หลังเลนส์ในดงลึก/ปริญญากร วรวรรณ / ‘ฟิล์ม’

ม.ล.ปริญญากร วรวรรณ
ตั้งแต่เช้ามืด ท้องฟ้ายังไม่สว่าง นกเงือกหัวแรดเดินทางจากต้นไม้ที่เกาะนอน มุ่งตรงไปยังต้นอาหาร

หลังเลนส์ในดงลึก/ปริญญากร วรวรรณ

 

‘ฟิล์ม’

พ.ศ.2552
ในป่าทิวเขาบูโด
ณ เวลานั้น ผมทำงานโดยใช้กล้องตัวเดิมที่เคยใช้มาเนิ่นนานยังใช้ฟิล์มเหมือนครั้งเริ่มต้น
ไม่ใช่เพราะไม่รู้ว่า ถึงวันนั้น เทคโนโลยีการบันทึกภาพเจริญก้าวหน้าเพียงไร
อีกทั้งไม่ใช่ไม่รู้ว่า เขาไปถึงไหนๆ กัน
วันนั้น ผมคิดแต่เพียงว่า อุปกรณ์ที่ใช้ ดี และเหมาะสมกับผมแล้ว
แต่หากจะใช้เหตุผลยาวๆ อธิบาย คงต้องบอกว่า ผมไม่คิดว่าบนโลกใบนี้มีหนทางอยู่แค่เส้นเดียว
ชีวิตบนโลกนี้ไม่ควรถูกกำหนดให้เชื่อว่าจะต้องพบกับความยุ่งยากขนาดไหน ถ้าไม่ “วิ่งตาม” เทคโนโลยี
แน่นอน ผมไม่ได้อึดอัด หรือมองคนที่วิ่งตามด้วยสายตาหมิ่นแคลน
เพียงแต่ผมรู้สึกว่า ถ้าให้ทำ คงรู้สึกเหนื่อยเกินไป
พูดง่ายๆ อีกแบบคือ แม้ว่าจะมีถนนแปดเลน ราบเรียบ รถเดินทางได้ด้วยความเร็วสูงสุด
ผมยังคงเลือกขับชิดซ้าย ใช้ความเร็วเหมาะสม
หรือหากเป็นไปได้ ผมจะใช้เส้นทางที่ไม่ใช่เส้นทางหลัก เลือกลัดเลาะไปตามหมู่บ้าน ตำบล อำเภอเล็กๆ
แม้ว่าเส้นทางจะวกวนและไม่ค่อยมีเพื่อนร่วมทางสักเท่าใดแล้วก็ตาม

โธมัส ผู้ชายชาวเดนมาร์ก อายุรุ่นราวคราวเดียวกับผม อาชีพช่างภาพ มีสำนักงานอยู่ที่นิวยอร์ก รับงานถ่ายภาพทั่วโลก ก่อนมาที่ทิวเขาบูโด และเรามีโอกาสพบกัน เขาเพิ่งกลับจากแอฟริกา
เขารับงานบันทึกภาพอาจารย์พิไล พูลสวัสดิ์ เพื่อนำไปจัดพิมพ์หนังสือ เพราะอาจารย์ได้รับรางวัลโรเลกซ์ ซึ่งเชิดชูและให้รางวัลกับคนทำงานอนุรักษ์ คัดเลือกมาจากทุกมุมโลก
ผมมีหน้าที่นำโธมัสพบกับป่าบนภูเขา นกเงือก รวมทั้งชาวบ้านที่อาศัยอยู่รอบๆ ทิวเขาบูโด
เราทำงานกันหนักกว่าครึ่งเดือน ตั้งแต่เช้ามืด กระทั่งพลบค่ำ
หลายวันในป่า ผม อาแซ มัสบูด และอูมาสนิทสนมกับโธมัสที่อารมณ์ดีเสมอ
มัสบูดแอบหัวเราะ วันแรกที่เราเดินขึ้นเขา ฝนตกปรอยๆ ทากชูตัวสลอน
โธมัสไม่คุ้นเคยกับทากที่ไต่ขึ้นเต็มขา อูมาต้องช่วยจับออก
“เก่งกันนักใช่ไหม เสร็จงานแล้วไปกรุงเทพฯ กัน” โธมัสพูดพลางหัวเราะ เขารู้ดีว่า ความเชี่ยวชาญของพวกเราจะหมดไปเมื่ออยู่ในเมือง
อุปกรณ์โธมัสค่อนข้างมาก กล้องสามตัว ทุกตัวเป็นกล้องดิจิตอล
หลังอยู่ในซุ้มบังไพรตลอดวัน เพื่อบันทึกภาพนกชนหินครอบครัวหนึ่ง กลับถึงแคมป์ตอนค่ำ เขาตรวจสอบภาพกับโน้ตบุ๊ก
“เป็นไปได้ไหมครับว่าเราจะย้ายมุมสักหน่อย มุมนี้ฉากหลังไม่เห็นภูเขา” เขาหารือ
ผมถามอาแซ เขาส่ายหน้า การขยับซุ้มบังไพรจะทำให้นกชนหินระแวง
โธมัสพยักหน้าอย่างเข้าใจ
“ข้อดีของมันคือ แก้ไขได้เร็วหากผิดพลาด” โธมัสบอกถึงข้อดีระบบดิจิตอล
ทุกวันเราเฝ้าดูนกเงือก ตั้งแต่นกชนหิน นกเงือกหัวแรด รวมทั้งนกเงือกหัวหงอก
โดยมารยาท ผมไม่ร่วมบันทึกภาพด้วย แม้โธมัสจะชวน เพราะท่าทางอันสวยงามของนก
“เชิญคุณตามสบายครับ ผมอยู่ที่นี่ ถ่ายเมื่อไหร่ก็ได้” ผมบอกเขาเช่นนี้

ในแคมป์ หลังกินข้าว โธมัสจะทำความสะอาดกล้อง
เขาบรรยายสรรพคุณกล้อง ยุให้เปลี่ยนเครื่องมือ
“คุณจะประหลาดใจ ที่ยังทำงานได้ในสภาพแสงซึ่งกล้องคุณทำงานไม่ได้แล้ว”
ผมรับกล้องมายกขึ้น มองผ่านช่องมอง กดหาระยะชัด
สักพักก็ยื่นกล้องคืนให้เขา
ในวันสุดท้าย เรานอนในหมู่บ้าน ช่วงเย็น สภาพแสงสวยงาม
“ขอถ่ายรูปคุณนะครับ” ผมบอกเขา ก่อนเปิดเป้หยิบกล้องขึ้นมา
โธมัสมองกล้อง ยิ้มกว้าง ขณะผมกดชัตเตอร์
“ขอโทษนะครับ ต้องรออีกนานถึงจะดูรูปได้ ตอนนี้ไม่ได้หรอก” ผมพูด
“ไม่เป็นไร ช่างภาพ” โธมัสพูด
ผมพยักหน้าอย่างเข้าใจในความหมาย กล้องฟิล์มเก่าๆ ทำให้เขาเรียกผมอย่างนั้น
“หรือที่จริงผมควรเรียกคุณว่า มนุษย์ถ้ำ” โธมัสหัวเราะดัง

ถึงที่สุด บนเส้นทางของการใช้ฟิล์มของผมก็สิ้นสุด
เส้นทางหมด ไปต่อไปไม่ได้
ผมยังเดินอยู่บนถนนเส้นเดิม เปลี่ยนไปเพียงเครื่องมือ
ความหมายของการเดินทางไม่ได้เปลี่ยนไป
บนเส้นทางสายนี้ มีคนจำนวนมากเดินอยู่ร่วมกัน
นี่เป็นการเดินทางที่ต่างจากการใช้รถใต้ดิน หรือรถไฟฟ้า
บนขบวนรถของเรา นอกจากจะไม่มีคนขับ
เราต่างรู้ดีเสมอว่า ต้องหาขบวนรถและสถานีให้พบ
รวมทั้งต้องซื้อตั๋วด้วยตัวเอง
เพราะมันเป็นการเดินทางข้างใน

หมายเหตุ หลังกลับจากทิวเขาบูโดราวสองเดือน
โธมัสมีจดหมายมาถึง
“ตอนนี้ผมอยู่ที่อิรัก คงทำงานสัก 3-4 สัปดาห์
ปีหน้า ถ้าว่าง ผมจะมาเมืองไทย คงมีโอกาสได้ถ่ายรูปด้วยกัน ฝากความระลึกถึงทุกคนด้วย”
โธมัส
ป.ล. ผมจะเอากล้องฟิล์มไป