ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 31 สิงหาคม - 6 กันยายน 2561 |
---|---|
เผยแพร่ |
การศึกษา
ท่องเมืองโบราณพันปี ‘จันทบุรี’
ดินแดนยุทธศาสตร์ระดับโลก
สร้างความตกตะลึงให้กับวงการประวัติศาสตร์ไม่น้อย
หลังหอจดหมายเหตุแห่งชาติ จันทบุรี ออกมาเปิดเผยข้อมูลสำคัญกับการค้นพบเอกสารประวัติศาสตร์ระดับโลก ซึ่งถูกซุกซ่อนอยู่ใต้ถุนอาคารหอจดหมายเหตุแห่งชาติ จันทบุรี ในการลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมตามโครงการเผยแพร่มรดกศิลปวัฒนธรรมของชาติ เล่าเรื่องเมืองโบราณพันปี “จันทบุรี” ดินแดนยุทธศาสตร์ชาติไทย ของกรมศิลปากร…
อาคารหอจดหมายเหตุแห่งชาติ จันทบุรี ดังกล่าวเดิมเป็นอาคารศาลากลางจังหวัดสร้างขึ้นเมื่อปี 2459 สมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 เพื่อใช้ทำเป็นศาลาว่าการมณฑลจังหวัดจันทบุรี ซึ่งประกอบด้วยเมืองจันทบุรี ระยอง และตราด
กระทั่งปี 2476 ได้ยกเลิกระบบมณฑล กรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนโบราณสถาน
เมื่อปี 2520 อาคารหลังนี้ใช้เป็นศาลากลางจังหวัดจันทบุรี จนถึง พ.ศ.2521 ต่อมา พ.ศ.2546 หอจดหมายเหตุแห่งชาติ จันทบุรี ได้ขอให้เป็นที่ทำการต่อเนื่อง
ปัจจุบันตัวอาคารมีอายุเก่าแก่กว่า 102 ปี…
นางสุมลฑริกาญจน์ มายะรังษี หัวหน้าหอจดหมายเหตุแห่งชาติ จันทบุรี เล่าถึงที่มาของการค้นพบครั้งสำคัญนี้ว่า หอจดหมายเหตุแห่งชาติ จันทบุรี ได้ดำเนินการบูรณะอาคารในปี 2547
ระหว่างการบูรณะได้พบเอกสารสำคัญของจันทบุรีบริเวณใต้ถุนอาคารจำนวนมาก
เจ้าหน้าที่ได้ดำเนินการขนย้าย คัดแยก พร้อมทั้งประเมินคุณค่าความสำคัญของเอกสารต่างๆ แบ่งเป็นหัวเรื่องต่างๆ โดยใช้เวลากว่า 10 ปีในการศึกษารายละเอียด
นับเป็นข้อมูลประวัติศาสตร์และหลักฐานสำคัญของชาติ จึงได้ริเริ่มทำโครงการ “การบริหารราชการหัวเมืองตะวันออก : จันทบุรี” เพื่อนำเสนอเข้าคณะกรรมการมรดกความทรงจำโลกแห่งประเทศไทย เมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ.2560 เป็นครั้งแรก
จากนั้นคณะกรรมการได้พิจารณา และให้ผู้จัดทำปรับแก้รายงานให้มีความสมบูรณ์มากขึ้น คาดว่าจะสามารถเสนอให้คณะกรรมการพิจารณาอีกครั้งปลายปีนี้
“การพบเอกสารสำคัญครั้งนี้ตื่นเต้นที่สุดเหมือนเจอทรัพย์สมบัติอันเป็นมรดกของชาติ ที่รวบรวมไว้ใต้ถุนอาคาร เอกสารมีความสูงถึง 800 ลูกบาศก์ฟุต เมื่อสรุปเนื้อหา พบเป็นเอกสารสำคัญเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ระดับโลก ไม่มีที่ไหนแล้ว เป็นเอกสารของส่วนราชการไทยและเอกสารบันทึกจากต่างประเทศ อายุเฉลี่ย 100 ปี ระหว่าง พ.ศ.2449-2522”
“เป็นเอกสารเหตุการณ์ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 สมัยรัชกาลที่ 6 ส่งทหารร่วมรบ โดยมีทหารอาสาชาวจันทบุรีร่วมสงครามด้วย โดยเป็นเอกสารตอบโต้ระหว่างกระทรวงมหาดไทย (มท.) กับจังหวัดจันทบุรี ในช่วงจอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งมีหนังสือเวียนสอบถามรายชื่อทหารที่ยังมีชีวิตอยู่”
“เอกสารชุดถัดมาเกี่ยวข้องกับสงครามโลกครั้งที่ 2 ยุคที่ฝรั่งเศสทิ้งระเบิดที่อำเภอโป่งน้ำร้อนและอำเภอท่าใหม่ สร้างความเสียหายให้บ้านเรือน และเอกสารชุดถัดมาพูดถึงสงครามเย็น ทำให้รู้สภาวการณ์บ้านเมืองยุคข้าวยากหมากแพง ตลอดจนสภาพเศรษฐกิจระหว่างไทย เขมร”
“ขณะเดียวกันยุคนี้คนไทยยังเริ่มมีการจดทะเบียนนามสกุล ใต้ถุนอาคารเราพบเอกสารการจดทะเบียนนามสกุลของชาวจังหวัดจันทบุรี จำนวน 3 เล่ม แยกเป็นหมวดหมู่ ก-ฮ รวมประมาณ 6,000 กว่านามสกุล โดยการตั้งนามสกุลสะท้อนสภาพภูมิศาสตร์ อาทิ ริมคีรี หนองบัวแดง หนองบัวขาว โดยนามสกุลแรก จดเมื่อปี 2457 ชื่อสกุล ‘กาญจนกิจ’ รวมถึงทำให้ทราบว่ามีชุมชนญวนตะวันตกและชุมชนญวนตะวันออกมาตั้งถิ่นฐานอยู่ที่จันทบุรีจำนวนมาก อาทิ อันนัม อานามวัฒน์ เป็นต้น”
“นอกจากนั้นยังมีเอกสารเก่าเกี่ยวข้องกับการทำพลอยเมืองจันท์ เริ่มจากชาวกุลา เข้ามาอาศัยในสมัยรัชกาลที่ 5 ต่อมาได้ทำบ่อพลอย นำมาสู่การเป็นแหล่งค้าพลอยเมืองจันท์ ซึ่งเป็นธุรกิจสำคัญของจังหวัดจนถึงปัจจุบัน”
นางสุมลฑริกาญจน์กล่าว
เนื้อหาภายในของเอกสาร แสดงถึงพัฒนาการด้านการบริหารราชการระหว่างส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ที่เชื่อมโยงโต้ตอบไปมาโดยมีลักษณะทางกายภาพที่ชัดเจนด้วยเอกสารประเภท สารตรา ใบบอก และบันทึกต่างๆ ระยะเวลาของเอกสารตั้งแต่ พ.ศ.2476-2522 มีจำนวน 163 ฟุต 326 กล่อง 4,260 รายการ 358,600 แผ่น 537,900 หน้า
นอกจากนี้ ยังมีความโดดเด่นในด้านเนื้อหาแสดงความสัมพันธ์เชื่อมโยงถึงเหตุการณ์ประวัติศาสตร์สำคัญตั้งแต่ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 สงครามโลกครั้งที่ 2 และช่วงสงครามเย็น มีความสัมพันธ์กับเอกสารจดหมายเหตุของสำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ ชุดกระทรวงมหาดไทย และชุดกระทรวงการต่างประเทศ และเอกสารจดหมายเหตุของหอจดหมายเหตุแห่งชาติ ตรัง ชุดมณฑลภูเก็ต
นอกจากนี้ยังมีบุคคลสำคัญที่เกี่ยวข้องกับเอกสารชุดนี้ เช่น พระมหากษัตริย์ไทยตั้งแต่รัชกาลที่ 5 ถึงรัชกาลที่ 9 รวมถึงเสนาบดีกระทรวงต่างๆ นายกรัฐมนตรี หัวหน้าคณะปฏิวัติ สมุหเทศาภิบาลมณฑล ผู้ว่าราชการจังหวัด กรมการจังหวัด เป็นต้น
โดยเอกสารสำคัญซึ่งมีคุณค่าที่ค้นพบคือ เอกสารแจ้งการเสด็จพระราชดำเนินของในหลวงรัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 นำไปสู่การค้นหาพระบรมฉายาลักษณ์ เพื่อยืนยัน ซึ่งพบว่าเสด็จพระราชดำเนินมาที่จังหวัดจันทบุรีถึง 6 ครั้ง
นอกจากอาคารหอจดหมายเหตุแห่งชาติ จันทบุรี ที่มีความน่าสนใจทั้งตัวอาคารและเอกสารประวัติศาสตร์ที่ค้นพบแล้ว
จังหวัดจันทบุรียังมีแหล่งโบราณสถานที่สำคัญคือ เมืองโบราณเพนียดหรือเมืองกาไว ตั้งอยู่ที่ตำบลคลองนารายณ์ อำเภอเมือง จังหวัดจันทบุรี ซึ่งตามตำนานเล่าว่า เมืองกาไวตั้งอยู่เชิงเขาสระบาป ติดลำน้ำสาขาซึ่งไหลออกสู่ทะเลอ่าวไทย
ลักษณะผังเมืองคล้ายรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีคันดินล้อมรอบ พื้นที่ราว 1,600 ไร่ อายุราวพุทธศตวรรษที่ 12-18 ที่มาของชื่อเมืองเพนียด เกิดจากสมัยหลัง เพราะชาวบ้านเข้าใจผิดว่าเป็นเพนียดคล้องช้าง
พบหลักฐานจารึกสำคัญจำนวน 3 หลักคือ จารึกวัดทองทั่ว-ไชยชุมพล อายุราวพุทธศตวรรษที่ 12 จารึกเพนียด 1 อายุราวพุทธศตวรรษที่ 15 และจารึกเพนียด 52 อายุราวพุทธศตวรรษที่ 15 นอกจากนี้ยังมีหลักฐานต่างๆ อีกมากมาย เช่น พระหริหระแบบพนมดา ทับหลังในสมัยต่างๆ ซึ่งเป็นลักษณะทางด้านศิลปกรรมของวัฒนธรรมเขมรโบราณที่ได้รับอิทธิพลเก่าแก่จากอินเดีย ขณะนี้กรมศิลปากรอยู่ระหว่างการขุดค้นเพิ่มและนำดินหรือศิลาแลงไปวิเคราะห์หาค่าอายุทางวิทยาศาสตร์เพิ่มเติม
เชื่อว่าอาจมีเรื่องน่าตื่นเต้นหรือเปิดประวัติศาสตร์หน้าใหม่ให้เราได้รู้เพิ่มเติมอีก
ถือเป็นการค้นพบครั้งสำคัญทางประวัติศาสตร์ ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งกรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม เร่งผลักดันเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์แห่งใหม่ของจันทบุรี
รวมถึงเป็นแหล่งศึกษาค้นคว้าข้อมูลทางประวัติศาสตร์และโบราณคดีที่สำคัญต่อไป…