เมืองทวารวดี ตามตำนานพราหมณ์ สร้างอยู่ในแผนผังรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส

ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ

คัมภีร์ในศาสนาพราหมณ์เล่มหนึ่งที่มีชื่อว่า “หริวงศ์” นั้น ได้บรรยายถึงลักษณะของเมือง “ทวารวดี” (หรือทวารกา) เอาไว้ว่า มีสัณฐานเหมือน “กระดานหมากรุก”

ผมไม่รู้ว่า ในอินเดียโบราณเค้าจะมีหมากรุกเล่นกันหรือเปล่าหรอกนะครับ

เพราะที่อ้างจากคัมภีร์ข้างบนนี่ผมก็อ่านเอาจากภาษาอังกฤษที่แปลมาอีกทอด

ในคัมภีร์หริวงศ์จริงๆ มันจะเขียนว่ากระดานอะไรไม่รู้ แต่เมื่อปราชญ์ทางภาษาเขาแปลมานี้ ก็คงต้องการจะบอกว่าผังเมืองทวารวดี ซึ่งเป็นเมืองในเทพปกรณ์นั้นมันเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสแค่นั้นแหละ

(ชาวอินเดียเชื่อว่าเมืองทวารวดีจมทะเลไปแล้ว และก็มีการตามหากันให้ควั่กว่าเมืองอยู่ตรงไหนแน่ ไม่ต่างไปจากฝรั่งหาทวีปแอตแลนติกอันรุ่งเรือง ที่ก็เชื่อว่าจมหายไปในมหาสมุทรเหมือนกัน)

คนในภูมิภาคอุษาคเนย์ของเรารู้จักคัมภีร์หริวงศ์ ที่แต่งขึ้นในอินเดียจนเสร็จและเป็นรูปเป็นร่างคล้ายๆ ปัจจุบันเมื่อหลัง พ.ศ.500 กว่าๆ ลงมาแน่ อย่างน้อยพวกเขมรโบราณก็ทำรูปพระหริหระ (คือร่างรวมของพระอิศวรกับพระนารายณ์) ซึ่งตำนานสำคัญก็อยู่ในคัมภีร์เล่มนี้แหละ มาตั้งแต่หลัง พ.ศ.1000 เล็กน้อยแล้ว แถมในจารึกของขอมก็มีการอ้างคัมภีร์เล่มนี้อยู่ด้วย

อันที่จริงแล้ว หริวงศ์ แต่งตั้งแต่เมื่อราวๆ พ.ศ.350-450 แต่ที่มาเป็นหน้าตาอย่างนี้เพราะถูกนำมาผนวกเป็นส่วนหนึ่งของมหากาพย์อย่างมหาภารตะ ในช่วงหลัง พ.ศ.500 และเมื่อมหาภารตะเข้าไปที่ดินแดนไหน ที่นั่นก็มักจะรู้จักหริวงศ์ด้วย

และภูมิภาคของเราก็รู้จักมหาภารตะแน่

 

ที่น่าสนใจก็คือเมืองในวัฒนธรรมเขมรโบราณหลัง พ.ศ.1400 หย่อนๆ ลงมา ก็มักจะสร้างขึ้นในผังรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส หรือตารางหมากรุก เหมือนกับเมืองทวารวดีในปรัมปราคติของพวกพราหมณ์ ในขณะที่ช่วงก่อน พ.ศ.1400 ผังเมืองเขมรจะมีรูปร่างไม่แน่นอน ปรับแต่งไปตามภูมิศาสตร์เฉพาะในแต่ละที่ ซึ่งก็เป็นลักษณะของผังเมืองที่พบเหมือนๆ กันไปหมดทั้งอุษาคเนย์

รวมไปถึงผังเมืองของวัฒนธรรมแบบที่เราเรียกว่าทวารวดีในภาคกลางตอนล่างของประเทศไทยด้วย

แปลกดีนะครับ เราคิดว่าบรรดาเมืองโบราณที่ตั้งอยู่ในที่ราบลุ่มภาคกลางตอนล่างของประเทศไทยนั้น มีชื่อเรียกว่า “ทวารวดี” (ไม่ว่าจะเรียกโดยตนเอง หรือถูกคนอื่นเรียก) แต่ผังเมืองกลับไม่ได้อยู่ในสัณฐานรูปตารางหมากรุกตามอย่างปรัมปราคติที่พยายามจะจำลองเอาความศักดิ์สิทธิ์ของความเป็นทวารวดีอย่างที่พวกพราหมณ์เขาระบุเอาไว้กันเลยสักเมือง ในขณะที่พวกขอมที่ไม่ค่อยมีใครคิดว่าจะเกี่ยวอะไรกับคำว่าทวารวดีสักเท่าไหร่ กลับนิยมสร้างเมืองอยู่ในผังรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสมันเสียอย่างนั้น?

อันที่จริงแล้วจะบอกว่า พวกขอมไม่เกี่ยวอะไรกับคำว่าทวารวดีเลยเสียทีเดียวก็คงจะไม่ถูกต้องนัก อย่างน้อยก็มีศิลาจารึกของพวกขอมอยู่ 2 หลักที่ระบุถึงคำว่าทวารวดีเอาไว้

ศิลาจารึกหลักหนึ่ง ที่พบในเขตจังหวัดสตึง ประเทศกัมพูชา ระบุปีศักราชที่สร้างตรงกับปี พ.ศ.1496 พูดถึงชื่อเมืองทวารวดี แต่น่าจะเป็นเมืองแถวๆ ที่พบจารึกนั่นเอง เพราะบริเวณที่พบจารึกหลักนี้ก็เรียกว่า ทวารกเด็ย ซึ่งเจ้าพ่อจารึกเขมรอย่างยอร์ช เซเดส์ เคยหล่นความเห็นเอาไว้ว่าก็คือชื่อที่เพี้ยนมาจากทวารวดีนั่นแหละ

ส่วนศิลาจารึกอีกหลักหนึ่งก็คือ จารึกพระนน (จารึกหลัก K.89 ของกัมพูชา) ระบุศักราชตรงกับปี พ.ศ.1545 ก็มีการระบุถึง “เตง ตวน ทวารวดี (หมายถึงเจ้าเมืองทวารวดี) ทรงนามว่า ธรรมะ” อยู่ด้วยอีกต่างหาก

แต่ผมไม่ได้หมายความว่า การที่พวกเขมรโบราณสร้างเมืองในผังรูปกระดานหมากรุกนั้น เป็นการจำลองความเป็นเมืองทวารวดี ตามปรัมปราคติของพวกพรามหณ์หรอกนะครับ เพราะความศักดิ์สิทธิ์ของแผนผังรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสของเขมรนั้น ถ้าจะเกี่ยวกับผังเมืองทวารวดีตามที่บอกไว้ในหริวงศ์แล้ว ก็ยังผูกอยู่กับความศักดิ์สิทธิ์ของแผนผังศาสนสถานของพวกเขาด้วย ซึ่งก็ดูจะสัมพันธ์กันอย่างชัดเจนกว่าด้วยซ้ำ

 

แผนผังทรงกระดานหมากรุกของศาสนสถานเขมรนั้น ผูกอยู่กับความศักดิ์สิทธิ์ของแผนผังจักรวาล ที่มีเขาพระสุเมรุเป็นประธาน ตามปรัมปราคติที่อิมพอร์ตมาจากอินเดียอย่างเคร่งครัดมาโดยตลอด และแผนผังเมืองของเขมรในรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสนั้น ก็จะมีทั้งปราสาทบนภูเขาบ้าง (เช่น พนมบาแค็ง ของเมืองพระนคร) ปราสาทที่สร้างตามคติของภูเขาบ้าง (ปราสาทบายน ศูนย์กลางของอาณาจักรนครธม) เป็นประธาน ที่แสดงถึงความเป็นศูนย์กลางจักรวาล หรือเขาพระสุเมรุจำลองอยู่เสมอ ดังนั้น แผนผังเมืองที่มีรูปร่างหน้าตาแบบนี้ จึงเกี่ยวข้องอยู่กับศาสนสถานของพวกเขาเองอย่างไม่ต้องไปสงสัยอะไรให้มันมากนัก

แต่ทำไมแผนผังของศาสนสถานขอม จึงต้องสร้างให้อยู่ในแผนผังรูปร่างคล้ายกระดานหมากรุกด้วย?

ตอบแบบกำปั้นทุบดินก็คือ รับเอามาจากอินเดีย (ส่วนจะรับจริง หรือไม่รับจริงนั่นก็อีกเรื่อง) ซึ่งส่วนใหญ่ในอินเดียนั้นก็จะมีคัมภีร์ประเภทที่เรียกว่า คัมภีร์ศิลปศาสตร์ (หมายถึงคัมภีร์ที่ว่าด้วยความรู้ประเภทต่างๆ รวมถึงความรู้เชิงช่าง และสถาปัตยกรรม ที่ก็มีให้เพียบคัมภีร์ เช่น วิษณุธรรมโมตระ, มานสาร และอีกสารพัด) ที่มีส่วนของตำราการวางผังอาคาร ผังเมือง และ/หรือผังศาสนสถาน ประกอบอยู่ในนั้นด้วย คัมภีร์ประเภทนี้จึงเป็นเหมือนตำราในการสร้างศาสนสถาน

แต่เราไม่จำเป็นต้องไปไกลถึงการเข้าไปนั่งพลิกหนังสือยากๆ พวกนี้อ่านกันหรอกครับ แค่ลองคิดดูว่า คัมภีร์พวกนี้ก็คือการประมวลเอาชุดความรู้ต่างๆ มาประกอบเข้าไว้ด้วยกัน และการสร้างเมือง หรือวางผังเมืองก็คือชุดความรู้หนึ่งในนั้น ดังนั้น อะไรที่ว่าดีก็มีอยู่ในนั้นน่ะแหละ

การที่คัมภีร์หริวงศ์อ้างว่า เมืองทวารวดีมีผังเป็นรูปกระดานหมากรุกก็แปลว่า ในสังคมที่ประพันธ์คัมภีร์เล่มนี้ขึ้นมา (หรืออย่างน้อยที่สุดก็คือตัวผู้แต่งเอง) มีความรู้ว่า ผังเมืองแบบนี้นั้นดีแน่ และอย่างน้อย (อีกที) ก็คือในสมัยของเขา เพราะการวางผังเมืองที่ดีนั้นจะต่างกันไปในแต่ละยุคสมัย ที่มีวิทยาการแตกต่างกันออกไป

ตัวอย่างชัดๆ ก็เช่น เมื่อการสงครามเปลี่ยนจากอาวุธเย็นอย่าง หอก ดาบ หรือธนู มาเป็นปืนไฟ ในยุโรปก็ต้องวางปรับตัวมาเป็นวงป้อมค่าย และกำแพงเมืองใหม่ เพื่อจะป้องกันอาวุธที่ทันสมัยพวกนี้ได้ดีขึ้น

จากกำแพงเมืองเรียบๆ ก็ต้องมีหยัก มีกระเปาะอะไรจนซับซ้อนและมีรูปร่างเหมือนดาวไปในที่สุด เป็นต้น

(ในกรุงศรีอยุธยาเองก็มี การปรับเปลี่ยนอะไรทำนองนี้ เช่น การเลื่อนกำแพงเมืองเข้าไปประชิดแม่น้ำที่ล้อมรอบเมืองยิ่งขึ้น พร้อมกับปรับปรุงแผนผังของป้อมเสียใหม่ ในช่วงก่อนเสียกรุงครั้งที่ 1 เพื่อรับมือกับปืนไฟที่เพิ่งเข้ามา)

 

ตอนที่ผู้แต่งหริวงศ์พรรณนาถึงผังเมืองทวารวดีนั้นก็คงจะยืนอยู่บนเหตุผลทำนองเดียวกันนี้แหละครับ เพราะเมืองทวารวดีตามความเชื่อของพวกพราหมณ์ ตามที่ถูกพรรณนาเอาไว้ในมหากาพย์อย่าง มหาภารตะนั้น คือเมืองที่กว้าง 3 โยชน์ เป็นปราการล้อมรอบเมือง แต่ละโยชน์จะมีประตูอยู่นับร้อยประตู ทุกประตูมีกองทหารที่เข้มแข็งคุ้มกันอยู่ด้วย และในแต่ละโยชน์ก็จะมีกองทหารเป็นของตนเอง ทำให้แม้แต่เทพเจ้าก็ยากที่จะผ่านเข้าไปได้ พูดง่ายๆ ว่าเป็นเมืองที่แข็งแกร่ง รบไม่แพ้ อะไรทำนองนั้น ดังนั้น เมื่อผู้แต่งหริวงศ์จะพูดถึงผังเมืองที่แข็งแกร่ง ก็คงจะนึกเอาภาพผังเมืองที่แข็งแกร่งในสมัยนั้น

และขอให้สังเกตด้วยว่า “ทวารวดี” แปลว่า “เมืองที่ประกอบไปด้วยประตู” และอุษาคเนย์นี่ก็มีคติการสร้างเมืองที่ใช้ประตูแสดงความยิ่งใหญ่ เช่น เมืองหงสาวดี ที่พระจักรพรรดิราชระดับผู้ชนะสิบทิศอย่างบุเรงนอง สร้างประตูเมืองขนาดบิ๊กเบิ้มเสียให้เพียบ แล้วตั้งชื่อประตูตามเมืองใหญ่ๆ ที่ถือว่าอยู่ในอาณัติของตัวเอง หรือเมืองร้อยเอ็ด ที่ตำนานว่า มาจากจำนวน 101 ประตู แถมในตำนานอุรังคธาตุยังบอกว่า ชื่อเดิมของร้อยเอ็ดคือ ทวารวดี เป็นต้น

การที่แผนผังรูปกระดานหมากรุก คือสี่เหลี่ยมจัตุรัสนั้นจะกลายมาเป็นผังของศาสนสถาน หรือผังเมือง ในกัมพูชา ในไทย หรือที่อื่นๆ ที่รับเอาคติความเชื่อ และปกรณัมในศาสนา (ซึ่งเกี่ยวโยงไปถึงระบบสัญลักษณ์อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้) มาจากอินเดีย จึงไม่ใช่เรื่องแปลก ด้วยเพราะเห็นว่าเป็นของดี

และยิ่งเมื่อถูกผูกโยงเข้าเป็นส่วนหนึ่งในศาสนาแล้ว ก็จึงไม่ใช่เพียงแค่ดีอย่างเดียว แต่ยังศักดิ์สิทธิ์ด้วยอีกต่างหาก

 

ดังนั้น ไม่ว่าจะเป็นผังปราสาทศาสนสถาน หรือผังเมืองที่เป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส หรือกระดานหมากรุกตามสำนวนในหริวงศ์นั้น ก็จึงเป็นทั้งผังเมืองที่ศักดิ์สิทธิ์ เพราะสร้างตามแผนภูมิจักรวาลในปรัมปราคติ แถมยังแข็งแกร่ง ตีไม่แตก ตามอย่างที่เชื่อกันว่าเป็นผังเมืองที่แข็งแกร่งสุดๆ ก็ตีป้อมทวารวดีแตกไม่ได้ นั่นเอง

และก็คงเป็นด้วยเหตุเช่นนี้เอง ที่ผังเมืองของเขมรโบราณ จึงมักจะสร้างอยู่ในแผนผังรูปกระดานหมากรุก ที่มีคติว่าแข็งแกร่งทนทาน และยิ่งใหญ่ ทั้งๆ ที่ไม่ได้ชื่อว่า เมืองทวารวดีเสียหน่อย

ส่วนบรรดาเมืองที่ขุดพบเหรียญเงินระบุชื่อ ทวารวดี ในภาคกลางตอนล่างของไทยนั้น กลับไม่ได้สร้างอยู่ในแผนผังรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสมันเสียอย่างนั้น

เพราะคนกลุ่มนี้เขาสถาปนาความศักดิ์สิทธิ์ของความเป็นทวารวดีผ่านพิธีกรรมอย่างอื่น (ตัวอย่างชัดๆ ก็คือ พิธีกรรมที่ทำให้ต้องจารึกชื่อ ทวารวดี เอาไว้บนเหรียญที่ว่านี่แหละ) แต่ไม่ใช่บนแผนผังของเมืองจริงๆ