ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ l ‘ครอบครัวญี่ปุ่น’ ไม่ใช่สวรรค์บนดินเหมือนอย่างที่คิด

ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์www.facebook.com/sirote.klampaiboon

Shoplifters (2) : ‘ครอบครัวญี่ปุ่น’ ไม่ใช่สวรรค์บนดิน

คลิกอ่าน ตอน (1)   ญี่ปุ่นที่เห็นไม่ใช่ญี่ปุ่นที่คิด

 

ภาพลักษณ์ของประเทศญี่ปุ่นในสายตาของคนทั่วไปคือดินแดนที่คนส่วนใหญ่มีเงิน และต่อให้ตัวเลขทางเศรษฐกิจของญี่ปุ่นในช่วงสิบกว่าปีนี้จะย่ำแย่เพียงไร

ภาพจำที่คนมีต่อประเทศนี้ก็ยังเป็นภาพคนใส่สูทดำขึ้นรถไฟฟ้าความเร็วสูงไปทำงานในอภิมหานครซึ่งแสงไฟหลากสีที่สุกสกาวไม่รู้จบแบบที่เห็นในทีวี

ถ้าเปรียบประเทศเป็นสินค้า ผู้ศึกษาสังคมญี่ปุ่นก็ชี้ว่าโลกรับรู้สินค้าชื่อ “ประเทศญี่ปุ่น” ผ่าน “แบรนด์” ที่ผสานเอกลักษณ์ทางภาษา-อาหาร-ประเพณี กับความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีทั้งหมด

ญี่ปุ่นที่โลกรับรู้จนเห็นภาพตามไปด้วยจึงเป็นดินแดนที่จารีตผสมความทันสมัยจนเกิดสังคมที่ใกล้ความสมบูรณ์แบบขึ้นมา

ก่อนที่เศรษฐกิจจะฟื้นตัวในสองปีที่ผ่านมา ภาพลักษณ์ที่ญี่ปุ่นสร้างต่อโลกอาจสรุปเป็นคำสั้นๆ ว่า Cool Japanซึ่งหมายถึงการทำให้สินค้าวัฒนธรรมที่ดูเป็นญี่ปุ่นตั้งแต่เกม, อนิเมะ, อาหาร, เกิร์ลกรุ๊ป, มังงะ ฯลฯ มีความเจ๋ง

จนต่อมาคำนี้มีนัยถึงประเทศขึ้นเรื่อยๆ กระทั่งญี่ปุ่นเป็นเหมือนหนังการ์ตูนที่เจิดจ้าตลอดเวลา

ในบริบทของประเทศที่การสร้างภาพลักษณ์แนบแน่นกับการทำให้โลกเชื่อมั่น หนังอย่าง Shoplifters ซึ่งตัวละครทั้งครอบครัวขี้ขโมยจนสอนเด็กสี่ขวบให้เป็นโจรถูกมองว่าทำลายภาพพจน์ประเทศ

กลุ่มชาตินิยมที่สนับสนุนรัฐบาลจึงโจมตีว่าหนัง “ต่อต้านญี่ปุ่น” แม้คนญี่ปุ่นที่ดูหนังเรื่องนี้จะมีมหาศาลก็ตาม

บทความนี้ตอนที่แล้วพูดถึงหนังที่มีชื่อไทยว่า “ครอบครัวที่ลัก” ในแง่การเย้ยหยันอย่างลุ่มลึกต่ออุดมคติเรื่องครอบครัวโดยให้อุดมคตินี้ถูกปฏิบัติโดยครอบครัวที่เละที่สุด ส่วนตอนนี้จะอธิบายต่อว่าหนังญี่ปุ่นที่ได้รางวัลคานส์ครั้งแรกใน 21 ปี โชว์ความเหนือชั้นในการรื้อถอนนิทานเรื่องครอบครัวสมัยใหม่อย่างไร

ครอบครัวคนจน : กลไกเพื่อความอยู่รอด

ญี่ปุ่นที่โลกเห็นมีระบบเศรษฐกิจใหญ่จนประชาชนมีมาตรฐานการดำรงชีวิตสูงกว่าที่อื่น แต่ญี่ปุ่นที่โลกไม่เห็นนั้นมีคนจนมากเป็นอันดับต้นของประเทศร่ำรวยด้วยกัน

ตัวอย่างเช่น OECD ระบุว่าญี่ปุ่นปี 2011 มีคนจน 15.7% สูงกว่าค่าเฉลี่ยของกลุ่มที่ 11% โดยความจนสูงขึ้น 1.3% ทุกปีหลัง ค.ศ.1985 เป็นต้นมา

ถ้าถือว่าคนจนคือคนที่รายได้ครอบครัวต่ำกว่าครึ่งหนึ่งของรายได้เฉลี่ยครัวเรือนทั่วไป กระทรวงแรงงานญี่ปุ่นเคยระบุในปี 2009 ว่าคนญี่ปุ่นที่เข้าข่ายยากจนมีสัดส่วน 1 ใน 6 หรือราวๆ 22 ล้าน

ส่วนรัฐบาลญี่ปุ่นเปิดเผยในปี 2013 ว่าคนญี่ปุ่นที่ถือว่าเป็นคนจนตามเกณฑ์นี้มี 16% ซึ่งเป็นตัวเลขสูงสุดเป็นประวัติการณ์

ข้อมูลที่น่าตกใจกว่าคือมีการประเมินว่าเด็กญี่ปุ่น 1 ใน 6 อยู่ในครอบครัวยากจน, แม่เลี้ยงเดี่ยวครึ่งหนึ่งมีสถานะทางเศรษฐกิจแบบนี้, ปริมาณคนญี่ปุ่นที่มีงานประจำลดลงเรื่อยๆ

ยิ่งกว่านั้นคือคนที่ตายเพราะทำงานหนักเกินไปที่เรียกว่า Karoshi สูงขึ้นทุกวัน

คล้ายกับรัฐบาลประยุทธ์ที่ใช้เศรษฐกิจห่วยๆ เป็นข้ออ้างในการกดค่าแรง รัฐบาลอาเบะ “ปฏิรูปแรงงาน” ให้คนงานที่รายได้ไม่พอใช้ไปทำงานล่วงเวลาได้เดือนละ 100 ชั่วโมง ทั้งที่กระทรวงสาธารณสุขเห็นว่าคนงานไม่ควรทำแบบนี้เกินเดือนละ 80 ชั่วโมง รวมทั้งไม่ทำอะไรที่งานหลายประเภทเลิกจ่ายค่าล่วงเวลา

ด้วยสภาพเศรษฐกิจและการให้ท้ายของรัฐบาล ชนชั้นแรงงานที่เคยมีงานประจำกลายเป็นคนงานไม่เต็มเวลา-ลูกจ้างชั่วคราว-ลูกจ้างเหมาช่วง ซึ่งทำให้แต่ละคนมีรายได้และสวัสดิการถดถอยในที่สุด จากนั้นครอบครัวเริ่มมีรายได้ลดลง และที่สุดก็เกิดปัญหาความไม่สามารถเลี้ยงดูลูกๆ รวมทั้งพ่อแม่วัยชรา

ใน Shoplifters ตัวละครหลักทั้งหมดคือคนชั้นล่างที่ชีวิตหายนะเพราะความไม่มั่นคงทางเศรษฐกิจ

พ่อเป็นกรรมกรก่อสร้างที่ไม่ใช่คนงานประจำจนไม่ได้เงินชดเชยที่ขาหักจากการทำงาน

แม่ถูกนายจ้างร้านซักรีดลดชั่วโมงทำงานก่อนให้ออกโดยไม่ได้อะไร

ส่วนย่าถูกลูกทิ้งโดยอ้างว่าไปทำงานที่อื่นแล้วไม่ติดต่อมา

ตรงข้ามกับภาพลักษณ์ญี่ปุ่นที่มีแต่มนุษย์สูทโตเกียวและความสงบของเกียวโต โคริเอดะเปิดให้โลกเห็นว่าญี่ปุ่นเต็มไปด้วยคนจนที่ถูกกดดันทางเศรษฐกิจจนต้องดิ้นรนทุกทางเพื่อมีชีวิต

รัฐไม่ช่วยอะไรคนกลุ่มนี้ ยิ่งกว่านั้นคือสายสัมพันธ์หรือ “เครือข่าย” ทางสังคมทำให้คนกลุ่มนี้เอาตัวรอดยิ่งกว่านโยบายรัฐบาล

ภายใต้ตัวละครที่ไม่ผูกพันทางสายเลือดกันเลย การอยู่ร่วมกันคือหนทางเดียวที่ทำให้ทุกคนอยู่ได้

คนแก่ที่ถูกทิ้งได้เพื่อนและข้าวปลาจากการให้กรรมกรและลูกจ้างซักรีดซึ่งไว้ใจได้มาอยู่ร่วมกัน

คนกลุ่มหลังได้ที่พักซึ่งค่าแรงทั้งคู่ไม่พอจ่าย และต่อให้ได้บ้านฟรีแบบนี้ ทั้งคู่ก็ยังต้องขโมยของกินของใช้มาจุนเจือกัน

สำหรับคนจนแล้ว ความขัดสนผลักดันให้เกิดความสัมพันธ์ซึ่งเป็นจิ๊กซอว์ให้ทุกคนเข้าใกล้ชีวิตที่ดี

นอกจากย่าและพ่อแม่เก๊ๆ ซึ่งเป็นตัวละครที่ชี้ว่าความไม่มั่นคงทางเศรษฐกิจทำลายชีวิตคนชั้นล่างอย่างไร ตัวละครหลักอีกกลุ่มได้แก่ หลานสาว, ลูกชายปลอมๆ รวมทั้งเด็กผู้หญิงอายุราวสามสี่ขวบซึ่งอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านเป็นสมาชิกครอบครัวปลอมๆ ที่ทั้งหมดเป็นผลผลิตของการพังทลายของระบบครอบครัวจริงๆ

ในเรื่องเล่าของโคริเอดะ หลานสาวซึ่งเลี้ยงชีพโดยรับจ้างสำเร็จความใคร่ให้ผู้ชายดูในร้านเซ็กซ์ช็อปสายขายพวกหื่นเด็กมัธยมปลายหรือ JK (Joshi Kosei) ที่แท้กลับเป็นลูกของลูกอดีตผัวย่ากับเมียใหม่ที่ได้กันหลังเลิกกับย่าไปแล้ว เด็กสาวจึงไม่ใช่หลานโดยสายเลือดกับย่าเหมือนทุกคนที่ไม่ใช่ญาติพี่น้องโดยธรรม

อย่างไรก็ดี หนังบอกให้ผู้ชมรู้ต่อไปว่าเด็กสาวหนีมาอยู่กับย่าโดยไม่บอกพ่อแม่ที่รวยจนส่งลูกอีกสองคนไปเรียนเมืองนอก

เด็กสาวจึงเข้าข่ายคนหายที่พ่อแม่แท้ๆ ไม่เคยแจ้งความให้ตำรวจตามหาตลอดสามปี

เธอจึงเป็นผลผลิตของครอบครัวแท้ๆ ซึ่งเห็นลูกวัยสาวชั้นมัธยมไร้ค่าจนไม่สนเรื่องลูกหายแม้แต่นิดเดียว

การที่เด็กสาวหนีจากพ่อแม่แท้ๆ มาอยู่กับย่าปลอมๆ แสดงให้เห็นว่าครอบครัวนี้มีปัญหาบางอย่างแน่ๆ

และการที่พ่อแม่แท้ๆ ไม่สนเรื่องลูกหายก็ยิ่งแสดงความล่มสลายของครอบครัวตามสายเลือดยิ่งขึ้นไปอีก

แต่ผู้กำกับฯ ก็ยังขยี้ประเด็นนี้โดยให้ตัวละครเด็กเล็กอีกสองรายมาจากภูมิหลังของครอบครัวที่เลวร้ายลงไป

ในกรณีโชตะซึ่งเป็นตัวละครเด็กชายอายุราวสิบขวบ ผู้ชมจะรู้ในภายหลังว่าพ่อแม่ปลอมๆ เก็บเด็กคนนี้มาเลี้ยงตั้งแต่แบเบาะไม่ต่างจากลูกแท้ๆ

หลังจากทั้งคู่พยายามขโมยของในรถจนพบเด็กที่กำลังหลับอยู่ในรถที่พ่อแม่แท้ๆ จอดทิ้งแล้วเข้าไปเล่นพนันปาจิงโกะโดยไม่สนว่าลูกจะเป็นจะตาย

ในกรณีจูริซึ่งเป็นเด็กหญิงอายุราวสี่ขวบ พ่อกรรมกรและโชตะพบเธอถูกพ่อแม่ทิ้งให้อยู่คนเดียวริมระเบียงห้องเช่าแม้กลางดึกของคืนที่เหน็บหนาวซ้ำแล้วซ้ำเล่า

ถัดไปผู้ชมจะเห็นว่าเด็กถูกพ่อแม่ทำร้ายจนเกิดแผลเป็นบนร่างกายและบาดแผลในจิตใจ

จากนั้นเด็กเลือกอยู่กับครอบครัวเก๊ๆ ดีกว่าไปหาพ่อแม่จริงๆ

ตัวละครเด็กในเรื่อง “ครอบครัวที่ลัก” ทั้งสามรายเป็นสักขีพยานของความโหดร้ายจากครอบครัวที่พ่อแม่แท้ๆ

กรณีแรกไม่ให้ความอบอุ่นจนลูกเลือกไปอยู่กับย่าปลอมๆ

กรณีที่สองติดการพนัน

และกรณีที่สามทำร้ายเด็ก โดยพ่อแม่ทั้งสามกรณีไม่เคยแจ้งความเรื่องลูกหายหรือพยายามติดตามลูกตัวเองกลับมา

หากประกบชีวิตของตัวละครหลักทั้งหกเข้าด้วยกัน Shoplifters ฉายภาพญี่ปุ่นที่โดยปกติแล้วโลกมองไม่เห็นว่าประกอบด้วยคนที่ถูกทิ้งจากครอบครัวและระบบเศรษฐกิจ ความถดถอยทางเศรษฐกิจทำให้คนจนซึ่งชีวิตพังทลาย ขณะที่คนรวยผู้อยู่ปลายยอดของระบบเศรษฐกิจก็ไม่ได้ทำให้เกิดสถาบันครอบครัวที่ดี

แม้โดยผิวเผินแล้วหนังเรื่องนี้เหมือน Romanticizing การสร้างครอบครัวของคนจนที่ไร้ความผูกพันทางสายเลือดว่าสามารถทำให้เกิดครอบครัวที่ดี แต่หนังชี้ต่อไปว่าครอบครัวที่อบอุ่นนี้มีเนื้อแท้ที่เปราะบาง

ในช่วงกลางของหนังซึ่งเป็นเหมือนเรื่องเล่าที่ไม่มีอะไรสำคัญ ย่าหลับแล้วจู่ๆ ไม่ตื่นขึ้นมา จากนั้นทุกคนตกลงฝังศพย่าไว้หลังบ้านโดยไม่จัดงานศพ

เหตุผลแรกคือค่าจัดแพงจนจ่ายไม่ไหว แต่อีกเหตุผลที่หนังไม่ได้พูดก็คืองานศพจะทำให้ลูกแท้ๆ รับมรดกบ้านพร้อมที่ดินจนไม่มีทางให้ครอบครัวปลอมๆ อยู่ที่นี่ต่อไป

ทันทีที่ย่าตายลง การจรรโลงความเป็นครอบครัวที่ไม่มีใครผูกพันทางสายเลือดก็ยุ่งยากไปหมด

จากนั้นหนังก็เดินหน้าสู่จุดจบที่ทำให้หนังเป็นจดหมายเหตุว่าด้วยการล่มสลายของครอบครัวที่ไม่อาจเยียวยา

ครอบครัวปลอมทำรัก ครอบครัวจริงทำร้าย

โดยปกตินั้นรัฐในทุกสังคมถูกมองว่าเป็นกลไกให้เด็กๆ ออกจากสภาพแวดล้อมที่เลวร้ายไปสู่ชีวิตที่ดี แต่ Shoplifters พาผู้ชมไปเผชิญหน้ากับคำถามที่ยากขึ้นว่ารัฐช่วยให้เด็กๆ มีชีวิตดีขึ้นแค่ไหน

การแทรกแซงของรัฐทำให้เกิดครอบครัวที่ดีจริงหรือ และจะทำอย่างไรหากรัฐเป็นตัวการให้เด็กๆ มีชีวิตที่เลว

ขณะที่พ่อแม่กรรมกรในหนังพยายามทำให้ครอบครัวปลอมๆ มีความสุขภายใต้ข้อจำกัดทุกอย่าง รัฐคือฝ่ายที่ทำลายสายสัมพันธ์นี้โดยอ้างว่าทำไปเพื่อปกป้องเด็กๆ ให้อยู่กับ “ครอบครัวที่ดี”

ในช่วงท้ายของภาพยนตร์ซึ่งผู้กำกับเปิดทางให้นักแสดงนำทั้งพ่อและแม่โชว์ศิลปะการแสดงอย่างถึงที่สุด ผู้ชมจะเห็นการสนทนาระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐซึ่งพยายามดำเนินคดีทั้งคู่ข้อหาลักพาตัวเด็กจากพ่อแม่จริงๆ จากนั้นบทสนทนาทั้งหมดก็กลายเป็นคำประกาศจุดยืนของรัฐเรื่องอะไรคือพื้นฐานของครอบครัว

สำหรับเจ้าหน้าที่รัฐทุกฝ่าย ครอบครัวคือสายสัมพันธ์ซึ่งถึงที่สุดมีความผูกพันทางสายเลือดเป็นพื้นฐาน พฤติกรรมของสองกรรมกรที่เอาลูกคนอื่นมาเลี้ยงจึงเป็นการลักพาตัวแน่ๆ ต่อให้ผู้ถูกกล่าวหาจะยืนยันว่าเด็กขออยู่ต่อเอง,ไม่เคยเรียกเงินจากพ่อแม่แท้ๆ และเก็บเด็กไว้เพราะเห็นเด็กถูกครอบครัวทำร้ายก็ตาม

นอกจากการตอกย้ำว่าสายเลือดคือพื้นฐานที่สำคัญที่สุดของระบบครอบครัว เจ้าหน้าที่รัฐยังหมกมุ่นกับการประกาศว่าหัวใจของความเป็นแม่คือการเป็นผู้ที่คลอดเด็ก รัฐจึงระบุว่าลูกจ้างร้านซักรีดที่ดูแลเด็กสองคนอย่างดีไม่มีทางเป็นแม่ใครได้ ต่อให้เธอถึงขั้นยอมตกงานเพียงเพื่อแลกกับการได้เลี้ยงดูเด็กทั้งคู่ต่อไป

แน่นอนว่าองค์ประกอบทุกอย่างในหนัง “ครอบครัวที่ลัก” บอกผู้ชมว่าทัศนคติของรัฐทั้งสองเรื่องไม่ได้ถูกทุกกรณี เด็กผู้หญิงวัยสี่ขวบอย่างจูริมาจากครอบครัวที่แม่แท้ๆ เอาเธอไปฝากยายเลี้ยงจนยายตายไป จากนั้นแม่ก็เลี้ยงเธอแบบทิ้งๆ ขว้างๆ จนกระทั่งทุบตีลูกตัวเล็กๆ โดยตัวแม่ก็ถูกพ่อซ้อมลักษณะเดียวกัน

ในฉากที่สะเทือนใจที่สุด เจ้าหน้าที่รัฐเหยียดหญิงที่มองตัวเองเป็นแม่ของเด็กๆ ว่าการฝังศพย่าหลังบ้านเท่ากับทิ้งศพซึ่งเป็นความผิดตามกฎหมาย

เธอตอบว่าย่าถูกครอบครัวแท้ๆ ทอดทิ้ง คนผิดจริงๆ คือผู้ทิ้งย่าต่างหาก

มายาคติของรัฐเรื่องสายเลือดสร้างครอบครัวที่ดีจึงขัดความจริงที่ลูกหลานไม่ดูแลผู้อาวุโสเลยรัฐใน “ครอบครัวที่ลัก” ปกป้องระบบสายเลือดถึงขั้นกวาดล้างทุกอย่างที่ทำให้คนคิดนอกกรอบนี้

ตอนหนึ่งเจ้าหน้าที่จงใจพูดให้เด็กชายซาโตะเกลียดพ่อแม่นอกสายเลือดโดยบอกว่าทั้งคู่ทิ้งเขาไว้ที่โรงพยาบาลซึ่ง “ครอบครัวจริงๆ เขาไม่ทำกันแบบนี้” ถึงแม้คนคู่นี้จะเก็บซาโตะมาเลี้ยงเพราะถูกพ่อแม่จริงๆ ทิ้งก็ตาม

ในฉากซึ่งเกิดในเวลาไล่เลี่ยกัน เจ้าหน้าที่รัฐบอกเด็กสาวที่หนีพ่อแม่แท้ๆ มาอยู่กับย่าปลอมๆ ว่าย่าไปขอเงินจากพ่อแม่เธอเป็นนิจ จากนั้นก็ชี้นำให้เด็กสาวเข้าใจต่อว่าย่าเลี้ยงเธอเพราะผลประโยชน์

ทว่าข้อเท็จจริงคือพ่อแม่ของเด็กไม่รู้ว่าลูกอยู่กับย่า และการให้เงินก็เพราะสงสารผู้หญิงที่เป็นอดีตเมียปู่อย่างเดียว

ในการสอบสวนที่รัฐกระทำต่อ “แม่ปลอมๆ” เพื่อดำเนินคดี เจ้าหน้าที่หญิงเทศนาให้ “แม่ปลอมๆ” ฟังว่าความเป็นแม่มาจากการให้กำเนิดเท่านั้น

จากนั้นก็ถาม “แม่ปลอมๆ” ว่าเด็กสองคนเคยเรียกเธอว่าแม่หรือไม่

และในที่สุด “แม่ปลอมๆ” ก็ร้องไห้เพราะพังทลายจากการที่รัฐขยี้ว่าเด็กไม่เคยเรียกเธอว่าแม่สักคำ

ขณะที่ความเลวทรามของรัฐใน Florida Project จบที่การพรากลูกจากแม่วัยใสติดยาเพราะเห็นว่าเธอเป็นคนไม่ดี

รัฐใน Shoplifters ชั่วช้าถึงขั้นจงใจทำลายสายสัมพันธ์ที่ยึดโยงตัวละครซึ่งไม่ได้มีสายเลือดเดียวกันโดยเฉพาะความภาคภูมิใจของคนเป็นแม่ และความรู้สึกของเด็กๆ ต่อคนที่เลี้ยงดูพวกเขาอย่างดี

Shoplifters เต็มไปด้วยศิลปะแห่งการทำหนังซึ่งหลายฉากทำให้ผู้ชมคิดเรื่องสายเลือดไม่เกี่ยวกับครอบครัวที่ดีได้สะดวกใจ ตัวอย่างเช่น ตอนหนึ่งพ่อชวนลูกขโมยเบ็ดเพื่อเอาไปขายหาเงินเลี้ยงดูทุกคนตอนทำงานไม่ได้ แต่สักพักผู้ชมจะพบว่าพ่อตัดสินใจเอาเบ็ดไปตกปลากับเด็กๆ แทนที่จะขายแลกเงิน

ในฉากนี้ “เบ็ด” เป็นสัญลักษณ์ว่าพ่อกรรมกรมองความสุขกับ “ลูก” มีค่ากว่าตัวเงิน ถึงแม้ “ลูก” จะเป็นเด็กที่ถูกเก็บมาจากรถตู้หน้าร้านปาจิงโกะ

และถึงแม้รัฐจะมองว่าพ่อคืออาชญากรแห่งครอบครัวที่เกิดจากการลักพาตัว ผู้ชมก็จะรู้เท่ากับตัวละครว่าความผูกพันที่รัฐเห็นเป็น “ครอบครัวเก๊” นั้นคือของจริง

หนังเรื่องนี้ปิดฉากโดยรัฐบรรลุทุกสิ่งที่ต้องการ

แต่สำหรับผู้ชมแล้ว ชัยชนะของรัฐคือการทำร้ายตัวละครทั้งหมด

จูริกลับไปอยู่กับแม่ผู้ไม่สนลูกที่พร้อมจะตีเธอตลอดเวลา

โชตะอยู่บ้านเด็กกำพร้าโดยคิดถึงพ่อกรรมกรไปตลอดชีวิต

แม่ติดคุกข้อหาซ่อนศพย่า

ส่วนพ่อกรรมกรอยู่ห้องเช่ารูหนูแบบชายแก่ที่ไม่มีใคร

ราคาในการพิทักษ์อุดมคติเรื่องครอบครัวที่ดีคือการทำลายครอบครัวซึ่งพยายามเป็นไปตามอุดมคติด้วยทรัพยากรที่พวกเขามีอย่างถึงที่สุด ถึงแม้พวกเขาจะไม่ใช่ครอบครัวเดียวกันในทางสายเลือดก็ตาม

ครอบครัวที่ลัก : สัญลักษณ์จากปลาตัวเล็กๆ

Shoplifters เป็นหนังที่น่าทึ่งในแง่ชั้นเชิงของการวิพากษ์สังคม

โครงเรื่องที่อีกนิดก็เป็นหนังน้ำเน่าถูกสร้างบนประณีตศิลป์ในการทำเรื่องอย่างการพัฒนาซึ่งทิ้งคนเล็กๆ จนหนังเต็มไปด้วยร่องรอยของภูมิหลังทางสังคมที่แทรกในปฏิสัมพันธ์ของตัวละคร ส่วนเส้นเรื่องที่ดูดราม่าก็แนบแน่นกับความจริงตลอดเวลา

ในภาพยนตร์เรื่องนี้ ตัวละครหลักเป็นครอบครัวที่ “เบี่ยงเบน” จนสะท้อนว่าอุดมคติเรื่องครอบครัวที่ดีๆ อาจไม่ฟังก์ชั่นในสังคมต่อไปอีกแล้ว

ยิ่งกว่านั้นคือความเบี่ยงเบนเป็นผลผลิตของ “โครงสร้าง” ทางเศรษฐกิจที่ทำให้เกิดครอบครัวซึ่ง “เบี่ยงเบน” อย่างน้อยสองรุ่นจากพ่อกรรมกรถึงตัวละครเด็กทุกราย

ภายใต้ระบบเศรษฐกิจที่ทำให้ครอบครัวสมัยใหม่ไม่เป็นอย่างที่เพ้อฝันกันต่อไป คนเล็กๆ ล้วนดิ้นรนเพื่อให้ตัวเองมีชีวิตที่ดีตามอุดมคติที่ถูกปลูกฝังมากที่สุด คนจนที่ซุกตัวในซอกหลืบของสังคมต้องรวมตัวกันสร้างครอบครัวใหม่เพื่อปกป้องกันและกันในเวลาที่การแยกสลายคือหายนะของทุกคน

ตอนหนึ่งใน Shoplifters ให้จูริพูดถึงปลาเล็กๆ ชื่อ Swimmy ที่อยู่ในหนังสือเด็กของ Leo Lionni ซึ่งเป็นแกนนำปลาที่ชวนให้เพื่อนๆ ปลาตัวเล็กออกจากที่ซ่อนแล้วรวมตัวกัน

จากนั้นปลาเล็กที่กลายเป็นปลาฝูงใหญ่ก็สามารถท่องโลกใต้ทะเลอย่างมีความสุขโดยปลาใหญ่ไม่กล้ากินปลาเล็กอย่างที่ผ่านมาอีกต่อไป

ในบริบทที่ผู้นำญี่ปุ่นอย่างอาเบะชอบพูดเรื่อง “Leave No One Behind” ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์จำมาพล่ามต่อว่า “เราไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” หนังเรื่องนี้บอกว่าญี่ปุ่นเดินหน้าการพัฒนาโดยกดค่าแรงและสวัสดิการของคนจน, กรรมกร, คนสูงอายุ, ผู้หญิง ฯลฯ จนถึงเวลาแล้วที่ “ปลาเล็ก” ต้องไม่เชื่อผู้นำหรือรัฐบาล

หนึ่งในฉากจำของ Shoplifters เกิดเมื่อผู้ถูกทิ้งทั้งหกนั่งชานบ้านเพื่อดูดอกไม้ไฟด้วยกัน

ปัญหาคือเทศกาลดอกไม้ไฟจัดขึ้นริมแม่น้ำซึ่งยากที่มุมมองจากกระต๊อบกลางดงตึกจะเห็นได้ชัด และความสุขของคนเล็กๆ ในสังคมก็ไม่ต่างจากการเสพความรู้สึกตอนมองประกายแสงแว้บๆ ทั้งที่ความจริงอาจไม่เห็นอะไรเลย

สารที่ยิ่งใหญ่ของหนังที่เล่าเรื่องคนเล็กๆ ในกรณีนี้คือคนเรารวมตัวบนพื้นฐานของอะไรก็ได้, “ปลาเล็ก” ต้องอยู่ในโลกได้เหมือนปลาใหญ่ และคนจนต้องมีโอกาสมีสุขมากกว่าแค่ชะเง้อมองจากระยะไกล