เครื่องเสียง : ลองฟังอีกครั้ง GoldenEar กับ PrimaLuna

จากที่เคยนำเรื่องลำโพงของ GoldenEar Technology มาคุยกับคุณๆ เมื่อต้นเดือนว่าให้รู้สึกติดใจในน้ำเสียงของรุ่น Triton Two+ ที่เวลานั้นใช้แอมป์หลอดของ PrimaLuna ขับ ทั้งๆ ที่ตอนไปฟังนั้น ลำโพงยังอยู่ในช่วง Burn-In จึงหลังจบงาน Hi-End AV Show แล้ว ด้วยความที่ยังติดตรึงอยู่กับน้ำเสียงของแอมป์และลำโพงคู่นี้ดังว่า ผมเลยติดต่อไปยังผู้นำเข้าอีกครั้งว่าจะขอกลับไปฟังอีกสักหน ด้วยความเชื่อว่าเวลานี้ทั้งคู่น่าจะทำงานเข้าขากันได้เป็นอย่างดีแล้ว

โดยเฉพาะลำโพง, ควรพร้อมที่จะปลดปล่อยตัวเองออกมาให้สัมผัสประสิทธิภาพได้อย่างเต็มร้อยแล้วเป็นแน่

ผมจึงกลับไปยังโชว์รูมอีกครั้ง พร้อม “แผ่นเดียวเอาอยู่” ที่เป็นความเคยชินติดมือไปด้วยยามไปฟังอะไร “ข้างนอก”

การออกไปฟังอะไรข้างนอก ในความหมายที่ว่าไปฟังเครื่องใหม่ ลำโพงใหม่ รวมทั้งซิสเต็มใหม่ๆ ที่นอกจากจะไม่คุ้นชินมาก่อน (เว้นแต่อะไรใหม่ที่ว่านั้นเป็นพัฒนาการต่อมา เป็นเจเนอเรชั่นใหม่ หรือเป็นรุ่นใหม่ของผลิตภัณฑ์ที่เคยมีความคุ้นชินกันมาก่อน) รวมทั้งมิได้ฟังอยู่ในที่ทางหรืออยู่ในห้องที่เป็นความคุ้นกับสภาพและบรรยากาศห้อง สำหรับผมแล้วจำต้องพึ่งพาเครื่องมือ ซึ่งก็คือ “เสียง” ที่มีความคุ้นเป็นพิเศษที่คุ้นชิน และคุ้นหู ในระดับที่มีความเข้มข้นสูงสุดเป็นสื่อ จึงพอจะออกปากหรือให้ความเห็นอะไรได้เต็มปากเต็มคำสักหน่อย เพราะสามารถเอาความคุ้นทั้งมวลที่มีต่อบรรดาสรรพเสียงต่างๆ เหล่านั้นมาใช้เป็นเกณฑ์ได้

ใครอื่น, หรือคนอื่นอาจจะอะไรก็ได้ เพราะคงจะ “หูทิพย์-หูทอง” อันสูงส่งยิ่ง จึงสามารถวิพากษ์วิจารณ์สิ่งที่ได้ฟังหรือที่กำลังฟังสิ่งที่ “น่าจะ” ไม่คุ้นทั้งมวล ออกมาได้เป็นคุ้งเป็นแคว

ยกตัวอย่างย้อนไปนานไม่กี่มากน้อย, ก็ในงาน Bi-Tec ที่เพิ่งผ่านพ้นนี่แหละครับ

ผมนั่งฟังซิสเต็มหนึ่งอยู่ในห้องโชว์ค่ายหนึ่งได้สองแทร็ก กำลังเริ่มแทร็กที่สาม ก็มีหูทิพย์คน หูทองคน ที่ว่านั้นเข้ามานั่งอยู่แถวหลัง ฟังยังไม่ทันถึงครึ่งแทร็กก็ซุบซิบวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างออกรส เสียงเป็นอย่างนู้น อย่างนั้น มิติไม่มีเลย ราบเป็นหน้ากระดาน และตามมาอีกสารพัดประโยคในทางลบกับซิสเต็มนั้น จนผมอดนึกในใจไม่ได้ว่า แล้ว “ซิสเต็มเทพ” ของพวกเขา จะให้เสียงออกมาได้ระดับใด หรือสุ้มเสียงเป็นแบบไหนหรือ

เพราะเท่าที่ผมฟังมาสองแทร็กก่อนหน้า กว่าสิบนาที ก็ให้รู้สึกชื่นชมอยู่ว่าเป็นซิสเต็มที่ให้เสียงออกมาระดับที่พอจะเอาการเอางานได้เลย จนอยากจะขอยืมไปลองฟังต่อแบบชัดๆ ที่ห้องตัวเองด้วยซ้ำไป

“แผ่นเดียวเอาอยู่” ของผมที่ช่วงหลังๆ มักจะใช้พึ่งพาอาศัยอยู่เป็นประจำ ก็คือแผ่นของ Opus 3 อัลบั้มชุด Test CD 5 : Depth of-Image-Timbre-Dynamics ที่ระบุว่า Acoustic Music in Authentic Environments ครับ

ทั้งหมดมี 14 แทร็ก เวลารวม 77.45 นาที ซึ่งจำได้ว่าผมเคยนำมาให้คุณๆ ได้รู้จักกันผ่านที่ตรงนี้ไปแล้ว

กลับมาเรื่องของซิสเต็มที่จ่าหัวเอาไว้กันต่อครับ

มารู้จักกับลำโพงก่อนนะครับ โดย GoldenEar Triton Two+ เป็นหนึ่งในห้าของชุดลำโพงในอนุกรม Triton Tower Series ที่เป็นรองก็แค่รุ่นใหญ่สุดของอนุกรม คือ Triton One ขณะที่รุ่นซึ่งเป็น Flagship Model หรือเรือธงของค่าย GoldenEar Technology ได้แก่ The Triton Reference ซึ่งแม้จะใช้ชื่ออนุกรมเดียวกัน แต่จัดลำดับเอาไว้สูงสุดระดับ Reference Series อะไรทำนองนั้นแหละครับ

Triton Two+ เป็นพัฒนาการต่อมาของ Model Triton Two ที่ได้รับการยกย่องอย่างมากว่าเป็นลำโพงที่ให้คุณภาพเสียงออกมาได้อย่างเลิศเลอ เป็นที่เลื่องลือและชื่นชมในหมู่ออดิโอไฟล์มากกว่ามาก โดยเฉพาะในแง่ที่ว่าสามารถให้คุณค่าของเสียงดนตรีออกมาอย่างที่มิอาจประเมินได้นั่นเทียว นอกจากนี้ยังมีบทวิจารณ์ทั้งชื่นชมและยกย่อง รวมทั้งได้รับรางวัลจากนิตยสารต่างๆ มากมาย ไม่ว่าจะเป็นระดับ Speaker of the Year รวมทั้ง Audio Product of the Year

และเป็นลำโพงที่คอลัมนิสต์ชื่อดังของนิตยสาร Sound & Vision อย่าง Al Griffin ได้ให้ความชื่นชมยกย่องอย่างล้นเหลือ โดยบางประโยคที่พูดถึงลำโพงคู่นี้ เขาบอกว่ามันสามารถฟังเทียบเคียงไปกับลำโพงที่มีราคาสูงกว่า ซึ่งบางคู่มีราคาถึง US$50,000 ได้สบายมากนั่นเทียว

กับพัฒนาการล่าสุดของ Triton Two+ ที่มีโครงสร้างรูปทรงแบบเพรียว บาง ด้วยความสูง 48 นิ้ว มีเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่รังสรรค์ขึ้นมาใช้กับรุ่นใหญ่คือ Triton One ผนวกเอาไว้มากมาย อาทิ การออกแบบครอสส์โอเวอร์ เน็ตเวิร์ก ในรูปการทำงานแบบ Linear-Phase Fully Balanced การใช้คาปาซิเตอร์คัดเกรดพิเศษแบบ High-End Film ปรับปรุงชุดตัวขับเสียง Midrange/Upper-Bass Driver ซึ่งเป็นแบบ High Definition ขนาด 4-1/2 นิ้ว ขึ้นมาใหม่ ประกอบเข้ากับ Phase Plug แบบ Multi-Vaned (MVPP) ซึ่งเป็นสิทธิบัตรเฉพาะ โดยใช้ไดรเวอร์ชุดนี้สองตัว ติดตั้งอยู่ในห้องที่เป็นโครงสร้างเฉพาะ และขนาบทวิตเตอร์เอาไว้กึ่งกลาง

นอกจากนี้ยังได้ติดตั้งโปรแกรม DSP ชุดใหม่ด้วย อีกทั้งยังได้ผนวกเพาเวอร์ สับ-วูฟเฟอร์แบบ Quadratic ทรงเหลี่ยมมนขนาด 5 x 9 นิ้ว ติดตั้งที่แผงหน้าตู้ตอนล่าง โดยแอมป์ที่ใช้นั้นเป็นแบบ DSP-Controlled Class-D Digital Amp. กำลังขับ 1,200 วัตต์ ซึ่งใช้เทคโนโลยีการทำงานแบบ ForceField ที่เป็นสิทธิบัตรเฉพาะของ GoldenEar เช่นกัน

สําหรับชุดตัวขับเสียงย่านความถี่ต่ำที่เป็นเพาเวอร์ สับ-วูฟเฟอร์ ด้านหน้านั้น จะทำงานร่วมกับแผง Bass Radiator ที่เป็น Quadratic Planar ขนาด 7 x 10 นิ้ว, สองตัว ซึ่งติดตั้งเอาไว้ที่ด้านข้างของผนังตู้แต่ละด้าน เพื่อให้ได้พลังเสียงของย่านความถี่ต่ำเพิ่มมากขึ้น และลงได้ต่ำลึกยิ่งขึ้นด้วย

ส่วนทวิตเตอร์แผงริบบินนั้น เป็นแบบ HVFR: High-Velocity Folded Ribbon ที่นอกจากสามารถให้รายละเอียดเสียงได้อย่างยอดเยี่ยมแล้ว ยังสามารถทอดขยายไปได้ไกลอย่างราบรื่นและคงความนุ่มนวลของเสียงย่านความถี่สูงๆ เอาไว้ได้อย่างน่าฟัง

GoldenEar Triton Two+ มีโครงสร้างตู้ของแผงหน้าที่โค้ง มน กว้าง 5-1/4 นิ้ว ขณะที่แผงหลังตู้กว้าง 7-1/2 นิ้ว ทำให้ผนังตู้ทั้งสองด้านไม่ขนานกัน ซึ่งเป็นการขจัดเรโซแนนซ์ของตู้ลำโพงได้อีกทางหนึ่ง ความลึกของตู้ 15 นิ้ว สูง 48 นิ้ว รวมแท่นที่เป็นฐานรองตู้ลำโพง (ไม่รวมความสูงของ Spike หรือเดือยแหลม) ซึ่งมีขนาด 11-1/2 x 18 นิ้ว ให้การทำงานตอบสนองความถี่ 16Hz – 35kHz วัดค่าความไว (Sensitivity) ได้ 91dB อิมพีแดนซ์ปกติ 8 โอห์ม

แนะนำกำหนดให้ใช้กับแอมปลิไฟเออร์ 200-500 วัตต์/แชนเนล