วิช่วลคัลเจอร์ / ประชา สุวีรานนท์ / สองตัวพิมพ์ : หน้าตาของอังกฤษ (1)

วิช่วลคัลเจอร์ / ประชา สุวีรานนท์

สองตัวพิมพ์ : หน้าตาของอังกฤษ (1)

ปีที่แล้ว บีบีซีได้ทำหนังชื่อ Two Types : The Faces of Britain ซึ่งใช้เนื้อหาส่วนหนึ่งจากหนังสือ Johnston and Gill : Very British Types ผู้เขียนหนังสือคือ มาร์ก โอเวนเดน เป็นผู้เขียนบทหนังและนำเสนอด้วยตนเอง (https://www.youtube.com/watch?v=idlSR8LQ6Tc)
หนังเรื่องนี้เกี่ยวกับตัวพิมพ์ที่มีความอังกิ๊ด-อังกิด หรือเป็น “หน้าตา” ของประเทศเพราะเห็นกันทั่วเมือง ทั้งป้ายสถานี แผนที่ สิ่งพิมพ์ และสื่ออื่นๆ
ที่สำคัญ มีหลายสิ่งที่ทำให้ตัวพิมพ์นี้กลายเป็นตัวแทนแห่งยุคโมเดิร์นของประเทศ
ในขั้นแรก ผู้เขียนบอกก่อนว่าตัวพิมพ์นี้มีสองตัว ตัวแรกคือ Johnston ผลงานของเอ็ดเวิร์ด จอห์นสตัน ซึ่งดังเพราะใช้ในรถไฟใต้ดินของลอนดอน
ตัวที่สองคือ Gill Sans ผลงานของเอริก กิลล์ ซึ่งดังเพราะถูกใช้อย่างกว้างขวาง มีทั้งสถานีวิทยุบีบีซี ศาสนจักรของอังกฤษ สำนักพิมพ์เพนกวิน และรถไฟสายนอร์ทอีสเทิร์น ฯลฯ
นอกจากนั้น ยังถูกใช้โดยสินค้าและป้ายร้านตามท้องถนนอีกมากมาย
ตัวพิมพ์ทั้งสองคล้ายกันมากจนผู้เขียนต้องชี้ให้เห็นความแตกต่าง ซึ่งแม้แต่ผู้เชี่ยวชาญตัวพิมพ์ก็อาจจะบอกไม่ได้ เช่น จอห์นสตันมีจุดของตัว i เป็นเหลี่ยม และกิลล์ซาน มีความหนามากกว่าเล็กน้อย
แต่ที่สำคัญ แม้จะมีผลงานที่คล้ายกัน นักออกแบบทั้งสองคนกลับมีชีวิตที่แตกต่างกันอย่างสุดขั้ว

หนังเริ่มด้วยการพูดถึงความสำคัญของตัวพิมพ์ ในแง่ที่เป็นการสื่อสารที่มีอิทธิพลสูงเพราะดูเหมือนไม่มีอิทธิพลอะไรเลย ซึ่งเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ตัวพิมพ์และโลโก้มีความสำคัญต่อการสร้างแบรนด์มาก
จากนั้นจึงเล่าเรื่องงานอันเดอร์กราวด์ลอนดอนของเอ็ดเวิร์ด จอห์นสตัน ซึ่งสำคัญไม่น้อยกว่าเรื่องของแฮรี่ เบ็ก ผู้ออกแบบแผนที่ลอนดอนอันเดอร์กราวด์ซึ่งถูกพูดถึงและทำให้เป็นตำนานแล้ว จอห์นสตันเป็นตัวพิมพ์แบบไม่มีขา หรือ sans serif ที่ใช้ในป้ายสถานีและสิ่งพิมพ์อื่นๆ ของรถไฟใต้ดินตั้งแต่ปี ค.ศ.1919 และถือเป็นการสร้างแบรนด์แบบโมเดิร์นครั้งแรก
ในขณะนั้นลอนดอนอันเดอร์กราวด์กำลังมีปัญหา ทางรถไฟใต้ดินถูกขยายออกไปและโปสเตอร์โฆษณาสินค้าต่างๆ ตามสถานีก็มากขึ้น ป้ายสถานีรถไฟใต้ดินซึ่งแต่เดิมใช้ตัวมีขาหรือ serif จึงปะปนกับป้ายโฆษณาต่างๆ ที่มีมากจนรกหูรกตา
แฟรงก์ พิก ผู้อำนวยการของลอนดอนอันเดอร์กราวด์เห็นว่าป้ายสถานีจะต้องส่งเสียงหรือสำเนียงที่แตกต่าง อาจจะไม่ใช่เสียงตะโกน แต่ก็ต้องดังพอจะทำให้ผู้โดยสารรับรู้ว่าอยู่ที่ไหนและจะขึ้น-ลงรถได้ตรงไหน
เขาตัดสินใจว่าสิ่งที่จะมาผนึกความเป็นอันเดอร์กราวด์ได้ นอกจากทางรถไฟแล้วก็เป็นตัวพิมพ์นี่เอง และให้เอ็ดเวิร์ด จอห์นสตัน ออกแบบตัวแบบไม่มีขา หรือ sans serif
นี่ไม่ใช่ซาน เซอริฟตัวแรกในโลก แต่การใช้ตัวพิมพ์แบบนี้ก็บอกความทันสมัยและก้าวหน้าขององค์กรได้มาก
เคล็ดลับอันหนึ่งของผู้ออกแบบคือการนำเอา Trojan ของโรมันมาตัดขาออก สัดส่วนของตัวอักษรจึงคลาสสิคเหมือนกัน Johnston เป็นตัวพิมพ์ที่ใช้การใช้งานได้และดูทันสมัยมาก
ที่สำคัญ มีความสง่างามสมกับที่ออกแบบโดยแคลลิกราเฟอร์ชื่อดัง
จอห์นสตันคือใคร?
เขาเป็นบุตรชายของนายทหารอังกฤษที่เคยประจำการในอุรุกวัย ในวันเยาว์ จอห์นสตันสนใจการวาดอักษรมาก และด้วยคำแนะนำของวิลเลียม เลเทอร์บี้ ครูใหญ่ของโรงเรียน Central School of Arts and Crafts เขาได้เข้าไปค้นคว้าเอกสารโบราณของบริติชมิวเซียมด้วยตนเอง
ในปี 1899 ได้สอนที่โรงเรียนนั้นและต่อมาสอนที่ Royal College of Art ในลอนดอนด้วย นักเรียนหลายคน รวมทั้งเอริก กิลล์ ได้รับแรงบันดาลใจจากเขามาก
การใช้ปากกาขนนกหรือแบบ broad edged เป็นทักษะสำคัญของจอห์นสตัน เขาได้รับการยกย่องให้เป็นผู้ฟื้นฟูศิลปะของการวาดตัวอักษรและกำหนดวิธีเรียน เขาได้ไปสอนในเยอรมนี
และเป็นผู้ที่รูดอร์ฟ คอช ปรมาจารย์ด้านตัวอักษรชาวเยอรมัน บอกว่าเป็นบิดาของแคลลิกราฟีสมัยใหม่
แต่ตัวพิมพ์แบบไม่มีขาหรือที่เรียกว่า block letters ถูกมองว่ามีไว้เพื่อการค้า การออกแบบของเขาจึงดูเหมือนเอาฝีมือและชื่อเสียงของจอห์นสตันในแง่ที่เป็นผู้วางรากฐานของอักษรโรมันมาใช้
และทำให้หลายคนรวมทั้งลูกศิษย์ของเขาพากันแปลกใจ
Johnston ถูกนำไปใช้ในเอกสารอีกเป็นจํานวนมาก หลังจากนั้นพิกให้จอห์นสตันออกแบบโลโก้ของลอนดอนอันเดอร์กราวด์ ซึ่งเป็นวงกลมรอบตัวหนังสือ และเรียกกันเล่นๆ ว่า bull’s eye
โลโก้นี้ประสบความสำเร็จ มีคนชมชอบมากมายเช่นเดียวกับตัวพิมพ์ และเป็นที่รู้จักในแง่ที่แสดงอัตลักษณ์ของอังกฤษ

อย่างไรก็ตาม ตัวพิมพ์ที่พบเห็นมากคือ Gill Sans โอเวนเดนในฐานะผู้บรรยายภาพยนตร์ บอกว่ายุคนั้นไม่มีกฎหมายเกี่ยวกับกรรมสิทธิ์ทางปัญญา แต่ Johnston ถูกขึ้นทะเบียนเป็นของบริษัทลอนดอนอันเดอร์กราวด์ และบริษัทสามารถห้ามใช้กับงานอื่น
ผลงานของกิลล์จึงขายดีกว่าหรือแพร่หลายออกไปกว้างกว่าของจอห์นสตัน ต่อมาได้ถูกนำไปใช้เป็นแบรนด์ของสถาบัน สินค้าสำคัญๆ รวมทั้งป้ายร้านค้าอีกมากมาย
ในช่วง 1920s ระบบอุตสาหกรรมของโลกกำลังเปลี่ยนแปลง การผลิตตัวอักษรทำได้หลายวิธี มีทั้งตัวพิมพ์ที่แกะด้วยมือ ตัวพิมพ์ที่หล่อด้วยเครื่องหล่อ และตัวประดิษฐ์หรืออักษรบนป้ายที่วาดด้วยมือ และการผลิตที่ก้าวหน้าที่สุดในตอนนั้นคือ เครื่องหล่อและเรียงพิมพ์อัตโนมัติ
กิลล์พัฒนาตัวพิมพ์ของตัวเอง โดยเริ่มจากการทำป้ายร้านหนังสือเล็กๆ ชื่อ Douglas Cleverdon เมื่อบริษัทโมโนไทป์ (Monotype) ผู้ผลิตเครื่องหล่อและเรียงพิมพ์อัตโนมัติต้องการตัวแบบไม่มีขา ที่ปรึกษาของบริษัทคือสแตนลีย์ มอริสัน เลือกตัวนี้และให้กิลล์นำไปพัฒนาให้ครบชุด
ดังที่กล่าวมาแล้ว กิลล์เป็นลูกศิษย์และเพื่อนของจอห์นสตันและเคยร่วมทําโครงการของลอนดอนอันเดอร์กราวด์
เขายอมรับว่าตัวพิมพ์ของเขาได้รับอิทธิพลจากผลงานของจอห์นสตัน
และด้วยฝีมือการตลาดของโมโนไทป์ ตัวพิมพ์ของเขาซึ่งกลายเป็น Gill Sans จึงขายดีหรือมีกันทุกโรงพิมพ์