วงค์ ตาวัน : ปลดพัชรวาท-ดันปทีป และ 396 โรงพัก

นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ที่เพิ่งถูก ป.ป.ช.แจ้งข้อกล่าวหาในคดี 396 โรงพัก ได้ออกมาตอบโต้คดีนี้อย่างเดือดพล่าน ทำนองว่าเป็นการกล่าวหาอย่างมีอคติกับตนเอง ทั้งที่ไม่ได้กระทำความผิด เป็นผู้บริสุทธิ์ผุดผ่อง

ทั้งได้พยายามอธิบายว่า ในฐานะเป็นรองนายกฯ ผู้กำกับดูแลงานตำรวจ ได้ให้ความเห็นชอบโครงการนี้ โดยเป็นไปตามที่หัวหน้าหน่วยงานตำรวจเป็นผู้นำเสนอขึ้นมา ซึ่งในสมัย พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ เป็น ผบ.ตร. ได้เสนอให้แยกสัญญา กระจายการประมูลก่อสร้างไปตามภาคต่างๆ ตนก็อนุมัติไปตามนั้น

ครั้นมาในยุค พล.ต.อ.ปทีป ตันประเสริฐ ทำหน้าที่รักษาการ ผบ.ตร. ได้เสนอให้เปลี่ยนแปลงสัญญา โดยให้รวมการประมูลเป็นรายเดียว ตนเองก็เซ็นตามข้อเสนอดังกล่าว

นั่นก็คือ นายสุเทพอ้างว่าอนุมัติไปตามข้อเสนอของ ผบ.ตร. และรักษาการ ผบ.ตร. ทั้งสิ้น ไม่ได้เป็นคนคิดเองชงเรื่องเอง

“ในทางกลับกัน เมื่อฟังคำชี้แจงของนายสุเทพแล้ว ทำให้ต้องมองต่อไปว่า ทำไม พล.ต.อ.พัชรวาทจึงเสนอให้แยกประมูลรายภาค แล้วทำไมในช่วง พล.ต.อ.ปทีปจึงแก้ไขสัญญาเป็นรวมประมูลรายเดียวแทน”

แต่มองด้วยเหตุผลปกติธรรมดาก็เข้าใจได้ไม่ยากว่า

การให้แยกประมูลรายภาคตามที่ พล.ต.อ.พัชรวาทเสนอนั้น สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงของโครงการอย่างมากที่สุดแล้ว

ในเมื่อจะมีโครงการสร้างโรงพักทดแทน 396 แห่ง ซึ่งกระจายอยู่ในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ ก็ต้องใช้การประมูลแยกตามรายภาค แล้วให้ผู้รับเหมาในแต่ละพื้นที่ไปร่วมประมูล เพราะบริษัทที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ภาคนั้นๆ มีอุปกรณ์ มีแรงงานอยู่ที่นั่นพร้อมอยู่แล้ว

“การลงมือสร้างโรงพักถึงเกือบ 400 แห่ง แยกอยู่ตามที่ต่างๆ ก็ต้องให้ผู้รับเหมาหลายๆ รายตามแต่ละพื้นที่เป็นคนลงมือสร้าง หลายๆ เจ้า ต่างคนต่างสร้าง ก็จะเสร็จพร้อมๆ กันตามกำหนดเวลา!”

แต่ต่อมาในยุคที่ พล.ต.อ.ปทีปเข้ามารักษาการ ผบ.ตร. มีการอ้างเหตุผลด้านกฎหมาย เพื่อรวมสัญญาให้ประมูลเจ้าเดียว แล้วไปสร้างโรงพักเกือบ 400 แห่งที่กระจายอยู่ทั่วทั้งเหนือ-ใต้-ออก-ตก-อีสาน

เด็กแบกถุงทราย เด็กผสมปูน ยังรู้เลยว่าไม่มีทางสร้างได้ทันและเสร็จตามเวลาที่ราชการกำหนด

“บริษัทเดียว จะแยกร่างวิ่งรอกสร้างโรงพัก 396 แห่งทั่วประเทศได้อย่างไร!?”

ทำไม พล.ต.อ.พัชรวาทจึงคิดแบบคนปกติ และเสนอในแนวทางที่ถูก

ไม่เท่านั้น ยังน่าสนใจค้นหาความจริงต่อไปอีกว่า เหตุใดในช่วงนั้น พล.ต.อ.พัชรวาทกับรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่มีนายสุเทพเป็นรองนายกฯ ดูแลงานตำรวจ จึงมีเรื่องขัดแย้งกันรุนแรงหลายเรื่อง

จนทำให้มีการเด้งพัชรวาท และสั่งปลดจากราชการในเวลาต่อมา!

ช่วงต้นปี 2552 โครงการสร้างโรงพักทดแทน 396 แห่ง ด้วยงบประมาณไทยเข้มแข็ง ในยุครัฐบาลอภิสิทธิ์-สุเทพได้เริ่มต้นขึ้น โดย พล.ต.อ.พัชรวาท ผบ.ตร. เสนอให้แยกการประมูลรายภาค

ระหว่างนั้นเริ่มเกิดข้อขัดแย้งระหว่างรัฐบาลอภิสิทธิ์-สุเทพ กับ พล.ต.อ.พัชรวาท เมื่อมีคดีลอบยิงนายสนธิ ลิ้มทองกุล แกนนำม็อบพันธมิตรฯ ซึ่งเป็นผู้ที่มีอิทธิพลทางความคิดอย่างสูงต่อรัฐบาลขณะนั้น

มีการปั่นกระแสว่า พล.ต.อ.พัชรวาทเป็นอุปสรรคต่อการสืบสวนสอบสวนคดีนี้ ทำให้นายอภิสิทธิ์ออกคำสั่งให้ พล.ต.อ.ธานี สมบูรณ์ทรัพย์ รอง ผบ.ตร. เป็นผู้ควบคุมคดีทั้งหมด และไม่ให้ พล.ต.อ.พัชรวาทเข้ามายุ่งเกี่ยวกับสำนวน

“จนเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ทั้งวงการสีกากีว่า พล.ต.อ.พัชรวาทนั้นเป็น ผบ.ตร. เป็นหัวหน้าพนักงานสอบสวนของตำรวจทั้งประเทศ มีอำนาจดูได้ทุกสำนวนในประเทศนี้ กลับถูกคำสั่งห้ามดูสำนวนคดียิงนายสนธิ อันเป็นเรื่องประหลาดอย่างมาก”

ความขัดแย้งเพิ่มดีกรีมากขึ้น เมื่อคดีสลายม็อบพันธมิตรฯ เมื่อ 7 ตุลาคม 2551 ในยุครัฐบาลก่อนหน้านั้น ซึ่งนายอภิสิทธิ์ขณะเป็นผู้นำฝ่ายค้าน เป็นผู้ร้องให้ ป.ป.ช.สอบสวนเอาผิดผู้รับผิดชอบสั่งการ และ ป.ป.ช.ก็สอบสวนเรื่องนี้แบบรวดเร็วทันใจจนได้บทสรุปในช่วงกลางปี 2552 ชี้มูลกล่าวหานายตำรวจหลายนายว่าต้องมีส่วนรับผิดชอบ

รอบแรก ไม่มีชื่อ พล.ต.อ.พัชรวาทตกเป็นผู้ถูกกล่าวหา แต่ไม่นาน ป.ป.ช.ไปสรุปผลสอบสวนใหม่ แล้วจู่ๆ มีชื่อ พล.ต.อ.พัชรวาทโผล่ขึ้นมา ถูกชี้มูลความผิดด้วย

“ชัดเจนว่าอย่างนี้รัฐบาลอภิสิทธิ์-สุเทพก็ได้โอกาสเหมาะเจาะในการเด้ง ผบ.ตร. แน่นอน”

ประกอบเข้ากับความขัดแย้งอีกเรื่องที่กำลังระอุ นั่นคือการแต่งตั้ง ผบ.ตร.ใหม่ เพื่อมาแทน พล.ต.อ.พัชรวาทที่จะเกษียณในวันที่ 30 กันยายน 2552 ซึ่งนายอภิสิทธิ์ในฐานะประธาน ก.ต.ช. ไม่สามารถแต่งตั้ง ผบ.ตร.ได้สำเร็จ

เนื่องจากพยายามเสนอชื่อ พล.ต.อ.ปทีปให้เป็น ผบ.ตร. แต่ ก.ต.ช.ส่วนใหญ่ไม่เห็นชอบ โดยมีการเปรียบเทียบกับ พล.ต.อ.จุมพล มั่นหมาย รอง ผบ.ตร.อีกราย ว่าเหมาะสมกว่า

“เนื่องจาก พล.ต.อ.ปทีปนั้นเป็น “มืองบประมาณ” ส่วน พล.ต.อ.จุมพลเป็นมือสืบสวนปราบปราม”

แต่นายอภิสิทธิ์ยืนยันชื่อ พล.ต.อ.ปทีป พยายามดันเข้า ก.ต.ช.หลายรอบแต่ไม่ผ่าน สุดท้ายก็ใช้วิธีตั้ง พล.ต.อ.ปทีปทำหน้าที่รักษาการ ผบ.ตร.ไปเรื่อยๆ จนเกือบปี

แน่นอนว่า ก.ต.ช.ที่ไม่ยอมโหวตตามที่นายอภิสิทธิ์เสนอนั้น มี พล.ต.อ.พัชรวาทซึ่งเป็นกรรมการในฐานะ ผบ.ตร.รวมอยู่ในฝั่งไม่เห็นชอบด้วย

นี่ก็เป็นอีกเหตุความขัดแย้ง

จนสุดท้ายมีคำชี้มูลของ ป.ป.ช.มาถวายใส่พานให้ นายอภิสิทธิ์จึงสั่งเด้ง พล.ต.อ.พัชรวาทพ้น ผบ.ตร. ก่อนจะมีคำสั่งปลดจากราชการในเวลาต่อมา

ขณะที่ พล.ต.อ.ปทีปก็ทำหน้าที่รักษาการ ผบ.ตร.ไปเรื่อยๆ แล้วก็มีการเปลี่ยนสัญญาสร้าง 396 โรงพักในช่วงนี้แหละ

ภายใต้ความขัดแย้งไม่น้อยกว่า 3 กรณี ทำให้รัฐบาลอภิสิทธิ์-สุเทพลงดาบเด้งและปลด พล.ต.อ.พัชรวาท แต่ขณะเดียวกันก็ไม่สามารถตั้ง ผบ.ตร. เข้าทำหน้าที่ตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2552 ได้ในทันที กลับมีผู้รักษาการ ผบ.ตร. ยืดเยื้อยาวนาน ซึ่งสร้างความอึดอัดคับข้องใจให้กับวงการสีกากีที่มีกำลังพลกว่า 2 แสนนาย เป็นผู้รักษากฎหมาย สืบจับปราบปรามโจรผู้ร้ายทั่วประเทศ

แต่รัฐบาลขณะนั้นกลับไม่สามารถหาผู้นำหน่วยให้ได้

“แต่วันนี้อะไรต่อมิอะไรก็ไขออกมาให้เห็นว่า ทำไมเหตุการณ์ในวงการตำรวจยุครัฐบาลอภิสิทธิ์-สุเทพจึงเป็นไปเช่นนั้น!?”

กล่าวสำหรับ พล.ต.อ.พัชรวาทหลังจากเกษียณอายุ และต้องโดนรัฐบาลอภิสิทธิ์-สุเทพปลดจากราชการ ก็ได้ต่อสู้ในทุกช่องทางเพื่อทวงความเป็นธรรมคืนมา

จนสุดท้ายชนะคดี ด้วยคำพิพากษาของศาลปกครองกลาง เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2557 ให้นายกรัฐมนตรีปฏิบัติตามที่ได้รับแจ้งมติของคณะกรรมการข้าราชการตำรวจหรือ ก.ตร. ที่ให้สั่งยกโทษปลด พล.ต.อ.พัชรวาทออกจากราชการ ตามคําสั่งสํานักนายกรัฐมนตรี ที่ 228/2552 ลงวันที่ 19 ตุลาคม 2552 ให้แล้วเสร็จภายใน 60 วัน

“จากนั้นมีคำสั่ง คสช. ที่ 93/2557 ลงวันที่ 23 กรกฎาคม 2557 ให้ยกโทษปลดออกจากราชการ พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ ตามคำพิพากษาของศาลปกครองกลางดังกล่าว”

เป็นอันว่าคำสั่งปลด พล.ต.อ.พัชรวาทของรัฐบาลอภิสิทธิ์-สุเทพก็สิ้นสุดลง มีผลให้ พล.ต.อ.พัชรวาทได้รับตำแหน่ง ผบ.ตร.กลับคืนมา ถือได้ว่าเกษียณอายุราชการที่ตำแหน่ง ผบ.ตร. เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2552 ตามปกติ

ขณะที่ปัญหาเก่าๆ ในยุครัฐบาลอภิสิทธิ์-สุเทพ โดยเฉพาะ 396 โรงพัก

กำลังกลับมาเป็นคดีความที่ตำรวจทั้งวงการและประชาชนทั้งประเทศจับตามอง!!