มนัส สัตยารักษ์ : โลกต้องการปาฏิหาริย์

ความรู้สึกว่า “เป็นเจ้าของ” ศาสนาทำให้นึกถึงเรื่องไม่น่าเชื่อเรื่องหนึ่ง…

ขณะที่ผมกำลังประทับใจกับหนังสือที่เขียนโดยพระฝรั่งศิษย์อาจารย์ชา สุภัทโทอยู่นั้น ถูกเพื่อนที่เข้าวัดบ่อยค่อนขอดว่า “พระไทยเก่งๆ ดีๆ มีเยอะแยะ ไปเห่อพระฝรั่งต่างชาติอยู่ได้”

ผมกะจะย้อนว่า “พระพุทธเจ้าก็ไม่ใช่คนไทยนะ” แต่นึกขึ้นมาได้ว่าไม่มีประโยชน์ที่จะไปโต้แย้งกับคนหน้ามืดตามัว นับถือพระราวกับเป็นแฟนคลับของดารา-นักร้อง

ผมเขียนบทนี้ด้วยความระมัดระวัง

รัฐมนตรีประเทศอินเดียเดินทางมาอุปสมบทเป็นพระภิกษุที่ประเทศไทย เมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม – 5 สิงหาคม 2561 ข่าวถูกพาดหัวว่า “ทำโลกสะเทือน”

รายละเอียดของเนื้อข่าวมีว่า นายศรีราชกุมาร บาเดโล รมว.กระทรวงยุติธรรม แห่งแคว้นมหาราษฎร์ ประเทศอินเดีย เดินทางมาอุปสมบทที่เมืองไทย ที่วัดธาตุทอง กทม. ฉายา “พุทธพโล”

อันที่จริงอินเดียเป็นประเทศบ่อเกิดศาสนาพุทธ การที่คนอินเดียมาอุปสมบทในศาสนาพุทธจึงไม่น่าจะทำให้โลกสะเทือนแต่อย่างใด

อนึ่ง คนที่ทำให้โลกสะเทือนจริงๆ มีมาตั้งแต่เมื่อ 2,148 ปีก่อน หรือเมื่อประมาณ พ.ศ.413 เมื่อครั้งที่ พระเจ้าเมนันเดอร์ที่ 1 (Menander 1) กษัตริย์ชาวอินโด-กรีกได้รับการบันทึกว่าเป็นผู้อุปถัมภ์ศาสนาพุทธ

พระเจ้าเมนันเดอร์ คนไทยรู้จักท่านในนาม พญามิลินท์ จากวรรณกรรมภาษาบาลี แปลเป็นไทยในชื่อ “มิลินทปัญหา” ซึ่งเป็นบทสนทนาซักถามของพระองค์กับพระนาคเสน พระเถระนักปราชญ์ชาวพุทธ จนในที่สุดพญามิลินท์อุปสมบทในพระพุทธศาสนา

ตอนผมยังเด็กเริ่มอ่านหนังสือออก ได้อ่าน “มิลินทปัญหา” ทุกครั้งที่ไปบ้านก๋ง เป็นหนังสือเล่มเดียวที่ก๋งวางไว้บนแคร่อเนกประสงค์ของบ้าน แต่ผมเด็กเกินไปที่จะรู้ความ และมารู้ว่าพญามิลินท์คือพระเจ้าเมนันเดอร์ก็เมื่อโตแล้ว

ในรอบ 100 ปี หรือในช่วงชีวิตของคนยุคเรา ข่าวคนในศาสนาอื่นหันมาสนใจและนับถือศาสนาพุทธที่พอจะทำให้รู้สึกว่ามีการเคลื่อนไหวเชิงบวกเกิดขึ้นเป็นระยะ

ที่เป็นข่าวก็คงมาจากความเด่นดังของบุคคลที่เป็นคนของโลก เป็นปราชญ์หรืออาจารย์ นักการเมืองระดับนำ นักกีฬา และศิลปินที่มีชื่อเสียง เป็นต้น

ตัวอย่างที่พอจะนึกออกในตอนนี้ก็เช่น โรแบร์โต บัจโจ้ อดีตกองหน้าตัวหลักของทีมชาติอิตาลี (รองแชมป์ฟุตบอลโลก 1994) นักฟุตบอลยอดเยี่ยมแห่งยุโรป เคยได้รับการแต่งตั้งจาก FAO (องค์การอาหารและการเกษตร) ให้เป็นทูตสันถวไมตรี

ที่ใกล้ๆ ก็มี เดวิด เบ๊กแฮม และครอบครัว เดวิดเป็นกัปตันทีมชาติอังกฤษมาตั้งแต่ปี 2000 ประสบความสำเร็จอย่างสูง เป็นนักกีฬามหาเศรษฐี ได้รับพระราชทานเครื่องราชชั้นอัศวิน ครอบครัวเบ๊กแฮมได้หันมานับถือศาสนาพุทธ ราวปี 2008 พวกเขาสวดมนต์ทุกเช้า

สำหรับดารา-นักแสดงผู้มีชื่อเสียงที่หันมานับถือศาสนาพุทธ คนแรกที่ผมนึกถึงคือ ริชาร์ด เกียร์ ผู้สนใจศาสนาพุทธแต่ยังหนุ่ม มีโอกาสได้พบท่านทะไลลามะที่เนปาล ได้รับคำสอนและวิธีปฏิบัติที่ดี ตรงจุดนี้เป็นเรื่องเข้าใจง่าย เหมือนพวกเราชาวพุทธมาแต่กำเนิด ได้อ่านคำสอนอันเป็นสัจธรรมของท่านก็เชื่อโดยไม่มีข้อกังขา เหมือนกับที่เราเชื่อคำสอนของท่านอาจารย์ชา สุภัทโท ท่านพุทธทาส หรือท่านปัญญานันทะ (เพียงแต่ว่ายังไม่ได้ปฏิบัติตามเท่านั้น)

เปิดดูในกูเกิล พบอีกหลายชื่อดาราดังที่หันมานับถือศาสนาพุทธ เช่น เจนนิเฟอร์ โลเปซ เฉินหลง ออลันโด บลูม สตีเว่น ซีกัล ฯลฯ

ข่าวดีที่ไม่เกี่ยวกับการเปลี่ยนศาสนา เป็นบทปุจฉา-วิสัชนาเรื่อง “ปาฏิหาริย์” ระหว่างมอร์แกน ฟรีแมน ดาราดังกับพระภิกษุในพระพุทธศาสนา ทำให้ฝรั่งเข้าใจศาสนาพุทธดีขึ้น

พระภิกษุตอบมอร์แกน ฟรีแมน ว่า “ศาสนาพุทธไม่ได้เน้นเรื่องปาฏิหาริย์ ศาสนาพุทธเน้นเรื่องที่มนุษย์สามารถแสดงศักยภาพของตนออกมาเพื่อเปลี่ยนแปลงโลก…ความรัก การช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ปรารถนาดีต่อกัน ประนีประนอมกัน นี่คือปาฏิหาริย์ที่โลกต้องการ เป็นสิ่งวิเศษกว่าการเหาะเหินเดินอากาศได้ เดินบนน้ำได้ แหวกน้ำทะเลได้ ซึ่งไม่มีประโยชน์กับโลกใบนี้เลย”

FILE PHOTO: Actor Morgan Freeman takes part in the opening ceremonies of the Invictus Games in Orlando Florida, U.S., May 8, 2016. REUTERS/Carlo Allegri/File Photo

คำตอบนี้ทำให้มอร์แกน ฟรีแมน ถึงกับตะลึงไปเลย เขาสรุปว่า “มนุษย์มีศักยภาพสร้างปาฏิหาริย์โดยไม่ต้องอาศัยอำนาจดลบันดาลจากเทพเจ้า”

นับเป็นเรื่องเชิงบวกของศาสนาพุทธ

ย้อนกล่าวถึงข่าวที่ว่า “สะเทือนโลก” มีคำวิจารณ์ในทำนองว่า มุมมองที่ชาวต่างประเทศมองพุทธศาสนาในเมืองไทย กับมุมมองที่คนไทยมองพุทธศาสนาช่างแตกต่างกันลิบลับ สรุปว่าสื่อกระแสหลักของไทยมองในแง่ลบมากกว่าบวก

ซึ่งก็เป็นส่วนจริงอยู่บ้างเหมือนกัน สังเกตได้จากเหตุการณ์ “13 หมูป่าติดถ้ำหลวง” สื่อต่างประเทศรายงานข่าว “13 หมูป่า” นั่งสมาธิตามคำสอนของศาสนาพุทธในระหว่างเผชิญกับวิกฤต ซึ่งมีผลดีต่อร่างกายและจิตใจ สามารถอยู่ในถ้ำโดยไม่มีอาหารถึง 18 วัน นักวิชาการต่างประเทศนำประเด็น “สมาธิ” นี้ไปวิเคราะห์และวิจัยเพื่อหาคำตอบเพิ่มเติม พวกเขารับว่าสมาธิเป็นคำสอนของพระพุทธเจ้า

ในขณะที่สื่อไทยไม่สนใจในประเด็นสมาธิอันจะเป็นคุณต่อมนุษยชาติ

ขณะเดียวกัน ด้วยความไม่รู้จริงหรือหวังผลประโยชน์ของฝ่ายตน สื่อไทยจะประโคมข่าวพฤติกรรมเพี้ยนๆ เช่น พวกทรงเจ้าเข้าผี ยกย่องพวกสร้าง “พระพุทธเจ้าน้อย” เพื่อหาเสียง เป็นต้น

อาการวิปริตบวกกับสถานการณ์วิกฤตทำให้คนนับถือศาสนาพุทธมีความคิด “แบ่งฝ่าย” กันเหมือนการเมือง ถกเถียงขัดแย้งกันในทุกประเด็น เช่น เอาประเด็น “พระจับเงินได้หรือไม่” มาถกเถียงอย่างไม่ลดราวาศอกออกสื่อทีวีแพร่ไปทั่วประเทศ

แต่เดิมเราเชื่อกันว่า ศาสนาพุทธเล็กลงเพราะคนพุทธใจกว้าง แต่มาถึงวันนี้เราเห็นว่าศาสนาพุทธเล็กลงเพราะคนพุทธใจแคบ ใจแคบจนไม่ยอมรับฟังคนเห็นต่าง

ผู้รู้กล่าวว่า คำสอนในศาสนาพุทธลึกซึ้ง สามารถตอบได้ทุกคำถาม สาเหตุที่ถกเถียงกันไม่จบสืบเนื่องมาจากความรู้ที่รู้ไม่จริง มาจากการแปลพระไตรปิฎกผิดหรือไม่ครบ และถึงแปลถูกก็เข้าใจไม่พอ

ข่าวที่จะทยอยออกสู่สาธารณะในวาระถัดไปที่สื่อต้องระมัดระวัง ก็คือข่าว “เงินทอนวัด”

เลขาธิการ ป.ป.ช. แถลงสรุปคดีเงินทอนวัด มีทั้งสิ้น 81 เรื่อง (แปดสิบเอ็ดเรื่อง) ที่อยู่ระหว่างดำเนินการ

เสร็จสิ้นแล้ว 9 เรื่อง ซึ่งได้แถลงให้สื่อมวลชนทราบและเป็นที่ถกเถียงวิพากษ์วิจารณ์และขัดแย้งกันอย่างกว้างขวางในสื่อต่างๆ ไปแล้ว

ยังเหลือเรื่องระหว่างดำเนินการไต่สวนข้อเท็จจริง 17 เรื่อง และอยู่ระหว่างแสวงหาข้อเท็จจริง 44 เรื่อง ทั้งหมดเมื่อ ป.ป.ช. พิจารณาแล้วเสร็จจะทยอยแจ้งสื่อ

81 เรื่องที่ว่านี่แหละครับที่เราทุกคน ทุกสื่อ ทุกฝ่าย จะต้องระมัดระวังด้วยสติที่สมบูรณ์