เปิดข้อเสนอ ว่าด้วยปฏิรูปครู ตอนที่ 2 “กางแผนพัฒนาแบบออนดีมานด์”

สมหมาย ปาริจฉัตต์

ตอนที่แล้ว ผมเปิดฉากถามถึงบทบาทอีกด้านหนึ่งของกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา ในการส่งเสริม สนับสนุนการปฏิรูปครู โดยนำเอาข้อเสนอของคณะอนุกรรมการด้านครู และอาจารย์ ภายใต้คณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษามาบอกกล่าวกันแบบดิบๆ เรียงรายประเด็นเป็นข้อๆ ตามต้นร่างกันเลยทีเดียว

ทั้งนี้ก็เพื่อให้ทุกฝ่ายได้รับรู้และช่วยกันติดตามว่า ผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ทั้งที่มีหน้าที่โดยตรงและโดยอ้อมทั้งหลาย ตั้งแต่ผู้กำหนดนโยบายระดับสูงทั้งการเมืองและฝ่ายประจำ ลงไปถึงผู้ปฏิบัติในกระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงอุดมศึกษาและวิจัยที่กำลังจะทำคลอดใหม่ สถาบันอุดมศึกษา รวมถึงกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา จะทำให้ข้อเสนอแนะเหล่านี้มีผลในทางปฏิบัติจริงวันไหน เมื่อไหร่

โดยเฉพาะการปลดแอกการปฏิบัติหน้าที่ของครูให้หลุดพ้นจากภาระที่ไม่เกี่ยวข้องกับการเรียนการสอน เป็นต้นว่า ถูกเกณฑ์ให้เข้าร่วมงานต่างๆ มากมาย เพื่อให้ครูได้ใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่กับนักเรียน ซึ่งปรากฏในข้อเสนอแนะที่ว่ามาแล้วและจะนำเสนอต่อไปทั้งสิ้น

ข้อเสนอ (ก) ว่าด้วยการผลิตครู รายงานไปแล้ว

อาทิตย์นี้ว่ากันต่อ

 

(ข) การคัดกรองครู

1.ควรมีระบบและมาตรฐานกลางในการคัดเลือกบุคคลที่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูเข้าเป็นครู โดยมีการสอบวัดสมรรถนะหลักจากหน่วยงานกลาง และมีการสอบสัมภาษณ์และการสอบภาคปฏิบัติโดยผู้แทนสถานศึกษาที่ต้องการรับและคณะกรรมการจากเขตพื้นที่การศึกษา

2. ในระยะเวลาของการเป็นครูผู้ช่วย 2 ปี สถานศึกษาต้องจัดครูพี่เลี้ยงที่มีคุณภาพให้คําแนะนําปรึกษาในการทําหน้าที่ครูประจําชั้นและครูประจําวิชา รวมทั้งมีระบบการประเมินการปฏิบัติงานและสมรรถนะหลักก่อนที่จะบรรจุเป็นครูชํานาญการ

3. ควรมีระบบการสอบบรรจุและแต่งตั้งครู ให้กระจายตัวออกไปในพื้นที่ที่มีความขาดแคลนครู เช่น ให้ผู้ที่สอบผ่านการคัดเลือกจากหน่วยทดสอบมาตรฐานกลางได้เลือกโรงเรียนที่จะไปบรรจุ จากโรงเรียนทั่วประเทศที่ได้แสดงความต้องการครู หากมีผู้ต้องการไปที่โรงเรียนนั้นมากกว่าตําแหน่งที่จะรับได้ให้จับสลาก ผู้ที่จับสลากไม่ได้จะเข้าสู่การเลือกโรงเรียนที่ยังขาดแคนครูในรอบต่อไป จนกว่าจะบรรจุครูที่ผ่านการคัดเลือกได้ครบถ้วน

4. มีระบบจูงใจให้ครูกระจายตัวไปยังโรงเรียนที่มีความขาดแคลน รวมทั้งโรงเรียน ตชด. โดยมีการจัดโซนของโรงเรียนตามระดับความขาดแคลนตั้งแต่มากที่สุดและรองลงมา โดยมีสิทธิพิเศษที่แตกต่างกัน เช่น ผู้ที่เลือกบรรจุในโรงเรียนประเภทที่มีความขาดแคลนมากที่สุด จะได้รับเงินเพิ่มพิเศษจํานวนที่เหมาะสม ได้บ้านพักครู ได้รับความช่วยเหลือจากเขตพื้นที่การศึกษาในการดําเนินการทางพัสดุแทนครู และ/หรือได้รับสิทธิก่อนในการเข้าร่วมกิจกรรมทางวิชาชีพ หรือทุนพัฒนาครู โดยใช้เงินสนับสนุนจากกองทุนเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา หรือกองทุนวิทยพัฒน์

5. ให้ผู้ไม่มีใบประกอบวิชาชีพครูที่มีประสบการณ์สอนในสถานศึกษาอย่างน้อย 2 ปี มีสิทธิ์สอบใบประกอบวิชาชีพครูได้

6. ครูอัตราจ้างหรือพนักงานราชการ ควรจะต้องสอบบรรจุผ่านระบบการสอบคัดเลือกครูมาตรฐานกลาง

7. โรงเรียนเป็นผู้เลือกรับครูในสาขาวิชาที่ต้องการ โดยมีระบบการขึ้นบัญชีบรรจุที่เป็นไปตามลําดับของสาขาวิชา มิใช่ลําดับบัญชีการบรรจุโดยรวมทั้งหมด

 

(ค) การพัฒนาทางวิชาชีพครู

1.การพัฒนาครูควรจะต้องมีการวิเคราะห์สมรรถนะที่เป็นความต้องการจําเป็น (need analysis) สําหรับครูแต่ละบุคคลและการวินิจฉัยโรงเรียน (School Diagnosis) จากนั้นแต่ละเขตพื้นที่หรือโรงเรียนสามารถใช้บริการจากหลักสูตรและวิทยากรที่ตรงกับความต้องการจําเป็นของครูในพื้นที่แต่ละแห่งได้ โดยครูไม่ต้องเสียเวลาในการเดินทางและต้องมีการสร้างชุมชนการเรียนรู้และพัฒนาทางวิชาชีพ เพื่อกํากับติดตามการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และถอดบทเรียนเพื่อสร้างสรรค์นวัตกรรม ในการสอนและพัฒนาผู้เรียนโดยความร่วมกับมหาวิทยาลัย และมีการประเมินผลอย่างเป็นระบบ

2. มีการนิเทศ ติดตาม ช่วยเหลือ ครูที่สอนไม่ตรงสาขาวิชาที่จบ หรือครูที่ยังไม่มั่นใจในการสอน เพื่อให้ได้รับข้อมูลย้อนกลับในการพัฒนาตนเองและแนวทางพัฒนาตนเองในช่องทางต่างๆ อย่างหลากหลายและมีประสิทธิภาพ

3. ควรเสริมพลังการพัฒนาวิชาชีพครู (Professional Development Empowerment) ด้วย National Professional Teacher Platform (NPTP) ซึ่งเป็นการเก็บรวบรวมฐานความรู้คุณภาพและใช้ระบบการปรับเหมาะ (Adaptive System) เพื่อเป็นแหล่งอ้างอิง

และการเติมเต็มความรู้ตามประสงค์แบบทันท่วงที (Just-in-time/on demand)

 

(ง) เส้นทางวิชาชีพครู

1.ต้องมีการกําหนดมาตรฐานการปฏิบัติงานครู เช่น มาตรฐานการเตรียมการสอน มาตรฐานในการดําเนินการสอน มาตรฐานในการตรวจงานและให้ผลป้อนกลับมาตรฐานในการสร้างเครื่องมือประเมินผล เป็นต้น โดยกําหนดให้ครูใช้เวลากับการเตรียมตัวสอน การสอนและการวินิจฉัยแก้ไขข้อบกพร่องรวมทั้งการพัฒนาคุณลักษณะของนักเรียนและการพัฒนาตนเองของครูไม่น้อยกว่าร้อยละ 90 ของเวลาปฏิบัติงาน และให้มีภาระงานนอกเหนือการสอนได้ไม่เกินร้อยละ 10 ของเวลาในการปฏิบัติงาน โดยโรงเรียนหรือกลุ่มโรงเรียนต้องมีหน่วยสนับสนุนการบริหาร (supporting staff) มาดําเนินการเรื่องการเงิน บัญชีและพัสดุ หรืองานธุรการอื่นๆ โดยไม่ต้องให้เป็นภาระของครู โดยเฉพาะครูในโรงเรียนขนาดเล็ก

2. ครูต้องมีการพัฒนาตนเองหรือวิชาชีพอย่างต่อเนื่องซึ่งเป็นเงื่อนไขของการต่อใบอนุญาตประกอบวิชาชีพและคงวิทยฐานะโดยเน้นการพัฒนาทางวิชาชีพที่ใช้โรงเรียนเป็นฐาน (School-based professional development)

3. ออกแบบระบบและกลไกในการเลื่อนวิทยฐานะของครู บนพื้นฐานของความเชี่ยวชาญในการจัดการเรียนการสอน ผลการพัฒนาทางวิชาชีพและผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นในตัวผู้เรียนและชุมชน รวมทั้งควรมีระบบการคงวิทยฐานะให้ครูได้พัฒนาทางวิชาชีพและมีผลงานในการพัฒนาผู้เรียนอย่างต่อเนื่อง

4. เปิดโอกาสให้ครูโรงเรียนเอกชนสามารถเลือกรับสวัสดิการการรักษาพยาบาลภายใต้กองทุนสงเคราะห์ครูโรงเรียนเอกชนหรือกองทุนประกันสังคม

ครับ ยังมีข้อเสนอที่สำคัญ ซึ่งก้าวหน้า ทันสมัย สอดคล้องกับเทคโนโลยีและความต้องการให้ครูไทย เป็นครู 4.0 ซึ่งหัวใจคือการใช้เทคโนโลยีเพื่อพัฒนาภายใต้จิตวิญญาณของความเป็นครู รูปแบบ กระบวนการและสาระการพัฒนาเป็นอย่างไร

ตอนหน้าค่อยว่ากัน