ปิยบุตร แสงกนกกุล : ศาลรัฐธรรมนูญ (12)

หลังจากบรรยายถึงการกำเนิดและพัฒนาการของระบบตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของกฎหมายในรูปแบบรวมอำนาจไว้ที่ศาลรัฐธรรมนูญโดยเฉพาะ หรือรูปแบบยุโรปไปแล้ว ในตอนนี้จะสรุปถึงลักษณะของรูปแบบดังกล่าว

เราอาจสรุปลักษณะของระบบตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของกฎหมายในรูปแบบรวมอำนาจได้

ดังนี้

1.ระบบรวมอำนาจการตรวจสอบไว้ที่ศาลเฉพาะเพียงศาลเดียว อำนาจในการตรวจสอบกฎหมายมิให้ขัดต่อรัฐธรรมนูญเป็นขององค์กรตุลาการที่ตั้งขึ้นมาเฉพาะเพื่อการนี้เท่านั้น ซึ่งส่วนใหญ่แล้วมักใช้ชื่อว่า “ศาลรัฐธรรมนูญ” (Constitutional Court) ศาลอื่นๆ ทั้งหลายไม่อาจตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของกฎหมายได้ หากมีประเด็นดังกล่าวขึ้นในศาลใด ศาลนั้นต้องส่งประเด็นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย

มีปัญหาควรพิจารณาต่อไปว่าองค์กรที่ตั้งขึ้นมาโดยเฉพาะเพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบกฎหมายมิให้ขัดรัฐธรรมนูญจำเป็นต้องมีสถานะเป็นองค์กรตุลาการหรือศาลเสมอไปหรือไม่?

ตัวอย่างเช่น ประเทศฝรั่งเศสที่มีคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ หรือ Conseil constitutionnel หรือประเทศอื่นๆ ที่รับรูปแบบของฝรั่งเศสไปใช้ เช่น กัมพูชา หรือประเทศในแอฟริกาอดีตอาณานิคมของฝรั่งเศส เช่น เซเนกัล บูร์กินาฟาโซ โก๊ตดิวัวร์ โมร็อกโก เป็นต้น จะถือได้ว่าประเทศเหล่านี้ใช้รูปแบบรวมอำนาจไว้ที่ศาลโดยเฉพาะหรือไม่?

หากพิจารณาในทางรูปแบบแล้ว คณะตุลาการรัฐธรรมนูญไม่ได้มีสถานะเป็นองค์กรตุลาการหรือศาล ด้วยหลายเหตุผล ได้แก่ ตัวบทรัฐธรรมนูญไม่ได้ยืนยันสถานะความเป็นองค์กรตุลาการแก่คณะตุลาการรัฐธรรมนูญไว้

องค์ประกอบและที่มาของตุลาการรัฐธรรมนูญมีลักษณะ “การเมือง” มากกว่าการเป็นตุลาการอาชีพ และไม่มีบทบัญญัติกฎหมายใดรับรองให้ตุลาการรัฐธรรมนูญมีสถานะเป็นข้าราชการตุลาการ

อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาในทางเนื้อหาแล้ว อาจกล่าวได้ว่าคณะตุลาการรัฐธรรมนูญเป็นองค์กรตุลาการ เพราะ อำนาจในการตรวจสอบกฎหมายมิให้ขัดรัฐธรรมนูญ และอำนาจในคดีรัฐธรรมนูญอื่นๆ มีลักษณะเป็นการวินิจฉัยชี้ขาดคดี การตัดสินคดีมีผลเป็นที่สุด มีหลักประกันความเป็นกลางและความเป็นอิสระ ตลอดจนมีกระบวนพิจารณาคดีที่เหมือนกับศาล

นอกจากนี้ ในฝรั่งเศสซึ่งเป็นต้นแบบของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญเอง ได้พยายามปฏิรูปคณะตุลาการรัฐธรรมนูญเสียใหม่ให้มีความเป็นศาลเต็มรูปแบบมากขึ้น

โดยสรุป เราสามารถยืนยันได้ว่า ประเทศที่ใช้ “คณะตุลาการรัฐธรรมนูญ” ก็ถือเป็นประเทศที่อยู่ในกลุ่มรูปแบบรวมอำนาจการตรวจสอบไว้ที่องค์กรเดียวโดยเฉพาะเช่นเดียวกันกับประเทศที่ใช้ “ศาลรัฐธรรมนูญ” หากจะแตกต่างก็แตกต่างกันเพียงแค่ชื่อ ที่มา และองค์ประกอบขององค์กรเท่านั้น


2.การตรวจสอบแบบรูปธรรม (concrete control) และการตรวจสอบแบบนามธรรม (abstract control)
ศาลรัฐธรรมนูญอาจตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของกฎหมายในลักษณะรูปธรรม ได้แก่ กรณีมีคดีข้อพิพาทเกิดขึ้นกันในศาล และศาลจะนำกฎหมายมาใช้บังคับแก่คดี โดยมีประเด็นว่ากฎหมายที่จะนำมาใช้บังคับแก่คดีนั้นขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่

ศาลต้องยุติการพิจารณาคดีไว้ชั่วคราวแล้วส่งประเด็นนั้นไปให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่ากฎหมายนั้นขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ เมื่อศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยแล้ว ศาลแห่งคดีจึงพิจารณาคดีได้ต่อไป

นอกจากนี้ ศาลรัฐธรรมนูญยังอาจตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของกฎหมายในลักษณะนามธรรมได้อีกด้วย

กล่าวคือ กรณีที่กฎหมายยังไม่ได้ถูกนำไปใช้ในคดีหรือยังไม่มีคดีข้อพิพาทอะไรเกิดขึ้นเลย แต่เป็นกรณีที่องค์กรทางการเมืองที่มีอำนาจในการเสนอคำร้องไปยังศาลรัฐธรรมนูญ พิจารณาแล้วเห็นว่ากฎหมายขัดต่อรัฐธรรมนูญ จึงเสนอคำร้องไปให้ศาลรัฐธรรมนูญตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของกฎหมาย

กรณีเช่นนี้แตกต่างจากรูปแบบกระจายอำนาจการตรวจสอบให้ศาลทุกศาล หรือรูปแบบอเมริกา ซึ่งไม่มีทางที่จะมีการตรวจสอบในลักษณะนามธรรม (abstract control) ได้เลย

เพราะศาลทั้งหลายจะตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของกฎหมายได้ก็ต่อเมื่อมีคดีพิพาทไปถึงศาลเสียก่อน แล้วศาลจะนำกฎหมายมาใช้แก่คดี แต่มีประเด็นว่ากฎหมายนั้นขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ ซึ่งเป็นการตรวจสอบในลักษณะรูปธรรม (concrete control)

ในขณะที่ในรูปแบบรวมอำนาจการตรวจสอบให้ศาลรัฐธรรมนูญ สามารถออกแบบให้มีทั้งการตรวจสอบในลักษณะนามธรรมและรูปธรรมได้

3.การตรวจสอบก่อนกฎหมายประกาศใช้ (a priori control) และการตรวจสอบหลังจากกฎหมายประกาศใช้ (a posteriori control) ในระบบรวมอำนาจการตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมนูญไว้ที่ศาลรัฐธรรมนูญของบางประเทศอาจกำหนดให้มีการตรวจสอบได้ภายหลังกฎหมายประกาศใช้แล้วเท่านั้น

เช่น เยอรมนี โดยให้เหตุผลว่า กฎหมายที่ยังไม่ประกาศใช้ มีสถานะเป็นเพียงร่างกฎหมาย ไม่มีผลทางกฎหมาย ดังนั้น จึงไม่อาจเป็นวัตถุแห่งคดีที่ศาลจะสามารถเข้าไปตัดสินได้ เมื่อศาลรัฐธรรมนูญเป็นศาลก็ต้องตัดสินแต่เฉพาะสิ่งที่มีผลในทางกฎหมายแล้วเท่านั้น

ในขณะที่บางประเทศอาจกำหนดให้มีแต่เฉพาะการตรวจสอบก่อนกฎหมายประกาศใช้ เช่น ฝรั่งเศสในช่วงก่อนปี 2008 โดยอธิบายว่า ฝรั่งเศสยึดถือคติว่ากฎหมายตราขึ้นโดยเจตจำนงทั่วไป (general will) ของประชาชนผ่านทางผู้แทนประชาชน

ดังนั้น องค์กรอื่นใดก็ไม่สามารแก้ไขหรือเปลี่ยนแปลงเจตจำนงทั่วไปของประชาชนนี้ได้นอกจากประชาชนหรือผู้แทนของประชาชน

ดังนั้น องค์กรตุลาการก็ดี คณะตุลาการรัฐธรรมนูญก็ดี จึงไม่มีอำนาจที่จะวินิจฉัยให้กฎหมายเหล่านี้สิ้นผลไป แม้กฎหมายนั้นจะขัดรัฐธรรมนูญก็ตาม

หากเป็นเช่นนี้ หลักความเป็นกฎหมายสูงสุดของรัฐธรรมนูญย่อมถูกกระทบ ดังนั้น เพื่อให้รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดได้อย่างแท้จริงก็ต้องหาวิธีการตรวจสอบว่ากฎหมายขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ให้ได้ เมื่อตรวจสอบและวินิจฉัยชี้ขาดให้กฎหมายที่ขัดรัฐธรรมนูญสิ้นผลไปไม่ได้ จึงต้องใช้วิธีการตรวจสอบก่อนประกาศใช้กฎหมายแทน เพราะในขณะนั้นยังเป็นแค่เพียงร่างกฎหมายเท่านั้น

เป็นการตรวจสอบร่างกฎหมาย ไม่ใช่ตรวจสอบกฎหมายที่เป็นเจตจำนงของประชาชนแล้ว

อย่างไรก็ตาม ฝรั่งเศสได้แก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญในปี 2008 ยอมให้มีการตรวจสอบภายหลังกฎหมายประกาศใช้แล้วได้ จึงเท่ากับว่า ปัจจุบัน ฝรั่งเศสมีทั้งการตรวจสอบก่อนประกาศใช้กฎหมายและหลังประกาศใช้กฎหมาย

หากเปรียบเทียบกับระบบกระจายการตรวจสอบไปยังศาลทุกศาลแบบอเมริกา จะพบว่าการตรวจสอบก่อนกฎหมายประกาศใช้นั้นไม่มีทางการเกิดขึ้นได้เลย เพราะในเวลานั้น กฎหมายยังไม่มีผลใช้บังคับ จึงไม่อาจเกิดกรณีที่บุคคลถูกกระทบสิทธิและเกิดเป็นคดีขึ้นในศาลจนเกิดประเด็นว่ากฎหมายที่จะใช้แก่คดีขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่

4.การตรวจสอบผ่านประเด็นหลัก (Voie d”action) และการตรวจสอบผ่านประเด็นรองแห่งคดี (Voie d”exeption) ในกรณีที่เป็นตรวจสอบในลักษณะรูปธรรม (concrete control) ต้องเป็นการตรวจสอบผ่านประเด็นรองแห่งคดีเสมอ

กล่าวคือ มีคดีเกิดขึ้นในศาลและศาลจะต้องนำกฎหมายไปใช้ในการตัดสินคดี แต่ก่อนที่ศาลจะนำกฎหมายดังกล่าวไปใช้ในการตัดสินคดีได้นั้น มีประเด็นที่ศาลต้องวินิจฉัยเสียก่อนว่ากฎหมายที่ศาลจะนำไปใช้ในการตัดสินคดีนั้นขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ อันเป็นประเด็นรองแห่งคดี ซึ่งศาลแห่งคดีต้องส่งไปให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเสียก่อน หลังจากนั้นศาลจึงจะสามารถเข้าไปตัดสินในเนื้อของคดีหรือประเด็นหลักของคดีได้

ส่วนการตรวจสอบในลักษณะนามธรรม (abstract control) นั้น เป็นการตรวจสอบผ่านประเด็นหลักแห่งคดี คือ องค์กรผู้มีอำนาจเสนอคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ได้เสนอคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยประเด็นความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของกฎหมายโดยตรง และเป็นประเด็นหลักของคดี

ไม่ได้พ่วงไปกับประเด็นอื่นๆ

5.ผลของคำวินิจฉัยแบบสัมบูรณ์ (absolute ; erga omnes) เมื่อการตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของกฎหมายได้รวมศูนย์อยู่ที่ศาลรัฐธรรมนูญแต่เพียงผู้เดียว และศาลอื่นๆ ไม่มีอำนาจในเรื่องนี้แล้ว

หากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเป็นประการใด ก็ย่อมมีผลสัมบูรณ์ ผูกพันทุกองค์กร ไม่ใช่มีผลผูกพันเฉพาะคู่ความเท่านั้น

เช่น ในกรณีที่ศาลแห่งคดีได้ส่งประเด็นให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาว่ากฎหมายที่จะนำมาใช้แก่คดีนั้นขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ ถ้าศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่ากฎหมายนั้นขัดกับรัฐธรรมนูญ กฎหมายนั้นก็สิ้นผลไป ศาลแห่งคดีก็ไม่อาจนำกฎหมายนั้นมาใช้แก่คดีได้ เพราะกฎหมายสิ้นผลไปแล้ว เช่นเดียวกัน องค์กรอื่นๆ ทั้งหมดก็ไม่อาจนำกฎหมายนี้มาใช้ได้อีก

เพราะกฎหมายได้สิ้นผลไปแล้ว