สุรชาติ บำรุงสุข : ไม่มีใครอยากได้ ประธานอาเซียนเป็นหัวหน้าคณะรัฐประหาร!

ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข

“การห้ามผู้นำทหารขึ้นเป็นประธานอาเซียนไม่ได้เป็นการลงโทษประชาชน [ไทย] แต่เป็นการลงโทษผู้นำทหาร[ไทย]”

คอร์เนเลียส์ ปูร์บา

จาการ์ตา โพสต์

สืบเนื่องจากข่าวที่ปรากฏในหนังสือพิมพ์ “จาการ์ตา โพสต์” (ดูรายละเอียดในมติชนออนไลน์, 3 สิงหาคม 2561) ที่นำเสนอว่า ในปี 2562 ประธานอาเซียนจะเลื่อนลำดับตามตัวอักษรจากสิงคโปร์มาเป็นไทยนั้น น่าจะให้เลื่อนผ่านประเทศไทยไปเลย เพราะรัฐบาลไทยมาจากการยึดอำนาจ จึงไม่มีความเหมาะสมที่จะดำรงตำแหน่งประธานอาเซียน

ข้อเสนอเช่นนี้ดูเผินๆ ก็ไม่น่ากังวลอะไร

เพราะโดยทั่วไปแล้วเรามักจะเชื่อกันว่า อาเซียนมีจุดยืนสำคัญที่จะไม่เข้าแทรกแซงกิจการภายในของประเทศสมาชิก

และเชื่อตามมาว่ารัฐบาลไทยจะมีรูปลักษณ์อย่างไรก็ตาม เพื่อนบ้านในอาเซียนก็จะยอม “ปิดตา” ให้กับสถานะของรัฐบาลกรุงเทพฯ

เราคิดง่ายๆ เช่นนี้ แล้วเราก็สบายใจแบบของเรา โดยไม่ต้องรู้สึกกังวลกับข่าวที่เกิดขึ้น

และเชื่อโดยไม่ต้องคิดมากว่า ในที่สุดแล้วหัวหน้าคณะรัฐประหารที่กรุงเทพฯ ก็จะขึ้นดำรงตำแหน่งอันมีเกียรติของภูมิภาคนี้

ผู้นำทหารไทยมักจะคิดเข้าข้างตนเองเสมอ หลังจากมีโอกาสเดินทางเข้าร่วมการประชุมระหว่างประเทศหลายครั้ง

จนพวกเขามีความมั่นใจว่ารัฐบาลทหารไทยจะมี “ที่ยืน” ในเวทีนี้ได้โดยไม่ถูกต่อต้าน ที่จริงแล้วนักการทูตไทยรู้ดีว่า การตอบรับในทางการเมืองต่อบทบาทของรัฐบาลทหารเป็นเช่นไร

รัฐบาลทหารไทยกับรัฐมหาอำนาจ

ในอีกด้านหนึ่งก็เห็นได้ชัดเจนว่า รัฐบาลทหารไทยหลังรัฐประหาร 2557 เปลี่ยนแปลงนโยบายทางยุทธศาสตร์ที่สำคัญด้วยการสร้างความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับจีนมากขึ้น (และรวมทั้งรัสเซีย) จนกลายเป็นความกังวลในระดับภูมิภาคว่า รัฐบาลทหารไทยกำลังหัน “แกนความสัมพันธ์” ไปสู่การเป็นพันธมิตรที่ใกล้ชิดกับจีน

เนื่องจากเสียงวิจารณ์จากรัฐบาลปักกิ่งต่อการยึดอำนาจในไทยเป็นดัง “เสียงแห่งความเงียบ”

หรืออาจกล่าวได้ว่า ปักกิ่งกลายเป็น “หลังพิง” ให้กับการรัฐประหารที่กรุงเทพฯ ไปแล้ว โดยไม่มีการวิพากษ์วิจารณ์ใดๆ กับการยึดอำนาจที่เกิดขึ้น และผลที่ตามมาก็คือ รัฐบาลทหารไทยอาศัยมหาอำนาจอย่างจีนเป็นดัง “โล่การเมือง” เพื่อต้านแรงกดดันจากโลกตะวันตกที่ไม่ตอบรับกับการรัฐประหารในไทย

อีกทั้งความกังวลเช่นนี้ยังเห็นได้ชัดจากขยายอิทธิพลจีนที่เกิดขึ้นในกัมพูชาและลาวในปัจจุบัน

หรือในกรณีของกัมพูชาก็เห็นมากขึ้นว่า จีนเป็นดัง “พี่ใหญ่” ที่เป็นผู้ให้ความคุ้มครองทางการเมืองแก่รัฐบาลพนมเปญ

และเป็นไปในทิศทางเดียวกันที่หลังรัฐประหาร 2557 อิทธิพลจีนขยายตัวมากขึ้นในไทยด้วย

ซึ่งทำให้หลายๆ ฝ่ายกังวลอย่างมากว่า ไทยในอนาคตจะกลายเป็น “หน้าด่าน” ของจีน มากกว่าจะเป็น “ด่านหน้า” ของอาเซียน

ลักษณะเช่นนี้แทบจะไม่แตกต่างจากรัฐบาลทหารของเมียนมาหลังจากรัฐประหารในปี 2531 ที่เมื่อรัฐบาลตะวันตกไม่ให้การยอมรับกับการรัฐประหาร และตามมาด้วยมาตรการแซงก์ชั่นทางเศรษฐกิจแล้ว

รัฐบาลทหารดังกล่าวก็หันไปสร้างความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับจีน จนเป็นที่รับรู้กันโดยทั่วว่า ด้วยเงื่อนไขของความเป็นรัฐบาลทหารเช่นนี้ ทำให้รัฐบาลย่างกุ้งต้องยอมอยู่กับจีน และยอมรับกับการขยายอิทธิพลทั้งทางการเมือง ความมั่นคงและเศรษฐกิจของจีนที่เกิดภายในประเทศ

จนเมื่อพวกเขาเริ่มแบกรับอิทธิพลจีนไม่ไหว การเปิดประเทศด้วยการเดินหน้าสู่การเลือกตั้งจึงกลายเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะทำให้ประเทศหลุดออกจากสภาวะดังกล่าว

นอกจากนี้ผู้นำทหารไทยมักจะคิดเข้าข้างตัวเองเสมอมาว่า โลกภายนอกไม่ต่อต้านพวกเขา เพราะวันนี้ผู้นำรัฐบาลทหารไทยสามารถเดินทางเยือนวอชิงตัน ลอนดอน ปารีสได้อย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน

เพราะหากเป็นในช่วงก่อนหน้านี้แล้ว ผู้นำรัฐประหารจากประเทศด้อยพัฒนาไม่มีโอกาสได้สัมผัสการเยือนเช่นนี้

แต่ในอีกด้านหนึ่งก็เป็นเพราะรัฐบาลตะวันตกเหล่านั้นต่างก็มีผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจและการค้าที่ทอดทิ้งไม่ได้

พวกเขาจึงยอมที่จะละเลยบรรทัดฐานเดิมด้วยการเปิดทำเนียบต้อนรับการเยือนของหัวหน้าคณะรัฐประหารจากกรุงเทพฯ

รับ-ไม่รับรัฐบาลทหารกรุงเทพฯ

แต่หากลองพิจารณาในอีกมุมหนึ่ง ข้อเสนอที่ปรากฏในจาการ์ตาโพสต์เป็นดังการ “โยนหินถามทาง” ของความรู้สึก “อึดอัด” ที่ไม่ตอบรับกับสถานะของความเป็นรัฐบาลทหารที่กรุงเทพฯ ใช่หรือไม่?

ถ้าเรามองปัญหาในอีกด้าน คงต้องยอมรับว่า รัฐบาลทหารที่กรุงเทพฯ ไม่ใช่ปรากฏการณ์ทางการเมืองที่เป็นบวกในความเป็นองค์กรในภูมิภาค

และรัฐประหารนี้ยังเป็นเสมือนกับการ “ต้อนรับ” การเข้าสู่ประชาคมอาเซียนของไทย จนเราอาจลืมไปว่า อาเซียนต้อนรับการเดินทางสู่ประชาธิปไตยของเมียนมาด้วยความยินดี และอาเซียนตกอยู่ในสภาพ “กระอักกระอ่วน” อย่างยิ่งกับการถอยกลับสู่ระบอบทหารของไทย… เป็นสองภาพที่กลับกันโดยสิ้นเชิง

แต่เดิมไทยมักจะเป็นผู้เรียกร้องให้เกิดประชาธิปไตยในเมียนมา แต่วันนี้ในขณะที่เมียนมาเดินหน้าเป็นประชาธิปไตย ไทยกลับเดินถอยหลังสู่ระบอบอำนาจนิยม

กระบวนสร้างประชาธิปไตยที่เกิดขึ้นกับประเทศที่เคยอยู่ใต้ระบอบอำนาจนิยม ไม่ว่าจะเป็นอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และตามมาด้วยเมียนมา จึงเป็นดังสัญญาณของการสร้างภูมิภาคให้เป็นสังคมเปิดและเสรี

แม้จะยังคงมีรัฐบาลสังคมนิยมหลงเหลืออยู่ในลาวและเวียดนามก็ตาม แต่อย่างน้อยก็เป็นความหวังว่า ประชาคมอาเซียนจะเกิดขึ้นบนพื้นฐานของการสร้างสังคมเสรีในภูมิภาค

ดังนั้น การที่ประเทศในภูมิภาคที่เคยอยู่ใต้ระบอบการปกครองของทหารเปลี่ยนผ่านเข้าสู่การสร้างประชาธิปไตย จึงกลายเป็นดังสัญลักษณ์ของการสิ้นสุด “ยุครัฐประหาร” ของประเทศในพื้นที่แถบนี้

แต่กลับกลายเป็นว่า การเมืองที่กรุงเทพฯ ถอยตัวออกจากการยึดอำนาจไม่ได้ รัฐประหารในไทยเกิดขึ้นในปี 2549 และเกิดขึ้นซ้ำในปี 2557…

ในระยะเวลาไม่ถึง 10 ปีไทยมีรัฐประหารถึงสองครั้ง จนกลายเป็นภาพสะท้อนของความไร้เสถียรภาพ และความแปรปรวนทางการเมือง

และมีนักสังเกตการณ์บางส่วนถึงกับกังวลว่า รัฐประหารที่กรุงเทพฯ จะกลายเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้การเมืองในประเทศแถบนี้หวนกลับมาสู่ “ยุคของรัฐบาลทหาร” อีกหรือไม่

แต่ก็ไม่เกิดกระแสการเมืองตีกลับแต่อย่างใด

อย่างไรก็ตาม แม้การเมืองในบางประเทศจะเบี่ยงเบนออกไปเช่นในกรณีของกัมพูชาที่มีลักษณะเป็น “ระบอบพันทาง” (hybrid regime) หรือการเลือกตั้งในฟิลิปปินส์ก็ทำให้ได้ผู้นำที่ไม่ค่อยมีลักษณะเป็นประชาธิปไตย หรือประชาธิปไตยในเมียนมาก็ถูกท้าทายจากปัญหาความขัดแย้งด้านชาติพันธุ์ จนพรรคฝ่ายค้านที่ขึ้นมาเป็นรัฐบาลก็ดูจะทำอะไรไม่ได้มากนัก

แต่อย่างน้อยเราก็เห็นชัยชนะของพรรคฝ่ายค้านในมาเลเซีย จนเป็นดังการสิ้นสุดของระบอบพรรคเดียวที่ครองอำนาจมาอย่างยาวนาน

แต่ในปัญหาทั้งหมดนี้ก็ยังไม่มีประเทศใดเดินย้อนรอยกลับสู่การรัฐประหาร ยกเว้นไทย

สถานะไทยในอาเซียน

ดังนั้น หากมองจากบริบทของการพัฒนาทางการเมืองในภูมิภาคแล้ว คงไม่มีชาติใดที่ต้องการเห็นไทยในฐานะของการเป็นสมาชิกหลักของอาเซียนตกอยู่ในวังวนของความไร้เสถียรภาพอย่างไม่มีจุดจบ

หรือปล่อยให้ไทยกลายเป็น “คนป่วยแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้” จนกลายเป็นปัจจัยด้านลบของอาเซียน

เพราะการจัดตั้งประชาคมอาเซียนขึ้นนั้น ก็มีความหวังว่าสมาชิกอาเซียนจะเดินไปสู่สังคมเสรีร่วมกัน แม้จะมีสมาชิกบางส่วนที่ยังปกครองในระบอบสังคมนิยมอยู่

แน่นอนว่าการกล่าวเช่นนี้มิได้หมายความว่าเราต้องเอามาตรฐานของสหภาพยุโรปมาเป็นเกณฑ์

แต่อย่างน้อยในฐานะของการเป็นสมาชิกหลักที่เคยมีบทบาทอย่างมากในเวทีการทูตของอาเซียน ไทยย่อมถูกคาดหวังที่จะเป็นหนึ่งในประเทศที่เป็นผู้พัฒนาการเมืองในภูมิภาค

ซึ่งในช่วงเวลาหนึ่งไทยเป็นดัง “แชมเปี้ยนประชาธิปไตย” ของอาเซียน ไม่ว่าจะเป็นชัยชนะของประชาชนไทยต่อระบอบเผด็จการทหารทั้งในปี 2516 และ 2535

ในทางความมั่นคงก็ได้พิสูจน์ให้เห็นมาแล้วว่า ไทยไม่ใช่ “โดมิโนตัวที่สี่” แต่กลับสามารถต้านทานชัยชนะของสงครามคอมมิวนิสต์ได้ ทั้งที่เวียดนาม กัมพูชา และลาว ตกอยู่ในฐานะของการเป็นโดมิโนสามตัวที่ล้มลงในปี 2518

หรืออีกนัยหนึ่งก็คือผู้นำไทยสามารถพาประเทศให้รอดพ้นจากสงครามคอมมิวนิสต์มาได้

และผลเช่นนี้กลายเป็นปัจจัยเชิงบวกที่สำคัญต่อการลงทุนของต่างประเทศในช่วงทศวรรษของปี 2530

เพราะเสถียรภาพทางการเมืองในยุคหลังสงครามภายในทำให้ไทยกลายเป็นจุดที่น่าสนใจสำหรับการลงทุนจากภายนอก และเกิดการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศในเวลาต่อมา

หากเปรียบเทียบในขณะนั้น เพื่อนบ้านในภูมิภาคล้วนประสบปัญหาภายในอย่างมาก เช่น ระบอบเผด็จการทำให้ฟิลิปปินส์กลายเป็น “คนป่วยแห่งภูมิภาค”

อินโดนีเซียก็ประสบปัญหาทั้งทางการเมืองและเศรษฐกิจอย่างมากจากระบอบเผด็จการทหาร

ในขณะที่เมียนมาจมอยู่กับการปิดประเทศและความด้อยพัฒนาภายใต้ระบอบเผด็จการทหาร

หรือประเทศสังคมนิยมในภูมิภาคพยายามหันกลับสู่เศรษฐกิจกิจแบบทุนนิยม และลดความเข้มข้นของการเมืองแบบอำนาจนิยมลง

แต่ไทยในขณะนั้นกลับเป็นดังช่วงเวลาของการ “ทะยานขึ้น” และเป็นหนึ่งในตัวแบบของการพัฒนาเศรษฐกิจการเมืองขณะนั้น

แต่หลังปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองที่ก่อตัวขึ้นในปี 2548 จนเป็นชนวนที่นำไปสู่การยึดอำนาจในปี 2549 แล้ว หลังจากนั้นเป็นต้นมาการเมืองไทยก็เข้าสู่วังวนของความขัดแย้งที่ไม่รู้จบ และตามมาด้วยรัฐประหารในปี 2557

จนถึงวันนี้การเมืองไทยเป็นตัวแบบของความไร้เสถียรภาพ ขณะเดียวกันการเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยก็กลายเป็นความไม่ชัดเจนในตัวเอง เพราะผู้นำรัฐบาลทหารไม่แสดงสัญญาณของการถอยออกจากการเมือง เท่าๆ กับที่กองทัพยังคงมีบทบาททางการเมืองอย่างมาก

แม้จะมีคำสัญญาของผู้นำทหารที่จะประเทศกลับสู่การเลือกตั้ง แต่ก็เป็นเพียงคำสัญญาที่เลื่อนออกไปครั้งแล้วครั้งเล่า

จนคำสัญญากลายเป็นสัญญาณของความไม่แน่นอน

สภาวะเช่นนี้ไม่เป็นปัจจัยที่ส่งเสริมสถานะของไทยในเวทีภูมิภาค ยิ่งประกอบกับบทบทบาทของรัฐบาลทหารในการละเมิดสิทธิมนุษยชน การใช้อำนาจทหารในการควบคุมเสรีภาพในด้านต่างๆ ตลอดจนการจับกุมผู้เห็นต่างทางการเมืองด้วยอำนาจพิเศษ ก็ยิ่งทำให้ภาพลักษณ์ของรัฐบาลทหารไม่เป็นที่ยอมรับมากขึ้นในเวทีภูมิภาค

ในภาพรวมก็คือ สถานะของรัฐบาลทหารไทยในเวทีสากลเป็นสิ่งที่ไม่ได้รับการยอมรับ ผู้สนับสนุนรัฐประหารในไทยอาจจะมีข้อโต้แย้งอย่างใดก็ตาม แต่รัฐบาลที่ไม่มีความชอบธรรมในการขึ้นสู่อำนาจทางการเมืองนั้น เป็นรัฐบาลที่ประชาคมระหว่างประเทศไม่ต้องการมีความสัมพันธ์ด้วย

รัฐบาลทหารที่กรุงเทพฯ ยุ่งอยู่กับการรวมอำนาจภายใน และมีความพยายามที่สำคัญในการขยายอำนาจไปสู่อนาคตด้วยกลวิธีทางการเมืองในรูปแบบต่างๆ ขณะเดียวกันก็ใช้อำนาจเผด็จการจนลืมไปว่ารัฐไทยอยู่ในประชาคมระหว่างประเทศ

และการยอมรับจากเวทีสากลเป็นปัจจัยสำคัญต่อสถานะและเกียรติภูมิของชาติ และระบอบอำนาจนิยมเป็น “สินค้าตกยุค” ที่ขายไม่ได้ในเวทีภายนอก

อีกนัยหนึ่งก็คือ ระบอบเผด็จการทหารแสวงหาความสนับสนุนได้ยาก เว้นแต่จะมีรัฐมหาอำนาจที่แสวงหาผลประโยชน์จากช่องว่างของการยอมรับทางการเมืองเช่นนี้ แทรกตัวเข้ามาเป็น “ผู้ค้ำจุน” เพราะระบอบทหารไม่มีทางไป เนื่องจากไม่เป็นที่ยอมรับ

เสียงที่รัฐบาลทหารไม่อยากได้ยิน

เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว เสียงเตือนจากจาการ์ตาแม้จะมาจากสื่อ แต่ก็ละเลยไม่ได้ เพราะอาจมีรัฐบาลหลายประเทศก็คิดในทำนองนี้ แต่รอเวลาที่จะบอกความจริงว่า “พวกเขาไม่ต้องการให้หัวหน้ารัฐประหารเป็นผู้นำอาเซียน” เพราะถ้าไทยเป็นประธานอาเซียนก็เท่ากับส่งสัญญาณด้วยภาพลักษณ์เชิงลบว่า อาเซียนจะถูกนำโดยผู้นำที่มาจากการยึดอำนาจ

ถ้าเป็นเช่นนี้แล้ว ความชอบธรรมของตัวอาเซียนเองจะอยู่ตรงไหน และถ้าเป็นจริง อาเซียนจะแสดงตัวตนในเวทีโลกอย่างไร เพราะประธานอาเซียนได้อำนาจมาด้วยการรัฐประหาร…

ถ้าอาเซียนมีประธานเป็นหัวหน้าคณะรัฐประหาร อาเซียนก็หมดศักดิ์ศรี

แต่ถ้าอาเซียนไม่เลือกผู้นำรัฐบาลทหารไทย ประเทศไทยก็หมดศักดิ์ศรี เว้นเสียแต่จะต้องเกิดการเปลี่ยนผ่านทางการเมืองก่อนเพื่อให้เกิดรัฐบาลที่ชอบธรรมและเป็นที่ยอมรับในเวทีสากล

ดังเช่นเมื่อครั้งผู้นำเมียนมาขึ้นเป็นประธานอาเซียน… ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าปัญหานี้เป็นความท้าทายอย่างยิ่ง

โจทย์ชุดนี้ละเอียดอ่อนและเดิมพันสูงด้วยเกียรติภูมิของอาเซียน และเกียรติภูมิของไทยพอกัน!