Inside แผนย้าย “มหาดไทย” จากคลองหลอดไปปากเกร็ด ยึดสนามกอล์ฟชลประทาน

สัปดาห์ที่ผ่านมามีประเด็นที่ฮือฮาไปทั้งกระทรวงมหาดไทย ซึ่งไม่ใช่การแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการไปเป็น “พ่อเมือง” ผู้ว่าราชการจังหวัดที่อายุเพียง 44 ปี

แต่เป็นแผนการ “ย้ายกระทรวง” จากใจกลางเมืองหลวง ไปยังพื้นที่กรมชลประทาน จ.นนทบุรี

เมื่อ “ฉัตรชัย พรหมเลิศ” ปลัดกระทรวงมหาดไทย (มท.) ทำหนังสือไปถึง “เลิศวิโรจน์ โกวัฒนะ” ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) ขอใช้พื้นที่ที่ดินราชพัสดุ ต.บางตลาด อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี แปลงสนามกอล์ฟชลประทาน มาทำเป็น “ศูนย์ราชการมหาดไทย” แห่งใหม่

หวังรวมเอา 6 กรม ประกอบด้วย กรมที่ดิน กรมการปกครอง กรมการพัฒนาชุมชน กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กรมโยธาธิการและผังเมือง รวมถึงสำนักงานปลัดกระทรวง มารวมไว้อยู่ในที่เดียวกัน

โดยในหนังสือที่ “ปลัด มท.” ส่งถึง “ปลัด กษ.” มีใจความว่า ปัจจุบันพื้นที่เกาะกรุงรัตนโกสินทร์ถูกกำหนดให้เป็นพื้นที่อนุรักษ์ ประกอบกับความแออัดคับแคบของสภาพพื้นที่โดยรอบ ทำให้ส่วนราชการหลายแห่งย้ายสถานที่ปฏิบัติงานออกไปจากเกาะกรุงรัตนโกสินทร์

“ในส่วนของกระทรวงมหาดไทยก็ประสบปัญหา ส่งผลให้การอำนวยความสะดวกในการติดต่อราชการ และการปฏิบัติราชการมีจำกัด ประกอบกับอาคารสิ่งก่อสร้างบางส่วนบดบังทัศนียภาพอันงดงามของวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม จึงจำเป็นต้องจัดหาที่ดินเพื่อก่อสร้างอาคารที่ทำการของกระทรวงมหาดไทยแห่งใหม่ และพิจารณาแล้วเห็นว่า ที่ดินราชพัสดุในพื้นที่ ต.บางตลาด อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี แปลงสนามกอล์ฟชลประทานเหมาะสมในการก่อสร้าง จึงขอความอนุเคราะห์จากกระทรวงเกษตรฯ อนุเคราะห์ที่ดิน 100 ไร่ เพื่อใช้เป็นสถานที่ก่อสร้างกระทรวงมหาดไทยแห่งใหม่”

 

ต้นตอไอเดียการย้ายกระทรวงมีมานานนม แต่มีการคิกออฟกันจริงจังในยุค “กฤษฎา บุญราช” เป็นปลัดกระทรวง มีการตั้งคณะกรรมการศึกษา-หาทำเลกันชัดเจน จากแนวคิดผู้บริหารลามไปถึงหูข้าราชการ และถูกพูดสู่ปากต่อปากกันในมหาดไทย ย่านคลองหลอด ข่าวการขอพื้นที่สนามกอล์ฟ กรมชลฯ ย่านปากเกร็ด มาเป็นที่ตั้งกระทรวงมหาดไทยแห่งใหม่ จึงไม่ใช่เรื่องใหม่ เพียงแค่มีความชัดเจนเพิ่มขึ้น

แหล่งข่าวจากกระทรวงมหาดไทยระบุว่า “ต้องเร่งดำเนินการให้เป็นรูปธรรม เพราะขณะนี้วัดราชบพิธฯ เป็นที่ประทับของสมเด็จพระสังฆราช ซึ่งอาคารของกรมการปกครองที่ตั้งอยู่ในกระทรวงบดบังวัดราชบพิธฯ หากกระทรวงย้ายไป ศาลาว่าการมหาดไทยอาจปรับเปลี่ยนไปเป็นอาคารอนุรักษ์และพิพิธภัณฑ์”

ช่วงต้นปี 2560 ผู้บริหารจึงได้นำแปลงที่ดินมากางในที่ประชุม เพื่อหาพื้นที่ทดแทนจำนวน 4 แปลง ประกอบด้วย แปลงที่ 1 ที่ดินของเรือนจำกลางคลองเปรม กรุงเทพมหานคร ที่ราชพัสดุแปลงหมายเลขทะเบียนที่ กท.1007 และ 1008 เนื้อที่ 496-3-27 ไร่ ของกรมราชทัณฑ์ ตั้งอยู่บนถนนงามวงศ์วาน แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กทม. พื้นที่ 496 ไร่ หากเลือกพื้นที่ตรงนี้ต้องย้ายเรือนจำไปสร้างใหม่ในพื้นที่อื่น ใช้เงินดำเนินการทั้งหมด 1.4 หมื่นล้านบาท

แปลงที่ 2 ที่ดินราชพัสดุคลอง 5 อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี พื้นที่ 640 ไร่ ของกรมประชาสัมพันธ์ มูลค่าที่ดินจากการประเมิน 1.2 พันล้านบาท

แปลงที่ 3 ที่ดินราชพัสดุ ต.บางปิ้ง จ.สมุทรปราการ แปลงหมายเลขทะเบียนที่ สป.588-611 และ 1518 พื้นที่ 640 ไร่ อยู่ในความครอบครองกรมการขนส่งทางอากาศ กระทรวงคมนาคม ที่ตั้งมีพื้นที่ขนาดใหญ่รวมประมาณ 1,420 ไร่

แปลงที่ 4 เป็นที่ดินราชพัสดุ บริเวณพระราม 9 พื้นที่ 1,000 ไร่ พื้นที่ของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ที่ตั้งอยู่ย่านพระราม 9 ห้วยขวาง ติดกับกรมโยธาธิการและผังเมือง มูลค่าที่ดินนับแสนล้านบาท

แต่ในที่สุดก็กลายเป็นสนามกอล์ฟ กรมชลฯ เป็นแปลงที่ 5 งอกออกมาในปี 2561 เป็นที่มาของปลัด มท.ทำหนังสือถึงปลัด กษ.ขอใช้พื้นที่ตั้งกระทรวงแห่งใหม่

 

“นิสิต จันทร์สมวงศ์” รองปลัดกระทรวง มท. ในฐานะโฆษก มท. กล่าวถึงเหตุผลเลือกใช้พื้นที่ดังกล่าวว่า เป็นพื้นที่ที่มีความสง่างาม มีความกว้างขวาง เหมาะสมต่อการสร้างศูนย์ราชการของกระทรวงมหาดไทย อีกทั้งไม่อยู่ห่างจาก กทม. มาก มีรถไฟฟ้าเข้าถึง ข้าราชการเดินทางสะดวก ประชาชนก็ไม่ลำบากในการติดต่อราชการ

“แม้ที่ดินของกรมชลประทานผืนดังกล่าวจะเป็นทางเลือกแรก โดยบางส่วนจะติดกับสนามกอล์ฟ แต่ทางกระทรวงมหาดไทยจึงเตรียมพื้นที่สำรองไว้ เช่น พื้นที่ย่านมีนบุรี กับพื้นที่ของ รฟม. บริเวณแยกผังเมือง โดยยังไม่มีการตัด 2 ตัวเลือกนี้ทิ้งไป”

อย่างไรก็ตาม ตามประวัติศาสตร์ กระทรวงมหาดไทยที่ถนนอัษฎางค์ เป็นศูนย์กลางการบัญชาการผู้ว่าราชการจังหวัดมาตั้งแต่ พ.ศ.2435 ในสมัยรัชกาลที่ 5 โดยปรับปรุงมาจากวังใต้ ตามศูนย์ข้อมูลเกาะรัตนโกสินทร์ บันทึกไว้ว่า

“เดิมเป็นวังที่ประทับของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเนียม ต้นราชสกุลนิยมิศร เมื่อพระองค์เจ้าเนียมสิ้นพระชนม์ จึงเป็นที่ประทับของพระองค์เจ้าอุทัย พระองค์เจ้าสว่าง พระองค์เจ้าแฉ่ง พระราชโอรสร่วมเจ้าจอมเดียวกันในกรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพย์ เมื่อพระองค์เจ้าสว่างสิ้นพระชนม์เป็นพระองค์สุดท้ายในรัชกาลที่ 4 ไม่ปรากฏว่ามีเจ้านายพระองค์ใดมาประทับที่วังนี้อีก และได้รื้อวังนี้สร้างเป็นกระทรวงนครบาลในรัชกาลที่ 5 ปัจจุบันคือกระทรวงมหาดไทย”

เมื่อมีแผนการย้ายกระทรวง “ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล” อดีต รมช.ศึกษาธิการ อดีตลูกหม้อสิงห์คลองหลอด และมีศักดิ์เป็นเหลนของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ปฐมเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ตอบคำถามคณะผู้เข้าเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์และหอสมุดสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ณ วังวรดิศ เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย ในช่วง “Q & A” ถึงการย้ายกระทรวง ทำนองกึ่งแนะนำ กึ่งเตือนสติผู้ที่เกี่ยวข้อง

ตอนหนึ่งว่า

 

ในฐานะที่เคยดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัด และเป็นผู้บริหารระดับสูงของกรณีมีข่าวการย้ายกระทรวงไปยังที่ตั้งแห่งใหม่นั้น ต้องไม่ลืมว่า ศาลาว่าการกระทรวงมหาดไทยปัจจุบันได้รับพระราชทานพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชเป็นล้นพ้น ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมและทรงเปิดพระอนุสาวรีย์องค์ปฐมเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย อันนับเป็นพระมหากรุณาธิคุณปกเกล้าปกกระหม่อม และยึดถือเป็นความรักความผูกพันทางจิตใจสูงสุดแก่ชีวิตข้าราชการฝ่ายปกครองทุกผู้ทุกคนมาโดยตลอดระยะเวลาอันยาวนาน

“สำนักงานปลัดกระทรวง ควรต้องดำรงรักษาอาคารหลังเดิมที่ถนนอัษฎางค์ เหมือนกับที่ศาลาว่าการกระทรวงกลาโหม และอาคารศาลฎีกา ซึ่งทั้งสองแห่งตั้งอยู่บนเกาะรัตนโกสินทร์ชั้นใน ของจริงของแท้ ต่างก็ยังหวงแหนดำรงรักษาไว้ตราบจนทุกวันนี้

หรือแม้แต่กองบัญชาการกองทัพบก บนถนนราชดำเนินนอก ซึ่งเคยเป็นที่ตั้งของโรงเรียนนายร้อยชั้นมัธยม ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 และเป็นโรงเรียนนายร้อยทหารบก กระทั่งได้รับพระราชทานนามว่า “โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า” ในเวลาต่อมา รวมถึงกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งตั้งอยู่บนถนนราชดำเนินนอก เขตดุสิต ไม่ห่างไกลจากพระที่นั่งอนันตสมาคม พระราชวังดุสิต”

พร้อมให้ข้อคิดด้วยว่า

“ยังมีอีกหลายเรื่องหลายประการ ที่สมควรคิดถึงการใช้งบประมาณที่มีความจำเป็นอย่างยิ่งยวดก่อนเรื่องนี้ ตามหลักพระราชปรัชญาแห่งความพอเพียงตามพระราชปณิธาน พี่น้องเพื่อนข้าราชการต้องช่วยกันขบคิดให้รอบคอบในเรื่องการย้ายกระทรวงมหาดไทย”

นี่คือเบื้องลึกของการย้ายกระทรวงมหาดไทย และกระแสที่มีทั้ง ตอบรับ/เห็นต่าง อยู่ในขณะนี้