สุจิตต์ วงษ์เทศ/เพลงลูกทุ่ง มาจากไหน? ‘ผู้ดีตีนแดง’ เหยียดลูกทุ่งเริ่มแรก เพลงตลาดต่ำช้า

สุจิตต์ วงษ์เทศ

 

เพลงลูกทุ่ง มาจากไหน?

‘ผู้ดีตีนแดง’

เหยียดลูกทุ่งเริ่มแรก

เพลงตลาดต่ำช้า

 

พลงลูกทุ่ง ถูกเรียกด้วยชื่อนี้ครั้งแรกราวเรือน พ.ศ.2507 แต่มีพัฒนาการก่อนหน้านั้นนานแล้วจากเพลงไทยสากลในวัฒนธรรมป๊อป
ผมเห็นต่างจากคำนิยามว่าเพลงลูกทุ่งมาจากเพลงไทยเดิม เพราะพยานหลักฐานไม่สนับสนุนอย่างนั้น ดูได้จากเพลงไทยเดิมมีบรรเลงร้องรับเอื้อนมากลากยาว ซึ่งอยู่กันคนละขั้วกับเพลงลูกทุ่ง และยิ่งกว่านั้นคนเพลงไทยเดิมส่วนมากตั้งตนเป็นปฏิปักษ์ต่อเพลงไทยสากลและป๊อป เพลงไทยเดิมจึงไปกันไม่ได้กับเพลงลูกทุ่งในวัฒนธรรมป๊อป
ยุคเพลงไทยสากล ผมตามดู ดร.อุทิศ นาคสวัสดิ์ พัฒนาวงดนตรีไทยแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ แสดงโดยนั่งเก้าอี้ร้องเนื้อเต็ม ออนแอร์ทางช่อง 5 นานเข้าก็ถูกด่าทอต่อว่ามากจากคนเพลงไทยเดิม จนต้องเลิกราไปสมัยนั้น

เพลงลูกทุ่ง เพิ่งมี

ก่อน พ.ศ.2507 คนทั้งประเทศฟังเพลงประเภทเดียวเรียกเพลงไทยสากล และจากนักร้องกลุ่มเดียวกันเรียกนักร้องเพลงไทยสากล (ยังไม่แยกเป็นเพลงลูกกรุง กับ เพลงลูกทุ่ง)
เพลงไทยสากล ต่อมาถูกจำแนกเป็น 2 ประเภท ได้แก่ เพลงผู้ดี กับ เพลงตลาด
เพลงผู้ดีได้รับยกย่องจากคนกลุ่มหนึ่งที่มีอำนาจหนุนหลังทางการตลาด ขณะเดียวกันก็เหยียดว่าเพลงตลาดต่ำช้า
ครูมงคล อมาตยกุล (นายวงดนตรีจุฬารัตน์) ผู้สร้างสรรค์โดยตรงทั้งเพลงไทยสากลจนถึงเพลงลูกทุ่ง เคยเขียนบอกเล่าไว้เมื่อ พ.ศ.2510 เป็น “เอกสารประวัติศาสตร์” ว่า ครั้งนั้นเพิ่งมีเพลงลูกทุ่ง จะยกมาเป็นพยานดังนี้
“ผมมีชีวิตอยู่ในวงการดนตรีและเพลง ในฐานะเป็นนักดนตรีและนักแต่งเพลงก็เป็นเวลากว่า 30 ปีแล้ว ตั้งแต่เริ่มต้นมาก็ไม่เคยมีคำว่า ‘เพลงลูกทุ่ง’ อยู่ในสารบบเพลงเลย เพิ่งจะได้ทราบคำว่า ‘เพลงลูกทุ่ง’ เอาก็ระยะ 2-3 ปีหลังนี้เอง จัดว่าเป็นสิ่งใหม่เอี่ยมในวงการเพลงจริงๆ”
[ข้อเขียนเรื่อง “ที่มาของเพลงลูกทุ่ง” ของ มงคล อมาตยกุล พิมพ์ครั้งแรกในหนังสือ ดาราลูกทุ่ง พ.ศ.2510 หน้า 36, 58-60 และพิมพ์ซ้ำในหนังสือ เพลงลูกทุ่งไทย ภาค 2 โดยสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวงศึกษาธิการ (ประกอบนิทรรศการและการแสดง “กึ่งศตวรรษเพลงลูกทุ่งไทย ภาค 2” ณ หอประชุมใหญ่ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย) วันอาทิตย์ที่ 7 กรกฎาคม พ.ศ.2534 หน้า 50-53]

เหยียดลูกทุ่งเพลงตลาดต่ำช้า

ก่อนมีเพลงลูกทุ่ง บรรดาชุมชนคนรากหญ้าทั่วประเทศชอบฟังเพลงไทยสากลพรรณนาความทุกข์ยากของชีวิตชาวบ้านชาวนาชาวไร่ “บ้านอกขอกตื้อสะดือจุ่น”
คนในชุมชนเมืองพากันเหยียดเพลงเหล่านั้นว่าเพลงตลาด ครูมงคลเขียนเล่าไว้เอง ดังนี้
“คงจะจำกันได้ดีถึงนักร้องคนหนึ่งคือ ทูล ทองใจ ซึ่งมีชื่อเสียงโด่งดังอยู่ระหว่าง พ.ศ.2500-2503 เสียงเพลงของเขาเป็นที่ซาบซึ้งของคนทั่วไปไม่ว่าจะเป็นคนกรุงหรือคนชนบท เสียงของเขาเข้าไปถึงคนทุกซอกทุกมุมจริงๆ แผ่นเสียงก็ขายดีเป็นเทน้ำเทท่า จึงทำให้ประโยชน์ขัดกันขึ้นระหว่างนักทำแผ่นเสียงของบริษัทต่างๆ บริษัทที่มิสามารถดึงตัวทูล ทองใจ มาทำประโยชน์ได้ก็เริ่มตั้งรังเกียจ
ระยะนี้เองได้เกิดการแบ่งแยกนักร้องขึ้นโดยคนกลุ่มนั้นอย่างเห็นเจตนาได้ชัด จึงมีการแบ่งแยกนักร้องออกมาเป็น 2 ประเภท คือ นักร้องเพลงผู้ดี นักร้องเพลงตลาด คือ มีการเหยียดหยามว่านักร้องเพลงตลาดต่ำช้า และมีการแอนตี้กันขึ้น โดยที่คนกลุ่มนั้นได้ขยายวงกว้างไปยังสถานีวิทยุต่างๆ มีการปิดประตูนักร้องเพลงตลาด (โดยการแบ่งแยกของเขาตามใจชอบ)
สถานีวิทยุหลายๆ สถานีพลอยเป็นไปด้วยเพราะสำคัญตัวผิดว่า ‘ตัวเป็นผู้ดีเหมือนคนอื่นๆ’ นักร้องคนใดที่ตัวหาประโยชน์ไม่ได้ก็เขี่ยไปเป็นนักร้องตลาดหมด ยกย่องกลุ่มพวกของตนว่าสูงกว่าเป็นผู้ดีกว่า
แต่ไม่รู้ว่าเป็นเหตุใดนักร้องตลาดอย่าง ทูล ทองใจ, ปอง ปรีดา, สุรพล สมบัติเจริญ, ชาย เมืองสิงห์, ไวพจน์ เพชรสุพรรณ กลับอยู่ในความนิยมของประชาชนส่วนมาก
ตอนนี้แหละสนุกกันใหญ่ จึงได้เกิดสถานีขึ้นมามากมายเหมือนดอกเห็ดเพราะอะไร? เพราะทนความเรียกร้องจากประชาชนไม่ได้ จึงได้มีสถานีวิทยุอีกมากมายเปิดเพลงของนักร้องตลาดขึ้นเพื่อตามใจประชาชนส่วนใหญ่
สถานีเหล่านี้หาผู้อุปถัมภ์รายการได้ง่าย เพราะสปอนเซอร์ก็ย่อมหวังประโยชน์ต้องการให้ผลการโฆษณาเข้าไปถึงคนทุกซอกทุกมุม”

เพลงลูกทุ่งรุ่งเรืองได้พลังสร้างสรรค์จากวงดนตรีจุฬารัตน์ ของครูมงคล อมาตยกุล (หันหลัง) ระหว่าง พ.ศ.2500-2516

มงคล อมาตยกุล (พ.ศ.2461-2532)
นักดนตรี นักแต่งเพลง ผู้ก่อตั้งวงดนตรีจุฬารัตน์ เกิดที่เขต (อำเภอ) พระนคร กทม. เป็นบุตรของอำมาตย์เอก พระยาวินิตวิทยาการ (กร อมาตยกุล) กับหม่อมหลวงผาด เสนีวงศ์
จบการศึกษาจากโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย (พ.ศ.2479) แล้วเข้าเรียนถึงชั้นปีที่ 4 คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แต่ต้องหยุดเรียนเพราะเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2
พ.ศ.2500 ก่อตั้งวงดนตรีจุฬารัตน์ สร้างลูกศิษย์ลูกหาให้กับวงการเพลงลูกทุ่งเป็นจำนวนมาก เช่น ชาย เมืองสิงห์, ทูล ทองใจ, พร ภิรมย์, พนม นพพร, ศรีไพร ใจพระ, ประจวบ จำปาทอง, ปอง ปรีดา, สังข์ทอง สีใส, หยาด นภาลัย, บุปผา สายชล, สุชาติ เทียนทอง, นพดล ดวงพร ฯลฯ
ได้รับรางวัลแผ่นเสียงทองคำพระราชทาน สาขาการเรียบเรียงเสียงประสาน พ.ศ.2522

กำเนิดเพลงลูกทุ่ง

เพลงลูกทุ่งเมื่อเริ่มต้นถูกเหยียดจากผู้ดีกระฎุมพี ครูมงคลเขียนเล่าดังนี้
“เข้ามาถึงระยะ 2 ปีเศษมานี้ก็เป็นยุคของเพลงลูกทุ่งกันละ
เรื่องมีอยู่ว่า มีภาพยนตร์ชีวประวัติของแฮงค์ วิลเลียมส์ เรื่องหนึ่งชื่อ ‘Your cheating Heart’ มีชื่อเป็นภาษาไทยว่า ‘เพลงลูกทุ่ง’ เข้ามาฉายในเมืองไทย ปรากฏว่าได้รับความนิยมจากผู้ดูอย่างกว้างขวาง จากนี้เอง ‘เพลงตลาด’ และ ‘นักร้องเพลงตลาด’ ก็ได้เริ่มเปลี่ยนโฉมหน้าเป็น ‘เพลงลูกทุ่ง’ และ ‘นักร้องเพลงลูกทุ่ง’ ขึ้นมาทันที
ถ้าผมจำไม่ผิดก็เห็นจะเป็น ประกอบ ไชยพิพัฒน์ แห่งสถานีโทรทัศน์ช่อง 4 นี่แหละ ได้เป็นผู้ริเริ่มจัดรายการเพลงลูกทุ่งขึ้นในทีวีช่อง 4 การจัดครั้งแรกผ่านพ้นไป คุณประกอบก็ได้ประสบกับความยุ่งยากเกิดขึ้น โดยได้รับการประท้วงจากกลุ่มที่คิดว่าตนนั้นเป็นผู้ดี (ตีนแดง) ทำเอารายการ ‘เพลงลูกทุ่ง’ ชะงักไปชั่วคราว
แต่ในระยะต่อมาคุณประกอบกลับได้รับ จ.ม.สนับสนุนและเรียกร้องให้จัดรายการนี้ต่อไปเป็นจำนวนท่วมท้น รายการเพลงลูกทุ่งในช่อง 4 จึงได้มีชีวิตชีวาขึ้นใหม่ และก็ได้รับความนิยมกว้างขวางด้วยประการฉะนี้ เพลงลูกทุ่งจึงได้ยอมรับกันมาจนทุกวันนี้
และทันทีทันใดนั้นเอง พวกที่เคยพลอยตั้งรังเกียจเพลงตลาดโดยรู้เท่าไม่ทันต่อเหตุการณ์ก็หันมายอมรับความเป็นเพลงลูกทุ่ง แต่ก็รับอย่างกระดากๆ แต่ในเวลาเดียวกันก็มีบุคคลที่สำคัญตัวผิดอีกเป็นจำนวนไม่น้อยยังทำท่าขยะแขยงยิ่งกว่าเป็นไหนๆ”