นิธิ เอียวศรีวงศ์ : ปมเสียกรุง

นิธิ เอียวศรีวงศ์

คงไม่มีเหตุการณ์อะไรในประวัติศาสตร์ที่ประทับใจคนภาคกลางยิ่งไปกว่าการเสียกรุง พ.ศ.2310 ที่ผมเรียกคนภาคกลางคือคนที่อยู่ในเขตที่กรุงศรีอยุธยา (ทั้งที่หนองโสนและบางกอก) สามารถปกครองได้อย่างใกล้ชิด แต่ความทรงจำของคนกลุ่มนี้ถูกทำให้เป็นความทรงจำร่วมกันของชาติไทยในสมัยหลัง จึงทำให้การเสียกรุงเป็นปมใหญ่ในใจคนไทยสืบมาจนทุกวันนี้ เราใช้ปมนี้เพื่อทำความเข้าใจตนเอง, เข้าใจคนอื่น, เข้าใจการเมืองไทย, เข้าใจการเมืองโลก อย่างน้อยก็จนถึงเมื่อสิ้นสุดสงครามเย็น

ปมเสียกรุงมีที่มาที่ไปอย่างไร? ก็เหมือนกับเหตุการณ์อื่นๆ ในประวัติศาสตร์นะครับ กล่าวคือ จะมีความหมายอย่างไรก็ขึ้นอยู่กับการให้ความหมายของคนในสมัยหลัง คนกลุ่มหนึ่งที่มีโอกาสในการให้ความหมายได้มากกว่าคนอื่นก็คือนักประวัติศาสตร์

อันที่จริงการเสียกรุงจะมีความหมายแก่สามัญชนคนไทยที่เผชิญเหตุการณ์จริงอย่างไร ไม่มีใครทราบ เพราะหลักฐานที่เหลือตกทอดมานั้นล้วนเป็นบันทึกของชนชั้นสูงทั้งสิ้น และความหมายที่ชนชั้นสูง/ชนชั้นนำไทยให้แก่การเสียกรุงนี่แหละครับ ที่กลายเป็นเนื้อหาของ “เสียกรุง” ที่คนไทยส่วนใหญ่รับเอามาเป็นปมในสำนึกของตน

ก็น่าประหลาดอยู่ที่ความหมายของคนเมื่อ 200 ปีมาแล้วซึ่งให้แก่เหตุการณ์หนึ่ง ยังอยู่คงทนสืบมาในเมืองไทยอีกนานมาก คือมาจนถึงยุคสมัยใหม่ แต่ที่ความหมายนั้นอยู่คงทนได้เช่นนี้ก็เพราะความหมายนั้นถูกใช้อย่างไม่หยุดหย่อนตลอดมา เป็นส่วนสำคัญส่วนหนึ่งของอุดมการณ์ที่ชนชั้นนำไทย (ไม่ว่ามาจากชนชั้นสูงหรือสามัญชน) ใช้ในการถืออำนาจควบคุมประชาชน

และนั่นคือเหตุผลที่ต้องบรรจุลงในหลักสูตรประวัติศาสตร์ของระบบการศึกษา

กลายเป็นปมใหญ่ในใจของคนไทยที่ได้รับการศึกษาแผนใหม่ทั่วไป การเสียกรุงเป็นท้องเรื่องหลักของนวนิยายอิงประวัติศาสตร์หลายเล่ม หากไม่นับเรื่องผู้ชนะสิบทิศแล้ว นวนิยายอิงประวัติศาสตร์ดังๆ ทั้งหลายล้วนเกี่ยวกับกรุงศรีอยุธยาก่อนเสียกรุงมาจนกรุงแตกทั้งสิ้น เพิ่งมีเรื่องบุพเพสันนิวาสที่ดังได้โดยไม่เกี่ยวกับเสียกรุงในระยะหลัง ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น ผมยังวิเคราะห์ไปไม่ถึง แต่กำลังสงสัยว่าความหมายของการเสียกรุงที่ใช้กันมา 200 ปี เริ่มจะมีความหมายน้อยลงในหมู่คนไทย หลังสงครามเย็นสิ้นสุดลงกระมัง

ในที่นี้ผมอยากพูดถึงความหมายหลักๆ ของการเสียกรุง ที่สืบทอดมาอย่างยาวนานจนกลายเป็นปมใหญ่ในใจคนไทยว่าประกอบด้วยอะไรบ้าง และมีผลต่อทัศนะของคนไทย (ที่มีการศึกษา) อย่างไร เมื่อต้องเผชิญกับสถานการณ์ในสมัยหลัง

ราษฎรชาวกรุงศรีอยุธยาต่อสู้กับทหารพม่าที่เข้ามาปล้นฆ่า จิตรกรรมฝาผนังภายในอาคารภาพปริทัศน์ อนุสรณ์สถานแห่งชาติ

ประการแรก ที่เน้นย้ำกันมากก็คือ สาเหตุที่ต้องเสียกรุงก็เพราะพระเจ้าแผ่นดินไม่มีคุณสมบัติอันเหมาะกับการเป็นพระเจ้าแผ่นดิน พระราชพงศาวดาร (ซึ่งเขียนขึ้นหลังกรุงแตกในสมัยพระเจ้าตากสินหรือราชวงศ์จักรี) เน้นย้ำความไม่เหมาะสมดังกล่าวของพระเจ้าเอกทัศน์ จนแม้แต่พระราชบิดายังกีดกันมิให้ได้สืบราชสมบัติ แต่เมื่อผลัดแผ่นดินแล้ว กลับทรงแย่งอำนาจจากพระราชอนุชาคืนไปได้

พระราชนิพนธ์กลอนเพลงยาวในกรมพระราชวังบวรฯ ในรัชกาลที่ 1 ยังยกสาเหตุให้แก่ความไร้สมรรถภาพของขุนนางด้วย นักประวัติศาสตร์สมัยหลังพยายามหาสาเหตุเชิงโครงสร้างมาประกอบ เช่น การแย่งชิงอำนาจกันเองในหมู่ชนชั้นนำ ซึ่งเป็นมาเกือบ 1 ศตวรรษก่อนจะเสียกรุง ความพยายามจะปรับการคุมกำลังคนให้เกิดความสมดุลระหว่างเจ้านาย ฯลฯ

กล่าวโดยสรุปก็คือ สาเหตุหลักมาจากผู้นำและชนชั้นนำ อันที่จริงหลังกรุงแตก สิทธิธรรมของการนำที่มีมาตามประเพณีได้สูญสลายลงอย่างสิ้นเชิงไปแล้ว ดังนั้น การเมืองในช่วงนั้นจึงเป็นเรื่องของการอ้างสมรรถภาพของผู้นำ ไม่ว่าจะเป็นพระเจ้าตากสินหรือเจ้าพระยาจักรีซึ่งช่วงชิงอำนาจจากความปั่นป่วนวุ่นวายหลังกรุงแตกมาไว้ในมือได้ ก็ต้องทำอย่างเดียวกัน และนี่คือเหตุผลที่ต้องให้ความหมาย “เสียกรุง” ไปในทางที่เน้นความเหมาะสมหรือความสามารถของผู้นำ (และพวกพ้อง) ไม่ว่าจะเป็นความสามารถในการปกป้องประชาชนจากภัยของข้าศึกหรือโจรภัย หรือความสามารถในการรื้อฟื้นขนบบุราณราชประเพณีอันเป็นระเบียบทางสังคมที่ยกย่องนับถือมาก่อนก็ตาม

การเน้นคุณสมบัติของผู้นำและชนชั้นนำไม่ได้ใช้กันเฉพาะช่วงแรกๆ หลังเสียกรุงเท่านั้น ขุนนางซึ่งสั่งสมอำนาจในการตัดสินเกี่ยวกับการสืบราชสมบัติยังใช้เป็นข้ออ้างในการเลือกเจ้านายขึ้นครองราชย์ด้วย ยิ่งเมื่อย่างเข้าสู่ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ใน ร.5 คุณสมบัติความเหมาะสมของกษัตริย์ที่ครองราชสมบัติยิ่งมีความสำคัญมากขึ้น

แต่เพราะเหตุนี้ จึงกลายเป็นหนึ่งในจุดอ่อนที่คณะราษฎรใช้ในการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ดังปรากฏในแถลงการณ์ฉบับแรกของคณะราษฎรที่อ้างว่า เมื่อรัชกาลที่ 7 ขึ้นครองราชย์ มีความหวังกันว่าบ้านเมืองจะดีขึ้น แต่ก็ผิดหวังในเวลาต่อมา

หลัง 2475 บทบาทของสถาบันพระมหากษัตริย์เปลี่ยนจากที่เคยมีบทบาทด้านพระเดชและพระคุณมาเป็นบทบาทด้านพระคุณเพียงอย่างเดียว ในขณะที่บทบาทด้านพระเดชตกอยู่ในมือของนักการเมืองประเภทต่างๆ นับตั้งแต่ทหาร, ข้าราชการพลเรือน, นักกฎหมาย, เจ้าพ่อ, นายทุน ฯลฯ แต่พื้นที่ด้านพระเดชกลับเป็นพื้นที่ซึ่งขาดเสถียรภาพ, ประสิทธิภาพ, ความยุติธรรม และเกียรติยศบารมี สถาบันพระมหากษัตริย์กลับได้รับความนิยมนับถือสูงกว่าสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์เสียอีก

ปมเสียกรุงจึงทำงานในสังคมไทยสมัยใหม่ต่อไป พระมหากษัตริย์กับชาติไทยย่อมเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ปราศจากพระมหากษัตริย์ความเป็นชาติของไทยก็สูญสลายลงด้วย หรือ “เสียกรุง” นั่นเอง

ประการต่อมา สัมพันธ์กับที่กล่าวข้างต้น นั่นคือความสามัคคี นักประวัติศาสตร์รุ่นหลังชี้ให้เห็นว่าการแตกความสามัคคีเป็นสาเหตุหลักอันหนึ่งที่ทำให้เสียกรุง ดังนั้น ความสามัคคีจึงเป็นเงื่อนไขสำคัญที่สุดในการป้องกันมิให้ “เสียกรุง” ชนชั้นนำไทยเรียกร้องความสามัคคีมาตั้งแต่สมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ปรากฏแม้แต่ในตราอาร์มแผ่นดินสมัยรัชกาลที่ 5 หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง นายกรัฐมนตรีนับตั้งแต่จอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นต้นมา ต่างก็เรียกร้องความสามัคคี

จอมพล ป. อาจจะเปิดเผยตรงไปตรงมากว่าคนอื่น ตรงที่ความสามัคคีที่ท่านต้องการนั้นคือ “เชื่อผู้นำ ชาติพ้นภัย” นี่คือหัวใจของความสามัคคีแบบไทย เพราะต้องไม่ลืมว่าการแตกความสามัคคีก่อนจะเสียกรุงนั้นคือแตกสามัคคีในหมู่ชนชั้นนำ ราษฎรทั่วไปไม่เกี่ยว แต่ไม่ว่าในสังคมอะไร ชนชั้นนำคือคนที่มีผลประโยชน์ที่จะต้องหวงแหนหรือขยายให้มากขึ้นยิ่งกว่าคนทั่วไป ฉะนั้น จะให้ชนชั้นนำมีความสามัคคีโดยอัตโนมัติจึงเป็นเรื่องทำได้ยาก หรือทำไม่ได้เอาเลย วิธีที่สังคมไทยใช้มาแต่โบราณก็คือ “เชื่อผู้นำ ชาติพ้นภัย” นี่แหละครับ หรืออาศัยบารมีของประมุขของชนชั้นนำเป็นเครื่องมือ บังคับให้ชนชั้นนำแตกความสามัคคีไม่ได้ ประมุขหรือหัวหน้าคือผู้แบ่งปันผลประโยชน์ที่ชนชั้นนำทั่วไปเห็นว่าชอบธรรมดีแล้ว แต่เมื่อไรที่หัวหน้าอ่อนแอหรือมีบารมีไม่มากพอ ชนชั้นนำก็จะพากันแย่งผลประโยชน์จนยกกำลังเข้าห้ำหั่นกัน

ความสามัคคีในหมู่ชนชั้นนำจะพอเป็นไปได้จึงต้องอาศัยกลไกอื่นที่ซับซ้อนกว่าบารมีของผู้นำ เช่น ในนครรัฐกรีกใช้แรงงานทาสเป็นฐานผลประโยชน์ของชนชั้นนำ แล้วเปิดให้ชนชั้นนำมีส่วนร่วมในการลงมติเพื่อเลือกนโยบายของรัฐอย่างเท่าเทียมกัน ไม่มีทาสจำนวนมากรองรับ “ประชาธิปไตย” กรีกก็ล่มสลาย

ศักดินาฝรั่งและญี่ปุ่นใช้กฎหมายประเพณีประกันสิทธิและผลประโยชน์ของชนชั้นนำแต่ละตระกูล แทนที่จะอาศัยแต่บารมีของกษัตริย์เพียงอย่างเดียว

กลไกอื่นที่ว่านี่แหละครับ ที่ไม่มีการค้นคิดกันอย่างเพียงพอในสังคมไทย จึงยังต้องอาศัยบารมีของผู้นำในการควบคุมให้ความขัดแย้งในหมู่ชนชั้นนำไม่นำไปสู่ความรุนแรงขนาด “เสียกรุง” ได้ ยิ่งมีความขัดแย้งกันรุนแรงก็ยิ่งต้องเพิ่มอำนาจบารมีให้แก่ผู้นำมากขึ้น จนไม่เหลือข้อจำกัดใดๆ อีกเลย

แต่เราก็อยู่กันมาได้เป็นหลายร้อยปี ถึง “เสียกรุง” บ้างก็กู้คืนมาได้ ปัญหามาเกิดขึ้นจริงเอาในยุคปัจจุบัน เมื่อการแย่งชิงผลประโยชน์ไม่ได้จำกัดอยู่แต่ในหมู่ชนชั้นนำเท่านั้น ความเปลี่ยนแปลงต่างๆ ของโลกสมัยใหม่ทำให้มีคนแปลกหน้าจากข้างล่างเข้ามาแย่งชิงหรือปกป้องผลประโยชน์ของตนเองมากขึ้นทุกที จนเกินกว่าอำนาจบารมีข้อผู้นำใดจะสามารถควบคุมมิให้ความขัดแย้งบานปลายได้อีกแล้ว อย่าลืมด้วยว่า อำนาจบารมีของผู้นำในการระงับหรือควบคุมความขัดแย้งนั้นอยู่ที่ทุกฝ่ายที่ขัดแย้งกัน ต้องเห็นว่าการจัดสรรของผู้นำมีความชอบธรรม และพอจะรับได้ แต่เมื่อฝ่ายที่ขัดแย้งกันมีความแตกต่างหลากหลายมากกว่าชนชั้นนำเสียแล้ว จะจัดสรรอย่างไร ก็ยังมีฝ่ายที่อยู่ในความขัดแย้งเห็นว่าไม่เป็นธรรมอยู่นั่นเอง ประสิทธิภาพของผู้นำในการควบคุมความขัดแย้งจึงลดลงไปเรื่อยๆ

ความหมายประการสุดท้ายของปม “เสียกรุง” ในใจคนไทยก็คือ สภาพบ้านแตกสาแหรกขาดและความวอดวายจากการถูกข้าศึกทำลายล้าง อย่างภาพของการเสียกรุงศรีอยุธยาที่หลักฐานไทย (ซึ่งเขียนขึ้นสมัยหลัง) บรรยายเอาไว้

อันที่จริงการปล้นสะดม (หรือ “ริบทรัพย์จับเชลย”) เป็นแรงขับสำคัญของการสงครามในสมัยโบราณทั้งโลก โดยเฉพาะทหารที่ถูกเกณฑ์หรือถูกจ้างไปรบ ดังนั้น จึงไม่แปลกที่พม่าย่อมถ่ายเททรัพย์สินและกำลังแรงงาน (ซึ่งมีค่าไม่น้อยไปกว่ากัน) กลับไปเป็นบำเหน็จรางวัลแก่ทหาร ไม่ต่างจากที่กองทัพกรุงศรีอยุธยาทำอย่างเดียวกันในเมืองของข้าศึก เมืองที่แพ้สงครามย่อมเสียหายมาก แต่ไม่มากอย่างที่คนไทยส่วนใหญ่นึกเอาเอง เช่น พม่าเผาอยุธยาแน่ แต่ก็เผาเพื่อเอาชนะในการรบ ไม่ใช่เผาเพื่อทำลาย อยุธยาซึ่งเรามาพบในสมัยหลังเสื่อมทรุดลงเพราะสถานการณ์หลังจากนั้นอีกมาก นับตั้งแต่ขนอิฐมาสร้างเมืองใหม่ที่บางกอก, ขุดหาทรัพย์ที่เจ้าของฝังซุกซ่อนไว้, โจรผู้ร้ายขุดหาของมีค่าในศาสนสถาน, ขาดการรักษาทำนุบำรุงในภูมิอากาศร้อนชื้นของไทย ฯลฯ

สงครามคราวเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ ๒ บ้านเมืองถึงคราววิบัติ “ล่มสลาย” บ้านแตกสาแหรกขาด ภาพนี้เป็นจิตรกรรมฝาผนังจัดแสดงภายในอาคารภาพปริทัศน์ อนุสรณ์สถานแห่งชาติ

“เสียกรุง” จึงเป็นความพินาศยับเยินในใจคนไทย เรามองการสูญเสียเอกราชในมิติเดียวคือ “ใครมาเป็นเจ้าเข้าครอง คงจะต้องบังคับขับไส” และนี่คือมโนภาพของผู้สร้างโปสเตอร์ต่อต้านคอมมิวนิสต์เมื่อเราเริ่มเข้าสงครามเย็น ไฟเผาผลาญวัดวาอาราม อันเป็นสัญลักษณ์ของความเป็นไทย ศัตรูคือยักษ์มารที่แทบจะเสพมนุษย์เป็นภักษาหาร “เสียกรุง” ไงครับ

มิติความยับเยินจากการเสียกรุงปิดตาเราจากการ “เสียกรุง” ในรูปแบบอื่น สิทธิสภาพนอกอาณาเขตทางการศาลและศุลกากร ไม่ได้เผาทำลายวัดวาอาราม จึงไม่ใช่การ “เสียกรุง” เราเปิดประเทศให้มหาอำนาจต่างชาติเข้ามาตั้งฐานทัพทำสงครามกับเพื่อนบ้าน โดยไม่สามารถตรวจสอบหรือควบคุมอะไรในฐานทัพนั้นได้เลย ก็ไม่ใช่การ “เสียกรุง” ขับไล่คนไทยออกจากที่ทำกินของเขา เพื่อเปิดพื้นที่ให้ต่างชาติเช่าได้เป็นเวลาถึง 3 ชั่วคน ก็ไม่ใช่การ “เสียกรุง” เขาสั่งให้เราส่งนักโทษการเมืองซึ่งได้สถานะผู้ลี้ภัยจากสหประชาชาติแล้วไปให้เขาลงโทษ เราก็ต้องส่ง ก็ไม่ใช่การ “เสียกรุง”

ความหมายของปมเสียกรุงดังที่กล่าวนี้ดำรงอยู่ในสังคมไทยมาได้กว่าสองศตวรรษ ก็เพราะสถานการณ์ของโลกและของชนชั้นนำไทยเอื้อที่จะใช้ปมนี้ในการรักษาอำนาจและอภิสิทธิ์ของตนไว้ได้ แต่นับจากคริสต์ทศวรรษ 1980 เป็นต้นมา สงครามเย็นเริ่มสิ้นสุดจนไม่เป็นเงื่อนไขทางการเมืองระหว่างประเทศอีกแล้ว ชนชั้นนำจึงใช้ปมเสียกรุงได้ยากขึ้นทุกที

ประเทศไทยไม่มีภัยคุกคามจากภายนอกมาตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่สอง แม้ความจริงข้อนี้ไม่เป็นที่ยอมรับของชนชั้นนำไทยตลอดมา แต่หลังการสิ้นสุดของสงครามเย็น ความจริงข้อนี้กลับเด่นชัดขึ้นจนยากจะปฏิเสธต่อไปได้ ปมเสียกรุงจึงหมดประโยชน์ นอกจากความหมายด้านความสามัคคี แต่ก็เป็นความสามัคคีที่ชนชั้นนำหาบทบาทของตัวไม่เจอ

สังคมไทยที่ปราศจากปมเสียกรุงคงจะเปลี่ยนแปลงไปมากกว่าที่ใครจะคาดได้