แง้มประตูสู่สังคม จากวันนั้นถึงวันนี้ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง

ไม่รู้ว่ามันเกิดอะไรขึ้นเหมือนกัน อยู่ๆ พลันคิดถึงพลังของนักเรียนนิสิตนักศึกษา พลังของคนรุ่นใหม่ ซึ่งเคยต่อสู้เรียกร้องจนเกิดการเปลี่ยนแปลง มี “รัฐธรรมนูญ” และ “ประชาธิปไตย” ในบ้านเมือง

แม้จะได้สัมผัสเพียงชั่วระยะเวลาสั้นๆ ยังดีกว่าไม่ได้ทำอะไรกัน ปล่อยให้ใครไม่รู้ขนพวกพ้องเข้ามาเป็นผู้ปกครองประเทศ?

คนรุ่นที่เคยต่อสู้เปลี่ยนแปลง ที่เรียกกันว่า “คนเดือนตุลา” ถึงวันนี้ล้วนแล้วแต่สูงวัย ใช้ชีวิตเดินไปคนละทิศละทางเช่นเดียวกับอุดมการณ์ร่วมหายไปแทบจะหมดสิ้น

ย้อนอดีตหลายทศวรรษเพื่อทดสอบความทรงจำยามสูงวัยซึ่งว่ากันว่ามีแต่ลืมไม่ค่อยจะจดจำอะไรต่อไปอีกแล้ว เมื่อครั้งก่อนเกิด “เหตุการณ์เดือนตุลา 2516”

เรียงลำดับเรื่องจริงที่กลายเป็นเรื่องเล่าจากอดีต เพราะมันเป็นจุดเริ่มต้นของการเกิด “ศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาฯ” จนกระทั่งได้กลายเป็นแกนกลางในการรวมตัวของนักเรียนนิสิตนักศึกษาและประชาชนในการเรียกร้องรัฐธรรมนูญ กลายเป็นผลักดันรุกไล่ให้ “รัฐบาลเผด็จการ” ขณะนั้นลงจากอำนาจ

สร้างวีรบุรุษ เกิดผู้นำนักศึกษาให้เป็นที่รู้จักกันโดยทั่วไปทั้งในประเทศและต่างประเทศ ก่อนจะลืมหายกลายเป็นผู้สูงวัยในสังคม เหลือไว้เพียงความทรงจำ

ในขณะที่ประเทศนี้ยังเวียนวนไปมากับการ “แย่งชิงอำนาจ” และ “เผด็จการ” มักจะเป็นฝ่ายกำชัยพร้อมฉุดดึงเอาระบอบการปกครองที่สังคมโลกนี้ไม่ปรารถนากลับคืนสู่ประชาชน

 

นับการเปลี่ยนแปลงตั้งแต่ 14 ตุลาคม 2516 ก็มากเกินกว่า 40 ปี นักเรียนนิสิตนักศึกษารุ่นนั้นได้ถูกกลืนหายไปในสังคมคนแก่เฒ่า กระทั่งล้มหายตายจาก พร้อมกับการต่อสู้เรียกร้องครั้งกระนั้นเรียกได้ว่าเป็นการ “เสียของ”

จำได้ว่าปี พ.ศ.2511-2512 ได้รับการติดต่อจากผู้นำนักศึกษา เป็นนายกสโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ว่าอยากรู้จักพบพูดคุยกันบ้าง ถึงวันนี้ยังจำชื่อของกลุ่มผู้นำนักศึกษาหลายๆ มหาวิทยาลัยเหล่านี้ได้เป็นส่วนใหญ่ ถึงแม้จะไม่ได้เอ่ยชื่อและติดต่อไปมาหาสู่กันก็ตาม หลังจากที่ได้ร่วมกันก่อตั้งศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทยขึ้นในปี พ.ศ.2512 แล้ว ต่างจบการศึกษาแยกย้ายกันไป แต่ยังเคยนัดพบเจอกันขึ้นครั้งหนึ่งหลังจากนั้นหลายสิบปี

ย้อนอดีตที่บังเอิญปี พ.ศ.2512 ได้รับเลือกตั้งให้เป็นนายกสโมสรนักศึกษาของมหาวิทยาลัย ซึ่งแต่ก่อนสอนเพียงวิชาศิลปะ การตกแต่งภายใน สถาปัตยกรรม และโบราณคดี เพิ่งจะเริ่มก่อตั้งคณะอักษรศาสตร์ ขึ้นเป็นวิทยาเขต พระราชวังสนามจันทร์ จังหวัดนครปฐม

คณะวิชาที่ศึกษาเล่าเรียนแต่เดิมค่อนข้างปิดตัวเองจากสังคมภายนอก เป็นที่กล่าวขานกันว่านักศึกษาศิลปะจะมีความคิดแปลกๆ แตกต่างกับนักศึกษาอื่นๆ ไม่ค่อยมีสังคมกับผู้คนภายนอกมหาวิทยาลัย ไม่สนใจการเมือง ซึ่งต้องยอมรับว่ามันเป็นธรรมชาติของคนเรียนสายนี้

เคยคิดถึงตัวเองเช่นเดียวกันว่าสามารถศึกษาเล่าเรียนมาถึงขั้นปริญญา ซึ่งมันยากยิ่งเหลือกำลังกว่าจะสอบเอ็นทรานซ์พลัดหลงเข้าไปได้ เมื่อก้าวผ่านขึ้นมาถึงปีสุดท้าย ได้รับการเลือกให้เป็นผู้นำนักศึกษา จนกระทั่งเปิดตัวสู่ภายนอกด้วยการร่วมกันกับผู้นำนักศึกษาต่างมหาวิทยาลัย

ดูเหมือนว่าอาจารย์ท่านจะไม่โปรดปรานชอบพอการทำกิจกรรม สุดท้ายจึงต้องเปลี่ยนเส้นทางชีวิตจนกระทั่งสูงวัยจึงได้หันกลับมาทำสิ่งที่ตัวเองรักชอบ (บ้าง) แม้จะไม่มากนักเนื่องจากต้องเว้นระยะเพื่อทำงานอย่างอื่นตลอดมา

 

ได้พบกับนายกสโมสรนิสิต จุฬาฯ เรียบร้อยก่อนจะเดินทางไปพบกับนายกองค์การนิสิตมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน และได้ทราบความจริงว่าเขาเป็นผู้ริเริ่มเรื่องนี้ขึ้น เพื่อจะได้ขยายสังคมของนิสิตนักศึกษา ซึ่งขณะนั้นมหาวิทยาลัยหลักๆ เป็นที่รู้จักกันอยู่มีเพียงแค่ 5 มหาวิทยาลัย คือ จุฬาฯ ธรรมศาสตร์ เกษตรศาสตร์ แพทยศาสตร์ และศิลปากร มหาวิทยาลัยอื่นๆ เพิ่งจะเริ่มเปิดทำการเรียนการสอน

การรวมตัวกันครั้งแรกจึงมีเพียงนายกองค์การ นายกสโมสร ทั้ง 5 คนแล้วค่อยเพิ่มพูนจำนวนไปยังอุปนายก ผู้นำนักศึกษาหญิง และอื่นๆ รวมทั้งขยายไปยังมหาวิทยาลัยเพิ่งเกิดใหม่ เช่น มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (2507) ขอนแก่น (2507) สงขลานครินทร์ (2510) กระทั่งมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร วิทยาเขตบางแสน ก่อนเป็นมหาวิทยาลัยบูรพา (2498) ขณะนั้น ยังไม่มีมหาวิทยาลัยรามคำแหง เพราะก่อตั้งปี พ.ศ.2514

เกิดการรวมตัวกันขึ้นมิใช่ต่างคนต่างอยู่อีกต่อไป การประชุมเพื่อก่อตั้งศูนย์รวมของนักศึกษาใช้วิธีหมุนเวียนเปลี่ยนกันเป็นเจ้าภาพ อย่างน้อยที่สุดก็เป็นการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเป็นไปของนักศึกษาเกี่ยวกับเหตุการณ์ในบ้านเมืองนอกเหนือจากสังคมนักศึกษา พร้อมทั้งจะได้มีศูนย์กลางสำหรับการติดต่อสื่อสารระหว่างกัน

ไม่เฉพาะแต่นักศึกษาไทย นักศึกษาต่างประเทศ อย่างในเอเชีย เพราะเวลานั้นยังไม่มีกลุ่ม “อาเซียน” ต่อมามีศูนย์กลางสำหรับบริการและติดต่อสื่อสารระหว่างนักศึกษาด้วยกันเรียกว่า “เวิลด์ ยูนิเวอร์ซิตี้ เซอร์วิส” World University Service (Wus) เป็นที่รู้จักโดยเรียกกันสั้นๆ ว่า Wus

 

เมื่อรวมตัวกันได้แล้วจึงมีความประสงค์จะเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยเหลือรับผิดชอบสังคมที่อยู่อาศัยบ้าง ในช่วงระยะเวลาดังกล่าวของปี พ.ศ. นั้นกำลังเกิดอุทกภัยในหลายจังหวัดภาคเหนือ ซึ่งอันที่จริงมันเกิดขึ้นเป็นประจำทุกปีจนกระทั่งถึงทุกวันนี้สำหรับในเมืองไทย

มีความเห็นร่วมกันว่าจะต้องจัดรายการการกุศลเพื่อหารายได้ไปช่วยพี่น้องในพื้นที่ที่ประสบภัยธรรมชาติ แต่เราจะหาสิ่งของและเงินกันได้จากที่ไหน บางท่านเสนอให้ไปเรียนเชิญ “อาภัสรา หงสกุล” (นางสาวไทย 2507) ซึ่งเธอเพิ่งได้รับเลือกให้เป็น “นางงามจักรวาล” (คนที่ 14) เป็นคนแรกของประเทศไทย (2508) และเป็นคนที่ 2 ของเอเชียต่อจากญี่ปุ่น

ปรากฏว่ายังไม่สามารถตกลงกันได้ น้ำท่วมได้ลดลงอย่างรวดเร็ว หรือเป็นเพราะว่าการพบเจอกันเพียงสัปดาห์ละครั้งมันช้าเกินไป เป็นอันว่าโครงการนั้นได้ถูกยกเลิก

 

แม้จะใช้เวลาเป็นปีในการรวมตัวกันเกิดขึ้น ขณะที่กลุ่มผู้ริเริ่มกำลังจะจบการศึกษากันโดยพร้อมหน้าพร้อมตา จำเป็นต้องมีการสานต่อ อย่างน้อยควรให้มีศูนย์รวมอย่างเป็นรูปธรรมได้อย่างไร? ในที่สุดความคิดก็ตกผลึกเป็นเอกฉันท์ให้ก่อตั้ง “ศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย” ขึ้น

ปี พ.ศ.2512 รัฐบาลที่บริหารประเทศชาติ ซึ่งต้องเรียกว่าปกครองประเทศมากกว่าเพราะพวกเขาไม่ได้มาจากประชาชน เป็นการแย่งชิงอำนาจกันเข้ามาด้วยกระบอกปืน โดยใช้กำลังจากกองทัพ ซึ่งมันควรจะเป็นของประเทศชาติประชาชน เพราะงบประมาณสำหรับการบริหารกองทัพเป็นเงินจากประชาชน

ขณะนั้นเราเรียกรัฐบาลของเราว่า “รัฐบาลเผด็จการทหาร” (จอมพลถนอม-จอมพลประภาส) ไม่ได้เป็นประชาธิปไตย มีเพียงแค่ธรรมนูญปกครองประเทศ ซึ่งมาจากคนเพียงไม่กี่คน เพราะฉะนั้น จะก่อตั้งอะไรจึงต้องถูกจับตา โดยเฉพาะกับคนรุ่นใหม่ นิสิตนักศึกษาจะจดแจ้งก่อตั้งศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาฯ จึงต้องหลีกเลี่ยงการเมืองทั้งหมด มีธรรมนูญของศูนย์มากมายหลายข้อ แต่ไม่เกี่ยวด้วยการเมือง

โดยข้อหนึ่งระบุว่า “ไม่ยุ่งเกี่ยวกับการเมือง”

 

กลุ่มผู้นำนักศึกษาทั้งหมดในประเทศไทย ได้นัดประชุมกันเป็นครั้งสุดท้าย ณ หอประชุมเล็กมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพื่อร่วมลงสัตยาบรรณในการก่อตั้ง “ศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาฯ” อย่างถูกต้องตามกฎหมาย

การประชุมครั้งสุดท้ายมีนักศึกษาจากคณะวิศวะ จุฬาฯ คนหนึ่งขอเข้าร่วมฟังด้วย ซึ่งต่อมาเขาได้เป็น “เลขาฯ ศูนย์” เป็นคนแรก

ที่ประชุมลงมติเป็นเอกฉันท์กันให้นักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 2 ท่านเป็นรักษาการเลขาฯ ศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาฯ ครั้งนี้ นักศึกษา 2 ท่านต่อมาได้เป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยรามคำแหง และท่านหนึ่งเสียชีวิตหลังจากเกษียณราชการจากตำแหน่ง “อธิการบดี” เมื่อไม่นานนี้

“ศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย” เริ่มมีบทบาทเป็นที่รู้จักด้วยการนำไปเคลื่อนไหวต่อต้านสินค้าจากประเทศญี่ปุ่น ก่อนจะเป็นศูนย์รวมในการต่อต้าน เรียกร้อง และขับไล่ “รัฐบาลเผด็จทหาร” ใน “เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516” และ “6 ตุลาคม 2519”

ถึงวันนี้เวลาผ่านเลยไป 45 ปี บ้านเมืองของเรา “ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง?”