“น้ำท่วม-น้ำแล้ง” แม่น้ำโขงในฐานะยุทธศาสตร์ใหม่

อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์

น้ำท่วมเอ่อแม่น้ำโขงแสดงให้เห็นความสำคัญของแม่น้ำโขงในหลากหลายมิติในเวลาเดียวกัน โดยตัวแม่น้ำโขงเอง การพัฒนาเส้นทางน้ำที่ดำเนินไปอย่างรวดเร็วแสดงให้เห็นถึงปัญหาการจัดการน้ำและทรัพยากรธรรมชาติอันมหาศาลและทรงคุณค่าต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์มากขึ้นเรื่อยๆ

ในอีกด้านหนึ่ง แม่น้ำโขงยังแสดงความสำคัญในมิติของยุทธศาสตร์ที่เพิ่มขึ้นของชาติมหาอำนาจและประเทศต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับแม่น้ำโขง

อันได้แก่ สาธารณรัฐประชาชนจีน เมียนมา ไทย สปป.ลาว ราชอาณาจักรกัมพูชา สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม ทั้งทางกายภาพและอื่นๆ

 

น้ำท่วมและโศกนาฏกรรม

ผู้คนจำนวนหลายหมื่นคนอาศัยอยู่บริเวณพื้นที่ติดกับแม่น้ำโขง ตั้งแต่สาธารณรัฐประชาชนจีน เมียนมา สปป.ลาว ไทย ราชอาณาจักรกัมพูชาและสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม แม่น้ำโขงเป็นวิถีชีวิตของพวกเขา

น้ำท่วมอย่างฉับพลันเมื่อเดือนที่แล้วบริเวณ สปป.ลาวตอนใต้ ได้ฆ่าชีวิตผู้คนไปประมาณ 30 ชีวิต อีกทั้งยังเป็นสาเหตุที่ทำลายล้างอย่างกว้างขวางต่อเศรษฐกิจในท้องถิ่น ผู้อยู่อาศัยอย่างน้อย 6,000 ครัวเรือนไร้ที่อยู่อาศัย

และก่อให้เกิดคำถามมากมายถึงการจัดการน้ำอย่างไร

ในอีกแง่มุมหนึ่ง แม่น้ำโขงก็เป็นสถานที่ถ่ายทำภาพยนตร์หลายเรื่องและเป็นแหล่งดึงดูดนักท่องเที่ยวในแต่ละปีเป็นจำนวนมาก

ประเด็นดีอีกอันหนึ่งยังเป็นเรื่องของการค้าและการพาณิชย์ เงินตราที่หลั่งไหลเข้ามามากมายในประเทศลุ่มแม่น้ำโขงและรัฐวิสาหกิจหรือบริษัทที่ได้รับการหนุนหลังเข้ามาบ่อยครั้งเพื่อก่อสร้างเขื่อนผลิตกระแสไฟฟ้าพลังน้ำ

สำหรับประเทศที่เล็กกว่าและยังยากจนอยู่ เช่น สปป.ลาว และราชอาณาจักรกัมพูชา การลงทุนเป็นสิ่งที่ได้รับการต้อนรับ แม้ว่าการลงทุนนั้นจะมาพร้อมกับสิ่งร้อยรัดทางด้านยุทธศาสตร์ก็ตาม แม้ว่าสิ่งร้อยรัดทางยุทธศาสตร์ยังไม่ได้แสดงออกมา แต่หากมีการใช้แม่น้ำโขงเป็นยุทธศาสตร์อันหนึ่ง

แม่น้ำโขงจะก่อให้เกิดประเด็นความอดอยากหิวโหย การต่อต้านของผู้คน และความเป็นไปได้ของการโค่นล้มรัฐบาล

 

นอกเหนือจากน้ำท่วม

เราปฏิเสธไม่ได้ว่าในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง สาธารณรัฐประชาชนจีนเป็นชาติมหาอำนาจที่ใหญ่ที่สุด และแม่น้ำโขงเริ่มต้นที่ที่ราบสูงทิเบต (Tibet) และสาธารณรัฐประชาชนจีนกำลังใช้อิทธิพลทางด้านเศรษฐกิจเพื่อเสริมสร้างสมรรถนะด้านความมั่นคงที่กว้างไปกว่านั้น

การควบคุมที่ใหญ่กว่าเหนือแม่น้ำโขง เป็นที่รู้จักกันในนามของลานช้าง (Lancang) ในสาธารณรัฐประชาชนจีนจนถึงสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนามตอนใต้

ลานช้างอำนวยให้ปักกิ่งกล่าวคำที่สำคัญกว่าในการใช้ทรัพยากรหลักของแม่น้ำโขงและขยายการกดดันประเทศต่างๆ ให้ตกอยู่ในแนวทางการเมืองของสาธารณรัฐประชาชนจีน

การเพิ่มขึ้นของอิทธิพลสาธารณรัฐประชาชนจีน เหนือระบบแม่น้ำโขงโดยผ่านทั้งเขื่อนของแม่น้ำโขงตอนบนและการร่วมลงทุนสร้างเขื่อนบริเวณแม่น้ำโขงตอนใต้ อาจเรียกได้ว่าแสดงถึงยุทธศาสตร์ก่อร่างที่เพิ่มมากขึ้นของห่วงโซ่เกาะแก่งเทียม โครงสร้างพื้นฐานและขีดความสามารถทางทหารของสาธารณรัฐประชาชนจีน

สาธารณรัฐประชาชนจีนได้สร้างเขื่อน 6 เขื่อนตอนบนของแม่น้ำโขงเรียบร้อยแล้ว และวางแผนการสร้างเขื่อนอีก 21 เขื่อน

โดยความสามารถของเขื่อน เขื่อนจะเพิ่มหรือลดปริมาณน้ำได้ในช่วงน้ำน้อย และในฤดูแล้งเขื่อนก็สามารถปล่อยน้ำเพิ่มได้

 

จุดติดยุทธศาสตร์ใหม่

บางทีแม่น้ำโขงอาจเป็นจุดติดยุทธศาสตร์ที่ควบคุมไม่ได้อีกอันหนึ่งของภูมิภาค

ในขณะที่บริเวณนี้ไม่มีระดับเท่ากับความขัดแย้งในทะเลจีนใต้ ซึ่งสาธารณรัฐประชาชนจีนได้กล่าวอ้างพื้นที่เป็นพันเอเคอร์และติดตั้งอุปกรณ์ทางทหารในเกาะเล็กๆ และเขตพื้นที่ทราย

แม่น้ำโขงอาจค่อยๆ ถูกจุดติดประเด็นทางยุทธศาสตร์ที่เพิ่มมากขึ้น ทั้งนี้เพราะว่ามูลค่าของเส้นทางน้ำที่ไหลสู่ทะเล เส้นทางน้ำที่ผ่านแหล่งข้าวปลาอาหารของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อันมีข้าวและแหล่งเพาะปลูกพืชพันธุ์ธัญญาหารหลักต่างๆ อีกทั้งยังรวมถึงการจับปลาอันอุดมสมบูรณ์ และเป็นพื้นที่เป้าหมายของนักท่องเที่ยวจากทุกมุมโลก

ข้าวปลาอาหารอันอุดมสมบูรณ์มีอยู่ตามช่วงฤดูกาล พร้อมเงินจากนักท่องเที่ยวจากทุกสารทิศที่อยากพักผ่อนและเยี่ยมชมแม่น้ำโขง และแหล่งมรดกโลกหลายต่อหลายแห่งทั่วลุ่มแม่น้ำโขง มหานทีของโลก

ให้สังเกตว่าทั้งแม่น้ำโขงและทะเลจีนใต้ สาธารณรัฐประชาชนจีนกำลังขับเคลื่อนโดยแจกทั้ง “ขนมหวาน” อันได้แก่การหลั่งไหลของการลงทุน ความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจทั้งแบบให้เปล่าและเงินกู้

บางครั้งก็ยกเลิกหนี้ให้เมื่อคราวต้องการผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจและการเมืองที่ใหญ่กว่าระดับประเทศ แต่เป็นระดับภูมิภาค

เราก็ได้เห็นประจักษ์พยานในกรณี สปป.ลาว เมียนมาและราชอาณาจักรกัมพูชา

บ่อยครั้งเราเริ่มเห็นการหยิบยื่น “ขนมหวาน” มาให้ไทยบ่อยขึ้น

แต่เป็นการหยิบยื่นตามกฎของผู้ให้ที่ผู้รับแทบไม่ได้เจรจาต่อรองอันใด

ในเวลาเดียวกัน เราเห็นข้อมูลเชิงประจักษ์มากขึ้นทุกทีที่ทางการสาธารณรัฐประชาชนจีนได้ฟาด “ไม้เรียว” อันได้แก่ แรงกดดันทางทหารและการทูต หลายกรณีและเพิ่มความถี่และความหนักหน่วงเพิ่มมากขึ้น

โดยเฉพาะแรงกดดันแบบสองประเทศ (ทวิภาคีหรือ bilateral) คือ จีนกับประเทศนั้นๆ ซึ่งไม่ใช่คู่เจรจาแต่รับข้อเสนอแนะของทางการสาธารณรัฐประชาชนจีน

สิ่งที่คู่ขนานแต่ได้ผลมากต่อการสนองตอบของทางการจีนคือ บริษัทต่างๆ ของจีนได้ช่วยเหลือทางด้านการเงิน เพื่อขยายโครงข่ายของเขื่อนต่างๆ ในแม่น้ำโขง

ตรงนี้ผมตีความว่า ทางการจีนได้เสาะแสวงหาการเพิ่ม “เสียง” ซึ่งเป็นทั้งเครื่องมือและพลังในเวลาเดียวกัน ต่อการตัดสินใจว่าจะบริหารแม่น้ำโขงซึ่งยาว 2,700 ไมล์ (4,350 กิโลเมตร) อย่างไร

ผมจึงอยากชวนให้มองแม่น้ำโขง เป็นทั้งแม่น้ำและนอกเหนือไปกว่านั้น แม่น้ำโขงก้าวย่างสู่การจุดติดทางยุทธศาสตร์ใหม่ของภูมิภาคแล้ว

ขอไทยอย่าตั้งรับ แต่ดำเนินการเชิงรุกและดึงแม่น้ำโขงเป็นยุทธศาสตร์ของภูมิภาค