หลังเลนส์ในดงลึก / ปริญญากร วรวรรณ / ‘ปลายทาง’

ม.ล.ปริญญากร วรวรรณ
กวางตัวผู้จะผลัดเขาทุกปี เขาใหญ่ๆ ของมันมีประโยชน์เฉพาะในช่วงเวลาแห่งความรัก หลังจากนั้นจะเป็นอุปสรรคในการใช้ชีวิต

หลังเลนส์ในดงลึก / ปริญญากร วรวรรณ

‘ปลายทาง’

วัดซับป่าพลู
อำเภอลานสัก
15.10 นาฬิกา
รถกระบะตัวถังยับยู่ยี่ ขมุกขมอมหลายคัน และรถบรรทุกหกล้อเก่าๆ และมอเตอร์ไซค์อีกจำนวนมาก จอดเกะกะอยู่ใต้ร่มไม้ในบริเวณวัด ซึ่งมองเห็นแนวเขาสลับซับซ้อนอยู่ไม่ไกล
ท้องฟ้าครึ้ม เมฆฝนกลุ่มใหญ่บังแสงอาทิตย์เป็นช่วงๆ
เมื่อกลุ่มเมฆเคลื่อนผ่าน แสงแดดจัดจ้าปกคลุมไปทั่ว สักพักกลุ่มเมฆก็เข้าบดบังอีก
คนจำนวนมาก ทั้งผู้หญิง ผู้ชาย คนแก่ และเด็กๆ ส่วนใหญ่สวมเสื้อสีดำ ผู้ชายหลายคนอยู่ในชุดลายพราง อันเป็นชุดทางการของเจ้าหน้าที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า
พวกเขามาร่วมในพิธีส่งลุงเหมือน ผู้ชายวัย 70 ผู้เดินทางถึงปลายทางของเขาแล้ว
เสียงพลุดังกึกก้อง นกพิราบฝูงใหญ่โผบินออกจากต้นมะขามเทศ
ดอกไม้จันทน์ช่อแรกถูกวางบนโลงสีนวลๆ โดยหัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า
คนเริ่มทยอยขึ้นบันได
ท่ามกลางหมู่คนในชุดดำ บรรยากาศแห่งความเศร้า ผมพบกับความรู้สึกแบบหนึ่ง
ไม่ว่าจะเริ่มต้นเดินทางมาอย่างไร คล้ายจะไม่สำคัญ
ความหมายดูเหมือนจะอยู่ที่ปลายทาง

หนึ่งวันก่อนหน้า
เป็นเวลาบ่ายที่สถานีวิจัยสัตว์ป่า ค่อนข้างเงียบเหงา เจ้าหน้าที่เหลือเพียงศรี พ่อลูกอ่อน ทำหน้าที่เฝ้าวิทยุสื่อสาร คนอื่นๆ เข้าเมืองตั้งแต่ตอนสายๆ นอกจากจะแวะเข้าบ้านในอำเภอซื้อเสบียง พวกเขาจะไปร่วมงานส่งลุงเหมือน อดีตเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า ผู้เกษียณไปแล้ว 10 ปี ในบ่ายวันพรุ่งนี้ด้วย
ฝนที่ตกราวหนึ่งชั่วโมงในทุกบ่ายทำให้เส้นทางหลายช่วงน้ำเจิ่งนอง ร่องลึก ลื่นไถล
ช่วงขึ้นเนินสูง ก้อนหินใหญ่น้อยโผล่หน้าดิน โดนน้ำเซาะ การเดินทางเข้า-ออกระหว่างสถานีกับเมืองใช้เวลาเพิ่มขึ้น
ผมมองรอบๆ สถานี ที่นี่มีอาคารสร้างขึ้นใหม่บ้าง แต่ส่วนใหญ่คือบ้านและที่ทำการ รวมทั้งโรงครัวที่สร้างมาเนิ่นนาน
สถานีอยู่มานาน
คนหลายคนนั่นต่างหากที่จากไปแล้ว

ราวปี พ.ศ.2534
ผมเข้าไปบันทึกภาพสัตว์ป่าในป่าทางตอนใต้ของลำน้ำขาแข้ง
หน่วยพิทักษ์ป่า ซึ่งมีลุงศรี ลุงสังวาลย์ และลุงเหมือน ทำงานอยู่
กับคนหนุ่มไร้ประสบการณ์ มีเพียงความตั้งใจ พวกเขาจึงไม่ต่างจากพี่เลี้ยงและครู ที่หลายครั้งคงเอือมระอากับความเก้ๆ กังๆ ของลูกศิษย์
“สัตว์ป่ามันกลัวคน แค่ได้กลิ่น หรือได้ยินเสียง ก็ไม่มีตัวอะไรมาให้เห็นหรอก” ขณะล้อมวงกินข้าวตอนค่ำ ลุงเหมือนบอกผม
“ต้องรู้ด้วยว่า ทิศทางลมไปทางไหน สัตว์ใช้ด่านไหนเข้า-ออก จะได้ทำซุ้มบังไพรให้ถูก ไม่ใช่ไปขวางด่านมันไว้เลย” ลุงศรีเพิ่มเติม
“แล้วอย่าคิดว่าสัตว์มันโง่ จะไม่รู้ว่าเราอยู่แถวนั้น ไม้ที่ตัดมาต้องไปตัดไกลๆ รอยที่ตัดก็ต้องเอาโคลนป้ายปิดไว้ อย่าคิดว่าสัตว์มันจับความผิดปกตินี้ไม่ได้” ลุงสังวาลย์เสริม
พวกเขาสอนกระทั่งวิธีเดิน ให้ค่อยๆ ลงส้นเท้าเพื่อเสียงไม่ดัง หลีกเลี่ยงการเหยียบใบไม้แห้ง ไม่เดินลากเท้า เวลาด่านถูกปกคลุมด้วยใบไม้แห้ง รวมไปถึงการหาฟืนมาก่อไฟ
“ไม้แห้งน่ะเวลาจะหยิบใช้ตีนเขี่ยๆ ดูก่อน งู แมงป่อง ตะขาบ มันชอบอยู่ ไม่ทันดู งูจะฉกเอา” ลุงเหมือนเตือน
“ก่อไฟเวลาฝนตกไม่ยากหรอก ฟืนเปียกๆ ให้ถากเปลือกออกก่อน หาท่อนไม้มาวางเรียงๆ กันและก่อไฟข้างบน พวกเราเรียกไฟสายฝน เคยได้ยินไหม” ลุงศรีถามยิ้มๆ
“ผักกูด ผักหนาม ตามห้วยนี่กินได้ไม่มีอด เก็บไปแค่พอกิน อย่างอื่นๆ เช่นเห็ด ถ้าไม่รู้จัก หรือไม่แน่ใจ อย่าไปยุ่งกับมัน” ลุงสังวาลย์ ซึ่งส่วนใหญ่รับหน้าที่ทำกับข้าวบอก
“เวลาไอน่ะ ก้มตัวลงแล้วไอค่อยๆ แบบนี้” ลุงเหมือนทำท่าให้ดู ตอนกำลังนั่งอยู่ริมโป่ง
ช่วงเวลานั้นผ่านมานานแล้ว
สิ่งที่ผมคิดถึงเสมอๆ คือ ตอนนั้นผมไม่ได้เรียนรู้การกดชัตเตอร์
แต่การทำงานกับสัตว์ป่า
สิ่งที่ได้เรียนรู้คือสิ่งสำคัญ

ก่อนหน้าป่าจะได้รับประกาศให้เป็นพื้นที่อนุรักษ์ เป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า
ที่นี่มีคนอาศัยอยู่ มีหลายหมู่บ้าน คนอยู่ในป่า หาของป่า ล่าสัตว์ เป็นวิถีปกติ
หลังการประกาศให้เป็นพื้นที่อนุรักษ์ คนย้ายออกไปอยู่ในพื้นที่ที่จัดเตรียมไว้ให้
คนส่วนหนึ่งยังคงใช้วิถีตามปกติ ทำไร่ ทำสวน รวมทั้งหาของป่า
ผู้ชายหลายคนเปลี่ยนวิถี จากคนล่าสัตว์ มาทำงานปกป้องชีวิตสัตว์
ลุงเหมือน ลุงศรี ลุงสังวาลย์ และอีกหลายๆ คน คือผู้ชายเหล่านั้น
ผู้ชายที่เคยร่วมงานเคียงบ่าเคียงไหล่กับ “หัวหน้าสืบ” ของพวกเขา

“หัวหน้าสืบแกรักลูกน้อง” ลุงเหมือนเล่าให้ฟัง
ช่วงที่หัวหน้าสืบรับตำแหน่งหัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ความตั้งใจหนึ่งคือ เร่งให้ความรู้กับชาวบ้านรอบๆ ให้เข้าใจถึงความสำคัญของสัตว์ป่า
เขาให้ความสำคัญกับงานเผยแพร่มาก ภาพสัตว์ป่าที่เขาถ่ายเองจำนวนมากได้รับการถ่ายทอดเป็นโปสเตอร์และสไลด์
อีกเรื่องคือ เขาพยายามวิ่งเต้นหาทุนมาให้เป็นสวัสดิการและประกันชีวิตให้คนงานในป่าที่ต้องเสี่ยงกับการบาดเจ็บ หรือเสียชีวิตจากการปะทะกับคนล่าสัตว์
เพื่อนนักวิจัยต่างชาติคนหนึ่งเตือนเมื่อเห็นเขาทำงานหนักว่า
“คุณไม่ต้องกังวลว่าจะมีใครตายเพราะการทำงานที่นี่หรอก”
สืบตอบเพื่อนคนนั้นด้วยน้ำเสียงมั่นคงว่า
“จะไม่มีลูกน้องผมคนไหนต้องตายในเขตนี้อีก ถ้าจะมี ก็ต้องเป็นผม”

“หัวหน้าแกอึดอัด แต่ไม่ได้พูดกับลูกน้องหรอก” ลุงศรีอยู่ใกล้ชิดเล่า
ตั้งแต่วันรับตำแหน่ง เขาพบปัญหาการตัดไม้และการล่าสัตว์อย่างหนัก
“ลำพังชาวบ้านน่ะไม่หนักเท่าไหร่หรอกถ้าไม่มีคนมีอิทธิพลมาเกี่ยวข้อง เราทำหน้าที่ของเรา อยากรักษาป่า รักษาสัตว์ เราต้องขัดแย้งกับทั้งภาครัฐและประชาชนที่มีผลประโยชน์ร่วมกัน” สืบเคยพูดเช่นนี้กับคนใกล้ชิด
“ทุกครั้งที่ไปเจอซากกระทิง ซากวัวแดง ที่ถูกฆ่าทิ้งไว้ หัวหน้าจะยืนซึม ตาแดงก่ำ ขบกรามแน่นทุกที” ลุงเหมือนเล่าบ้าง
บางทีอาจไม่ใช่เพียงสภาพซากอันน่าเวทนา
น้ำตาอาจมาเพราะรู้ดีว่า “ปัญหา” มาจากที่ใด

ควันสีดำลอยพ้นขอบปล่อง คนจำนวนมากยังยืนอยู่ที่ลานกว้าง
ผมยืนอยู่กับลุงศรีและลุงสังวาลย์
ลุงศรีเผชิญกับความป่วยทรุดโทรม จำผมไม่ได้
“มันจำใครไม่ได้แล้วล่ะ ลูกๆ หลานๆ ยังจำไม่ได้เลย” ลุงสังวาลย์พูดถึงเพื่อน
“ผมเองก็ไม่ไหวแล้ว ได้แต่อยู่บ้าน ฟังลูกหลานคุยถึงป่า” ลุงสังวาลย์พูดเบาๆ
ผมบีบมือแกอย่างให้กำลังใจ

ผมเงยหน้ามองกลุ่มควันสีดำที่ลอยขึ้นสู่เบื้องบน
ลุงเหมือนเดินมาถึงปลายทาง
เขาจากไปในฐานะอดีตผู้พิทักษ์ป่าที่เข้มแข็ง
เช่นเดียวกับที่เมื่อ 28 ปีที่แล้ว สืบ นาคะเสถียร เลือกที่จะบอกว่าสัตว์ป่าและแหล่งอาศัยของพวกมันกำลังเผชิญอยู่กับปัญหาใด ด้วยการหยุดเส้นทางของตัวเอง
และมันได้ผล
ไม่สำคัญนักหรอกว่าจะเริ่มต้นมาเช่นไร
ดูเหมือนว่า ความหมายจะอยู่ที่ “ปลายทาง”