พระพุทธรูป ประทับนั่งห้อยพระบาทของทวารวดี นำเข้าคติพระจักรพรรดิราชมาจากอินเดีย

ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ

ในบรรดาพระพุทธรูปสารพัดปาง ที่มีอยู่ในแหล่งกำเนิดของพระพุทธศาสนาอย่างชมพูทวีปนั้น ก็มีพระพุทธรูปประทับนั่งห้อยพระบาท ที่มีคำศัพท์ภาษาสันสกฤตยากๆ ใช้เรียกเป็นการเฉพาะว่า “ปรลัมพปาทาสนะ” อยู่เป็นจำนวนมาก

แต่ท่านั่งห้อยขา แล้วเอาหลังพิงที่พนักเก้าอี้อย่างนี้ ไม่ใช่วัตรปฏิบัติปกติในวัฒนธรรมอินเดียนะครับ

เพราะท่านั่งดังกล่าวถูกอิมพอร์ตเข้ามาพร้อมกับอะไรที่เรียกกันว่า “บัลลังก์” ซึ่งก็แน่นอนว่า ไม่ใช่ว่าใครก็จะขึ้นไปนั่งบนนั้นได้เป็นปกติ แต่ต้องเป็นกษัตริย์ผู้ครองราชย์

และบ่อยครั้งก็จะถูกใช้เฉพาะในพิธีกรรมเท่านั้น

 

บัลลังก์ที่ใช้สำหรับใช้นั่งห้อยขาอย่างนี้ในอินเดีย มีหลักฐานเก่าแก่อยู่ที่ประติมากรรมสลักหินรูป ซึ่งสันนิษฐานกันว่า เป็นรูปเหมือนของพระเจ้าวีมะ แคดฟิเซส์ (Vima Kadphises) แห่งราชวงศ์กุษาณะ ประทับนั่งห้อยพระบาทอยู่บนบัลลังก์ จากศาสนสถานมาต ซึ่งเป็นศาสนสถานประจำราชวงศ์ ที่เมืองมถุรา ในเขตที่ราบลุ่มแม่น้ำคงคา-ยมุนา

พระเจ้าวีมะ แคดฟิเซส์ อาจไม่เป็นที่รู้จักในหมู่คนทั่วไปเท่าพระราชโอรสของพระองค์ ที่ทรงพระนามว่า พระเจ้ากนิษกะ แห่งราชวงศ์กุษาณะ ซึ่งชนชาวพุทธศาสนาฝ่ายมหายานนับถือไม่ต่างไปจากที่ชาวเถรวาทนับถือพระเจ้าอโศก รูปเหมือนของพระเจ้าวีมะ แคดฟิเซส์ ก็เป็นพระราชโอรสผู้โด่งดังของพระองค์นี่เองที่สร้างให้เมื่อปีที่ 6 ในรัชสมัยของพระองค์ (ครองราชย์ พ.ศ.621-644)

แต่รากเหง้าของราชวงศ์กุษาณะไม่ได้มีถิ่นฐานอยู่ในอินเดีย เพราะเป็นชาวซิเถียน คือชนเผ่าเร่ร่อนบริเวณเอเชียกลาง

และแรกเริ่มเดิมทีราชวงศ์ที่ว่านี้มีถิ่นที่อยู่ในมณฑลก่านซู่ ทางด้านตะวันตกของจีน แต่ถูกพวกจีนฮั่นขับไล่มาผสมปนเปกับพวกกรีก ที่พระเจ้าอเล็กซานเดอร์ทิ้งไว้ที่แคว้นแบกเตรีย-คันธาระ ทางตอนเหนือของอินเดีย บริเวณคาบเกี่ยวประเทศอัฟกานิสถาน, อุซเบกิสถาน และทาจิกิสถาน เมื่อคราวที่พระองค์ยกทัพมารบกับพระเจ้าจันทรคุปต์ พระอัยกา (ปู่) ของพระเจ้าอโศกคนดัง คนเดิม

พวกซิเถียนจึงเป็นเครือข่ายในโลกเฮเลนิสติกของชาวโรมัน บนเส้นทางสายแพรไหม โดยมีพื้นฐานที่ผสมปนเปกับลูกหลานชาวกรีกของพระเจ้าอเล็กซานเดอร์ ซึ่งชาวอินเดียเรียกว่าโยนก จากนั้นก็ผสมปนเปกันไปมา แล้วผู้นำของคนพวกนี้กลุ่มหนึ่งก็สถาปนาราชวงศ์กุษาณะ ที่สร้างรูปเหมือนพระมหากษัตริย์ของพวกเขาประทับนั่งอยู่บนบัลลังก์นี่เอง

ดังนั้น ถ้าวัฒนธรรมการใช้ “บัลลังก์” ที่มาพร้อมกับท่วงท่าการ “นั่งห้อยขา” จะเข้ามาพร้อมกันกับการขยายอำนาจของราชวงศ์กุษาณะในอินเดียก็ไม่เห็นจะแปลกไม่ใช่หรือครับ?

 

รูปเหมือนของพระเจ้าวีมะ แคดฟิเซส์นี้ ถูกเรียกตามชื่อในจารึกที่ตั้งอยู่ภายในศาสนสถานแห่งเดียวกันนี้ว่า “วีมะทักษุมัสยะ” โดยในจารึกยังขยายความต่อไปว่า “มหาราโช ราชาติราโช เทวบุโตร กุษาณ(บุ)โตร (ษา)หิ” ซึ่งแปลเป็นไทยได้ว่า “มหาราชา ราชาธิราช (หมายถึงกษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่เหนือกษัตริย์ทั้งหลาย) ผู้เป็นบุตรแห่งเทพเจ้า (เทพบุตร) หน่อเนื้อเชื้อไขที่แท้แห่งราชวงศ์กุษาณะ”

จากข้อความในจารึก เมื่อประกอบเข้ากับการที่ประติมากรรมรูปนี้เป็นประธานอยู่ภายในศาสนสถานมาต ก็ชวนให้เห็นเป็นภาพราวกับว่าพระองค์ประทับนั่งอยู่เหนือบัลลังก์ราชย์ ดั่งกษัตริย์ผู้ประทับอยู่ในท้องพระโรง

สิ่งที่น่าสนใจอีกอย่างก็คือ ข้อความในจารึกที่ระบุว่า พระองค์เป็น “เทพบุตร” หรือ “ผู้เป็นบุตรแห่งเทพเจ้า” นั้น เป็นสิ่งที่ไม่เคยปรากฏขึ้นมาก่อน เพราะความหมายดั้งเดิมของคำว่าเทพบุตรในอินเดียยุคก่อนราชวงศ์กุษาณะนั้น หมายถึงเทวดาในความหมายอย่างกว้างๆ มากกว่า

ในขณะที่คำว่าเทพบุตร หรือ “เทวบุโตร” ในจารึกจากศาสนสถานมาตนั้น ระบุชัดว่าหมายถึงพระเจ้าวีมะ แคดฟิเซส์ เพราะอยู่ในช่วงคำสรรเสริญกษัตริย์พระองค์นี้ นี่จึงเป็นร่องรอยหลักฐานอีกอย่างหนึ่งที่แสดงให้เห็นว่า คติการยกเอาพระมหากษัตริย์ขึ้นไปเทียบเท่ากับเทพเจ้านั้นไม่ใช่คติดั้งเดิมของอินเดีย แต่เป็นสิ่งที่อิมพอร์ตมาจากที่อื่น

และท่านั่งห้อยพระบาทนี้จึงเป็นท่วงท่าสัญลักษณ์ของ “ราชาธิราช” หรือ “พระจักรพรรดิราช” ราชาผู้เป็นใหญ่เหนือราชาทั้งหลายไปพร้อมกับที่ได้ยกสถานภาพของพระองค์ให้เทียบเท่ากับเทพเจ้าต่างๆ ไปในคราวเดียวกัน

 

ข้อถกเถียงคลาสสิคหัวข้อหนึ่งในวงการโบราณคดี และประวัติศาสตร์ศิลปะโลกก็คือ พระพุทธรูปเกิดขึ้นในศิลปะสกุลช่างใดในศิลปะอินเดียเป็นครั้งแรก ระหว่างศิลปะคันธาระ ที่แสดงให้เห็นถึงอิทธิพลวัฒนธรรมของกรีก-โรมัน กับศิลปะมถุรา ที่มีศูนย์กลางอยู่ที่เมืองมถุรา ในลุ่มน้ำคงคา-ยมุนา ซึ่งก็คือเมืองเดียวกับที่เป็นที่ตั้งของศาสนสถานมาตนี่แหละครับ

นักประวัติศาสตร์ศิลปะกำหนดว่า ศิลปะคันธาระซึ่งเจริญอยู่ในเขตแคว้นแบรกเตรีย (ปัจจุบันครอบคลุมพื้นที่ประเทศอัฟกานิสถาน, ทาจิกิสถาน และอุซเบกิสถาน) และคันธาระ (ปัจจุบันอยู่ในประเทศปากีสถาน) นั้นเริ่มผลิตพระพุทธรูปขึ้นเมื่อราวหลัง พ.ศ.550 ไล่เลี่ยกันกับที่ศิลปะมถุราที่เริ่มผลิตพระพุทธรูปขึ้นในช่วงเวลาเดียวกันนั่นเอง

แต่ควรจะสังเกตด้วยว่า ช่วงเวลาดังกล่าวนี้ก็คือช่วงเวลาเดียวกันกับที่ราชวงศ์กุษาณะตั้งมั่นมีศูนย์กลางอยู่ในแคว้นแบกเตรียมาตั้งแต่ช่วง พ.ศ.550 และเริ่มรุกคืบมาทางใต้ และปกครองลุ่มน้ำคงคายมุนา โดยมีเมืองมถุราเป็นศูนย์กลาง ในรัชสมัยของพระเจ้ากณิษกะ

ดังนั้น ไม่ว่าพระพุทธรูปจะเกิดขึ้นในศิลปะคันธาระหรือมถุราก่อนก็ตาม แต่ก็เป็นด้วยอำนาจของราชวงศ์กุษาณะนี่เอง ที่ทำให้มีการสร้าง “พระพุทธรูป” ขึ้นเป็นครั้งแรกในโลก

ที่สำคัญก็คือ ชาวซิเถียนพวกนี้ดูจะมองเห็นภาพของพระพุทธเจ้าไม่ต่างไปจากเทพเจ้าองค์อื่นๆ ซึ่งก็แน่นอนด้วยว่า ในทางอุดมคติแล้ว ด้วยฐานะของ “เทพบุตร” ก็ทำให้กษัตริย์ของพวกเขามีสถานะเทียบเคียงอยู่กับทั้งเทพเจ้าและพระพุทธเจ้า

จึงไม่แปลกอะไรที่เหรียญกษาปณ์ในราชวงศ์กุษาณะจะมีรูปเทพเจ้าสถิตอยู่คู่กับกษัตริย์ ที่อีกด้านหนึ่งของเหรียญ ไม่ว่าจะเป็นเหรียญของพระเจ้าวีมะ แคดฟิเซส์ ที่มีรูปพระอิศวรอยู่ที่อีกด้านของเหรียญ หรือเหรียญของพระเจ้ากณิษกะ ที่มีพระพุทธเจ้าอยู่ที่อีกฟากข้างนั้นก็ถูกสร้างขึ้นในแนวคิดที่ไม่ต่างจากเหรียญกษาปณ์อื่นๆ ในช่วงเวลาร่วมสมัยกันนี้ ของโลกเฮเลนิสติก ที่ผูกพันกับราชวศ์กุษาณะอยู่มาก เช่น พระจักรพรรดิเนโรแห่งโรม ที่ถือพระองค์เป็นเทพอพอลโล่และก็สร้างเหรียญกษาปณ์รูปพระองค์เองกับเทพอพอลโล อยู่ที่ด้านตรงข้ามกัน

 

ถึงแม้ว่ากษัตริย์แห่งราชวงศ์กุษาณะจะถือว่าพระองค์มีสถานะไม่ต่างไปจากเทพหรือพระพุทธเจ้าก็ตาม แต่พวกเขาก็ไม่เคยสร้างพระพุทธรูปประทับนั่งห้อยพระบาทอยู่บนบัลลังก์ เหมือนรูปกษัตริย์หรือพระโพธิสัตว์ ไม่ว่าจะเป็นในศิลปะแบบคันธาระ หรือมถุราเลยนะครับ

(พระพุทธรูปของมถุรานั้นมักจะสลักรูปสิงห์อยู่ที่มุมของฐานทั้งสองข้าง ซึ่งก็คือการจำลองรูปบัลลังก์ของกษัตริย์ ที่มีขาเก้าอี้จำหลักเป็นรูปสิงห์ เช่น บัลลังก์ของรูปเหมือนพระเจ้าวีมะ แคดฟิเซส์ แต่องค์พระพุทธรูปนั้นก็จะประทับนั่งอยู่ในปางสมาธิเสมอ จนทำให้หลายคนมักจะเข้าใจความหมายของรูปสิงห์ที่ฐานพระพุทธรูปเหล่านี้ผิดความหมายไป)

เราต้องรอจนกระทั่งถึงในช่วงหลัง พ.ศ.1000 เลยทีเดียว กว่าที่ในอินเดียจะมีการสร้างพระพุทธรูปประทับนั่งห้อยพระบาทอยู่บนบัลลังก์ ซึ่งก็หมายถึงการประสมประสานสถานะของกษัตริย์กับพระพุทธเจ้าเข้าด้วยกันอย่างเข้มข้นมากกว่าที่เคยเป็นมา จนไม่แปลกที่ในโลกสมัยหลังจากนั้น โดยเฉพาะในภูมิภาคที่รับอิทธิพลความเชื่อและศาสนาพุทธมาจากอินเดียอย่างภูมิภาคอุษาคเนย์ จะเกิดแนวคิดแบบพุทธราชา หรือธรรมราชาขึ้น

ตัวอย่างสำคัญของพระพุทธรูปประทับนั่งห้อยพระบาทนี้มาจากถ้ำอชันตา เมืองออรังกาบาด รัฐมหาราษฎระ ประเทศอินเดีย ซึ่งสร้างขึ้นในช่วงระหว่าง พ.ศ.1000-1300 และก็ว่ากันว่าได้ส่งอิทธิพลมาให้กับวัฒนธรรมบริเวณที่ราบลุ่มภาคกลางตอนล่าง ในยุคต้นสมัยประวัติศาสตร์ของประเทศไทย

ที่เรียกกันว่า “ทวารวดี” นี่เอง

 

พระพุทธรูปประทับนั่งห้อยพระบาทในวัฒนธรรมทวารวดีมีอยู่หลายองค์ แถมบางองค์ยังถูกนับว่าเป็นงานศิลปะชิ้นเอกของทวารวดีอีกด้วย แต่ผู้คนในภูมิภาคอุษาคเนย์ รวมถึงพวกที่สังกัดอยู่ในวัฒนธรรมแบบทวารวดีนั้นก็ไม่ได้นั่งห้อยขา ไม่ต่างไปจากอินเดียสมัยโบราณหรอกนะครับ ดังนั้น โดยนัยยะหนึ่งแล้ว พระพุทธรูปเหล่านี้ก็จึงทำหน้าที่ไม่ต่างจากประติมากรรมรูปเหมือนของพระเจ้าวีมะ แคดฟิเซส์

นั่นก็คือการนำเอา “บัลลังก์” ที่ใช้ในพิธีกรรมที่เกี่ยวข้องกับกษัตริย์เข้ามาในดินแดนแถบนี้ พร้อมๆ กับคติเรื่องพระจักรพรรดิราช รวมถึงสิทธิธรรมในการปกครองของชนชั้นนำในสังคม ที่ละเอียดรัดกุมมากยิ่งขึ้น

และนี่ก็อาจจะเป็นอีกหนึ่งเหตุผลสำคัญที่ทำให้ชนชั้นนำในอุษาคเนย์รับเอาศาสนาพุทธและพราหมณ์จากอินเดียเข้ามาแทนที่ศาสนาผีพื้นเมืองนั่นเอง