เลือกตั้งพิสูจน์ “สำนึก”

ข้อกล่าวหาหนึ่งที่ “อภิสิทธิ์ชน” ทั้งหลายใช้เป็นเหตุผลในการลดทอนสิทธิทางการเมืองของประชาชนคือ “ส่วนใหญ่ไม่มีความรู้และสำนึกพอที่จะเลือกผู้แทนฯ ที่ดีมีความสามารถเข้าไปทำหน้าที่ในรัฐสภา”

เป็นข้อกล่าวหาอันเป็นที่มาของบทสรุปให้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่เปิดทางให้กลุ่มบุคคลที่มาจากการแต่งตั้งของผู้มีอำนาจ มีสิทธิมีเสียงเท่าๆ กับผู้ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน

และรัฐธรรมนูญฉบับเดียวกันนี้ยังสร้างข้อจำกัดให้นักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนต้องถูกตรวจสอบอย่างละเอียดยิบชนิดที่มีตำหนิอะไรไม่ได้เลย ไม่ว่าตำหนินั้นจะสร้างขึ้นเอง หรือถูกคนอื่นป้ายสีให้แปดเปื้อน

มุมมองที่หมิ่นแคลนสำนึกและความรู้ของประชาชนในการใช้สิทธิทางการเมืองเป็นเหตุของปัญหาที่จะตามมาอีกมากมาย ถึงขนาดมีความกังวลว่าแม้จะมีการเลือกตั้ง แต่หลังเลือกตั้งแล้วได้ “รัฐบาลที่ประชาชนส่วนใหญ่ไม่ได้เลือก” ความวุ่นวายจะเกิดขึ้น

แม้จะอ้างว่าเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ แต่เมื่อรัฐธรรมนูญถูกมองว่าออกแบบอย่างมีเป้าหมายกีดกันผู้ได้รับการเลือกตั้งจากประชาชนอยู่แล้ว ความยุ่งยากที่เกิดจากการไม่ยอมรับจะเกิดขึ้น

อย่างไรก็ตาม การเมืองในบางมิติดูเหมือนว่ากำลังจะหาทางพิสูจน์ว่าข้อสันนิษฐานที่มองสำนึกประชาชนในทางลบนั้นไม่ใช่เรื่องเกินเลยไป

พรรคการเมืองพรรคหนึ่งถูกตั้งขึ้นมาด้วยวัตถุประสงค์ชัดเจนว่า “เพื่อสนับสนุนให้ผู้มีอำนาจปัจจุบันได้สืบทอดอำนาจต่อไป”

การสร้างพรรคทำโดยอาศัยการจัดการทุกรูปแบบ เพื่อ “ดูดอดีต ส.ส. จากพรรคการเมืองทั้งหลาย” ให้มาร่วมเป็นฐานเสียง

เป็นพรรคที่ไม่มีอุดมการณ์หรือนโยบายอะไรที่จะทำให้เกิดความเชื่อถือว่าเป็นกลุ่มคนที่จะเข้ามารับใช้ประชาชน

แต่วิธีการจัดการสร้างเครือข่ายที่ให้ผลประโยชน์เต็มที่กับนักการเมืองที่เป็นเป้าหมาย ทำให้สามารถรวบรวมคนได้มากมาย

นักการเมืองที่รวบรวมเข้ามาได้ส่วนใหญ่คือ “ผู้มีบารมีในพื้นที่”

เป็นกลุ่มนักการเมืองก่อนหน้านั้น ทำให้ประชาชนถูกหมิ่นแคลนว่า “ไม่มีจิตสำนึกในการเลือกคนดีมีความสามารถเข้ามาเป็นผู้แทนฯ” เลือกเพราะเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตัวเล็กๆ น้อยๆ ไม่คิดถึงความเสียหายในภาพรวมที่จะเกิดกับประเทศ

ถึงวันนี้นักการเมืองเหล่านั้นกำลังเป็นเครื่องมือที่จะสานฝันการสืบทอดอำนาจให้บรรลุ

และตรงนี้เป็นเรื่องที่น่าสนใจอย่างยิ่ง

เพราะจะเป็นการพิสูจน์กันให้ชัดเจนไปว่า “ประชาชนส่วนใหญ่” เลือกผู้แทนฯ ด้วยความคิดแบบไหน

เลือกด้วยสำนึกว่าเป็นผู้ที่เห็นสิทธิเสรีภาพที่เท่าเทียมกันของประชาชนเป็นเป้าหมาย หรือเลือกอย่างไร้จิตสำนึกเหมือนที่ถูกหมิ่นแคลน จนเป็นเหตุผลของการเขียนรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันขึ้นมา

ผลการเลือกตั้งที่ล่าสุดสัญญากันว่าจะเกิดขึ้นในช่วงต้นปีหน้า จะเป็นคำตอบว่าประชาชนเป็นอย่างที่ถูกหมิ่นแคลนหรือไม่

คำตอบเป็นเรื่องน่าติดตามยิ่ง เพราะจะเป็นเหตุผลที่จะบอกว่า อนาคตการเมืองของไทยจะเป็นอย่างไรต่อไป

อย่างไรก็ตาม ในห้วงเวลาที่การเลือกตั้งดูเหมือนจะมีเหตุผลที่เหมาะควรในการที่จะถูกทำให้เลื่อนออกไปอยู่เสมอๆ นี้

“สวนดุสิตโพล” ล่าสุดที่สำรวจเรื่อง “การตัดสินใจเลือก ส.ส.” น่าจะเอามาประเมินคำตอบได้อยู่เหมือนกัน

ใน “5 ปัจจัยที่ประชาชนใช้ตัดสินใจเลือกผู้สมัคร ส.ส. ในการเลือกตั้งครั้งต่อไป” มากสุดคือ ร้อยละ 27.95 บอกว่าเป็นความซื่อสัตย์สุจริต, รองลงไปคือ ร้อยละ 25.16 คือความรู้ความสามารถ, ร้อยละ 16.17 ตอบว่าประวัติส่วนตัว, ร้อยละ 15.86 เลือกที่พื้นฐานการศึกษา และร้อยละ 14.86 เลือกที่ประสบการณ์ทางการเมือง

ถ้าเป็นอย่างนี้จริง “นักการเมืองที่ปล่อยให้ตัวเองถูกดูด” ทั้งหลาย ย่อมแทบพ้นไปจากตัวเลือกของประชาชน

ปัจจัยที่บอกว่ามีอิทธิพลต่อการตัดสินใจดังกล่าวนี้ ย่อมบอกไม่ได้เลยว่าเป็นการตัดสินใจอย่างไร้สำนึกของประชาชน

ทว่าที่สุดแล้วจะดีงามอย่างที่ผลโพลออกมาหรือไม่

ถ้าการเลือกตั้งมีโอกาสเกิดขึ้น ประชาชนจะเป็นผู้พิสูจน์ให้เห็นว่า “การหมิ่นแคลนว่าคนส่วนใหญ่ไม่มีสำนึก” นั้น เป็นเพียงข้อกล่าวหา เพื่อเขียนกติกาโครงสร้างอำนาจขึ้นมาอย่างไม่เป็นธรรมกับประชาชนส่วนใหญ่เท่านั้น

หาได้เป็นจริงตามข้อกล่าวหาไม่