ความเข้าใจผิดเกี่ยวกับ “ทาส” ในไทย | นิธิ เอียวศรีวงศ์

นิธิ เอียวศรีวงศ์

ความสุขอย่างหนึ่งหลังเกษียณอายุราชการก็คือ อ่านหนังสือทุกเล่มที่อยากอ่านได้ โดยไม่ต้องอธิบายแก่ตนเองว่าจะอ่านไปทำไม

ผมเพิ่งจบหนังสือเรื่อง A Brief History of Slavery ของ Jeremy Black ซึ่งชื่อเรื่องและหน้าปกดูน่าสนใจดี แล้วมันก็น่าสนใจดีจริงเสียด้วย แม้กระนั้นก็เป็นหนังสือที่ได้มาจากการค้นคว้าข้อมูลในหลักฐานชั้นต้นจำนวนมาก (เฉพาะรายการอ้างอิงท้ายเล่มก็หนาถึง 39 หน้า)

อ่านไป ผมก็อดคิดถึงเรื่องการเลิกทาสในประเทศไทยไม่ได้ เพราะการศึกษาที่ผ่านมาเจาะเรื่องเลิกทาสลงไปเฉพาะบริบทของประเทศไทยเท่านั้น ไม่ได้มองเรื่องเลิกทาสจากบริบทโลกและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในช่วงนั้น นักปราชญ์แต่ก่อน เช่น สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ก็เคยทรงปรารภที่จะให้มีเรื่องของการเลิกทาสในประเทศต่างๆ ประกอบกับการศึกษาเรื่องเลิกทาสในประเทศไทยด้วย ถึงกับทรงแนะนำเรื่องทาสในสารานุกรมบริตานิกาให้พระยาอนุมานราชธนได้ศึกษา

เพราะท่านหมายจะให้ท่านเจ้าคุณศึกษาและเขียนเรื่องเลิกทาสในไทยขึ้น

แม้ว่าเรื่องเลิกทาสจะมีผู้ศึกษาต่อมาอีกหลายชิ้น แต่ (เท่าที่ผมทราบ) ไม่มีใครศึกษาจากบริบทโลกและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ และอาจจะเป็นเพราะเหตุนี้ที่ทำให้เกิดความเข้าใจผิดเกี่ยวกับ “ทาส” ในเมืองไทยกันแพร่หลายมากขึ้น นับตั้งแต่หุ่นขี้ผึ้งไปจนถึงนวนิยายและละครทีวี ในระยะหลังๆ นักประวัติศาสตร์เศรษฐกิจพยายามชี้ให้เห็นปัจจัยทางเศรษฐกิจที่มีส่วนร่วมผลักดันการเลิกทาสด้วย แต่ปัจจัยทางเศรษฐกิจเหล่านั้นก็เป็นปัจจัยภายในของไทยเอง

แต่ในระยะเริ่มต้น การศึกษาเรื่องนี้มักให้ความสำคัญแก่แรงผลักดันทางอุดมการณ์ บางท่านเห็นว่าจุดเปลี่ยนสำคัญน่าจะมาจากแหม่มลูกครึ่งอังกฤษผสมอินเดีย ชื่อแอนนา ลีโอโนเวนส์ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ จ้างให้เข้ามาเป็นครูสอนพระราชโอรส

จริงอยู่ที่ในประวัติของแหม่มแอนนาในภายหลัง เป็นผู้หนึ่งที่สนับสนุนและเคลื่อนไหวในเรื่องสิทธิของคนดำในสหรัฐอย่างมาก และแม้เมื่อตอนอยู่สิงคโปร์ก่อนเข้ามาเมืองไทย เธอก็อาจได้อ่านหนังสือเรื่อง “กระท่อมน้อยของลุงทอม” มาแล้ว (อย่างน้อยก็ได้อ่านบางตอนที่หนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษในสิงคโปร์ตัดตอนมาเสนอ) เธอคงประทับใจกับบทประพันธ์ชิ้นนี้อย่างมาก อย่างน้อยจากจดหมายภาษาอังกฤษที่เจ้าจอมซ่อนกลิ่นมีถึงเธอ ก็แสดงให้เห็นว่าเธอได้นำเรื่องราวของบทประพันธ์ชิ้นนี้มาบอกเล่าให้แก่เจ้าจอมซ่อนกลิ่น และเข้าใจว่าในชั้นเรียนของเธอซึ่งมีพระราชโอรสเป็นนักเรียนอยู่ด้วย

งานศึกษาชีวประวัติของแหม่มแอนนาซึ่งคุณ Susan Morgan เขียนขึ้น (Bombay Anna) ทำให้ผมคิดว่า จนสิ้นรัชกาลที่ 4 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ ยังไม่ได้ทรงอ่านหนังสือเล่มนี้ ถ้าจะได้ทรง ก็น่าจะเป็นในปีใดปีหนึ่งระหว่าง ค.ศ.1868 เมื่อขึ้นครองราชสมบัติจนถึง 1873 เมื่อทรงตรา พ.ร.บ.เกษียณอายุลูกทาสขึ้นใช้บังคับ

ไม่ว่าจะได้ทรงอ่านฉบับเต็มหรือไม่ก็ตาม “กระท่อมน้อยของลุงทอม” ไม่ใช่แหล่งบันดาลใจทางอุดมการณ์เพียงอย่างเดียวที่ทำให้ ร.5 ทรงมีพระราชดำริในการเลิกทาสแน่

ตั้งแต่ก่อนพระราชพิธีบรมราชาภิเษกครั้งที่สอง พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ ได้เสด็จฯ ไปสิงคโปร์และชวาใน ค.ศ.1871 และใน 1872 ก็ได้เสด็จฯ ไปสิงคโปร์, พม่า และอินเดีย

ในอาณานิคมของดัตช์และอังกฤษซึ่งเสด็จประพาสนั้น ไม่มีทั้งการค้าทาสและไม่มีทั้งทาส (โดยกฎหมาย) ความคิดด้านมนุษยธรรมนิยม ต่อต้านการค้าทาสและการใช้ทาสได้เกิดขึ้นในยุโรปมาก่อนหน้านั้นนานมาแล้ว รวมทั้งก่อนหน้า “กระท่อมน้อยของลุงทอม” ด้วย

ความเคลื่อนไหวต่อต้านการค้าทาสเริ่มในอังกฤษตั้งแต่ปลายคริสต์ศตวรรษที่ 18 และขยายใหญ่ขึ้นในครึ่งแรกของศตวรรษที่ 19 อำนาจของอังกฤษหลังสงครามนโปเลียน ทำให้อังกฤษสามารถชี้ชวนเชิงบังคับให้ประเทศพันธมิตร (ซึ่งต้องพึ่งพาอังกฤษในทางใดทางหนึ่ง) นับตั้งแต่โปรตุเกส, สเปน, ฮอลันดา ต้องออกกฎหมายยกเลิกการค้าทาสกันถ้วนหน้า และกองทัพเรืออังกฤษถือสิทธิ์เข้าไปตรวจค้นเรือต้องสงสัยที่ชักธงของประเทศเหล่านี้ในทะเลหลวงได้ อังกฤษเองออกกฎหมายห้ามค้าทาสมาตั้งแต่ 1807 ส่วนฮอลันดาออกกฎหมายในปี 1818

แม้กระนั้น ความกระตือรือร้นของสังคมอังกฤษในการต่อต้านการค้าทาสก็ไม่ได้ซบเซาลง ยังคงเป็นไปอย่างคึกคักและขยายตัวกว้างขวางขึ้นในสังคมตลอดครึ่งแรกของศตวรรษที่ 19 นักต่อต้านการค้าทาสในช่วงนั้นคาดหวังว่า หากไม่มีทาสใหม่หลั่งไหลไปยังไร่นาขนาดใหญ่ในอาณานิคม นายเงินเจ้าของทาสย่อมต้องปฏิบัติต่อทาสดีขึ้นเอง เพราะแรงงานทาสจะมีอยู่ต่อไปได้ก็เหลืออยู่ทางเดียวคือมีลูกทาสเกิดขึ้นให้ทันกับความไข้และความตายของทาส แต่ความคาดหวังนี้ก็ไม่เป็นผลนัก เพราะการลักลอบค้าทาสในรูปต่างๆ ยังคงมีอยู่ต่อไป (แม้จำกัดปริมาณลง) ราคาของทาสเพิ่มสูงขึ้นก็จริง แต่ไม่สูงพอที่นายทาสจะยอมลงทุนเลี้ยงลูกทาสไปหลายปีกว่าจะใช้งานได้

ดังนั้น ก่อนสิ้นกลางศตวรรษที่ 19 พรรคเสรีนิยม (Whigs) ก็ประสบความสำเร็จในการออกกฎหมายยกเลิกการมีทาสในอังกฤษและอาณานิคมโดยสิ้นเชิงใน ค.ศ.1834 และชี้ชวนเชิงบังคับให้พันธมิตรออกกฎหมายอย่างเดียวกัน ฮอลันดาออกกฎหมายเลิกทาสในประเทศตนเองและอาณานิคมใน ค.ศ.1863

เราอาจอธิบายความเคลื่อนไหวต่อต้านการใช้ทาสเหล่านี้จากปัจจัยทางเศรษฐกิจก็ได้ นั่นคือระบบการผลิตแบบทุนนิยมซึ่งกำลังขยายตัวอย่างรวดเร็วในยุโรป ทำให้ต้องการแรงงานเสรีมากกว่าทาส แต่การอธิบายเช่นนี้เป็นการมองพัฒนาการในประวัติศาสตร์ระยะยาว หากพิจารณาเฉพาะในช่วงสั้นๆ ที่มีการเลิกค้าทาสและเลิกทาส จะพบว่าทุกประเทศในยุโรปต่างมีผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจมหาศาลกับระบบทาส โดยเฉพาะในอาณานิคมแถบที่เรียกในปัจจุบันว่า “อินเดียตะวันตก” (หมู่เกาะในมหาสมุทรแอตแลนติก ด้านตะวันออกของทวีปอเมริกา) เพราะมีการลงทุนทำไร่ขนาดใหญ่เพื่อผลิตพืชผลส่งยุโรปด้วยกำไรมหาศาลจากแรงงานทาส ไม่ว่าจะเป็นเกาะบาร์เบโดสและจาเมกาของอังกฤษ หรือซูรินามของดัตช์

ดังนั้น การเลิกทาสของยุโรปจึงแพงมาก เพราะต้องจ่ายเงินชดเชยให้นายทาสเป็นราคาสูง อีกทั้งกฎหมายเลิกทาสยังเปิดให้บังคับใช้แรงงานทาสต่อไปได้อีกประมาณ 10 ปี (ในรูปอื่นๆ ไม่ใช่ในรูปของทาส) เพียงแต่ห้ามการทำร้ายร่างกายเท่านั้น

การเสด็จประพาสอาณานิคมดัตช์และอังกฤษ ก็น่าจะเป็นแหล่งที่มาของอุดมการณ์ต่อต้านทาสอีกทางหนึ่ง ไม่นับ “กระท่อมน้อยของลุงทอม” และความเห็นของมิชชันนารีอเมริกันที่แสดงออกทางหนังสือพิมพ์ในเมืองไทย น่าจะมีข้าราชการอาณานิคม โดยเฉพาะอังกฤษได้กราบทูลอะไรเกี่ยวกับเรื่องความไร้มนุษยธรรมของการค้าทาสและการใช้ทาสอยู่บ้าง ถึงไม่มีใครได้กราบบังคมทูลเรื่องนี้เลย พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ ก็คงต้องทรงศึกษาเรื่องนี้มาบ้างเพื่อเตรียมพระองค์ก่อนเสด็จพระราชดำเนินจริง โดยเฉพาะเรื่องสงครามกลางเมืองในสหรัฐ ก็ได้รับความสนใจอย่างมากในภูมิภาคนี้ในช่วงทศวรรษ 1860

แหล่งที่มาทางอุดมการณ์ต่อต้านทาสอีกแหล่งหนึ่งคือหนังสือพิมพ์จากสิงคโปร์ มีหลักฐานว่าราชสำนักกรุงเทพฯ โปรดให้แปลข้อความจากหนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษจากสิงคโปร์เพื่อถวายให้พระเจ้าแผ่นดินทอดพระเนตรมาตั้งแต่ ร.3 ตกมาถึง ร.4 และ ร.5 น่าจะรับหนังสือพิมพ์มาทรงเองโดยตรงแล้ว

ในสังคมไทยและเอเชียอาคเนย์ ประชากรทาสก็เพิ่มขึ้นนับตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 15 เหมือนกัน แต่ไม่ใช่เพราะเราหันไปทำเกษตรกรรมบนไร่นาขนาดใหญ่ หากเป็นเพราะเศรษฐกิจเงินตราขยายตัวขึ้นจากการค้าระหว่างประเทศ จึงเกิดคนมีหนี้สินเพิ่มขึ้นมากจนตกเป็นทาส (เพราะไพร่ไทยไม่มีทรัพย์สินจะใช้เป็นหลักทรัพย์ในการกู้ยืมได้ แม้แต่ที่ดินก็ไม่ใช่ของตน จึงต้องเอาตัวเองเป็นหลักทรัพย์แทน) ส่วนใหญ่ของทาสในเมืองไทยจึงเป็นทาสสินไถ่ ปรากฏการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจเงินตรา แล้วทำให้คนตกเป็นทาสจำนวนมากนั้นเกิดขึ้นในอีกหลายสังคมทั่วโลก ไม่เฉพาะแต่ในเอเชียอาคเนย์เท่านั้น หลักฐานฝรั่งที่เข้ามาอยุธยาในศตวรรษที่ 17 บอกว่าประชากรถึงหนึ่งในสามล้วนเป็นทาสทั้งสิ้น (ตัวเลขนี้ตรวจสอบไม่ได้ ประมาณการได้ว่าสูงมากก็พอ)

กฎหมายไทยให้หลักประกันแก่นายทาสมาก เช่น การซื้อขายต้องมีนายประกัน ซึ่งจะต้องรับผิดชอบต่อผู้ที่ขายตัวเป็นทาสตลอดไป หากหลบหนีไป นายเงินก็อาจเรียกค่าเสียหายจากนายประกันได้ การกักขังหรือต้องพันธนาการต่างๆ จึงไม่จำเป็น หลักฐานฝรั่งในศตวรรษที่ 17 เหมือนกันบอกว่า ประมาณครึ่งหนึ่งของทาสไทยถูกปล่อยไปทำมาหากินเอง แล้วส่งเงินเป็นรายปี (เหมือนเป็นดอกเบี้ย) ให้แก่นายเงิน

อีกครึ่งหนึ่งถูกใช้ในบ้านเรือนของนายเงิน จึงได้รับการปฏิบัติที่ไม่เลวร้ายจนเกินไป สังคมทาสของฝรั่งก็แบ่งทาสเป็น house slave กับ field slave ทาสประเภทแรกย่อมได้รับการปฏิบัติดีกว่าประเภทหลังมาก

ในศตวรรษที่ 18 ปลายอยุธยา การค้าข้าวกับจีนทำให้มีการเปิดที่นาใหม่เพื่อผลิตข้าวส่งตลาดจีน แต่ขุนนางและคหบดีใช้แรงงานทาสหรือแรงงานไพร่ในการผลิตไม่ทราบชัด แต่อยากเดาว่าน่าจะใช้แรงงานไพร่มากกว่า เพราะไม่ต้องลงทุนไถ่ตัวมาเป็นทาส เบียดบังกำลังแรงงานหลวงสะดวกกว่า ดังนั้น ทาสไทยจึงยังไม่เคยผ่านยุคสมัยของการผลิตอย่างเข้มข้นเพื่อป้อนตลาด อย่างทาสในอาณานิคมยุโรปบนทวีปอเมริกาทั้งสอง

ด้วยเหตุดังนั้น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ ทรงยอมรับว่าทาสไทยไม่อยากให้เลิกทาส เพราะการเป็นทาสคืออาชีพอย่างหนึ่งที่ทำให้เลี้ยงตัวได้ สบายกว่าเสรีชนเสียด้วยซ้ำในบางกรณี

อย่างไรก็ตาม ผมไม่คิดว่าไทยถูกแรงบีบคั้นจากมหาอำนาจให้เลิกทาส ทั้งนี้เพราะไทยไม่มีความสำคัญอะไรในเรื่องการค้าทาส (แม้มีหลักฐานว่าเราซื้อทาสชวามาใช้ในต้นรัตนโกสินทร์ด้วยก็ตาม แต่ไทยไม่ใช่ตลาดใหญ่) และรัฐบาลมหาอำนาจไม่รังเกียจอะไรกับการที่ไทยยังใช้ทาสอยู่ สนธิสัญญาเบาว์ริ่งไม่มีอะไรจะพูดเกี่ยวกับเรื่องทาสด้วยซ้ำ

และผมออกจะสงสัยว่า ปัจจัยทางเศรษฐกิจและการเมืองมีผลไม่สู้จะมากนักต่อนโยบายเลิกทาสของไทย จริงอยู่มีหลักฐานที่ชี้ให้เห็นว่าราคาของทาสเพิ่มสูงขึ้นมาตั้งแต่ต้นรัตนโกสินทร์แล้ว หากราคาทาสขึ้นสูงถึงระดับหนึ่ง ระบบทาสก็ตั้งอยู่ไม่ได้ เพราะต้นทุนการมีทาสจะสูงกว่าค่าจ้างแรงงานเสรี จึงไม่จำเป็นต้องเลิกทาส เพราะทาสจะหมดไปเองอย่างช้าๆ เหมือนกัน ส่วนทาสเป็นกำลังของขุนนางก็จริง แต่ไม่ใช่กำลังทางทหาร เพราะไทยไม่เคยตั้งกองทหารทาสขึ้นมาเหมือนบางประเทศในยุโรป, แอฟริกาเหนือ และตะวันออกกลาง ทาสแตกต่างจากไพร่ซึ่งเป็นกำลังทางการเมืองของขุนนางจริง

เปลี่ยนทาสเป็นไพร่ย่อมทำรายได้ให้รัฐได้มากขึ้นจริง แต่หากมุ่งเพียงเท่านั้น ก็น่าจะเลิกทาสมาก่อน ร.5 ตั้งนานแล้ว เพราะไพร่เริ่มส่งเงินให้หลวงแทนเข้าเวรรับราชการมาก่อน ร.5 นานมาแล้ว

ดังนั้น จึงปฏิเสธยากว่า แรงผลักดันสำคัญที่สุดในการเลิกทาสสมัย ร.5 น่าจะมาจากแรงผลักดันด้านอุดมการณ์ (ซึ่งภาษาไทยราชสำนักเรียกว่า “พระมหากรุณาธิคุณ”) ที่ทำให้น่าสงสัยยิ่งกว่าก็คือ เพราะเป็นแรงผลักดันด้านอุดมการณ์ค่อนข้างมาก จึงเตรียมการให้ทาสที่ถูกปลดปล่อยแล้วมีอาชีพเลี้ยงตัวไม่มากนัก นอกจากการให้การศึกษา ซึ่งถึงอย่างไรก็ทำได้ในขอบเขตจำกัดเพราะมีงบประมาณน้อย

เช่น ทาสที่ได้รับการปลดปล่อยแล้วก็ยังเข้าไม่ถึงแหล่งทุนใดๆ เหมือนเดิม (ซ้ำจะกลับขายตัวเป็นทาสใหม่อีกกฎหมายก็ห้ามไว้แล้ว) ที่นาซึ่งอาจไปก่นถางไว้ก็ไม่ได้เป็นกรรมสิทธิ์ของตนตามกฎหมาย ใช้เป็นหลักประกันการกู้หนี้ยืมสินได้จำกัด ในที่สุดก็กลับเป็นหนี้พ่อค้าจีนจนโงหัวไม่ขึ้น หรือต้องทิ้งที่นาอพยพไปหาที่ทำกินใหม่ ไม่มีโอกาสตั้งตัวได้ตามที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ ทรงตั้งพระราชหฤทัยไว้