ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 28 สิงหาคม - 3 กันยายน 2561 |
---|---|
คอลัมน์ | ปริศนาโบราณคดี |
เผยแพร่ |
“ศิลปะยืนยาว ชีวิตสั้น” มาจากภาษาละติน ARS LONGA VITA BREVISเป็นม็อตโตที่ “ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี” หรือCORRADO FEROCI (คอร์ราโด เฟโรชิ) ผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยศิลปากรเคยประกาศไว้ จนเป็นที่จารจำแก่ลูกศิษย์ชาวหน้าพระลานสืบมาทุกรุ่น
อาจารย์ศิลป์เกิดเมื่อ 15 กันยายน2435 และถึงแก่อนิจกรรมด้วยวัย 70 ปีใน พ.ศ. 2505 (บทความเขียนและตีพิมพ์ครั้งแรกในปี 2555) นอกจากจะครบสิบรอบนักษัตรหรือ 120 ปีชาตกาลแล้ว ยังครบ 5 ทศวรรษแห่งการจากไปของท่านอีกด้วย
ท่านได้รับการยกย่องว่าเป็นบิดาแห่งศิลปะร่วมสมัยของไทย เป็นผู้มีคุณูปการต่อวงการศิลปะมากเกินคณานับ ยิ่งศิลปินรุ่นก้นกุฏิแทบทุกคนล้วนแต่สรรเสริญบูชาท่านประดุจพ่อคนที่สอง
อย่างไรก็ดี สิ่งที่น่าสนใจในอีกมิติหนึ่งของอาจารย์ศิลป์ ก็คือการเป็นบุคคล “สองแผ่นดิน-สี่รัชกาล” เดินทางจากประเทศอิตาลีที่ได้ขึ้นชื่อว่าเป็นสุดยอดของโลกศิลปกรรมตอนอายุ 30 ใช้ชีวิตในสยามนานถึง 40 ปี ผ่านความรุ่งโรจน์และยุคเข็ญ เห็นความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองมาระลอกแล้วระลอกเล่า
ข้อสำคัญท่านเป็นศิลปินเสาหลัก ผู้มีหน้าที่สนองเจตนารมณ์ของทุกรัฐบาลในการสร้าง “อนุสาวรีย์” ที่ต่างก็ใช้เป็นสัญลักษณ์แห่งการต่อสู้ทางการเมืองกดข่มกัน
บทบาทดังกล่าวประจักษ์แจ้งในงานศิลปะอันยืนยาวและยังคงอยู่ก็คือ “อนุสาวรีย์” ที่สร้างขึ้น 3 ยุค แต่ละยุคมีเบื้องหน้าเบื้องหลังของคำบัญชาหรือใบสั่งที่ต่างอุดมการณ์ หลายชิ้นเป็นงาน “ศิลปะแนวบาดแผล” ที่ฝังรอยร้าวให้แก่วิญญาณศิลปินของท่านไม่น้อย
งานชิ้นแรกของศาสตราจารย์จากฟลอเรนซ์ กับฉากสุดท้ายของสมบูรณาญาสิทธิราชย์
อาจารย์ศิลป์ พีระศรีคือคลื่นลูกที่สองของนายช่างอิตาเลียนที่เข้ามารับราชการในกรุงสยามตรงกับสมัยรัชกาลที่ 6 ต่อจากคลื่นลูกแรก ที่เข้ามาก่อนหน้านั้นแล้วตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 กลุ่มแรกนี้ฝากผลงานไว้มากมาย อาทิ พระที่นั่งอนันตสมาคม พระราชวังพญาไท สถานีรถไฟหัวลำโพง สะพานมัฆวานรังสรรค์ เป็นต้น
ในขณะที่ยุคของศาสตราจารย์หนุ่มวัย 30 ผู้สำเร็จการศึกษามาจาก The Royal Academy of Art of Florence ด้วยเกียรตินิยมอันดับหนึ่ง หรือเรียกว่าคลื่นลูกที่สองนั้น เดินทางสู่สยามตามพระราชประสงค์ของรัชกาลที่ 6 ที่ขอให้รัฐบาลอิตาลีหาช่างปั้นมาประจำกรมศิลปากร อาจารย์ศิลป์จึงส่งผลงานออกแบบเข้าประกวดให้ผู้ทรงคุณวุฒิแห่งราชบัณฑิตยสภาอิตาลีพิจารณาคัดเลือก ฝ่าด่านผู้สมัครมากถึง 200 คน
ผลงานในทศวรรษแรกของอาจารย์ศิลป์ ระหว่างปี 2466 – 2475 นั้น คาบเกี่ยวสมัยปลายรัชกาลที่ 6 ต่อยุครัชกาลที่ 7 ช่วงแรกๆ เน้นหนักไปในการออกแบบเหรียญกษาปณ์ และเหรียญที่ระลึกเสียเป็นส่วนใหญ่
กระทั่งกรุงรัตนโกสินทร์ครบรอบ 150ปีใน พ.ศ. 2475 รัชกาลที่ 7 มีพระราชดำริให้สร้างสะพานพระพุทธยอดฟ้า เชื่อมกรุงเทพฯ กับกรุงธนฯ เข้าด้วยกัน พร้อมโปรดให้ สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ อภิรัฐมนตรีและนายช่างใหญ่แห่งกรุงสยาม ได้ออกแบบพระปฐมบรมราชานุสรณ์ (อนุสาวรีย์รัชกาลที่ 1) หันหน้าสู่กรุงเทพฯ หันหลังให้กรุงธนฯ โดยมอบหมายอาจารย์ศิลป์เป็นผู้ปั้น
พระปฐมบรมราชานุสรณ์ มีลักษณะน่าเกรงขามตามอย่างกษัตริย์โบราณ ประทับนั่งกุมพระขรรค์บนบัลลังก์ที่ประดับเครื่องพานพุ่มสักการะ สื่อให้เห็นภาพของ “ราชาในรัฐจารีต” ที่ให้ความรู้สึกแตกต่างไปจาก พระบรมรูปทรงม้ารัชกาลที่ 5อันเป็นผลงานของช่างชาวฝรั่งเศส ที่นำเสนอพระมหากษัตริย์ด้วยภาพลักษณ์สมัยใหม่ ทั้งฉลองพระองค์-พระมาลาแบบตะวันตกและการทรงม้า เปล่งประกายภาพของพระราชาที่สามารถรวมศูนย์อำนาจในยุคสมบูรณาญาสิทธิราชย์ได้อย่างเฉียบขาด
ในขณะที่รัชกาลที่ 7 ทรงตระหนักดีถึงความผันแปรทางการเมือง ว่าระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์กำลังอ่อนแรงลง เป็นไปไม่ได้อีกแล้วที่จักรวมศูนย์อำนาจทุกอย่างมาอยู่ภายใต้บารมีของบุคคลเพียงคนเดียว การนำเสนอพระบรมราชานุสาวรีย์รัชกาลที่ 1 ด้วยภาพของกษัตริย์ที่ย้อนกลับไปสู่ยุค “ราชาธิราช” (ไม่สมัยใหม่แต่น่าเคารพยำเกรงไม่แพ้กัน) แทนที่ “สมบูรณาญาสิทธิราชย์” จึงปรากฏขึ้นอย่างจงใจ
พิธีเปิดอนุสาวรีย์มีขึ้นเมื่อ 6 เมษายน 2475 พร้อมกับการฟื้นพระราชประเพณีแห่กระบวนเรือพยุหยาตรา ซึ่งห่างหายไปในสมัยรัชกาลที่ 5-6ยิ่งเท่ากับเป็นการประกาศอุดมการณ์ของรัชกาลที่ 7 ที่มีต่อระบอบราชาธิราช หรือราชาธิปไตยอย่างเปิดเผย
เพียง 3 เดือนให้หลัง วันที่ 24 มิถุนายนในปีเดียวกัน คณะราษฎรได้ทำการยึดอำนาจจากพลังอนุรักษ์นิยม เพราะการที่รัชกาลที่ 7 ตอกย้ำให้ราษฎรสำนึกถึงปุญญาปารมีของสถาบันกษัตริย์ ผ่านพระปฐมบรมราชานุสรณ์ชิ้นนี้มากเพียงไร ก็ยิ่งเท่ากับท้าทายความต้องการของ “พลังฝ่ายก้าวหน้า” ที่กำลังจะหมุนกงล้อ อภิวัฒน์ไปสู่การเปลี่ยนแปลงระบอบรัฐสมัยใหม่ที่มีกษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญมากขึ้นเท่านั้น
นั่นคือตำนานหน้าแรก ที่อาจารย์ศิลป์ต้องเข้าไปพัวพันกับการสร้างอนุสาวรีย์ในฐานะช่างปั้น ไม่มีบันทึกหลักฐานว่าลึกๆ แล้วท่านเห็นด้วยหรือไม่อย่างไร หวานชื่นหรือขื่นขม?
มหาวิทยาลัยศิลปากร
กับศิลปะยุคคณะราษฎร
ปี 2476 อาจารย์ศิลป์ได้รับไฟเขียวจากรัฐบาลที่มาจากคณะราษฎร คือกรมศิลปากร ให้เปิดโรงเรียนศิลปากรแผนกช่างขึ้น อันเป็นรากฐานนำไปสู่การยกฐานะขึ้นเป็นมหาวิทยาลัยศิลปากรในปี 2486
หลวงวิจิตรวาทการเป็นอธิบดีกรมศิลป์สมัยนั้น ได้ปาฐกถาไว้ชัดถึงหน้าที่ของกรมศิลปากรว่า ต้องเอื้อประโยชน์แก่ประเทศชาติให้ครบ 3 ด้าน มิใช่ “ศิลปะ” มีคุณค่าเพียงแค่เป็น “ศิลปะบริสุทธิ์” ในตัวเองเท่านั้น แต่ทว่าต้องมี…
ประโยชน์ทางการศึกษาอบรม ประโยชน์ทางการเมือง และประโยชน์ทางเศรษฐกิจ
อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ณ ถนนราชดำเนินกลาง คือตัวแทนศิลปะที่เอื้อประโยชน์ทางการเมืองอย่างชัดเจนที่สุด ก่อสร้างระหว่างปี 2582-2483ในสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม โครงสร้างของอนุสาวรีย์ออกแบบโดยนายหมิว อภัยวงศ์ แน่นอนว่าประติมากรรมนูนสูงที่ประดับรายรอบฐานนั้นจักเป็นผลงานใครอื่นใดมิได้นอกเสียจากอาจารย์ศิลป์ ผู้เป็นทั้งนายช่างใหญ่แห่งกรมศิลปากร และเป็นทั้งคณบดีคณะจิตรกรรม-ประติมากรรม มหาวิทยาลัยศิลปากร
ภาพประดับเหล่านี้ อาจารย์ศิลป์ปั้นด้วยแนวเหมือนจริง ละทิ้งแนวอุดมคติเหมือนครั้งที่ปั้นพระปฐมบรมราชานุสรณ์ ผู้หญิงมีรูปร่างสูงใหญ่แข็งแรงไม่อ้อนแอ้นอรชรเหมือนนางในวรรณคดี ผู้ชายมีมัดกล้ามแสดงกายวิภาคแห่งความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ เนื้อหาเน้นเรื่องราวชีวิตประจำวันของสามัญชนประกอบสัมมาชีพ อาทิ ชาวไร่ ชาวนา ชาวสวน กรรมกร ทหาร ครู หมอ พ่อค้า ที่มีอยู่จริงมิใช่เทพนิยาย
จุดเด่นที่สุดของอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยก็คือ “พานแว่นฟ้า” ที่ตั้งใจออกแบบให้เห็นว่า”สิทธิแลอธิปไตย”นั้นเป็นสิ่งที่ราษฎรช่วยกันสถาปนามาจากข้างล่างแล้วยกเทินขึ้นไว้ มิใช่เป็นการมอบลงมาจากใครเบื้องบน
ถือเป็นสถาปัตยกรรมแห่งความเสมอภาค เรียบง่ายลดทอนลวดลายกนกไทยโบราณอันฟุ่มเฟือย กล่าวให้ง่ายก็คือไม่มี “ฐานานุศักดิ์” ที่แบ่งชั้นวรรณะทางสถาปัตยกรรมกันอีกต่อไป
เรียบง่ายเสียจนถูก ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช วิจารณ์ว่าเป็นงานหยาบกระด้างแข็งกร้าว ไร้รสนิยม ถึงขั้นเหยียดหยามว่าเป็นตัวแทนของสถาปัตยกรรมแนวฟาสซิสต์
ไม่ว่าใครจะคิดเห็นเช่นไรกับอนุสาวรีย์แห่งนี้ แต่บทบาทของมันมีความน่าสนใจมากกว่าประเด็นเรื่องงาม-ไม่งาม ด้านหนึ่งนั้นมันสนองเจตนารมณ์ของผู้สร้าง ด้วยถูกใช้เป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์ในการชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตย ครั้งสำคัญคือ 14 ตุลา2516, 17-20 พฤษภา2535 และครั้งล่าสุดคือเมษา 2553 ก่อนถูกกระชับพื้นที่สลายการชุมนุมทำให้ต้องไปหาพื้นที่ใหม่คือย่านการค้าราชประสงค์
ส่วนอีกด้านหนึ่งที่น่าประหลาดใจ ก็คือในยุคของ “สฤษดิ์-ถนอม” กลับแปรความหมายใหม่นำไปใช้เป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์สำหรับจุดเริ่มต้นตรวจพลสวนสนามเนื่องในวันกองทัพไทย
ยุคเผด็จการ “อำนาจนิยม”
สู่รัฐราชาชาตินิยม (ใหม่)
จอมพล ป. พิบูลสงคราม แม้จะมาจากกลุ่มคณะราษฎร แต่เมื่อมีอำนาจมาถึงจุดหนึ่งกลับนำแนวคิดแบบ “เชื่อผู้นำชาติพ้นภัย” มาสถาปนา จนถูกมองว่าเป็นฟาสซิสต์แบบมุโสลินี กลายเป็นต้นตอของลัทธิเผด็จการ “ทหารนิยม” สืบต่อมาจนถึงยุคจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ และจอมพลถนอม กิตติขจรไปในที่สุด ทั้งๆ ที่มีอุดมการณ์ที่ต่างกันสุดขั้ว
เดิมนั้นจอมพล ป. มีเจตนาที่จะสร้างชาติไทยให้ ‘วัธนา’ ด้วยแนวคิดแบบชาตินิยม อันเป็นด้านตรงกันข้ามกับยุคสมบูรณาญาสิทธิราชย์ สมัยรัชกาลที่ 5-6 ที่เน้นแนวคิดการทำไทยให้เป็นประเทศทันสมัยตามอย่างตะวันตก
เกิดจุดหักเหระหว่างทศวรรษที่ 2490เมื่อจอมพล ป.พิบูลสงครามยอมประนีประนอมกับกลุ่มอำมาตย์มากขึ้น พร้อมกับเริ่มหวั่นเกรงภัยจากลัทธิคอมมิวนิสต์ ผลสุดท้ายก็กลายเป็นนักอนุรักษ์นิยมขวาตกขอบเหมือนเงาของคณะเจ้าอีกราย
ผลงานอนุสาวรีย์ในช่วงบั้นปลายชีวิตของอาจารย์ศิลป์ ที่ต้องรับใช้แนวคิดแบบชาตินิยมสุดโต่งของยุคจอมพล ป. ต่อเนื่องมาจนถึงลัทธิราชาชาตินิยม (ใหม่) ของยุคจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์นั้น ส่วนมากเป็นพระบรมราชานุสาวรีย์ของบูรพกษัตริยาธิราช อาทิ สมเด็จพระนเรศวรมหาราช สมเด็จพระนารายณ์มหาราช ภาพแทนแห่งการโหยหาวีรกรรมที่เต็มไปด้วยกฤษฎาภินิหารของนักรบฉกาจกล้ากึ่งสมมติเทพ
ก่อนหน้านั้นในปี 2477 ยุคที่คณะราษฎรยังมีอุดมการณ์อันเบ่งบาน อาจารย์ศิลป์เคยปั้นอนุสาวรีย์ของท้าวสุรนารีหรือย่าโมที่โคราช ในภาพลักษณ์ของหญิงแกร่งบึกบึน เป็นสัญลักษณ์ของการให้ความสำคัญแก่สตรี และเปิดพื้นที่ให้กับผู้นำในท้องถิ่นได้มีบทบาทขึ้นมาบ้าง พร้อมกับได้ดำริสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชเมื่อปี 2487 ตั้งอยู่คนละฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ตรงข้ามกับพระปฐมบรมราชานุสรณ์ที่รัชกาลที่ 7 ทรงสร้าง อันมีวาระซ่อนเร้นทางการเมืองแฝงอยู่
ความผันแปรในระบอบการปกครองที่พลิกขั้วจากเสรีประชาธิปไตยมาสู่ระบอบราชาชาตินิยมที่หวนกลับมาเชิดชูให้กษัตริย์เป็นศูนย์รวมจิตใจไทยทั้งชาติอีกครั้งนั้น ส่งผลกระทบถึงวงการประกวดศิลปกรรมแห่งชาติ ที่อาจารย์ศิลป์เป็นผู้ก่อตั้งและเป็นประธานกรรมการมาทุกยุคสมัยอย่างไม่มีทางเลี่ยง
จากรูปปั้นบุคคลสามัญชนที่ดูเป็นมนุษย์สมบูรณ์เคยได้รับการยกย่อง แนวโน้มของศิลปินที่ส่งงานเข้าประกวดในยุคระหว่าง 2490-2505 กลับนิยมนำเสนองานประติมากรรมที่อ่อนระทวยด้วยเนื้อหาวรรณคดี หรืองานจิตรกรรมแนวประเพณีหวานแหววที่เต็มไปด้วยกนกและป่าหิมพานต์ฝันเฟื่องอีกครั้ง
ครบรอบวาระ 120ปี (พ.ศ. 2555) ของอาจารย์ศิลป์ พีระศรีแล้ว ขอร่วมจุดเทียนรำลึกพร้อมร้องเพลง Santa Lucia ผ่านบทความนี้ ด้วยความสะท้อนสะเทือนใจถึงเส้นทางชีวิตอันโหดหินของบุรุษจากแดนไกลคนหนึ่ง ที่อุทิศทุ่มเทแรงกายแรงใจและมันสมอง ผลิตงานศิลปะเพื่อยกระดับวงการศิลปกรรมไทย แม้นต้องผ่านความขัดแย้งเปลี่ยนแปลงทางการเมืองมาอย่างทุลักทุเลถึงสามยุคแห่งสยามสมัย