คุยกับทูต ‘อาห์เมด นูฮู บามัลลี’ ข้อมูลที่คุณอาจไม่เคยรู้มาก่อน! เกี่ยวกับ “ไนจีเรีย”

คุยกับทูต อาห์เมด นูฮู บามัลลี ไทย-ไนจีเรีย กับความร่วมมือข้ามภูมิภาค (1)

ทวีปเอเชียและแอฟริกาอยู่ห่างไกลกันมาก จนทำให้วิถีชีวิต วัฒนธรรม ลักษณะประชากร ความคิด ความรู้สึก มุมมองโลก มีความแตกต่างกันมากเช่นกัน

แต่ด้วยกระแสโลกาภิวัตน์บวกกับพลังเสรีนิยมใหม่

ตลอดจนความก้าวหน้าทางวิทยาการและศักยภาพในความร่วมมือด้านต่างๆ ของทวีปทั้งสองโดยเฉพาะในกรอบอาเซียนกับสหภาพแอฟริกา (African Union : AU) รวมกับการจัดตั้ง BRICS ปี ค.ศ.2008 ซึ่งพันธมิตรอื่นๆ ใน BRICS ต่างมีกรอบความร่วมมือกับอาเซียนครบแล้ว

จึงทำให้แอฟริกาใต้หนึ่งในชาติสมาชิกของ BRICKS ต้องเข้ามาเชื่อมโยงกับอาเซียน

สหภาพแอฟริกาเป็นองค์กรระดับภูมิภาคที่ประกอบไปด้วย 55 ประเทศในทวีปแอฟริกา ก่อตั้งเมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม ค.ศ.2001 เพื่อพัฒนาระบบการปกครอง สิทธิมนุษยชน และเศรษฐกิจในทวีปแอฟริกา

โดยมีไนจีเรียเข้าร่วมเป็นหนึ่งในชาติสมาชิกสหภาพแอฟริกา

ไทยและไนจีเรียมีความคล้ายคลึงกันทั้งภูมิอากาศเขตร้อนและมุมมองทางการเมือง ซึ่งต่างเล็งเห็นถึงศักยภาพที่จะกระชับและขยายความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างกันให้เพิ่มมากขึ้นโดยเฉพาะด้านการลงทุน

อันเป็นเรื่องที่ได้สนทนากับนายอาห์เมด นูฮู บามัลลี (H.E. Mr. Ahmed Nuhu Bamalli) เอกอัครราชทูตสหพันธ์สาธารณรัฐไนจีเรียประจำประเทศไทย ซึ่งมีเขตอาณาครอบคลุมประเทศเมียนมา

และเดินทางมาถึงประเทศไทยเมื่อปลายเดือนธันวาคมปีที่แล้ว ณ สถานเอกอัครราชทูตสหพันธ์สาธารณรัฐไนจีเรียประจำประเทศไทยแห่งใหม่ในซอยสุขุมวิท 61

ท่านทูตอาห์เมด เกิดเมื่อวันที่ 8 มิถุนายน ค.ศ.1966 ในราชวงศ์ Mallawa สำเร็จการศึกษานิติศาสตรบัณฑิตจากมหาวิทยาลัยอาห์มาดู เบลโล (Ahmadu Bello University) ปี ค.ศ.1989 และปริญญาโทสาขาการทูตและการต่างประเทศจากสถาบันเดียวกันปี ค.ศ.2002

เอกอัครราชทูตไนจีเรียประจำประเทศไทย นายอาห์เมด นูฮู บามัลลี

ได้รับประกาศนียบัตรด้านบริหารธุรกิจจาก Enugu State University of Science and Technology (ESUT) ประเทศไนจีเรีย ปี ค.ศ.2009

เป็นศิษย์เก่าของ Harvard Business School มหาวิทยาลัยอันดับหนึ่งของโลกที่มีชื่อเสียงในทุกด้าน

โดยได้รับ GMP เมื่อปี ค.ศ.2011 และประกาศนียบัตรด้านการเป็นผู้นำขององค์กรจากมหาวิทยาลัยอ๊อกซ์ฟอร์ด (Oxford University) เมืองอ๊อกซ์ฟอร์ด สหราชอาณาจักรปี ค.ศ.2015

ท่านทูตมีบรรดาศักดิ์เป็น Magajin Garin Zazzau เจ้าชายอาวุโสอันดับ 2 ของรัฐซาสเซา (Zazzau Emirate) สมรสแล้วกับนาง Mairo A Bamalli มีบุตรธิดา 5 คน ชาย 1 คน และหญิง 4 คน

ด้วยประสบการณ์กว่า 26 ปี ครอบคลุมงานภาครัฐ การธนาคาร โทรคมนาคม และการผลิตด้วยเครื่องจักร ข้าหลวงใหญ่คณะกรรมาธิการการเลือกตั้งอิสระรัฐคาดูนา คือตำแหน่งล่าสุด

ก่อนมาปฏิบัติหน้าที่ในประเทศไทย

“เราเป็นประเทศคนผิวสีที่ใหญ่ที่สุดในโลก ตั้งอยู่บนชายฝั่งตะวันตกของทวีปแอฟริกาและอยู่ใต้ทะเลทรายสะฮารา มีประชากรมากกว่า 190 ล้านคน”

ไนจีเรียเป็นประเทศที่ใหญ่ที่สุดอันดับหนึ่งในแอฟริกาโดยจำนวนประชากร ประเทศที่มีจำนวนประชากรรองจากไนจีเรียคือ เอธิโอเปีย (ประมาณ 102 ล้านคน) และอียิปต์ (มากกว่า 95 ล้านคน)

หากนับโดยพื้นที่ประเทศ ไนจีเรียเป็นประเทศที่มีขนาดใหญ่เป็นลำดับที่ 14 เพราะมีพื้นที่ 923,768 ตารางกิโลเมตร

ส่วนประเทศที่มีขนาดพื้นที่ใหญ่ที่สุดในทวีปแอฟริกาถึง 2,381,741 ตารางกิโลเมตร คือ แอลจีเรีย (Algeria)

รัฐสภาไนจีเรีย เมือง อาบูจา (Abuja)

“ก่อนอังกฤษจะเข้ามาควบรวมกิจการในภาคเหนือและภาคใต้เพื่อยึดครองไนจีเรียปี ค.ศ.1900 นั้น ไม่มีแห่งใดเทียบได้กับไนจีเรีย ในยุคนั้นมีเพียงจักรวรรดิ Mali, Songhai, Kanem Bornu หรือรัฐ Hausa และต่อมามีกาหลิบหรือหัวหน้ามุสลิมเป็นผู้ปกครอง อันเป็นผลมาจากการเกิดญิฮาด (Jihad) ในคริสต์ศตวรรษที่ 19 โดย Usman Danfodio นักวิชาการอิสลามที่มีชื่อเสียง ซึ่งส่วนมากเป็นประวัติศาสตร์ของไนจีเรียตอนเหนือ”

ปัจจุบันไนจีเรียเป็นสหพันธรัฐซึ่งประกอบด้วยเขตปกครองและราชอาณาจักรมากมาย

บางราชอาณาจักรมีความสำคัญมากในประวัติศาสตร์ของประเทศก่อนที่จะตกเป็นอาณานิคมของอังกฤษ

อย่างไรก็ตาม เจ้าผู้ปกครองรัฐหลักๆ ยังคงสามารถธำรงรักษาศาสนา วัฒนธรรม และอิทธิพลในทางการเมืองไว้ได้จนกระทั่งทุกวันนี้

ท่านทูตอาห์เมดเล่าถึงความเป็นมาของราชวงศ์ในประเทศไนจีเรีย

“ทางตะวันตกและตะวันออกของไนจีเรีย มีอาณาจักรโอโย (Oyo Empire) ราชอาณาจักรเบนิน (Benin kingdom) ราชอาณาจักรโอโปโบ (Opobo) และอื่นๆ”

“ไนจีเรียตอนเหนือ ญิฮาดโดยชนเผ่าฟูลานี (Fulani) มีผู้นำที่โดดเด่นนามว่า Usman Danfodio ประมาณปี ค.ศ.1804 ประมุขของอาณาจักรอิสลามก็เกิดขึ้นพร้อมกับผู้นำในฐานะสุลต่านซึ่งอยู่ภายใต้กฎหมายอิสลามอันเคร่งครัด ได้มอบธงอาญาสิทธิ์แก่ 14 นักวิชาการผู้ยิ่งใหญ่แห่งรัฐโฮซา (Hausa) เพื่อให้ปกป้องดูแลและปฏิบัติตามหลักการศาสนาอิสลาม”

กระทรวงต่างประเทศไนจีเรีย ที่เมืองหลวงอาบูจา (Abuja)

“หนึ่งในผู้ถือธงเหล่านี้คือ คุณปู่ทวดของผมนามว่านายมาลาม มูซา (Malam Mousa) ซึ่งถูกส่งไปเป็นเจ้าผู้ครองรัฐซาเรีย (Emir of Zaria) เป็นประมุขปกครองรัฐ ระบอบการปกครองดังกล่าวนี้ดำเนินมาหนึ่งศตวรรษ จนถึงช่วงปลายศตวรรษที่ 1900 อังกฤษก็เข้ามาควบคุมภูมิภาคนี้โดยจัดการบริหารและการปกครองตามแบบอังกฤษ”

“อย่างไรก็ตาม อังกฤษปกครองภูมิภาคนี้ทางอ้อมไม่มีการแทรกแซงมากนัก เพราะด้านโครงสร้างและระบบการปกครองก็ยังอยู่ภายใต้กฎหมายอิสลาม แต่มีการแต่งตั้งผู้ว่าราชการจังหวัด นายกเทศมนตรี และคนท้องถิ่น ให้ทำงานเคียงข้างกับสุลต่านและเจ้าผู้ครองนคร ปัจจุบัน เรายังคงใช้ระบบนี้โดยไม่มีการเปลี่ยนแปลงใดๆ แม้ว่าไนจีเรียจะได้รับอิสรภาพเมื่อเดือนตุลาคม ค.ศ.1960”

“ส่วนไนจีเรียตอนใต้ อังกฤษเข้ามายึดครองและจัดการบริหารโดยตรง จึงเป็นเหตุที่ทำให้นักเผยแผ่ศาสนาได้มีโอกาสแทรกซึมเข้าไปในภูมิภาคและเป็นผลให้ภูมิภาคนี้เริ่มยอมรับแนวการศึกษาของชาวตะวันตกมากกว่าชาวไนจีเรียตอนเหนือซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวมุสลิมภายใต้อิทธิพลของศาสนาอิสลามอันเข้มงวด”

“ผู้นำไนจีเรียตอนเหนือกลายเป็นสุลต่าน (Sultan) และผู้ปกครอง (Emir) ผู้นำไนจีเรียตะวันตกเป็นโอบาส (Obas) และผู้นำไนจีเรียตะวันออกเป็นโอบิส (Obis)

“ดังนั้น ลูกและหลานชายโดยตรงของเอมีร์ผู้ปกครอง (Emir) แห่งรัฐชาติ (Emirate) จึงถือได้ว่าเป็นเจ้าชายและเจ้าหญิงแห่งราชสำนัก”

“ในกรณีของผม ผมเป็นหลานชายโดยตรงของเอมีร์แห่งรัฐซาเรีย ( Zaria EMIRATE) คนแรกที่สืบตระกูลมายาวนานกว่าสองศตวรรษ ปัจจุบัน ผมจึงมีนามอันทรงเกียรติเป็น MAGAJIN GARIN ZAZZAU สำหรับสมาชิกระดับสูงของราชวงศ์ในรัฐชาติส่วนใหญ่ของไนจีเรียตอนเหนือ”

“ผมได้ทำงานสืบทอดนายนูฮู บามัลลี (Nuhu Bamalli) บิดาผู้ล่วงลับซึ่งดำรงตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศของไนจีเรียระหว่างปี ค.ศ.1960-1966 และครองบรรดาศักดิ์เป็น Magajin Gari แห่งรัฐซาเรีย (EMIRATE of Zaria) ถึง 40 ปี ที่เดียวกันกับนายมาลลาม มูซา (Mallam Musa) บรรพบุรุษของผมผู้ซึ่งได้รับธงอาญาสิทธิ์เป็นเจ้าผู้ปกครองคนแรกโดยลูกชายสืบทอดราชวงศ์ต่อกันมา”

“ก่อนที่อังกฤษจะเข้ามารวมไนจีเรียทั้งเหนือและใต้ในปี ค.ศ.1914 ทั้งเอมีร์และสุลต่านเป็นผู้มีอำนาจสูงสุด แต่การเปลี่ยนแปลงก็เกิดขึ้นอย่างมากมายกับไนจีเรียสมัยใหม่หลังปี ค.ศ.1914 มีการเปลี่ยนแปลงในไนจีเรียตอนใต้บ้างแต่ไม่มากนัก แต่ไนจีเรียตอนเหนือ สภาสามารถแต่งตั้งลูกชายหรือหลานชายให้ดำรงตำแหน่งเอมีร์หรือสุลต่าน โดยมีข้าหลวงเป็นผู้รับรอง”

“ผู้ที่ได้รับแต่งตั้งส่วนใหญ่ในไนจีเรียตอนใต้มักจะเป็นลูกชายคนแรกของโอบา (Oba) อันเป็นตำแหน่งของกษัตริย์แห่งไนจีเรียตะวันตก และโอบี (Obi) ตำแหน่งกษัตริย์แห่งไนจีเรียตะวันออก”

“อย่างไรก็ตาม บุคคลที่ไม่ได้มาตามระบบที่กล่าวถึงข้างต้น แต่มีตำแหน่งเป็นเจ้าหญิงหรือเจ้าชายจากประเทศไนจีเรีย ถือเป็นคนหลอกลวงทั้งสิ้น”