พลตำรวจเอกวสิษฐ เดชกุญชร ตอนที่ 8 “ในหลวงรัชกาลที่ 9 ในห้วงการเมืองมวลชน 14 ตุลาคม 2516”

จากการจากไปของ พล.ต.อ.วสิษฐ เดชกุญชร เมื่อวันที่ 20 มิถุนายนที่ผ่านมา ผมจึงขอพักเรื่องอาจารย์ชัยอนันต์ สมุทวณิช ไว้ก่อน และขออุทิศข้อเขียนนี้เพื่อไว้อาลัยต่อการจากไปของท่าน พล.ต.อ.วสิษฐ เดชกุญชร โดยเรียบเรียงจากบทสัมภาษณ์ที่ผมได้รับความกรุณาจากท่านเมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2560 ซึ่งเป็นเวลาหนึ่งปีก่อนที่ท่านจะจากไป

คราวที่แล้วจบลงตอนที่ท่านอาจารย์วสิษฐได้กล่าวถึงรัฐบาลปัจจุบันว่า “ผมก็หมดอาลัยแล้ว…ลงท้ายผมกลัวจะเกิดการรัฐประหารอีก ล้มคุณ…(ขอสงวนนาม/คณะผู้ถาม) เพราะตอนนี้แกเป็นตัวปัญหานะเวลานี้ เพราะคุณประยุทธ์แกไม่กล้าทำอะไร ไอ้รุ่นพี่รุ่นน้องนี่ไม่ไหวเลย เมืองไทยจะพังก็เพราtไอ้รุ่น…อาจารย์ก็รู้ว่าเรื่องตำรวจเวลานี้ ใครใช้ใคร ใช้…ของตัวเอง…”

ต่อจากนี้ พวกเรามีคำถามเกี่ยวกับเหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมือง เพราะมีหนึ่งในพวกเราทำวิจัยเรื่องนี้มาก่อน โดยเฉพาะในประเด็นเรื่องการใช้คำว่า “mob” ในการเมืองไทย

 

พวกเรา “ในหนังสือของท่านอาจารย์วสิษฐได้กล่าวถึงจิตวิทยากับการควบคุมฝูงชน อยากทราบว่า อันนี้ท่านได้มาจากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ หรือจากที่อื่น?”

ท่านอาจารย์วสิษฐ : “ได้ที่รัฐศาสตร์นิดหน่อย ผมไปได้มาจากอเมริกามากกว่า ผมไปเรียนต่อที่มหาวิทยาลัยนิวยอร์ก แล้วก็เรียนการบริหารการตำรวจมาโดยเฉพาะ เขามีสอนวิชานี้ด้วย”

พวกเรา “เป็นหลักสูตรเกี่ยวกับการจัดการฝูงชนโดยเฉพาะหรือ?”

ท่านอาจารย์วสิษฐ : “ครับ”

พวกเรา “แล้วตอนนั้น ที่อาจารย์บอกว่ามีคำสั่งห้ามตำรวจพกอาวุธ หมายความว่าตำรวจสมัยนั้นก็มีความรู้เกี่ยวกับการจัดการฝูงชนเบื้องต้นใช่ไหม?”

ท่านอาจารย์วสิษฐ : “ใช่ เขาไม่ใช้ปืน ใช้ตะบองเท่านั้นเอง ของตำรวจอเมริกันนะ ของโรงเรียนนายร้อยเราผมไม่รู้ แต่เชื่อว่าเขามีหลักสูตรแบบเดียวกัน… ความจริงวันที่ 14 ตุลา รูปการณ์มันก็ดูจะเป็นการควบคุมฝูงชนตามตำราอยู่แล้ว แต่มันออกนอกตำราไปตอนหลังจากที่ตำรวจ-ทหาร… เอ่อกับชาวบ้าน ทั้งสองฝ่ายนี่ไม่ได้หลับไม่ได้นอนมา 6-7 วันแล้ว แล้วก็พอ พล.อ.ประจวบ สุนทรางกูร ซึ่งมีตำแหน่งเป็นอธิบดีกรมตำรวจสั่งให้คุณมนต์ชัย (พล.ต.อ.มนต์ชัย พันธุ์คงชื่น) สกัดชาวบ้านที่หน้าสวนจิตรฯ ไม่ให้ผ่านไปทางนั้น ชาวบ้านก็โมโหเลยเอาขวดบ้าง ไม้บ้าง ขว้างตำรวจ ตำรวจก็เลยออกนอกตำรา คือลุยเลย ตีเลย ชาวบ้านก็เลยต้องหนีลงคูเข้าไปในสวนจิตรฯ”

“พระเจ้าอยู่หัวทรงมีรับสั่งให้เปิดประตูรับชาวบ้าน คือควบคุมฝูงชนนอกตำรา กลายเป็นรบกับฝูงชน”

 

พวกเรา “แล้วในหนังสือ อาจารย์บอกว่าฝ่ายแกนนำนักศึกษาเขาเรียกตัวเองว่า mob ตอนนั้นท่านได้ยินท่านรู้สึกยังไง?”

ท่านอาจารย์วสิษฐ : “ถ้าตามตำราไม่ใช่ mob นะ เพราะมีการจัดตั้งเรียบร้อย เพราะ mob มันเป็นการรวมกลุ่มแบบไม่มีหลักมีเกณฑ์อะไร แต่บังเอิญมีวัตถุประสงค์ตรงกันคือจะต้องตะลุมบอนต้องเอาให้ได้ แต่ไม่มีการจัดตั้ง รูปการณ์การจัดตั้งของนักศึกษาเมื่อวันที่ 14 ตุลา เป็นการจัดตั้งที่เป็นระเบียบเรียบร้อย ดังนั้น เรียกว่า mob คงไม่ถูก”

พวกเรา “แล้วอาจารย์คิดว่าทำไมพวกเขาถึงเรียกตัวเองว่า mob?”

ท่านอาจารย์วสิษฐ : “ผมว่าเขาเอาภาษาอังกฤษไปใช้โดยไม่รู้ความหมายที่แท้จริงมากกว่า ภาษาอังกฤษมันมีอีกคำหนึ่งคือคำว่า crowd ไม่เหมือนกัน ถ้าพูดคำว่า mob แปลว่าไม่มีระเบียบแล้ว ไม่มีกฎมีเกณฑ์”

พวกเรา “แล้วเหตุการณ์ความวุ่นวายเกิดขึ้น หลังจากที่เขาประกาศสลายการชุมนุมแล้ว อันนี้อาจารย์คิดว่ามีการจัดตั้งมวลชนมาปะทะหรือเป็นการระบายอารมณ์?”

ท่านอาจารย์วสิษฐ : “ตอนไหน?”

พวกเรา “ตอนที่แกนนำประกาศบนรถว่าให้สลายการชุมนุม แล้วมีบางพวกออกมาบอกว่าเราไม่ยอม ไม่เชื่อว่าแกนนำเป็นคนสั่งจริง”

ท่านอาจารย์วสิษฐ : “คนที่ไปบอกม็อบก็คือผมเอง (หัวเราะ)”

พวกเรา “ก็เลยต้องมาถามอาจารย์ คืออย่าง 6 ตุลา มันมีการตั้งกลุ่มนวพลมาชน แล้ว 14 ตุลา นี่เป็นอย่างนั้นไหม?”

ท่านอาจารย์วสิษฐ : “14 ตุลา ก็มีอาจารย์เสกสรรค์ที่เป็นประธานม็อบอยู่ แต่ทีนี้มันมีสองคนนี่ มีอาจารย์ธีรยุทธแล้วก็เสกสรรค์ แต่ไอ้สาเหตุที่มันเกิดปั่นป่วนขึ้นมาเพราะเหตุว่าก็ติดต่อกันไม่ได้ เพราะสมัยนั้นไม่มีมือถือ เสกสรรค์อยู่ข้างนอก ก็มีคนมาบอกว่าไอ้คนที่ไปเข้าเฝ้าฯ ในวังนี่มันตายหมดแล้ว ถูกยิงทิ้งหมดแล้ว มันถึงติดต่อกันไม่ได้ พอติดต่อกันไม่ได้ คุณเสกสรรค์ก็ให้เคลื่อนมวลชนจากลานพระบรมรูปไปที่หน้าสวนจิตรฯ ผมเป็นคนไปขึ้นหลังคารถบัส แล้วก็ยืนยันกับผู้ที่ชุมนุมอยู่ว่าทั้ง 12 คนยังอยู่เรียบร้อย แล้วพระเจ้าอยู่หัวรับสั่งว่ากลับบ้านได้แล้ว มันควรจะจบลงตรงนั้น แต่บังเอิญคุณประจวบไปสั่งคุณมนต์ชัยไม่ให้ปล่อยชาวบ้านไป ถ้าปล่อยชาวบ้านไป จบ สบายเลย รัฐบาลถนอมก็เจ๊ง รัฐธรรมนูญก็ได้ แต่มันไม่จบแบบนั้น”

 

พวกเรา “กระแสคอมมิวนิสต์ในหมู่นักศึกษาตอนนั้นชัดเจนไหม?”

ท่านอาจารย์วสิษฐ : “ไม่มีใครพูดว่าเป็นคอมมิวนิสต์นะครับตอนนั้น”

พวกเรา “มันมีเหตุการณ์ช่วงหนึ่งที่อาจารย์เขียน ใช้คำว่า “เสบียงจากพระราชวัง””

ท่านอาจารย์วสิษฐ : “ตอนไหน?”

พวกเรา “ในวังเอาอาหารไปเลี้ยง คือคล้ายๆ กับมีข่าวลือในหมู่นักศึกษาว่าในหลวงสนับสนุนนักศึกษา”

ท่านอาจารย์วสิษฐ : “อันนั้นมันเกิดขึ้นตอนแห่เข้าไปอยู่ในวังแล้ว ก่อนหน้านั้นไม่มี เข้าไปกันตั้งเป็นหลายพันคน พระองค์ท่านก็แค่มีรับสั่งส่วนพระเครื่องให้จัดอาหารให้นิสิต-นักศึกษากินเท่านั้นเอง แล้วก็จัดรถให้ไปส่ง เป็นตอนหลังจากเกิดเหตุแล้ว”

พวกเรา “นี่ ตรงนี้ อาจารย์เขียนว่าสวนจิตรฯ ส่งกำลังบำรุง (ยื่นหนังสือให้ท่านวสิษฐ)”

ท่านอาจารย์วสิษฐ : “อ๋อ อันนี้ตอนก่อนเกิดเหตุ ถูกแล้วครับเป็นไปตามนี้ทุกอย่าง คือคณะกรรมการที่ไปเข้าเฝ้าฯ พระเจ้าอยู่หัว กลับออกมาแล้วก็ประชุมหารือกัน แล้วก็ทรงทราบว่ายังไม่ได้กินอาหาร ผมถึงไปขอให้ส่วนพระเครื่องจัดอาหารกับเครื่องดื่มไปให้นิสิต-นักศึกษาเท่านั้นเอง เค้าถึงได้หาว่าสวนจิตรฯ ส่งกำลังบำรุง”

พวกเรา “แล้วที่แกนนำนักศึกษาขอเข้าเฝ้าฯ อีกครั้งหนึ่ง ตรงนั้นเกิดอะไรขึ้น?”

ท่านอาจารย์วสิษฐ : “มีอีกครั้งด้วยหรือ?”

(ต่อสัปดาห์หน้า)