เลือกตั้งแบบ “กนกลายไทย”

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี บอกออกมาแล้วว่า 24 กุมภาพันธ์ปีหน้าจะมีการเลือกตั้ง ไม่เร็วไปกว่านั้น แต่อาจช้ากว่านั้นได้ ถ้าอะไรๆ ยังไม่พร้อม

เป็นที่มาของความเห็นจากกัลยาณมิตรรายหนึ่งว่า เลือกตั้งไทยหนที่จะมีขึ้นนี้ เหมือนภาพแกะสลักไม้ด้วยลายกนกวิจิตรบรรจงของไทยไม่มีผิด

ฟังทีแรกเข้าใจว่าเขาแสดงทัศนะเรื่องล่าช้า เลื่อนแล้วเลื่อนอีก แต่เอาเข้าจริงคำว่า “เลือกตั้งกนกลายไทย” ของเขายังกินความไปอีกหลายอย่าง ทั้งความสลับซับซ้อนของเงื่อนไข หลายชั้น หลายตอน ที่ออกแบบไว้อย่าง “เนียน” โดยคาดหวังว่า ถึงที่สุดแล้วจะได้ภาพรวมออกมางดงามอย่างที่เห็น

ซึ่งจะจริงหรือเปล่ายังไม่มีใครรู้ครับ

แต่ความเห็นที่ว่านี้ตอกย้ำให้ผมแน่ใจอย่างหนึ่งว่า การเลือกตั้งในไทยได้รับความสนใจเยอะมาก จะมีแน่หรือเปล่ายังไม่รู้แต่มีสื่อต่างประเทศเขียนถึงอยู่บ่อยๆ

เช่น ข้อเขียนของลอร่า วิลลาดิเอโก ที่เพิ่งปรากฏในเซาท์ ไชน่า มอร์นิ่ง โพสต์ เมื่อ 19 สิงหาคมที่ผ่านมานี้เป็นต้น

 

ผมเลือกข้อเขียนของลอร่ามาเป็นตัวอย่าง เพราะมีการสรุปความให้เห็นเงื่อนไขหลากหลายในการเลือกตั้งครั้งนี้เป็นภาพรวมไว้เป็นอย่างดี เริ่มตั้งแต่กระบวนการแปรพักตร์ของอดีตนักการเมือง ที่สื่อไทยเรียกกันน่าหวาดเสียวว่า “ปฏิบัติการดูด” เรื่อยไปจนถึงการเดินสายของท่านนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี ที่ให้บังเอิญไปบรรจบกันพอดีเมื่อเร็วๆ นี้ที่อุบลราชธานีและอีกบางจังหวัดในภาคอีสาน ที่เคยเป็นฐานเสียงสำคัญของพรรคเพื่อไทย

แต่ลอร่าบอกว่า เรื่อง “ดูด” นั้นเป็นเพียงความท้าทาย “เริ่มแรก” ของพรรคการเมืองฝ่ายตรงกันข้ามกับรัฐบาลในเวลานี้เท่านั้น

ลอร่าไล่เรียงเงื่อนปมต่างๆ ที่วางเอาไว้ยาวเหยียด ตั้งแต่รัฐธรรมนูญใหม่ ที่ทหารร่างขึ้นมาและผ่านประชามติเมื่อเดือนสิงหาคมปี 2016 ที่กำหนดระบบตัวแทนแบบสัดส่วนเอาไว้ “เพื่อให้ยากมากขึ้นสำหรับพรรคการเมืองพรรคไหนที่จะได้ที่นั่งเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร”

และยังกำหนดวุฒิสภาที่มาจากการ “คัดเลือก” เพื่อแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง “และมีบทบาทเป็นหัวใจในการเลือกนายกรัฐมนตรีคนต่อไป”

ในขณะที่คณะกรรมการการเลือกตั้งที่ทำหน้าที่กำกับดูแลกระบวนการเลือกตั้งทั้งหมดก็มาจากการแต่งตั้ง

“ในกรอบของกฎหมาย (พล.อ.) ประยุทธ์ ไม่จำเป็นแม้กระทั่งต้องลงสมัครรับเลือกตั้ง เพื่อที่จะยังคงอยู่ในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อไป เพราะหากมีพรรคการเมืองพรรคใดพรรคหนึ่งให้การสนับสนุน ก็ยังสามารถได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้งได้”

 

ลอร่าหยิบเอาทัศนะของสุนัย ผาสุก นักวิจัยประจำประเทศไทย แห่งฮิวแมนไรท์วอทช์ มาบอกต่อเอาไว้ว่า “ผลก็คือ เพื่อไทยอาจได้ชัยชนะในการเลือกตั้ง แต่ได้เสียงข้างมากไม่เพียงพอ เพราะจำเป็นต้องแข่งต่อกับสมาชิกวุฒิสภาอีก 250 คน”

ลอร่า วิลลาดิเอโก ระบุเอาไว้ด้วยว่า จนถึงขณะนี้รัฐบาลยังห้ามการชุมนุมในที่สาธารณะเกิน 5 คนโดยไม่ได้รับความเห็นชอบจากทางการ ซึ่งในทางปฏิบัติแล้วเป็นการจำกัดไม่ให้พรรคการเมืองต่างๆ เตรียมตัวเพื่อการเลือกตั้งครั้งนี้โดยปริยาย

ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้จัดการโครงการ “ไอลอว์” กลุ่มเฝ้าระวังประเด็นทางกฎหมายในไทยบอกกับลอร่า ว่าข้อจำกัดดังกล่าวไม่ได้กระทบต่อเพื่อไทยพรรคเดียวเท่านั้น แต่รวมถึงพรรคการเมืองอื่นๆ ด้วยทั้งหมด

ผู้เขียนระบุว่า เงื่อนไขต่างๆ เหล่านั้นทั้งหมด ทำให้นักเคลื่อนไหวหลายคนแสดงความกังขาเกี่ยวกับเสรีภาพ ความเป็นธรรมในการเลือกตั้ง เรื่อยไปจนถึง “ความหมาย” ที่แท้จริงของการเลือกตั้งที่จะมีขึ้นครั้งนี้

คิงสลีย์ แอบบ็อต ที่ปรึกษากฎหมายอาวุโส ประจำคณะกรรมการนักนิติศาสตร์สากล (อินเตอร์เนชั่นแนล คอมมิสชั่น ออฟ จูริสต์-ไอซีเจ) บอกเป็นเชิงเตือนผ่านข้อเขียนชิ้นนี้เอาไว้ว่า

“ความชอบธรรมในทางสากล มีความสำคัญอย่างยิ่งสำหรับประเทศไทย แต่ความชอบธรรมที่ว่านี้ สำหรับการเลือกตั้งที่เป็นประชาธิปไตย จำเป็นต้องมีอะไรๆ มากไปกว่าสิ่งที่ปรากฏเพียงแค่เปลือกนอกเท่านั้น”

ในขณะที่สุนัย ผาสุก บอกตรงไปตรงมาว่า ยังไม่มีสิ่งบ่งชี้ใดๆ ว่า การเลือกตั้งที่จะมีขึ้นสามารถเรียกได้ว่าเป็นการแสดงออกถึงการใช้สิทธิใช้เสียงตามระบอบประชาธิปไตยที่แท้จริง แต่เป็นแค่ “โชว์” หนึ่งเท่านั้น

แต่ยิ่งชีพกลับเชื่อว่า การบอยคอตเลือกตั้งครั้งนี้คงเป็นผลเสียมากกว่าผลดี ทุกคนควรแสดงบทบาทในการเลือกตั้งภายใต้กฎเกณฑ์ของรัฐบาลในครั้งนี้จะดีกว่า

เพราะมีโอกาสมากกว่าที่จะช่วยให้ประเทศไทยกลับคืนสู่ประชาธิปไตย อาจไม่ใช่ใน 5 หรือ 10 ปี แต่หมายถึง “ในอนาคต” ครับ