ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 24 - 30 สิงหาคม 2561 |
---|---|
คอลัมน์ | รายงานพิเศษ |
เผยแพร่ |
จะเลือกตั้งให้สุจริตและเที่ยงธรรมได้อย่างไร (3)
สถาปัตยกรรมทางการเมืองและการเลือกตั้งของไทยถูกออกแบบและถูกเปลี่ยนแปลงมาตลอดระยะเวลา 20 ปีนับแต่มีรัฐธรรมนูญ 2540 แต่การทุจริตการเลือกตั้งก็ยังคงอยู่
หลักใหญ่ของการออกแบบนั้นเป็นการมุ่งเน้นเปลี่ยนแปลงในเรื่องกลไก โครงสร้าง ระบบการทำงาน กติกา ข้อบังคับ บทลงโทษ โดยผู้ออกแบบเชื่อว่า การออกแบบใหม่ดังกล่าวจะเป็นการทำให้การเลือกตั้งเป็นไปโดยสุจริตเที่ยงธรรมมากขึ้น
ดังนั้น การรวมเขตแล้วแยกเขตเลือกตั้ง บัตรสองใบแล้วเปลี่ยนเป็นบัตรใบเดียว การให้ กกต.มีอำนาจให้ใบเหลือง ใบแดง แล้วมาเพิ่มใบส้ม
การมี กกต.จังหวัดแล้วยกเลิกให้มีผู้ตรวจการเลือกตั้งแทน
กติกาการหาเสียง ห้ามทำโน่นนี่สารพัด การระบุฐานความผิดต่างๆและการกำหนดโทษการทุจริตที่เพิ่มขึ้นมากมาย
จึงวนเวียนไปมาเป็นนวัตกรรมแบบหนูลองยาไม่รู้จบสิ้น แต่ยังไม่ตอบโจทย์การเลือกตั้งที่สุจริตได้
มิติด้านประชาชน มิติด้านภาคประชาสังคม กลับเป็นมิติที่ถูกละเลย ไม่ได้ถูกนำมาใช้ในการป้องกันการทุจริตการเลือกตั้ง
เนื่องด้วยกระบวนทัศน์แบบผู้ปกครองบ้านเมืองที่ไม่ประสงค์ให้ประชาชนตื่นตัว ทั้งหวาดระแวง ทั้งมองไม่เห็นประโยชน์และกลายเป็นสิ่งน่ารำคาญหากประชาชนตื่นรู้ทางการเมือง
แต่แท้จริงแล้วประชาชนคือพลังสำคัญที่สุดในการทำให้การเลือกตั้งเป็นไปด้วยความสุจริตเที่ยงธรรม
องค์กรเอกชนตรวจสอบเลือกตั้งฤๅจะเป็นแค่พิธีกรรม
นับแต่การเลือกตั้งปี พ.ศ.2535 นายกรัฐมนตรีในสมัยนั้นคือ ฯพณฯ อานันท์ ปันยารชุน ได้มีคำสั่งแต่งตั้งองค์กรกลางการเลือกตั้ง ที่รวมเอานักวิชาการ ทนายความ ผู้นำชุมชน ผู้นำองค์กรเอกชน สื่อมวลชนและภาคประชาสังคมต่างๆ มาทำหน้าที่สอดส่องดูแลและรณรงค์ให้ประชาชนมีความตื่นตัวในการใช้สิทธิ์เลือกตั้ง ทำงานคู่ขนานไปกับกระทรวงมหาดไทยที่มีหน้าที่ในการจัดการเลือกตั้ง
ความตื่นตัวของภาคประชาชนในครั้งนั้น ดูเหมือนจะอยู่ในจังหวะสูงสุดที่ประชาชนมีส่วนร่วมในการสอดส่องดูแลการเลือกตั้ง พร้อมกับประสานกับทางหน่วยงานราชการต่างๆ เช่น ทหาร ตำรวจ ตชด.ในการป้องปรามการซื้อเสียงอย่างได้ผล
เมื่อองค์กรกลางการเลือกตั้งหมดภารกิจตามเงื่อนกรอบเวลา มูลนิธิองค์กรกลางเพื่อประชาธิปไตยจึงเป็นองค์กรภาคประชาสังคมที่ถูกจัดตั้งขึ้นเพื่อให้เกิดความต่อเนื่อง และพัฒนาเป็นเครือข่ายประชาชนเพื่อการเลือกตั้ง หรือพีเน็ต ที่มีการทำงานที่เข้มแข็ง
เคยมีอาสาสมัครร่วมในกิจกรรมตรวจสอบการเลือกตั้งสูงสุดถึง 60,000 คน
อย่างไรก็ตาม การร่วมมือในการตรวจสอบการเลือกตั้งโดยขอรับการสนับสนุนงบประมาณจาก กกต. ดูเป็นสิ่งย้อนแย้งและยากจะเดินหน้าร่วมกัน เพราะรับเงินเขาเพื่อมาตรวจสอบเขา คนให้เงินที่ไหนก็คงไม่มีใครชอบ
พีเน็ตจึงเลือกทางเดินที่ทำกิจกรรมตรวจสอบการเลือกตั้งโดยไม่ขอรับงบประมาณสนับสนุน
ซึ่งกลายเป็นปัญหาว่าคงไม่สามารถทำกิจกรรมในวงกว้างที่ครอบคลุมพื้นที่ด้วยข้อจำกัดงบประมาณ
ทำได้เท่าที่ใจอยากทำและเท่าที่ศักยภาพจะมีอยู่ พลังของการตรวจสอบจึงลดลงตามลำดับ
ในด้านกรรมการการเลือกตั้ง ก็ขาดความสนใจจริงในการสร้างแรงหนุนจากประชาชน การจัดกิจกรรมเรียนรู้ประชาธิปไตยจึงเป็นเพียงหน้าตาที่ผู้บริหารให้ความสำคัญไปเปิด-ปิดงานและถ่ายภาพประชาสัมพันธ์ กิจกรรมการสังเกตการณ์เลือกตั้ง เป็นเพียงหาประชาชนไปนั่งประจำหน่วย เช้าถึงเย็น และรับเบี้ยเลี้ยงพร้อมกับรายงานว่า “เหตุการณ์ปกติ” เป็นแค่พิธีกรรมขาดพลังในการตรวจสอบเชิงรุกอย่างแท้จริง
การลดน้อยถอยลงของพลังการตรวจสอบภาคประชาชน ส่วนหนึ่งมาจากการขาดองค์กรที่มีความเข้มแข็ง แต่อีกส่วนหนึ่งมาจากความรู้สึกของประชาชนที่ว่า การทำหน้าที่ดังกล่าวมีแต่ลบ ไม่มีบวก มีแต่อันตรายจากการปฏิบัติหน้าที่ ยิ่งจริงจังมากกลับยิ่งมีผลเสีย
อาสาสมัครบางคนที่แจ้งเหตุทุจริต ไม่ได้รับการสนองตอบที่ดีจากเจ้าหน้าที่ กกต. หนำซ้ำยังถูกข่มขู่คุกคามจากหัวคะแนน
บางคนถึงขนาดว่าไม่สามารถอยู่ในพื้นที่ได้หลังจากเลือกตั้ง ต้องอพยพย้ายบ้านย้ายครอบครัวหนี อาสาสมัครบางคนถูกนักการเมืองฟ้องดำเนินคดีเป็นภาระต้องขึ้นโรงขึ้นศาล
หากเป็นเช่นนี้ ประชาชนที่ไหนจะมีจิตใจกล้าหาญไปช่วยตรวจสอบการเลือกตั้ง
แนวทางในการสร้างให้ประชาชนมีส่วนร่วม
กรรมการการเลือกตั้งถือเป็นกลไกสำคัญในการส่งเสริมให้ประชาชนมีส่วนร่วม ความจริงจังและจริงใจในเรื่องดังกล่าวจึงจะนำไปสู่การเลือกตั้งที่สุจริตและเที่ยงธรรม
ประการแรก กกต.ต้องเห็นพลังจากการร่วมมือของประชาชนในการตรวจสอบทุจริตการเลือกตั้ง มองมุมกลับให้ได้ว่า การเลือกตั้งที่สุจริตมิใช่มาจากเจ้าหน้าที่จัดการเลือกตั้งเป็นหลัก แต่มาจากประชาชนเรือนแสนเรือนล้านช่วยกันสอดส่องดูแล ทุกที่ ทุกหน่วย บุคลากรของ กกต.ต้องมีกระบวนทัศน์ในการคิดที่เห็นประโยชน์ของการเข้ามามีส่วนร่วมของประชาชน ไม่ใช่คิดว่าเป็นเรื่องน่ารำคาญ หรือเป็นเรื่องที่ต้องทำอย่างเสียมิได้เพราะถูกกำหนดในกฎหมาย
ต้องยิ้มแย้มเบินบานกับการเดินเข้ามาหาของประชาชน มองเห็นประชาชนว่าเป็นผู้เสียสละมาแจ้งเบาะแส มิใช่ตีหน้าเข้มคาดคั้นเอาเป็นเอาตายกับประชาชนที่นำข้อมูลมาให้
ประการที่สอง การส่งเสริมในการสร้างเครือข่ายองค์กรตรวจสอบภาคประชาชนที่เป็นองค์กรของเขาเอง บริหารเองจัดการเอง โดย กกต.เป็นเพียงแค่ผู้สนับสนุนมิใช่ผู้จัดตั้ง กกต.ให้การสนับสนุนทางความรู้และงบประมาณบางส่วน อาจให้มีการกำหนดสัดส่วนการอุดหนุนทางงบประมาณเพื่อให้องค์กรเหล่านี้มีส่วนการหางบประมาณในการทำงาน
ไม่ใช่เป็นผู้แบมือขอแต่ฝ่ายเดียว และสามารถกรองออกองค์กรที่ตั้งขึ้นมาเพื่อของบประมาณแต่มิได้มีเจตนาเพื่อร่วมกันทำงานอย่างแท้จริง
ประการที่สาม เลิกเสียทีกับขั้นตอนที่เป็นราชการ การสิ้นเปลืองเวลากับการจัดทำรายงานที่เน้นเอกสาร มุ่งสู่การทำงานที่เน้นผลสัมฤทธิ์ หากให้ชาวบ้านมาช่วยกันตรวจสอบการเลือกตั้งแล้วยังต้องจมปลักอยู่กับการเขียนรายงานทำเอกสารแบบราชการ ประชาชนที่เบื่อหน่ายกับระบบดังกล่าวคงปฏิเสธที่จะเข้าร่วมตั้งแต่ต้น
ประการที่สี่ รู้จักใช้นวัตกรรมเพื่อการสื่อสารและการรายงานเหตุการณ์ทุจริตการเลือกตั้งจากประชาชน เช่น การพัฒนาแอพพลิเคชั่นบนโทรศัพท์มือถือ เพื่อให้ประชาชนเข้าถึง กกต.ได้โดยง่าย สามารถรายงานเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแบบทันท่วงที แต่ในขณะเดียวกัน กกต.ก็ต้องมีระบบหลังบ้านที่คอยช่วยสนับสนุนแบบทันทีทันควันด้วย ไม่ใช่ส่งแล้วเงียบ ส่งแล้วเงียบ และยังต้องสร้างความเชื่อมั่นความเชื่อถือให้แก่ประชาชนว่าการแจ้งข่าวดังกล่าวจะเป็นความลับ ไม่มีข้อมูลที่หลุดรอดไปยังนักการเมืองซึ่งจะนำไปสู่อันตรายของผู้แจ้งเบาะแสทุจริต
สิ่งต่างๆ เหล่านี้เกิดขึ้นได้จริงจากการปฏิบัติและคำยืนยันที่หนักแน่นจากตัวผู้บริหารของ กกต.ที่ต้องขยันพูดซ้ำจนกลายเป็นการรับรู้และความทรงจำของประชาชน
ประการที่ห้า การสร้างหลักประกันในด้านความปลอดภัยและการช่วยเหลือให้แก่ประชาชนและอาสาสมัครที่เข้ามาร่วมภารกิจกับ กกต. เช่น หากได้รับอุบัติเหตุจะได้รับการชดเชยที่เหมาะสม การปกป้องคุ้มครองพยานเมื่อมีการดำเนินคดีกับฝ่ายการเมือง การคุ้มครองป้องกันภัยเมื่อได้รับการข่มขู่คุกคามจากนักการเมืองหรือหัวคะแนนในพื้นที่
การดำเนินการดังกล่าวอย่างจริงจังจึงจะสามารถสร้างความอบอุ่นมั่นใจแก่ประชาชนให้เข้ามาร่วมมือได้
อีกไม่นานก็จะถึงวันเลือกตั้งตามคำสัญญาของผู้นำประเทศ
กติกาอาจดูขี้เหร่ ไม่เป็นธรรม ไม่สอดคล้องกับหลักประชาธิปไตยในบางเรื่อง
ตัวกรรมการที่จัดการเลือกตั้งยังเป็นเครื่องหมายคำถามว่าจะตรงไปตรงมาหรือเป็นการทำงานตามใบสั่งของใคร
เหลือบแลไปยังผู้เล่นหรือนักการเมืองยังไม่ทันเริ่มจุดสตาร์ตก็ส่อแววตุกติกเล่นนอกกติกา
ทางซีกฝั่งประชาชนก็ยังขาดความกระตือรือร้นที่จะจริงจังกับการตรวจสอบทุจริต
องค์ประกอบ 4 ประการที่จะส่งเสริมให้การเลือกตั้งสุจริตเที่ยงธรรมคือ กติกา กรรมการ ผู้เล่น และคนดู ยังไม่แจ่มใสนัก
วันนี้คงได้แต่อธิษฐานภาวนา
หลังการเลือกตั้ง คงมีสิ่งดีๆ เกิดขึ้นในบ้านเมือง