ยานยนต์ สุดสัปดาห์ / สันติ จิรพรพนิต/เยือน ‘ไต้หวัน’-ยลโฉมเอสยูวี พิสูจน์ซูบารุ ‘นิว ฟอเรสเตอร์’

สันติ จิรพรพนิต

ยานยนต์ สุดสัปดาห์ / สันติ จิรพรพนิต [email protected]

 

เยือน ‘ไต้หวัน’-ยลโฉมเอสยูวี

พิสูจน์ซูบารุ ‘นิว ฟอเรสเตอร์’

ต่อเนื่องจากฉบับที่แล้วในงานเปิดตัวรถยนต์เอสยูวี “ซูบารุ ออล นิว ฟอเรสเตอร์” ที่ผมได้รับเชิญจาก “ทีซี ซูบารุ(ประเทศไทย)” มอเตอร์ อิมเมจ ในเครือกลุ่มตันจง อินเตอร์เนชั่นแนล ร่วมทริปไปร่วมงานที่เมืองไทจง หรือไถจง (Taichung) ไต้หวัน
หลังเปิดตัว 1 วันทีมงานจัดทดสอบรถรุ่นนี้ให้ผู้สื่อข่าวจากหลายประเทศในแถบอาเซียน ที่กลุ่มตันจง อินเตอร์เนชั่นแนล ดูแลการขายให้ได้สัมผัสของจริงกันทั้งแบบ “ออนโรด” และ “ออฟโรด”
บอกเล่าพอสังเขปถึงสเป๊กรถยนต์รุ่นนี้
ใช้เครื่องยนต์ Boxer ระบบไดเร็กต์อินเจ็กชั่น 1,995 ซีซี เกียร์ CVT 7 สปีด กำลังสูงสุด 156 แรงม้า แรงบิด 196 นิวตัน-เมตร
ระบบขับเคลื่อนสี่ล้อแบบสมมาตร (Symmetrical All-Wheel Drive) ที่ส่งแรงขับเคลื่อนให้กับล้อแต่ละล้อ ช่วยให้รถเกาะถนนได้อย่างมั่นคงและช่วยให้ผู้ขับขี่สามารถควบคุมรถได้อย่างปลอดภัย ไม่ว่าจะเป็นการเดินทางในทุกสภาพภูมิประเทศ และทุกสภาพถนน
มาพร้อมกับฟังก์ชั่น X-MODE ที่ช่วยเพิ่มสมรรถนะในการขับขี่บนภูมิประเทศที่ท้าทายเปิดใช้งาน X-MODE ได้ที่สวิตช์แบบหมุนซึ่งวางไว้ข้างๆ เกียร์ ในโหมด Select สามารถสลับโหมดต่างๆ อย่างง่ายดาย
ความปลอดภัยและเทคโนโลยีช่วยการขับขี่ถือว่ามาแบบครบถ้วน ด้วย “EyeSight Driver Assist”

เริ่มกันที่บททดสอบแบบ “ออนโรด” หรือบนทางธรรมดา เพียงแต่การทดสอบนี้จัดขึ้นในสนามแข่งขนาดย่อมๆ หรือจะเรียกว่า “ออนแทร็ก” ก็ไม่ผิดกติกา
สนามที่ซูบารุจัดให้เป็นสนามแข่งรถโกคาร์ต “Lih Pao Racing Park” อยู่ห่างจาก “ฟูลลอน โฮเต็ลแอนด์รีสอร์ต” ที่ผู้สื่อข่าวคนไทยเข้าพักไม่มากนัก เดินทางไม่เกิน 20 นาทีกระมัง
การทดสอบแบ่งออกเป็น 2 สถานีหลักๆ คือลองขับเพื่อสัมผัสความรู้สึก โดยทีมงานจัดรถมา 4 คัน เป็นฟอเรสเตอร์ ใหม่, ฟอเรสเตอร์ รุ่นปัจจุบัน และคู่แข่งในเซ็กเมนต์เดียวกันอีก 2 รุ่น
เรียกว่าใจถึงพึ่งได้ที่กล้านำรถมาให้ทดสอบแบบเปรียบเทียบกันเช่นนี้
ส่วนอีกสถานีจะเป็นการดูการทำงานของระบบช่วยเหลือด้านความปลอดภัยต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นระบบเบรกอัตโนมัติก่อนการชน ซึ่งจะช่วยเบรกเมื่อระบบตรวจจับแล้วพบว่ารถของเราเข้าใกล้คันหน้ามากเกินไปจนเสี่ยงต่ออุบัติเหตุ
ระบบปรับความเร็วรถอัตโนมัติ หรือ “อแดปทีฟ ครุยส์ คอนโทรล” ตั้งความเร็วและระยะห่างจากรถคันหน้า ระบบจะควบคุมคันเร่งและเบรกให้อัตโนมัติ ตามความเร็วของรถคันหน้า
ระบบการแจ้งเตือนในจุดบอด การช่วยเปลี่ยนเลน และการแจ้งเตือนเมื่อการจราจรข้างหลังเคลื่อนที่
แต่น่าเสียดายเล็กน้อยที่สถานีหลังนี่ผมไม่มีโอกาสทดสอบ เพราะเกิดเรื่องผิดแผนนิดหน่อยจากกลุ่มผู้สื่อข่าวประเทศอื่น เลยยกเลิกไป

สนามแบ่งเป็น 2 วงรอบ คือในและนอก การขับขี่วนรอบนอกก่อนเลี้ยวเข้ารอบในแล้วจบ
ผมเลือกที่จะทดสอบรถคู่แข่งก่อน 2 รุ่น ตามด้วยฟอเรสเตอร์รุ่นปัจจุบัน และปิดท้ายด้วยรุ่นออล นิว ฟอเรสเตอร์
สนามนี้ออกแบบให้มีโค้งค่อนข้างเยอะ และในบางโค้งทีมงานก็ฉีดน้ำเพื่อให้พื้นเปียกตลอดเวลา
ออกจากจุดสตาร์ตได้ลองขับแบบสลาลอม หักซ้าย-หักขวาหลบกรวยที่วางเอาไว้ด้วยความเร็วพอประมาณ จากนั้นเป็นทางตรงให้ซัดทำความเร็วเพิ่มขึ้น ก่อนเจอโค้งอีกครั้งแล้วเลี้ยวเข้าแทร็กใน ซึ่งต้องผ่านโค้งตัวเอสที่ฉีดน้ำเอาไว้ และสุดท้ายก่อนจบรอบเข้าโค้งด้วยความเร็ว
ความรู้สึกที่สัมผัสได้ของออล นิว ฟอเรสเตอร์ พวงมาลัยที่แม่นยำ การเข้าโค้งมีอาการเหวี่ยงน้อยมาก ขณะที่เบาะนั่งล็อกตัวผู้ขับขี่ได้อย่างมั่นคง
ช่วงล่างนิ่มพอตัวและหนึบแน่นในทุกการสาดโค้ง แน่นอนว่าส่วนหนึ่งเพราะระบบขับเคลื่อน 4 ล้อ แบบสมมาตร รวมถึงมีตัวช่วยชั้นเลิศอย่างระบบควบคุมเสถียรภาพการทรงตัวขณะเข้าโค้ง (VDC)
อัตราเร่งช่วงต้น-กลางทำได้ดีพอตัว ส่วนความเร็วปลายไม่มีโอกาสได้อัดเพราะหมดระยะเสียก่อน
อีกความรู้สึกที่สัมผัสได้ตรงๆ คือทัศนวิสัย เหลือเฟือมากๆ เพราะกระจกบานใหญ่มีอยู่รอบคัน เรียกว่าแทบหาจุดบอดไม่เจอ
การทดสอบบนแทร็กครั้งนี้เกิดเรื่องหวาดเสียวเล็กๆ เพราะจังหวะที่ผมต้องเปลี่ยนเลนจากวงในออกวงนอกอีกรอบ เข้าใจว่าน่าจะเกิดความสับสนเล็กน้อยในการปล่อยรถ ทำให้มีรถอีกคันแล่นมาอีกทางเข้าทับเลนกันพอดี
เป็นโชคดีที่ทั้งจังหวะการขับและพฤติกรรมการขับรถของผมที่ปกติชอบมองกระจกข้างและกระจกมองหลังบ่อยๆ หรือบางครั้งก็ชำเลืองหางตาไปมองผ่านกระจกหน้าต่างเวลามาถึงทางร่วม-ทางแยกจนเป็นนิสัย แม้จะขับในสนามทดสอบก็ตาม ทำให้เหลือบไปเห็นเข้าพอดี จึงปล่อยให้รถอีกคันแล่นนำไปก่อน
ที่จะบอกก็คือ ด้วยทัศนวิสัยของออล นิว ฟอเรสเตอร์ ยอดเยี่ยมมาก ทำให้เพียงแค่ชำเลืองหางตาก็มองเห็นรถอีกคันที่เข้ามาในทางได้แล้ว

จบการทดสอบบนแทร็กในสนามโกคาร์ต เดินทางต่ออีกเล็กน้อยไปยังสนามทดสอบแบบออฟโรด เริ่มจากขับบนพื้นผิวที่สูงต่ำไม่เท่ากัน จากนั้นผ่านถนนที่ปูด้วยหินขรุขระเพื่อทดสอบความนิ่มนวลของช่วงล่าง ผ่านฉลุยนิ่มพอตัว
จากนี้ขับขึ้นเนินสูงประมาณ 2 เมตรเศษๆ แล้วขึ้นไปจอดเอียงๆ ก่อนถึงจุดสูงสุดเพื่อลองระบบป้องกันการไหลของรถโดยไม่ต้องเหยียบเบรกค้าง และช่วงขาลงได้ลองระบบ Hill-Start Assist (HSA) ขับลงจากเนินโดยไม่ต้องแตะเบรก ซึ่งระบบจะช่วยชะลอความเร็วให้เอง
ระบบนี้ช่วยได้มากเวลาเดินทางไปเที่ยวเส้นทางภูเขาที่ต้องลงเนินชันมากๆ ทำให้ผู้ขับขี่ไม่ต้องแตะเบรกบ่อยๆ ซึ่งสุ่มเสี่ยงจะเกิดอันตรายอย่างไม่คาดฝัน
อย่างที่ภาษาบ้านๆ เรียกว่า “เบรกแตก” นั่นเอง
ก่อนเข้าสถานีนี้ต้องเปลี่ยนโหมดการขับขี่ไปเป็น “X-MODE” เสียก่อน
หลังจากลงจากเนินแล้วก็ลงไปในบ่อน้ำ จากนั้นเข้าไปยังพื้นที่จำลองเป็นลักษณะการขับขึ้นเนินลาดเอียงที่เอียงค่อนข้างมาก
ปิดท้ายด้วยการขับความเร็วสูงบนทางทรายแบบสลาลอม ซึ่งทำทางซิกแซ็กพอสมควร จนต้องหมุนพวงมาลัยกันมือเป็นระวิงทีเดียว
โดยภาพรวมแล้ว ออล นิว ฟอเรสเตอร์ ทำได้ดีในทุกอุปสรรค ทั้งความนุ่มนวลและแข็งแกร่งของช่วงล่าง แรงเหวี่ยงน้อย และเสียงที่เล็ดลอดเข้ามาไม่มากนัก
ถือเป็นเอสยูวีแท้ๆ อีกรุ่นที่น่าบรรจุในตัวเลือก สำหรับคนที่เล็งรถในเซ็กเมนต์นี้เอาไว้
ใครสนใจ “ออล นิว ฟอเรสเตอร์” อดใจรอหน่อย เพราะจะมาอวดโฉมและรับจองในงานมอเตอร์เอ็กซ์โป ปลายปีนี้ ก่อนเปิดตัวอย่างเป็นทางการในมอเตอร์โชว์ ต้นปี 2019