กรองกระแส/บทเรียนรัฐประหาร จากปี 2549 ถึงปี 2557 การเมืองมิติใหม่

กรองกระแส

 

บทเรียนรัฐประหาร

จากปี 2549 ถึงปี 2557

การเมืองมิติใหม่

กระบวนการรัฐประหาร ต้านรัฐประหาร หากศึกษานับแต่รัฐประหารเมื่อเดือนมิถุนายน 2475 กระทั่งรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557
จะสัมผัสได้ถึงพัฒนาการ และกระบวนการต่อสู้
ยุคแรก เห็นได้จากหลังรัฐประหารเมื่อเดือนมิถุนายน 2475 จะประสบเข้ากับการต้านระลอกแรกคือ การรัฐประหารโดยกระบวนการรัฐธรรมนูญในเดือนเมษายน 2476 แต่เมื่อปะเข้ากับรัฐประหารซ้อนในเดือนมิถุนายน 2476 ก็นำไปสู่การก่อการของกบฏบวรเดชในเดือนตุลาคม 2476
หลังรัฐประหารเดือนพฤศจิกายน 2490 ก็เกิดขบวนต้านรัฐประหารตามมาหลายระลอก ไม่ว่าจะเป็นกบฏเสนาธิการเมื่อเดือนตุลาคม 2491 กบฏวังหลวงเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2492 กบฏแมนฮัตตันเมื่อเดือนมิถุนายน 2494
และเมื่อมีการกวาดล้างใหญ่หลังรัฐประหารเดือนพฤศจิกายน 2494 ขบวนต้านรัฐประหารก็ลงสู่ใต้ดินและนำไปสู่การจับใหญ่ในเดือนพฤศจิกายน 2495
หลังรัฐประหารเดือนกันยายน 2500 และหลังรัฐประหารซ้ำเมื่อเดือนตุลาคม 2501 มีการกวาดล้างจับกุม คุมขัง เข่นฆ่าด้วยมาตรา 17 ไม่ว่าจะกรณีนายรวม วงศ์พันธุ์ กรณีนายครอง จันดาวงษ์ เป็นต้น ในที่สุดขบวนต้านรัฐประหารก็ลงใต้ดินและเริ่มมีความคิดในการจับอาวุธลุกขึ้นต่อสู้
ขณะเดียวกัน ยุคหลังนับแต่รัฐประหารเมื่อเดือนกันยายน 2549 ต่อเนื่องมายังหลังรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 การต้านรัฐประหารมีความแตกต่างเป็นอย่างมาก กระทั่งถือได้ว่าเป็นอีกก้าวหนึ่งของพัฒนาการการต่อสู้ในทางการเมืองของไทย

รัฐประหาร 2549
รัฐประหาร 2557

การต้านรัฐประหารในยุคแรกจากเดือนมิถุนายน 2475 กระทั่งหลังรัฐประหารเมื่อเดือนตุลาคม 2501 อาจมีอยู่ผ่านรูปการณ์ของการกบฏ และหลังสุดก็พัฒนาเป็นการต่อสู้ด้วยอาวุธอย่างที่พรรคคอมมิวนิสต์เคยกระทำ
แต่กล่าวสำหรับนับแต่รัฐประหารเมื่อเดือนกันยายน 2549 เป็นต้นมา รูปการณ์ของการปะทะขัดแย้งระหว่างฝ่ายรัฐประหารกับฝ่ายต้านรัฐประหารดำเนินไปอย่างสลับซับซ้อน
1 ใช้รูปของพรรคการเมืองเป็นเครื่องมือ ใช้การเลือกตั้งเป็นเครื่องมือ
แม้จะมีการยุบพรรคไทยรักไทย แต่ก็เกิดพรรคพลังประชาชน แม้จะมีการยุบพรรคพลังประชาชน ก็เกิดพรรคเพื่อไทย
เห็นได้จากชัยชนะในการเลือกตั้งเมื่อปี 2550 และในการเลือกตั้งเมื่อปี 2554
1 เมื่อชัยชนะจากการเลือกตั้งเมื่อปี 2550 ลงเอยด้วยการยุบพรรคพลังประชาชน ก็มีการใช้รูปแบบการชุมนุมในการต่อสู้ ไม่ว่าจะเป็นเมื่อปี 2552 ไม่ว่าจะเป็นเมื่อปี 2553 แต่ก็ถูกปราบปรามและเข่นฆ่าอย่างรุนแรง
จึงหวนกลับมาใช้รูปการณ์ของการเลือกตั้งมาเป็นเครื่องมืออีกครั้งในปี 2554 และก็จบลงด้วยการถูกรัฐประหารอีกในปี 2557

กำจัดลงได้
แต่ขจัดไม่ได้

จากรัฐประหารเมื่อเดือนกันยายน 2549 สามารถกำจัดรัฐบาลพรรคไทยรักไทยลงได้ แต่ก็เกิดพรรคพลังประชาชน เมื่อยุบพรรคพลังประชาชนและอำนาจเปลี่ยนมือก็เกิดพรรคเพื่อไทยและได้ชัยชนะจากการเลือกตั้ง จึงนำไปสู่รัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557
การดำรงอยู่ของพรรคเพื่อไทยจึงเท่ากับเป็นการดำรงอยู่ของพรรคพลังประชาชนและพรรคไทยรักไทย
การดำรงอยู่ของพรรคเพื่อไทยบนพื้นฐานความเชื่อทั้งภายในพรรคเพื่อไทยและภายในสังคมไทยที่ว่า หากมีการเลือกตั้ง ความเป็นไปได้ที่พรรคเพื่อไทยจะได้ชัยชนะเหมือนกับเมื่อเดือนกรกฎาคม 2554 สูงเป็นอย่างยิ่ง
เท่ากับสะท้อนให้เห็นว่ารัฐประหารสามารถ “กำจัด” เป้าหมายในทางการเมืองลงได้ แต่ก็ยังไม่อาจทำลายได้อย่างราบคาบ หมดจด
เท่ากับยืนยันว่า รัฐประหารยังไม่สามารถ “ขจัด” พรรคเพื่อไทยลงได้อย่างสิ้นเชิง
แม้ว่าจะมีรัฐธรรมนูญเป็นเครื่องมือ แม้ว่าจะมีประกาศและคำสั่ง คสช. ตลอดจน “แม่น้ำ 5 สาย” เป็นเครื่องมือก็ตาม
เพราะว่าขบวนการรัฐประหารยังไม่สามารถเอาชนะได้ในทาง “ความคิด”

การต่อสู้การเมือง
พัฒนาสู่ระดับใหม่

บทเรียนจากรัฐประหาร ต้านรัฐประหาร จากเมื่อเดือนกันยายน 2549 ต่อเนื่องมายังเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 ทำให้การเมืองไทยได้เข้าสู่อีกมิติหนึ่งอันเป็นมิติใหม่
รัฐประหารอาจโค่นและทำลายสถานะในทางการเมืองลงได้
แต่ก็เสมอเป็นเพียงการกำจัดในด้านตัวบุคคลอันเป็นเรื่องเฉพาะส่วน ขณะที่ความสำคัญเป็นอย่างมากก็คือ ขบวนการรัฐประหารยังไม่สามารถขจัดความคิดอันเป็นมูลฐานของผลงานและความสำเร็จของรัฐบาลหรือของพรรคการเมืองนั้นลงได้
ตรงนี้เองที่ทำให้การรัฐประหาร และการต้านรัฐประหารยังเผชิญหน้ากันอยู่ภายในปริมณฑลทางความคิด ทางการเมืองและทางการจัดตั้ง ยังดำรงอยู่และเผชิญหน้ากันอย่างเข้มข้น
เป็นการต่อสู้ในมิติใหม่แตกต่างไปจากประสบการณ์อย่างที่เคยเกิดขึ้นในอดีต
มิได้เป็นการชุมนุมใหญ่ มิได้เป็นการลงใต้ดินและจัดตั้งกองกำลังติดอาวุธ หากแต่โดยผ่านพรรคการเมือง ผ่านการเคลื่อนไหวทางความคิดไปก่อปรากฏการณ์ทางการเมืองและการจัดตั้ง