วิเคราะห์ : ทำไม? “ภาษีที่ดินฯ” ยังคงเป็นได้แค่ความฝัน!

3-4 ปีมานี้มีปัญญาชนผู้รอบรู้จำนวนมากฝันว่าประเทศไทยจะมีภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างกับเขาเสียทีเหมือนกับนานาอารยประเทศ เพราะภาษีที่เก็บจากทรัพย์สินประเภทอสังหาริมทรัพย์เช่นนี้ถือเป็นกฎหมายที่สร้างความเป็นธรรมกับประชาชนผู้เสียภาษี โดยผู้ได้ประโยชน์จากรัฐมากต้องเสียภาษีมาก ผู้ได้น้อยก็เสียน้อย

ฝันนี้ หวังด้วยว่ากฎหมายที่ก้าวหน้าแบบนี้ คราวนี้จะสำเร็จลงได้ด้วยรัฐบาลที่มาจากการรัฐประหารยึดอำนาจเสียด้วย เพราะอดีตที่ผ่านมาหลายสิบปี รัฐบาลใดที่นำกฎหมายในลักษณะนี้มาดำเนินการ รัฐบาลจะล้มเสียก่อนเสมอ

ถึงเวลานี้จวนสว่าง เริ่มมีการพูดถึงการเลือกตั้ง ฝันร่าง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างค่อยๆ เลือนรางลงเรื่อยๆ จนแทบไม่มีความหวังอะไรเหลืออยู่

 

การผลักดันกฎหมายนี้มีมาทุกยุคทุกสมัย ครั้งนี้ก็เช่นกัน ผลักโดย “เทคโนแครต” หัวก้าวหน้าในกระทรวงการคลัง ตั้งแต่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังคนแรกของรัฐบาล คสช. คือ นายสมหมาย ภาษี ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งรองปลัดกระทรวงการคลังมาก่อน

จนมาถึงนายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังคนปัจจุบัน แนวคิดและร่างกฎหมายฉบับนี้ก็อยู่ในกระบวนการออกกฎหมาย ตั้งแต่ขั้นการยกร่าง การรับฟังความคิดเห็น จนทุกวันนี้อยู่ในขั้นตอนของสภา สนช. มาประมาณปีครึ่ง

ระหว่างการยกร่างและระหว่างการพิจารณาของสภา มีทั้งเสียงสนับสนุนและเสียงคัดค้านเหมือนกับกฎหมายทั่วไป

แต่ที่แตกต่างคือจะมีกลุ่มผลประโยชน์ต่างๆ เคลื่อนไหวคัดค้านหลักการร่างกฎหมายนี้ทั้งเปิดเผยเป็นทางการและที่ไม่เป็นทางการ

น้ำหนักแรงผลักดันสนับสนุนและคัดค้านโน้มไปทิศทางไหน ดูได้ไม่ยาก

เพราะสภา สนช. ชุดนี้ปกติมักไม่ใช้เวลานานในการพิจารณาผ่านร่างกฎหมาย กฎหมายหลายฉบับผ่านวาระที่ 1 วาระที่ 2 และวาระที่ 3 รวดในการประชุมครั้งเดียวก็ยังมี แต่ร่างกฎหมายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างผ่านวาระที่ 1 ไปตั้งแต่มีนาคม 2560 เกือบปีครึ่ง ยังถูกขยายเวลาการพิจารณาต่อไปอีก

ยิ่งรัฐบาลชุดปัจจุบันมีท่าทีชัดเจนว่าหลังเลือกตั้งต้องการกลับมาเป็นรัฐบาลอีก ยิ่งคาดเดาไม่ยากว่าจะมีท่าทีอย่างไรกับร่างกฎหมายฉบับนี้

 

ผู้มีส่วนได้เสียในร่างกฎหมายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างนี้

อย่าเข้าใจผิดคิดว่าผู้ที่เดือดร้อนจนต้องออกแรงค้านคือบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์แสนล้านหมื่นล้านบาททั้งหลาย เพราะบริษัทเหล่านี้ซื้อที่ดินกันปีต่อปีในฐานะที่เป็นวัตถุดิบในการผลิตสินค้าบ้านจัดสรร คอนโดมิเนียม ภาระภาษีในกระบวนการทำธุรกิจก็เป็นส่วนหนึ่งของต้นทุนและจะถูกรวมไปในราคาขายในที่สุด ดังนั้น คนกลุ่มนี้ไม่เดือดร้อน ซ้ำยังจะได้ประโยชน์หากแลนด์ลอร์ดเจ้าของที่ดินโดนภาระภาษีกดดันให้รีบขาย

ผู้ที่เดือดร้อนตัวจริงคือแลนด์ลอร์ด ที่มีที่ดินมูลค่าสูงๆ และเคยเสียภาษีต่ำๆ ไม่ได้พัฒนาใช้ประโยชน์ที่ดินที่มีเต็มที่ และส่วนใหญ่ตกทอดกันมา แม้ในร่างกฎหมายฉบับนี้จะเริ่มเก็บในอัตราต่ำ แต่จากที่เคยเสียภาษีน้อย มาเป็นเสียเพิ่มขึ้นอีก และอนาคตอาจถูกปรับเพิ่มอัตราภาษีได้ ยังไงก็ไม่แฮปปี้

ปัญหาของบริษัทอสังหาฯ อยู่ที่ราคาที่ดินที่เป็นวัตถุดิบเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว และผู้บริโภคที่เป็นผู้ซื้อกำลังซื้อต่ำ

ปัญหาของประชาชนคนซื้อบ้าน คอนโดฯ คือรายได้เพิ่มขึ้นช้ากว่าราคาห้องชุดและบ้านที่เพิ่มขึ้น ทำให้ไม่สามารถซื้อที่อยู่อาศัยได้ตามต้องการ

ดังนั้น พิจารณาจากกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในร่างกฎหมายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พิจารณาจากโครงสร้างอำนาจทางการเมืองสังคมในปัจจุบันแล้ว คาดเดาได้เลยว่า ร่างกฎหมายนี้จะไม่ผ่านออกมาบังคับใช้

ที่ผ่านมา 3-4 ปี ใครที่ฝันว่ารัฏฐาธิปัตย์ทุกวันนี้จะเผลอให้ผ่าน

หรือใครที่ทุ่มเทเวลามากมายเพื่อผลักดัน

ก็คิดเสียว่าฝันไป และยังดีที่ได้ฝัน