสนข้าวห่อ มิใช่หรือ กรมศิลป์เองยังได้รับอภิสิทธิ์ให้ใช้พื้นที่วัดร้างตั้งหลายแห่ง ทั้งหอจดหมายเหตุแห่งชาติเชียงใหม่ข้างโรงเรียนวัฒโนเอง ก็มีเจดีย์องค์ใหญ่เห็นกันอยู่ทนโท่มิใช่หรือ ถ้าหากกรมศิลป์จะมาบอกสำนักพุทธว่า ขอให้ทุกหน่วยงานองค์กรที่ใช้พื้นที่ของวัดร้างนั้นออกไป แล้วยกพื้นที่คืนมาให้กรมศิลป์ทั้งหมด เพื่อจะทำการขุดค้นทางโบราณคดี ขอประทานโทษนะ หน่วยงานแรกที่ต้องรีบคืนพื้นที่วัดร้างก่อนใครเพื่อนก็คือ พิพิธภัณฑ์หริภุญไชย และหอจดหมายเหตุแห่งชาติเชียงใหม่ นั่นแหละ!”

โห! แลกกันคนละหมัดแบบนี้ แล้วกรมศิลป์เราจะเอาอะไรไปสู้ล่ะคะ จะให้อ้างว่าแม้เราจะใช้พื้นที่วัดร้างของสำนักพุทธด้วยก็จริงอยู่ แต่เราก็เอาพื้นที่นั้นไปใช้สร้างสรรค์งานด้านมรดกของชาติ มิใช่หรือ มิได้เอาไปทำธุรกิจสร้างเม็ดเงินเข้าพกเข้าห่อส่วนตัว ก็อาจถูกกล่าวหาว่าเป็นพวก “เลี่ยงบาลี” ไปอีกก็ได้

สุดท้ายก็ไม่พ้นต้องมานั่งหารือพิจารณาทีละเคสๆ โยนลูกกันไปโยนลูกกันมา ข้ามกรม ข้ามกระทรวง ในทุกๆ ครั้งที่มีผู้คัดค้าน ถ้าเช่นนั้นก็หมายความว่า ประเทศไทยเราไม่มีมาตรฐานใดๆ ในการอนุรักษ์วัดร้างให้รอดพ้นจากการเงื้อมมือของผู้ขอใช้พื้นที่แบบไม่ถูกทิศถูกทาง คือสุดแท้แต่บุญแต่กรรมว่าหน่วยงานไหนจะเอื้อเอ็นดูกัน บางกรณีไม่ควรให้ก็กลับอนุญาต บางกรณีควรอนุญาตแต่เมื่อมีผู้ค้านก็ต้องระงับ?

ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ ดิฉันต้องการสะท้อนให้เห็นถึง “ปัญหาแบบงูกินหาง” ของภาครัฐ ที่ต่างฝ่ายต่างมีข้อจำกัดเรื่องอำนาจ หน้าที่ บทบาท การใช้กฎหมาย บุคลากร และงบประมาณ

 

เมื่อรับไม่ได้ ก็ต้องเป็นฝ่ายรุก!

ย้อนกลับมาดูกรณีของวัดล่ามช้าง ว่าจะหาทางแก้ปัญหากันอย่างไร ในเมื่อทางสำนักพระพุทธศาสนาจังหวัดเชียงใหม่ยืนยันว่า หน่วยงานตนมีสิทธิ์ให้ผู้ขอเช่าที่วัดร้างต้นปูน เข้ามาเช่าที่ต่อจากโรงเรียนอนุศึกษาได้ โดยไม่จำเป็นต้องคืนพื้นที่ให้แก่วัดล่ามช้าง

การต่อสู้ของวัดล่ามช้าง เพื่อเรียกร้องพื้นที่วัดร้างต้นปูนกลับคืนมาเป็นส่วนหนึ่งของพุทธสถาน ไม่ใช่เพิ่งจะมากระทำกันในช่วง 2-3 ปีมานี้ ย้อนกลับไปสู่ปี 2497 ทางวัดได้ทำหนังสือประสานกับมหาเถรสมาคมในเรื่องนี้มาแล้ว ปรากฏว่าหนังสืออนุมัติตอบกลับอย่างเป็นทางการยังไม่ทันได้ส่งมาให้วัดทางไปรษณีย์ แต่ถูกน้ำท่วมพังเสียหายเสียก่อนในปี 2501

พระครูปลัดอานนท์ วิสุทฺโธ เจ้าอาวาสวัดล่ามช้าง ได้พยายามติดตามค้นหาหนังสือตอบตกลงอนุมัติการยกพื้นที่วัดร้างต้นปูนให้เป็นกรรมสิทธิ์ของวัดล่ามช้างฉบับนั้นจากทุกหน่วยงานอยู่นานหลายปี ก็ไม่สามารถติดตามได้

แต่นั่นก็ไม่ใช่ประเด็นสำคัญ ที่จะให้ทางสำนักพุทธอ้างสิทธิ์ในการที่จะอนุญาตปล่อยให้นักธุรกิจมาทำการเช่าที่วัดร้างต้นปูนสร้างเป็นโรงแรมหรือโรงเรียนสอนการโรงแรม อะไรนั่น ได้อย่างเต็มปากเต็มคำนัก

เพราะรัฐธรรมนูญฉบับตั้งแต่ พ.ศ.2540 เป็นต้นมาได้เปิดช่องทางให้แก่คนในท้องถิ่นได้เข้ามามีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ดูแลมรดกทางศิลปวัฒนธรรมในพื้นที่ของตนได้ในวิถีที่ถูกที่ควร

กอปรกับอย่าลืมบทบาทของผู้ว่าราชการจังหวัดของทุกจังหวัด ก็ได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่เป็นตัวแทนในการตัดสินใจแก้ปัญหาไม่ว่ากรณีใดๆ แทนผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติอยู่แล้ว มิใช่ว่าเมื่อผู้อำนวยการสำนักพุทธศาสนาประจำแต่ละจังหวัดรายงานชงเรื่องอะไรขึ้นไป สำนักพุทธส่วนกลางต้องเห็นชอบตามนั้นเสมอไป

เพราะมีผู้ว่าราชการจังหวัดทำหน้าที่ถ่วงดุลกันอยู่ เนื่องจากผู้ว่าฯ ทำงานโดยใช้หลักด้านรัฐศาสตร์เข้าวินิจฉัยปัญหาของคนทุกพื้นที่ มิได้ใช้แค่หลักนิติศาสตร์เพียงถ่ายเดียว

และล่าสุดมีข่าวดีว่าเมื่อวันพุธที่ 15 สิงหาคมที่ผ่านมา ในเวทีสภากาแฟเชียงใหม่ ที่มีผู้ว่าราชการจังหวัด นายศุภชัย เอี่ยมสุวรรณ เป็นประธาน ได้กล่าวไว้ชัดเจนว่า ไม่เห็นด้วยเป็นอย่างยิ่งที่สำนักพุทธจะเอาพื้นที่วัดร้างต้นปูนไปให้ภาคเอกชนเช่าต่อ เพราะเดิมเคยเป็นกรรมสิทธิ์ของวัดล่ามช้าง

อย่างน้อยก็พอจะเห็นแสงสว่างอยู่รำไรๆ บ้างแล้ว

ดังนั้น “ตุ๊ปี้นนท์” เจ้าอาวาสวัดล่ามช้างจึงรีบประสานไปยังสำนักศิลปากรที่ 7 เชียงใหม่ ขอให้ส่งนักโบราณคดีมาทำการขุดสำรวจพื้นที่ในวัดร้างต้นปูนว่าเคยมีซากโบราณสถานจริง เพื่อใช้เป็นข้อยืนยันว่าพื้นที่ผืนนี้มีความสำคัญต่อประวัติศาสตร์หน้าแรกของเมืองเชียงใหม่ อันสอดรับกับนโยบายที่จังหวัดเชียงใหม่ต้องการผลักดันสู่ความเป็นเมืองมรดกโลก

ความคืบหน้าเป็นอย่างไร หากมีโอกาสดิฉันจักได้รายงานให้ทราบเป็นระยะๆ ต่อไปค่ะ