“คนเมืองเยียะนา” แปลว่าอะไร ?

อ่านเป็นภาษาล้านนาว่า “คนเมืองเยียะนา”

“คนเมือง” คือคนภาคเหนือโดยทั่วไป ที่ไม่ได้เป็นชาวป่าชาวดอย

“เยียะนา” แปลว่าทำนา

รวมความแล้ว คนเมืองเยียะนา คือ การทำนาของคนภาคเหนือซึ่งล้วนเพียบไปด้วยพิธีกรรมและความเชื่อ

นอกจากคนล้านนาโบราณจะเริ่มฤดูการทำนาด้วยพิธีแฮกนา หรือ “แรกนา” แล้ว ทุกกระบวนการของการทำนา ไม่ว่าการไถ หว่าน ถอนกล้า ดำนา เก็บเกี่ยว ฯลฯ ล้วนเต็มไปด้วยความละเมียดละไมในความนอบน้อมต่อพระแม่โพสพ และพระแม่ธรณี

เสร็จจากพิธีแรกนา ก็ถึงกระบวนการไถ เรียกว่า แฮกไถ หรือ “แรกไถ”

คนล้านนาจะต้องแสดงความคารวะต่อพญานาค เพราะพญานาคดูแลน้ำและดิน

การไถนาก็ต้องไม่ไถไปในทิศทางเดียวกับการหันหัวของพญานาค เนื่องจากหากไถไปทางหัวพญานาคจะเท่ากับเป็นการเลาะ หรือไถย้อนเอาเกล็ดนาคออก เท่ากับฝืนอำนาจพญานาค เชื่อกันว่า จะทำให้ได้ข้าวไม่ดี เกิดอุปสรรคในการทำนา

ส่วนจะรู้ได้อย่างไรว่าพญานาคจะหันหัวไปทางไหนนั้นได้จากการคำนวณตามเดือนทางจันทรคติ เช่น เดือน 7-9 พญานาคจะหันหัวไปทางทิศเหนือ เป็นต้น

การแรกหว่านของคนล้านนาก็เช่นเดียวกัน ล้วนมีพิธีกรรม

เขาให้หว่านในวันพุธซึ่งเป็นวันดีที่สุด รองลงมาคือวันศุกร์

จารีตปฏิบัติคือ ให้หลับตา หันหน้าไปทิศตะวันตก แล้วหว่าน เอาเคล็ด สัก 4-5 กำมือ ด้วยความเชื่อที่ว่าจะทำให้แมลงมองไม่เห็นข้าวที่หว่าน

มันจะไม่มารบกวนการงอกของข้าวกล้า จากนั้นเอาข้าวปั้นหนึ่งกับกล้วยลูกหนึ่งไปเซ่นพระแม่ธรณี ฝากฝังให้ดูแลข้าวกล้าที่จะงอกขึ้นมา

30-40 วันต่อมาเมื่อข้าวกล้างอกก็ถึงเวลาถอนกล้า คนล้านนาเรียกว่า “หลกกล้า”

วันถอนกล้ามักจะเป็นวันเดียวกับวันปลูกข้าว คือนิยมปลูกแค่วันอังคาร พฤหัสบดี ศุกร์และเสาร์ เรียกว่าวัน แฮกปลูก ซึ่งก็ต้องดูวันทางจันทรคติประกอบว่าไม่ไปตรงกับวันที่ ถูกปากนก ปากตั๊กแตน หรือเป็นวันผีตามอย เพราะถ้าตรงกันต้นข้าวก็จะถูกรังควานจากศัตรูข้าวทั้งสามดังกล่าว ทำให้ผลผลิตไม่ดี

ในวัน แฮกปลูก คนล้านนาก็มีพิธีกรรมเช่นเดียวกับตอน แฮกนา เพียงแต่ต้องเอาไม้แขวนสังวาลมาเปลี่ยนให้เป็นไม้ที่ขวัญข้าวสถิตอยู่ ซึ่งในแต่ละปีไม้ที่ใช้จะต่างชนิดกัน ทั้งนี้ จะเป็นไปตามวันสังขานต์ล่องของปีนั้นๆ เช่น ในปีนี้สังขานต์ล่องวันเสาร์ ไม้ขวัญข้าวต้องใช้ไม้รวก เป็นต้น

เมื่อถึงเวลาเกี่ยว หรือวันแฮกเกี่ยว คนล้านนาจะหาวันดีอีกครั้ง เริ่มเกี่ยวข้าวต้นที่ทำการ แฮกปลูกจำนวน 9 ต้นพร้อมกับสวดมนต์กำกับ เพื่อเอาฤกษ์เอาชัย จากนั้นจึงเอาเมล็ดข้าวที่เกี่ยวได้จำนวนหนึ่ง ใส่กระทงพร้อมอาหารไปบูชา พระแม่ธรณีและพระแม่โพสพก่อน

หลังจากนั้นจึงจะเป็นการเกี่ยวจริง

จากนั้นก็จะทำลานนวดข้าว ถากถางหน้าดิน ซึ่งเรียกว่า แฮกถากตาลาง เมื่อดินแห้งสนิทดีแล้วก็จะเป็นวัน แฮกเอาข้าวขึ้นตาลาง คือเอาข้าวมากองที่ลานเพื่อเตรียมการนวดข้าว แล้วก็จะถึงวัน แฮกตี ทั้งหมดนี้ต้องดูวันและมีเคล็ดเล็กๆ น้อยๆ เป็นจารีตปฏิบัติ จนกระทั่งขนข้าวใส่ยุ้ง

หากต้องการจะเอาข้าวเปลือกออกมาบริโภค คนล้านนาก็มีวันดีวันเสียสำหรับการตักข้าวออกจากยุ้งฉางอีก เรียกว่า “แฮกเอาข้าวออกกิน”

เป็นการอัญเชิญข้าวออกจากยุ้ง บางคนที่เคร่งครัดประเพณีก็จะเอาข้าวตอกดอกไม้ไปขอพระแม่โพสพเสียก่อน

และคนล้านนาจะไม่ตักข้าวออกจากยุ้งในวันพระใหญ่ วันศุกร์ เป็นต้น เพราะเชื่อกันว่าในวันนั้นพระแม่โพสพกำลังสมาทานศีล ทำสมาธิ หากผู้ใดไปรบกวน อาจจะเกิดภัยพิบัติขึ้นได้

ทั้งกระบวนการปลูกข้าว ไปจนกระทั่งถึงการตักข้าวออกจากยุ้ง จะเห็นได้ว่า คนล้านนาให้ความเคารพต่อพระแม่โพสพอย่างละเอียดลออ ละเมียดละไม

เรื่องนี้อาจจะเป็นอุบายทางจารีตอย่างหนึ่งที่เอาไว้สอนคนสมัยก่อนให้นอบน้อมต่อธรรมชาติอย่างน่าสนใจ