นงนุช สิงหเดชะ /คำชมจาก UNHCR ให้สัญชาติ 4 หมูป่า-คสช.หน้าบาน

บทความพิเศษ / นงนุช สิงหเดชะ

คำชมจาก UNHCR

ให้สัญชาติ 4 หมูป่า-คสช.หน้าบาน

“UNHCR ยกย่องรัฐบาลไทย ที่อนุมัติสัญชาติให้แก่เด็กและโค้ชที่ได้รับการช่วยเหลือออกมาจากถ้ำ”
นี่คือพาดหัวข้อความตัวใหญ่ที่ปรากฏอยู่บนหน้าแรกของเว็บไซต์ สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) ประเทศไทยเมื่อวันที่ 9 สิงหาคมที่ผ่านมา
และยังปราฏอยู่จนถึง ณ วันที่กำลังเขียนบทความนี้
คำยกย่องดังกล่าว มีขึ้นหลังจากนายสมศักดิ์ คณาคำ นายอำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย ทำพิธีมอบบัตรประชาชนให้กับบุคคลที่ได้รับสถานะเป็นสัญชาติไทย ตามมาตรา 7 ทวิ และมาตรา 23 ตาม พ.ร.บ.สัญชาติฯ จำนวน 30 คน เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม
ในจำนวนนี้มีสมาชิกทีมฟุตบอลเยาวชนหมูป่าอะคาเดมี และโค้ชรวม 4 คน ซึ่งไปติดอยู่ในถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน ที่เป็นข่าวดังไปทั่วโลกรวมอยู่ด้วย
ทีมหมูป่า 4 คนดังกล่าวที่ได้รับสัญชาติไทยประกอบด้วย นายเอกพล จันทะวงษ์ หรือโค้ชเอก เนื่องจากเข้าข่ายมาตรา 23 ตาม พ.ร.บ.สัญชาติฯ
กล่าวคือ เกิดที่โรงพยาบาลแม่สาย มีพ่อหรือแม่เกิดในไทย มีหลักฐานการเกิด มีความประพฤติดี ทำคุณประโยชน์ให้สังคม
ส่วนอีก 3 คนคือ ด.ช.อดุลย์ สามอ่อน ด.ช.มงคล บุญเปี่ยม และ ด.ช.พรชัย คำหลวง เป็นไปตามมาตรา 7 ทวิ กล่าวคือ ผู้ปกครองได้ไปยื่นคำร้องการเกิดที่เทศบาลแม่สาย และเทศบาลเวียงพานคำ ได้รับใบรับรองการเกิด
จากนั้นนำมายื่นกับนายอำเภอเพื่อขออนุมัติสัญชาติไทย

แคโรล แบตเชเลอร์ ที่ปรึกษาพิเศษด้านภาวะไร้รัฐไร้สัญชาติ ของ UNHCR ระบุในแถลงการณ์ว่า
“การได้รับสัญชาติจากประเทศไทยได้ช่วยให้พวกเขากล้าที่จะฝันถึงอนาคตที่ดีขึ้น และนำความสามารถของตัวเองมาใช้ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ และให้พวกเขาสามารถเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของสังคมอย่างเต็มตัว… UNHCR ยกย่องประเทศไทยในความตั้งใจแก้ไขปัญหาดังกล่าว และหวังเป็นอย่างยิ่งว่ารัฐทุกรัฐที่มีประชากรไร้รัฐไร้สัญชาติอาศัยอยู่ จะดำเนินการเพื่อยุติภาวะที่ส่งผลกระทบในเชิงลบต่อมนุษยชาติ”
เว็บไซต์ UNHCR ระบุอีกว่าท่ามกลางความท้าทายที่เกิดขึ้น ประเทศไทยได้แสดงให้เห็นถึงความเป็นผู้นำในระดับภูมิภาคในการดำเนินการเพื่อแก้ไขปัญหา โดยได้อนุมัติสัญชาติไทยแก่บุคคลไร้รัฐไร้สัญชาติไปแล้วประมาณ 100,000 คนตั้งแต่ปี พ.ศ.2551
และมุ่งมั่นที่จะหาทางแก้ไขปัญหาเรื่องสัญชาติให้กับประชากรอีก 480,000 คนภายในปี พ.ศ.2567

ภายหลังที่ปรากฏข่าวมอบสัญชาติออกมา มีหลายคนแสดงความเห็นในทำนองประชดประชันว่า ถ้าอยากได้สัญชาติไทยต้องไปติดถ้ำก่อนใช่ไหม
นอกจากนี้ก็มีการตั้งข้อสังเกตว่ารัฐบาล “เกาะกระแส” จากกรณีที่ข่าวปฏิบัติการช่วยเหลือชีวิต 13 หมูป่าเป็นข่าวโด่งดังระดับโลกมากที่สุดข่าวหนึ่ง
และรัฐบาลและเจ้าหน้าที่ไทยได้รับการยกย่องจากนานาชาติว่าสามารถบริหารจัดการช่วยเหลือเด็กและโค้ช 13 คนได้อย่างมืออาชีพและมีประสิทธิภาพ สามารถระดมผู้เชี่ยวชาญและสรรพกำลังจากทั่วโลกมาช่วยได้สำเร็จ
แม้แต่นักวิจารณ์ชาวต่างชาติบางรายก็ยังยอมรับว่า เหตุการณ์ถ้ำหลวงมีส่วนช่วยให้รัฐบาลได้รับคะแนนนิยมและช่วยให้คนนอกมองข้ามเรื่องที่ไทยเป็นประเทศที่ปกครองด้วยเผด็จการอยู่ในขณะนี้
พูดให้ชัดก็คือทำให้รัฐบาลได้เปรียบในเชิงการเมือง
ปฏิเสธไม่ได้ว่าข่าว 13 ชีวิตติดถ้ำ ที่สื่อมวลชนทั้งไทยและต่างชาติต่างพากันไปขุดคุ้ยว่าแต่ละคนเป็นใคร ทำให้ในที่สุดก็พบว่าโค้ชเอกและเด็กอีก 3 คน ยังมีสถานะเป็นคนไร้สัญชาติ ไม่ใช่ทั้งคนไทยหรือพม่า
น่าจะมีส่วนกระตุ้นให้เกิดการมอบสัญชาติเร็วขึ้น
การมอบในช่วงนี้ก็จะเป็นโอกาสให้เกิดจุดเด่นในสายตาประชาคมระหว่างประเทศเพราะกระแสยังร้อน ดังนั้น ก็ไม่ผิดนักที่จะมีเสียงพูดว่าการติดถ้ำ ช่วยให้ทั้ง 4 คนได้รับอนุมัติสัญชาติเร็วขึ้น
แม้ทางการจะชี้แจงว่าทำไปตามขั้นตอน เพราะทั้ง 4 คนได้ยื่นคำร้องตามกระบวนการมาก่อนหน้านี้นานแล้วก็ตาม

ข่าวการได้สัญชาติของ 4 หมูป่า ทำให้เกิดเสียงโวยวายจากชนกลุ่มน้อยไร้สัญชาติ ที่ยังไม่ได้รับอนุมัติสัญชาติ เช่น หม่อง ทองดี (ปัจจุบันอายุ 21 ปี) ซึ่งคว้ารางวัลชนะเลิศจากการแข่งขันร่อนเครื่องบินกระดาษพับที่ญี่ปุ่นเมื่อปี 2552 ในรัฐบาลยุคนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ซึ่งถือว่าทำคุณประโยชน์ในฐานะสร้างชื่อเสียงให้กับประเทศไทย
แต่ผ่านมา 9 ปี ก็ยังไม่ได้รับสัญชาติ ทำให้หม่องออกมาทวงสิทธิ์บ้าง ซึ่งทางกรมการปกครองแจ้งว่า หากมีหน่วยงานรัฐออกหนังสือรับรองการทำคุณประโยชน์ให้ก็สามารถนำมายื่นขอสัญชาติได้
ต่อมานายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ในฐานะที่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในปี 2552 และคุณหญิงกัลยา โสภณพนิช อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ในฐานะหัวหน้าหน่วยงานที่สนับสนุนการเดินทางไปแข่งขันร่อนเครื่องบินกระดาษพับที่ประเทศญี่ปุ่น ได้ออกหนังสือรับรองให้แล้วเพื่อนำไปขอสัญชาติ
จากข่าวล่าสุดมีแนวโน้มว่าอีกไม่นาน หม่อง ทองดี บุตรชาวไทใหญ่ จากรัฐฉาน ซึ่งอาศัยอยู่ที่ ต.สุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ จะได้รับสัญชาติไทย

คาดเดาได้ไม่ยากว่า บรรทัดฐานจากกรณี 4 หมูป่า น่าจะทำให้คนไร้สัญชาติในไทยอีกมากออกมาเรียกร้องสิทธิ์บ้าง ซึ่งหากดูตามข้อมูลของ UNHCR แล้วก็หมายความว่าไทยอาจต้องให้สัญชาติอีกประมาณ 4.8 แสนคนภายในปี 2567 จากที่ให้ไปแล้ว 1 แสนคน
แน่นอนว่าเรื่องทำนองนี้ย่อมได้รับคำยกย่องจากองค์กรนานาชาติ และไทยก็ถูกมองว่าเป็น “เด็กดี” อีกทั้งก็มีความเป็นไปได้ที่จะชดเชยภาพของรัฐบาลที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง
อย่างน้อยหากองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนอื่นๆ จะเพิ่มแรงกดดันต่อรัฐบาลด้วยข้อกล่าวหาว่าเผด็จการ แต่ก็จะมีคำยกย่องจาก UNHCR ดังกล่าวมาชดเชยไปได้บางส่วน
อย่างไรก็ตาม การให้สัญชาติบุคคลที่ไม่ใช่คนไทย ในอีกด้านหนึ่งก็ต้องพยายามรักษาสมดุลทางอารมณ์ของสังคมด้วย เพราะหากให้ง่ายและมากเกินไปเพื่อจะได้รับการยกย่องจากองค์กรนานาชาติ ก็อาจจะถูกคนในประเทศบางส่วนมีความรู้สึกว่าถูกคนจากที่อื่นมาแย่งใช้ทรัพยากรในประเทศ
ปัจจุบันประเด็นดังกล่าวกลายเป็นเรื่องอ่อนไหวทั่วโลก โดยเฉพาะยุโรปในขณะนี้ที่กำลังประสบปัญหาคลื่นผู้อพยพหลั่งไหลเข้าไปไม่เว้นแต่ละวัน ซึ่งเมื่อใจดีรับมากเข้า รัฐบาลก็เจอกระแสต่อต้านจากคนในประเทศ
การให้สัญชาติคนจากที่อื่น อาจได้แต้มจากนานาชาติว่ามีมนุษยธรรม แต่อาจไม่ได้แต้มจากคนในประเทศ