ประชาธิปไตยตุรกีจะไปทางไหน ? – ระบบประธานาธิบดีสร้างขึ้นเพื่อเป้าประสงค์อะไร ?

วิกฤติประชาธิปไตย (ตอนที่ 18)

ประชาธิปไตยตุรกีจะไปทางไหน

การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในตุรกี จากลัทธิเคมาลสู่ระบอบแอร์โดอาน จากระบบรัฐสภาสู่ระบบประธานาธิบดี เป็นการเปลี่ยนแปลงอย่างสันติ จากการหย่อนบัตรลงหีบเลือกตั้ง ซึ่งไม่พบได้บ่อยนัก

แต่ในโลกที่มีการเปลี่ยนแปลงเร็ว เรามักไม่สามารถหยุดนั่งไตร่ตรองถึงมันในแง่มุมต่างๆ ได้นานนัก

และจำต้องตั้งคำถามใหม่ขึ้นว่า ประชาธิปไตยตุรกีในระบบประธานาธิบดีจะเดินต่อไปในทิศทางไหน

จะอยู่รอดหรือไม่ในท่ามกลางความไม่แน่นอน

ประชาธิปไตยและประเทศตุรกีจะไปทางไหน

จะตอบปัญหานี้ควรมองในบางประเด็นได้แก่ ฝ่ายนำที่มีเรเจพ แอร์โดอาน และพรรคความยุติธรรมและการพัฒนา (พรรคเอเคพี) เป็นแกน มีทิศทางการเมืองการปกครองอย่างไรในการสร้างระบบประธานาธิบดี

ต่อมาควรจะได้มองว่า ผู้นำตุรกีสร้างระบบประธานาธิบดีเพื่อเป้าประสงค์ใด และได้ปฏิบัติอะไรบ้างหลังใช้ระบบปกครองใหม่แล้ว

จากนั้นควรมองความขัดแย้งภายในและภายนอก ที่มีทั้งด้านต่อต้านและสนับสนุนการขับเคลื่อนระบอบปกครองปัจจุบันว่าจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงกระทั่งการพลิกผัน ได้แก่ การเปลี่ยนระบอบจากการจลาจลและการลุกขึ้นสู้หรือไม่อย่างไร เป็นต้น

ตุรกีเป็นประเทศใหญ่ มีประชากรกว่า 80 ล้านคน ตั้งอยู่ในจุดยุทธศาสตร์สำคัญ การเปลี่ยนแปลงใหญ่ในตุรกีเลี่ยงไม่พ้นที่จะมีการแทรกแซงจากสหรัฐ รัสเซียและจีน ซึ่งย่อมมีผลกระทบต่อทั้งภูมิภาคมหาตะวันออกกลางอันเป็นแหล่งพลังงานสำคัญที่สุดของโลก และกระทั่งต่อโลกทั้งโลก

เป็นการเปลี่ยนแปลงที่สมควรจับตามองอย่างยิ่ง

ทิศทางการเมืองการปกครองของแอร์โดอานที่ผ่านมา

ตั้งแต่ตั้งพรรคความยุติธรรมและการพัฒนาในปี 2002 แอร์โดอานและคณะมีความชัดเจนในทิศทางการเมืองการปกครองของเขาโดยพื้นฐาน และความชัดเจนนี้ได้มีมิติและรายละเอียดเพิ่มขึ้นจากประสบการณ์ที่โชกโชนจากการอยู่ในอำนาจนานถึง 15 ปี

ทิศทางดังกล่าว สรุปอย่างสั้นๆ ว่า “เติบโต เข้มแข็งอย่างสมดุล”

ปมเงื่อนก็คือ “ความสมดุล” เพื่อให้ตุรกีสามารถยืนขึ้นได้

ความสมดุลพื้นฐาน ได้แก่ ความสมดุลระหว่างความยุติธรรมและการพัฒนา

ความยุติธรรม เป็นคำสอนสำคัญในศาสนาอิสลาม เริ่มตั้งแต่ความยุติธรรมในตัวบุคคล ไปจนถึงความยุติธรรมทางการเมือง กฎหมาย และสังคม

ส่วนการพัฒนาเป็นเรื่องของโลกวิสัยในยุคโลกาภิวัตน์ ถ้าเอียงไปข้างใดมากไปก็จะเกิดผลเสียได้

เช่น ถ้าเคร่งศาสนามากไปอย่างในอิหร่านที่ใช้กฎหมายอิสลาม ก็จะถูกโดดเดี่ยวและพัฒนาประเทศได้ยาก

นอกจากนั้น สำหรับตุรกีที่ลัทธิเคมาลแบบโลกวิสัยยังมีอิทธิพลสูงมาก เกือบเป็นไปไม่ได้ที่จะให้ตุรกีหันไปใช้กฎหมายอิสลาม

ขณะเดียวกันถ้าเอนเอียงทางการพัฒนามากไป ก็จะทำให้ประเทศกลายเป็นแบบตะวันตก สูญเสียค่านิยม วัฒนธรรม และรากทางประวัติศาสตร์ที่เคยรุ่งโรจน์ของตนทิ้งไป

ทำให้ประเทศต้องเป็นเบี้ยล่างตะวันตกอย่างไม่มีวันหลุดพ้น

ความสมดุลต่อมา ได้แก่ การรักษาการเติบโตทางเศรษฐกิจและการขยายฐานมวลชนผู้สนับสนุน

สำหรับตุรกี การเติบโตทางเศรษฐกิจเป็นทุกสิ่ง

ถ้าหากเศรษฐกิจไม่ขยายตัวในอัตราสูงก็จะไม่สามารถแก้ปัญหาอะไรได้สักอย่าง

ดังนั้น เมื่อเกิดวิกฤติเศรษฐกิจใหญ่ปี 2008 ในสหรัฐและตะวันตก ตุรกีได้กระตุ้นเศรษฐกิจรักษาอัตราการเติบโตไว้อย่างสุดกำลัง

ด้วยการขยายการลงทุนผ่านโครงการใหญ่ด้านโครงสร้างพื้นฐาน การศึกษา สาธารณสุข และพลังงานจำนวนมาก รวมทั้งขยายการผลิตและการส่งออก ซึ่งได้กระทำต่อจนถึงปัจจุบัน

จากการปฏิบัติดังกล่าว ทำให้ตุรกีได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่มีการขยายตัวทางเศรษฐกิจสูงสุดในโลกประเทศหนึ่ง ในปี 2017 เศรษฐกิจตุรกีขยายตัวในอัตรากว่าร้อยละ 7 สูงสุดในกลุ่มประเทศโออีซีดี (องค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจที่ถือว่าเป็นกลุ่มประเทศที่มีการพัฒนาทางอุตสาหกรรมแล้ว)

แอร์โดอานและพรรคเอเคพี อาศัยความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจขยายฐานมวลชนของตนอย่างเอาจริงเอาจัง ฐานมวลชนของพวกเขามีอยู่ 2 กลุ่มใหญ่

กลุ่มแรก ได้แก่ นักธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็กจำนวนมากในต่างจังหวัด การกระจายความเจริญไปยังหัวเมืองเหล่านี้ย่อมเปิดโอกาสทางธุรกิจไปในตัว

นอกจากนี้ยังมีรายงานว่าด้วยการช่วยเหลืออย่างหนักจากรัฐบาลในด้านการเงิน ความรู้ เทคโนโลยี และการตลาด ธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็กสามารถขยายสัดส่วนมูลค่าการส่งออกจากราวร้อยละ 10 เป็นมากกว่าร้อยละ 50 ในช่วงเวลาไม่ถึงสิบปี

อีกกลุ่มหนึ่ง ได้แก่ ชาวรากหญ้าในชนบท (และในเมือง) ซึ่งจัดอยู่ในกลุ่มคนจนหรือชนชั้นกลางระดับล่าง

คนกลุ่มนี้มีการศึกษาน้อย รายได้น้อย ขาดเครือข่ายความมั่นคงที่จะช่วยเหลือในยามยาก

ส่วนมากเคร่งศาสนาและยึดถือในค่านิยมประเพณีเดิม

ได้แก่ ค่านิยมของครอบครัวและชุมชน

ในกลุ่มมวลชนอันไพศาลนี้ พรรคเอเคพีได้มีโครงการที่ซับซ้อนอยู่สองด้าน ด้านหนึ่ง เป็นการศึกษา โดยเฉพาะการศึกษาในศาสนาอิสลาม อีกด้านหนึ่ง สร้างระบบสวัสดิการสังคมขนาดใหญ่ขึ้น จนตุรกีได้ชื่อว่าเป็นรัฐสวัสดิการที่เด่นประเทศหนึ่งในยุโรปใต้

ในด้านการศึกษา พรรคเอเคพีได้สร้างโรงเรียนสอนศาสนาขึ้นเป็นอันมาก ในช่วงสิบกว่าปีที่ครองอำนาจ ก็สร้างเพิ่มขึ้นเป็นสิบเท่า แต่เมื่อเทียบกับโรงเรียนทางโลกในตุรกีแล้วก็ยังนับว่าน้อยมาก

นอกจากนี้ยังได้สอดแทรกหลักสูตรทางศาสนาเข้าไปสอนในโรงเรียนทางโลก แอร์โดอานเมื่อขณะเป็นนายกรัฐมนตรีประกาศว่า เขาจะสร้าง “เยาวชนรุ่นเคร่งศาสนา” ขึ้น ซึ่งมีผู้วิจารณ์ว่าผู้ปกครองเด็กจำนวนไม่น้อยไม่เห็นด้วย

สำหรับพรรคเอเคพีแล้ว การฟื้นฟูศาสนาอิสลาม เป็นการสร้างรากทางวัฒนธรรม สังคมและประวัติศาสตร์ให้แก่ตุรกี และช่วยต้านทานกับอารยธรรมตะวันตกที่ไหลบ่ามาอย่างรุนแรง

ในด้านสวัสดิการสังคมนั้น แอร์โดอานและคณะได้สร้างระบบสวัสดิการสังคมที่มีลักษะเฉพาะตุรกีขึ้น นั่นคือ นอกจากมีรัฐบาลเป็นแกน จัดสรรงบประมาณจำนวนไม่น้อยมาให้แล้ว ยังอาศัยบทบาทสูงจากภาคธุรกิจเอกชน ชุมชน ครอบครัว

และที่สำคัญคือปัจเจกชน อาศัยหลายกลไกทั้งทางศาสนาและทางโลกประกอบขึ้นมา

อนึ่ง ระบบสวัสดิการ สังคมที่สร้างขึ้นนี้ ไม่ใช่การสังคมเคราะห์ ช่วยเหลือผู้ตกทุกข์ได้ยากให้สามารถอยู่รอดได้หรือเกิดความสำนึกผูกพัน มาลงคะแนนเสียงให้

แต่อยู่ในแผนการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของชาติรวมทั้งการขยายบทบาทของสตรี (ดูบทความของ Bunyamin Esen ชื่อ Myth and facts about Turkey”s welfare regime ใน dailysabah.com 26.08.2014 ประกอบ)

ความสมดุลที่สำคัญมากสำหรับตุรกีอีกประการหนึ่งคือ ความสมดุลระหว่างลัทธิชาตินิยมกับความสัมพันธ์อันดีกับประเทศเพื่อนบ้านและกับมหาอำนาจตะวันตก

ในตุรกีมีกระแสชาตินิยมค่อนข้างแรง เห็นได้จากพรรคขบวนการผู้รักชาติ (พรรคเอ็มเอชพี ก่อตั้งปี 1969) ที่มีแนวคิดชาตินิยมจัด ตั้งแต่การเลือกตั้งทั่วไปปี 2007 ได้คะแนนเสียงเกินร้อยละ 10 ของผู้มาลงคะแนนทั้งหมด และมีที่นั่งในสภามาโดยตลอด

จนกระทั่งพรรคเอเคพีต้องยอมรับเป็นพันธมิตรในการเลือกตั้งทั่วไปปี 2018 กระแสสูงของลัทธิชาตินิยมนี้เกิดขึ้นทั่วไป ในสหรัฐเอง ประธานาธิบดีทรัมป์ก็ใช้คำขวัญหาเสียงโจ่งแจ้งว่า “อเมริกาเหนือชาติใด” และ “อเมริกากลับมายิ่งใหญ่อีกครั้ง”

แต่ตุรกีไม่ได้ยิ่งใหญ่เหมือนสหรัฐ ไม่สามารถตวาดโลกให้หวาดกลัวและเกลียดชังได้เหมือนสหรัฐ

ตุรกีมีประเทศเพื่อนบ้านที่มีขนาดใหญ่กว่าและน่าเกรงขามอย่างเช่นรัสเซีย แม้เพื่อนบ้านอย่างอิหร่านก็มีกำลังทัดเทียมกัน ทั้งตุรกียังต้องพึ่งอิหร่านในฐานะเป็นแหล่งพลังงานสำคัญ

ตุรกียังมีคู่แข่งที่มีแสนยานุภาพสูงและได้รับการสนับสนุนเต็มตัวจากสหรัฐได้แก่อิสราเอล

มีประเทศอย่างอาร์เมเนียที่มีแผลเก่าทางประวัติศาสตร์เรื่องการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ที่จะต้องเยียวยา

มีปัญหากบฏชาวเคิร์ดที่จะต้องจัดการ มีหลายประเทศในคาบสมุทรบอลข่านที่เคยอยู่รวมในจักรวรรดิออตโตมันและมีชาวตุรกีพำนักอาศัยอยู่ไม่น้อย ที่จะต้องสร้างความสัมพันธ์อันดี เหล่านี้เป็นสิ่งที่ผู้นำตุรกีต้องจัดความสมดุลให้ดี

และที่สำคัญคือการจัดการไม่ให้ความคิดชาตินิยมลดต่ำจนยอมอ่อนข้อให้แก่สหรัฐและตะวันตกมากเกินไป และไม่ให้ลัทธิชาตินิยมจัดมาทำลายความสัมพันธ์ดังกล่าวโดยไม่จำเป็น

ท้ายสุดได้แก่ การสร้างความสมดุลระหว่างการเติบโตทางเศรษฐกิจภาคต่างๆ ให้เจริญทั้งภาคการเกษตร อุตสาหกรรม การเหมืองแร่และพลังงาน และภาคบริการ มีด้านการเงินการธนาคารและการท่องเที่ยว เป็นต้น ความสมดุลทางเศรษฐกิจนี้ ช่วยให้ตุรกีมีความคงทน สามารถผ่านวิกฤติและความยากลำบากทางเศรษฐกิจได้หลายครั้ง และขณะนี้กำลังต้องเผชิญกับการทดสอบใหญ่จากพายุเศรษฐกิจเบื้องหน้า

อย่างไรก็ตาม พบว่าการรักษาสมดุลดังกล่าวทั้งหมดกระทำได้ยากขึ้น

ยกตัวอย่างความสมดุลพื้นฐานทางเศรษฐกิจ การเติบทางเศรษฐกิจอย่างเร็วมักเกิดควบคู่กับการขยายตัวของช่องว่างทางสังคม การมีหนี้สินมาก มีปัญหาสิ่งแวดล้อมรุนแรง เป็นต้น

กล่าวถึงช่องว่างทางสังคมซึ่งเป็นปัญหาหลายมิติ ตุรกีก็กำลังเผชิญอย่างหนักหน่วงขึ้น เช่น ในท่ามกลางค่าเงินลีราตุรกีลดต่ำลงมากและภาวะเงินเฟ้อในเดือนมิถุนายน 2018 สูงกว่าร้อยละ 15 เป็นประวัติการณ์ในรอบสิบห้าปีที่พรรคเอเคพีขึ้นสู่อำนาจ

มีข่าวว่าเศรษฐีเงินล้านของตุรกีมีจำนวนเพิ่มขึ้นจาก 139,000 คน เป็น 157,000 คน ในช่วง 5 เดือนที่ผ่านมา (ในช่วงต้นปี 2018)

เศรษฐีเงินล้านเหล่านี้ส่วนใหญ่มีฐานในตุรกี (ราว 15,000 คน อยู่นอกประเทศ) ทั้งหมดมีทรัพย์สินรวมกัน 1.037 ล้านล้านลีรา (หนึ่งลีราตุรกีมีค่าเท่ากับราว 6.50 บาท ตกลงจากที่เคยอยู่ในระดับ 7.00 บาท)

เฉลี่ยเศรษฐีเงินล้านตุรกีมีทรัพย์สินคนละมากกว่า 6 ล้านลีรา (ดูข่าวชื่อ Some 18,000 Turks become millionaires as lira slid to record lows ใน hurriyetnews.com 05.07.2018)

ระบบประธานาธิบดีสร้างขึ้นเพื่อเป้าประสงค์อะไร

ผู้นำตุรกีมีความเห็นว่าระบบประธานาธิบดีเป็นเครื่องมือสำคัญในการนำพาตุรกีไปสู่ความเข้มแข็งยิ่งใหญ่ (ไม่ได้คิดว่าระบบนี้และระบอบประชาธิปไตยเป็นจุดหมายปลายทางในตัวเอง) เป้าประสงค์ของระบบประธานาธิบดี มีที่ควรกล่าวถึงอยู่สามประการคือ

1) เป้าหมายหรือวิสัยทัศน์ 2023 ซึ่งใช้ในการหาเสียงระดับท้องถิ่นและเลือกตั้งประธานาธิบดีในระบบเดิมในปี 2014 และการเลือกตั้งทั่วไปในปี 2015 เพื่อการขับเคลื่อนสู่ระบบประธานาธิบดีเต็มรูปแบบ “วิสัยทัศน์ 2023” นี้เป็นแผนสร้างตุรกีให้กลายเป็นประเทศมั่งคั่งทางเศรษฐกิจและสังคมภายในปีดังกล่าว ซึ่งเหลือเวลาจากนี้ไปก็อีกเพียงห้าปี นอกจากนี้คาดหมายกันว่าในปี 2023 ประชากรสูงอายุ (วัยเกิน 65 ปี) จะมีสัดส่วนถึงร้อยละ 10.2 ของประชากรทั้งหมด ตุรกีจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุเหมือนประเทศตะวันตกอื่นที่เข้ามาก่อนหน้านั้นแล้ว ซึ่งกระทบต่ออัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจในระดับที่แน่นอน

2) ระบบประธานาธิบดีจะเป็นเครื่องมือในการสร้าง “ตุรกีใหม่” ตุรกีใหม่ในที่นี้มีความหมายสองด้านด้วยกัน ด้านหนึ่ง เป็นการสลัดหลุดจากระบบรัฐสภาในลัทธิเคมาล ที่ในระยะหลายสิบปีมานี้ ได้กลายเป็นสิ่งผูกรัดการพัฒนาทางเศรษฐกิจ การเมือง และทางสังคมวัฒนธรรมของตุรกี อีกด้านหนึ่ง หมายถึงความเป็นอิสระเป็นตัวเอง มีฐานะเป็นหุ้นส่วน ไม่ใช่บริวารของสหรัฐและสหภาพยุโรป

3) ระบบประธานาธิบดีจะช่วยให้ “ลัทธิรวมชาวเติร์ก” ที่แอร์โดอานและคณะเห็นด้วยปรากฏเป็นจริง ลัทธิรวมชาวเติร์กต้องการรวมชาวเติร์กทั้งหมด ซึ่งส่วนใหญ่ที่สุดอยู่ในประเทศตุรกีปัจจุบันกับที่อยู่ต่างแดนเข้าด้วยกัน สำนึกเป็นชาติเดียวกัน ชนเชื้อสายเติร์กนี้มีอยู่ตั้งแต่ในมณฑลซินเจียงของจีน มาถึงภูมิภาคเอเชียกลาง ตะวันออกกลาง ไปจนถึงยุโรปมีประเทศเยอรมนีและเนเธอร์แลนด์ เป็นต้น

การเคลื่อนไหวสร้างระบบประธานาธิบดีของตุรกี ได้ดำเนินไปอย่างจริงจังจนกระทั่งเกิดกรณีขัดแย้ง ถึงขั้นตัดความสัมพันธ์ทางการทูตกับประเทศเนเธอร์แลนด์ในเดือนกุมภาพันธ์ 2017 เมื่อตุรกีส่งรัฐมนตรีต่างประเทศ และรัฐมนตรีกระทรวงครอบครัวและนโยบายสังคมไปเนเธอร์แลนด์ เพื่อรณรงค์ให้ชาวตุรกีที่นั่นลงคะแนนเสียงยอมรับรัฐธรรมนูญไปสู่ระบบประธานาธิบดี

เนเธอร์แลนด์ห้ามไม่ให้รัฐมนตรีต่างประเทศตุรกีบินเข้า และขับรัฐมนตรีและครอบครัวออกนอกประเทศ

ตุรกีตอบโต้ด้วยการขับทูตเนเธอร์แลนด์ออกนอกประเทศ จนถึงเดือนกรกฎาคม 2018 จึงได้ฟื้นความสัมพันธ์ใหม่

อนึ่ง การรวมชาวเติร์กนี้ใช้การอิงกับศาสนาอิสลามเป็นสำคัญ เป็นการรวมชาวตุรกีที่แตกแยกในประเทศให้รวมกัน และทำให้ชาวตุรกีที่เป็นมุสลิมหวนกลับมาช่วยกันสร้างชาติ นอกจากนี้ยังทำให้ตุรกีกลายเป็นแกนหลักแกนหนึ่งในโลกอิสลามด้วย

ฉบับต่อไปจะกล่าวถึงรัฐบาลใหม่ของแอร์โดอาน ความขัดแย้งภายในและภายนอก และแนวโน้มหนทางประชาธิปไตยในตุรกี