อินทรีย์ อ่อน สูง ‘เสถียร โพธินันทะ’

เสถียร โพธินันทะ อ้างถึงคัมภีร์โพธิมรรคอนุบุพพไพบูลยศาสตร์ของคันถรจนาจารย์ตสองขะปะแห่งทิเบต ได้ให้ข้อเปรียบศูนยตยาทินกับลัทธิอุจเฉทวาทว่าแม้ทั้ง 2 ฝ่ายจะเห็นว่าสิ่งทั้งปวงสูญเหมือนกันก็จริง

แต่ฝ่ายอุจเฉทวาทกล่าวโดยกิเลสอวิชชา ปราศจากยถาภูตญาณทัศนะเช่นฝ่ายมาธยมิก อุปมาบุคคล 2 คน

คนหนึ่งไม่ได้รู้เห็นด้วยตนเองว่าโจรผู้หนึ่งปล้นชิงทรัพย์เขา แล้วบุคคลคนนั้นก็เที่ยวพูดว่าผู้ปล้นนั้นเป็นโจร แต่อีกบุคคลหนึ่งได้พบเห็นการปล้นของคนผู้นั้นด้วยตนเองแล้วพูดเช่นนี้ บุคคลแรกชื่อว่าพูดโดยมิรู้จริง จัดเป็นมุสาวาท บุคคลที่สองชื่อว่าพูดจริง

ลัทธิอุจเฉทวาท ได้แก่ บุคคลแรก ฝ่ายมาธยมิก ได้แก่ บุคคลหลัง ฉันใดก็ฉันนั้น

สําหรับทฤษฎีเรื่องพุทธภาวะมีอยู่ในสรรพสัตว์นั้นอาจารย์นาคารชุนไม่รับรองทฤษฎีนี้ ถือว่าถ้าอย่างนั้นก็จัดเป็นพวกที่มีวาทะผลมีอยู่ในเหตุ

ฝ่ายมาธยมิกย่อมถือว่า

สัตว์ทั้งหลายมีความสามารถที่จะบรรลุความเป็นพุทธะได้ เพราะสัตว์ทั้งปวงไม่มีภาวะอันคงที่ดั้งเดิม ทำกรรมใดก็ย่อมรับผลกรรมนั้น เมื่อสร้างทศปารเมศสมบูรณ์ก็จักบรรลุเป็นสัมพุทธะได้ ไม่ใช่ว่ามีพุทธภาวะที่บริสุทธิ์เป็นอมตะอยู่ก่อน เป็นอนมตัคคะแต่ถูกกิเลสหุ้มอย่างฝ่ายภูตตถตาวาทิน

ทั้งนี้ เนื่องด้วยการถือว่ามีพุทธภาวะที่แน่นอนอยู่ก่อนแล้วนั้นชื่อว่าเป็นการถือ “สิ่งที่มีอยู่ด้วยตัวของมันเอง” นั่นเอง

อนึ่ง อาจารย์นาคารชุนไม่ได้ดูหมิ่นเหยียดหยามสาวกยาน เช่น ฝ่ายภูตตถตาวาทิน

ยิ่งคณาจารย์ฝ่ายมาธยมิกในยุคหลัง เช่น อาจารย์พุทธปาละ อาจารย์จันทรกีรตะ ด้วยแล้ว ถือว่าสาวกถ้าบรรลุวิมุตติก็จำเป็นต้องเห็นแจ้งทั้งบุคคลศูนยตาและธรรมศูนยตนาด้วย ซึ่งฝ่ายมหายานนิกายอื่นๆ ไม่ยอม

อาจารย์จันทรกีรติอธิบายว่า

อหังการ ได้แก่ ความยึดถือในบุคคล มมังการ ได้แก่ ความยืดถึอในสิ่งที่เรามีอยู่เรารู้อยู่ และนั่นก็คือความยึดถือในธรรมในอาคมทั้ง 4 ของสาวกยาน

มีปรากฏแทบทุกแห่งว่า พระอรหันต์จะต้องละทิ้งอหังการ มมังการได้เด็ดขาด จึงเชื่อว่าเป็นพระอรหันต์ อนึ่ง การละอุปทานทั้ง 2 นั้นเพียงแต่ละอย่างเดียวคืออหังการได้ มมังการก็ต้องพลอยละได้ด้วยเพราะอาศัยอหังการ มมังการจึงเกิดขึ้นได้

นั่นคือ ถ้าปราศจากเราแล้ว ของของเราจะมีขึ้นอย่างไรได้

อาจารย์จันทรกีรติได้อุปมาเรื่องนี้ในคัมภีร์มายะมาวตารของท่านว่า เหมือนกับเราเผารถ ไม่เพียงแต่รถได้ถูกเผาเท่านั้น กงกุม ดุมล้อ ส่วนประกอบของรถอื่นๆ ก็ต้องพลอยถูกเผาไปด้วย ฉันใด

ผู้ละอุปทานในอาตมันก็ย่อมละอุปทานในส่วนปลีกย่อย คือ ขันธ์ ธาตุ อายตนะ อินทรีย์ ฯลฯ ด้วยฉันนั้น

ฉะนี้ จะกล่าวว่า พระอรหันต์ยังทำลายธรรมาวรรณะไม่ได้ จึงฟังไม่ขึ้น ขัดต่อความจริง

ฝ่ายมาธยมิกถือว่า สาวกยานก็ดี ปัจเจกยานก็ดี โพธิสัตวยานก็ดี ไม่มียานไหน ต่ำ เลว กว่ายานไหน

แต่ทั้งหมดนั้นเป็นเพียงอุบายโกศลเทศนาซึ่งพระพุทธองค์แสดงแก่สัตว์ผู้มีอินทรีย์ต่างๆ กันเท่านั้นเอง และทั้งหมดนั้นก็มีจุดหมายปลายทางอันเดียวกัน

คือ วิมุตติ ความหลุดรอดจากปวงทุกข์

อนึ่ง การจัดระเบียบแบ่งการแห่งพระธรรมเทศนาของพระพุทธองค์นั้นฝ่ายมาธยมิกยุคต้นๆ ก็หามีไม่ มาเกิดมีขึ้นต่อเมื่อเกิดการแข่งขันกันในระหว่างฝ่ายมาธยมิกกับฝ่ายอัสติวาทินเข้า

คณาจารย์มาธยมิกองค์หนึ่งชื่อ ปรัชญาประภา แห่งมหาวิทยาลัยนาลันทาจึงได้บัญญัติขึ้นคือ

ยุคต้น พระพุทธองค์เทศนาพระธรรมฝ่ายสาวกยาน แสดงถึงความมีอยู่แห่งนามธาตุและรูปธาตุ ทรงแสดงแก่ผู้มีอินทรีย์อ่อน

ยุคกลาง พระพุทธองค์เทศนาธรรมฝ่ายมหายาน มีหลักธรรมของฝ่ายโยคาจารหรือวิชญาณวาทิน เป็นต้น แสดงถึงความมีอยู่แห่งนามธาตุ แต่ปฏิเสธต่อความดำรงแห่งวิสัยสำหรับพวกที่มีอินทรีย์ปานกลาง

ยุคสุดท้าย พระพุทธองค์เทศนาพระธรรมฝ่ายมาธยมิก แสดงถึงความสูญแห่งนามธาตุและปวงวิสัยสำหรับพวกที่มีอินทรีย์สูง

แม้ปรัชญาของมาธยมิกจะเป็นหลักศูนยตาเช่นนี้ และศูนยตาตามทัศนะของมาธยมิกมิใช่ชนิดที่ทอนสิ่งหยาบไปหาสิ่งย่อยๆ เช่นนิกายอื่นๆ ศูนยตาของมาธยมิกหมายถึงความเป็นมายาทั้งสังขตะ อสังขตะ ไม่มีอะไรที่จะเป็นตัวยืนให้สมมติบัญญัติเลย

แต่เมื่อปรัชญามาธยมิกแพร่เข้าสู่ประเทศจีน คณาจารย์จีนซึ่งมีความนิยมในภูตตถตาวาทิน ตลอดจนเก่งกาจในทางสมานความคิดระหว่างศูนยตวาทินกับอัสติวาทินก็แปลความหมายของอาจารย์นาคารชุนเสียว่า ที่มาธยมิกกล่าวว่าทุกสิ่งเป็นศูนยตานั้นก็เพื่อจะให้เรารู้จักสภาวะที่ไม่สูญ

และเพื่อให้เราละยึดถือเพื่อให้บรรลุถึงสิ่งที่มิรู้แตกดับหักสูญต่างหาก