เปิดข้อเสนอ กก.อิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา ปฏิรูปครูด้วย NPTP ตอนจบ “สู่ครูไทย 4.0”

สมหมาย ปาริจฉัตต์

ครับ มาว่ากันต่อถึงข้อเสนอของคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา ซึ่งผมเชื่อว่าปฏิรูปครูเป็นจุดคานงัดสำคัญที่สุด ต้องปฏิรูประบบการผลิต การพัฒนาครู รวมถึงผู้บริหาร เพื่อก้าวไปสู่ครูไทย 4.0

ข้อเสนอของคณะกรรมการ โดยใช้เทคโนโลยีสารสนเทศทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงกับครู สร้าง National Professional Teacher Platform (NPTP) ขึ้นมาเป็นเครื่องมือขับเคลื่อนเครือข่ายครู เสริมพลังการพัฒนาวิชาชีพครู โดยการเก็บรวบรวมฐานความรู้คุณภาพและใช้ระบบการปรับเหมาะ (Adaptive System) เพื่อเป็นแหล่งอ้างอิงและการเติมเต็มความรู้ตามประสงค์แบบทันท่วงที (Just-in-time/on demand)

ครูสามารถนําไปใช้แก้ปัญหาในชั้นเรียน พัฒนาทักษะในการสร้างบรรยากาศและกิจกรรมที่สอดคล้องกับกลุ่มผู้เรียน สําหรับผู้สอนที่มีความจํากัดในด้านประสบการณ์สอนหรือความเชี่ยวชาญในการสอนเฉพาะทาง จะได้รับโอกาสการบ่มเพาะความชํานาญเฉพาะทางร่วมชุมชนวิชาชีพออนไลน์เฉพาะทางซึ่งจะเป็นพี่เลี้ยงเสมือน (e-mentor) ให้ครูสามารถจัดการเรียนการสอนได้เป็นมาตรฐาน สู่ระดับผู้รู้ผู้ชํานาญเฉพาะด้านนั้น

ส่งผลให้มีกรอบความคิดที่เติบโต (growth mindset) เชื่อมั่นในการพัฒนาวิชาชีพ และสามารถยกระดับพัฒนาทักษะการสอน ด้วยการให้ความสําคัญกับผู้เรียนเป็นรายบุคคล ที่เชื่อมไปถึง e-Content ที่อยู่ในแพลตฟอร์มการเรียนด้วยดิจิตอลแห่งชาติ (National Digital Learning Platform) ของนักเรียน ทําให้ได้ข้อมูลการเรียนรู้ของนักเรียน สามารถส่งเสริมกระบวนการเรียนรู้ที่มีความต้องการรายบุคคลและกลุjมย่อย จนผู้สอนสามารถเป็นผู้ให้คําปรึกษาที่รอบรู้ชาญฉลาด และเป็นที่พึ่งพิง ชี้แนะผู้เรียนได้

ข้อเสนอนี้ค่อนข้างเป็นเทคนิค หากอธิบายให้เข้าใจด้วยภาษาง่ายๆ ครูและผู้คนที่สนใจความเป็นไปทางการศึกษา ซึ่งมีความสามารถใช้เทคโนโลยีต่างกัน น่าจะมองเห็นภาพชัดยิ่งขึ้น

นอกจากข้อเสนอเกี่ยวกับครูแล้ว ยังมีข้อเสนอเกี่ยวกับระบบผู้บริหารอีกด้วย ต้องทำอะไรบ้างในแต่ละเรื่อง ดังนี้

 

การคัดกรองผู้บริหาร

1.มีการกําหนดสมรรถนะหลักของผู้บริหารที่ครอบคลุมสมรรถนะ 4 ด้านคือ

1) ด้านการบริหารจัดการสถานศึกษา

2) ด้านวิชาการและการบริหารวิชาการ

3) ด้านทักษะจําเป็น โดยเฉพาะทักษะด้านเทคโนโลยีและการสื่อสาร ทักษะการแก้ปัญหาความขัดแย้ง ทักษะการทํางานแบบร่วมมือร่วมพลังทักษะการวิจัยและพัฒนางาน

และ 4) ด้านคุณสมบัติสําคัญพื้นฐาน ได้แก่ การมีคุณธรรม จริยธรรม ความเป็นผูhนําการเปลี่ยนแปลงมีวิสัยทัศน์ มีความใฝ่รู้ มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ และมีความเป็นประชาธิปไตย

2. มีหน่วยงานกําหนดนโยบายการคัดกรอง และพัฒนาผู้บริหาร เพื่อวิเคราะห์อัตรากําลังและศักยภาพของผู้บริหาร

3. มีระบบที่เป็นมาตรฐานในการคัดกรองครูมาเป็นผู้บริหารโดย

1) กําหนดให้มีคุณสมบัติพื้นฐานคือการเป็นครูที่มีสมรรถนะหลักครบถ้วน อย่างน้อย 7 ปี และมีประสบการณ์ด้านการบริหารวิชาการอย่างน้อย 3 ปี

2) มีการประเมินสมรรถนะหลักทั้ง 4 ด้านคือ (1) ด้านการบริหารจัดการสถานศึกษา (2) ด้านวิชาการและการบริหารวิชาการ (3) ด้านทักษะจําเป็น และ (4) ด้านคุณสมบัติสําคัญพื้นฐาน หรือมีมาตรการจูงใจคนดีและคนเก่งมาเป็นผู้บริหาร โดยมีการเปิดโอกาสให้นักบริหารมืออาชีพจากวงการอื่นเข้ามาคัดเลือกเป็นผู้บริหาร

4. มีการจัดระบบการดูแลผู้บริหารใหม่ให้มีความพร้อมในการปฏิบัติงาน โดยในระยะ 2 ปีแรกให้มีการกําหนดตัวบ่งชี้การปฏิบัติงาน จัดให้มีระบบการติดตามประเมินผลและให้ข้อมูลย้อนกลับเพื่อการพัฒนา เป็นระยะทุก 6 เดือน โดยมีการกําหนดเกณฑ์การผ่านการประเมินที่เหมาะสม และให้มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างผู้บริหาร และให้มีการประเมินผลการปฏิบัติงานแบบ 360 องศา ก่อนปฏิบัติงานจริง

หากไม่ผ่านการประเมินจะต้องกลับไปปฏิบัติงานในหน้าที่เดิม

 

การพัฒนาทางวิชาชีพผู้บริหาร

1.มีการพัฒนา National Digital Learning Platform (NDLP) ที่เป็นหน่วยงานมาตรฐานที่มีหน้าที่พัฒนาหลักสูตรการพัฒนาผู้บริหารในแต่ละระดับที่มีมาตรฐาน โดยเน้นการเรียนรู้ทฤษฎีควบคู่กับการปฏิบัติงานจริง และเรียนรู้จากผู้มีประสบการณ์ด้านการบริหาร มีระบบสร้างผู้บริหารให้มีความเป็นผู้นําที่มุ่งพัฒนาสถานศึกษาสู่ความเป็นเลิศและสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่เป็นที่ยอมรับในเวทีโลกและมีระบบสนับสนุนการตัดสินใจสําหรับผู้บริหาร (Executive Decision Support System) รวมทั้งสร้างเครือข่ายการเรียนรู้ของผู้บริหารและจัดให้มีเวทีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ตลอดจนจัดให้มีเครือข่ายการทํางานแบบร่วมมือกันทั้งในระดับประเทศและนานาชาติ

2. มีการกําหนดมาตรฐานการปฏิบัติงานของผู้บริหารในด้านต่างๆ โดยเฉพาะการบริหารวิชาการการพัฒนาผู้เรียน การสนับสนุนและพัฒนาครู/บุคลากร และกําหนดให้มีการใช้เวลาอยู่ที่สถานศึกษาเพื่อการพัฒนางาน พัฒนาคุณภาพสถานศึกษาร้อยละ 80 และใช้เวลาร้อยละ 20 ในการพัฒนาตนเอง มีการจัดระบบการประเมินผลการปฏิบัติงานประจําปีแบบ 360 องศา และประเมินสมรรถนะหลักทั้งด้านการบริหารจัดการสถานศึกษา ด้านวิชาการและการบริหารวิชาการ ด้านทักษะจําเป็นและด้านคุณสมบัติสําคัญพื้นฐาน และใช้ผลการประเมินในการพัฒนาผู้บริหารในสมรรถนะที่ขาดอยู่ผ่านช่องทางต่างๆ ทั้งการอบรมการศึกษา ดูงานและการศึกษาผ่านระบบออนไลน์ หากไม่ผ่านการประเมินจะต้องกลับไปปฏิบัติงานในหน้าที่เดิม

3. มีหลักสูตรพัฒนาผู้บริหารในแต่ละระดับที่มีมาตรฐานโดยเน้นการเรียนรู้ทฤษฎีควบคู่กับการปฏิบัติงานจริง และเรียนรู้จากผู้มีประสบการณ์ ด้านการบริหารมีระบบสร้างผู้บริหารให้มีความเป็นผู้นําที่มุ่งพัฒนาสถานศึกษาสู่ความเป็นเลิศและสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ๆ เป็นที่ยอมรับในเวทีโลก

4. จัดให้มีเวทีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ตลอดจนจัดให้มีเครือข่ายการทํางานแบบร่วมมือกันทั้งในระดับประเทศและนานาชาติ

5. มีการเปิดเผยข้อมูลผลการพัฒนาโรงเรียนในด้านต่างๆ ต่อสาธารณชน เพื่อส่งเสริมให้เกิดกลไกการแข่งขันและยกระดับการจัดการศึกษาผ่านเกณฑ์การประเมินการทํางานของผู้บริหาร

 

เส้นทางวิชาชีพผู้บริหาร

1.มีการสร้างแรงจูงใจผู้บริหารในการพัฒนาโรงเรียนให้มีมาตรฐานที่สูงขึ้นตามบริบทของพื้นที่และสถานศึกษา

2. มีระบบหรือมาตรการสร้างแรงจูงใจให้ผู้บริหารที่มีศักยภาพในการพัฒนาโรงเรียนไปประจําการในพื้นที่ขาดแคลน

3. มีการออกแบบระบบการเลื่อนระดับของผู้บริหาร โดยพิจารณาถึงผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจากความก้าวหน้าในการพัฒนาสถานศึกษาและการยกระดับคุณภาพของผู้เรียนเป็นสําคัญ รวมทั้งจัดให้มีระบบการคงวิทยฐานะให้ผู้บริหารพัฒนาทางวิชาชีพและมีผลงานในการพัฒนาโรงเรียนอย่างต่อเนื่อง

ข้อเสนอทั้งหมดที่ผมเอามารายงานตามลำดับนี้ ถูกนำไปพิจารณาเพื่อทำให้เกิดการปฏิบัติ โดยหน่วยงานใด คืบหน้าไปถึงไหน จะเป็นจริงเมื่อไหร่ ยังไม่มีคำตอบใดๆ ทั้งจากกรรมการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ทั้งกระทรวงศึกษาธิการ และผู้นำรัฐบาลอย่างเป็นเรื่องเป็นราว