อะไร(แม่ง)ก็เป็นศิลปะ : Our Sunshine กระบวนการจำลองภาพแทน ของตำนานขบถนอกกฎหมาย และอำนาจรัฐที่ล้อมกรอบประชาชน

ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์

บังเอิญว่ากลางเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา เราได้ไปชมนิทรรศการศิลปะอีกนิทรรศการหนึ่งที่น่าสนใจและท้าทายความรู้สึกอย่างยิ่ง

เลยถือโอกาสเอามาเล่าสู่ให้อ่านกันตามเคย

นิทรรศการนั้นมีชื่อว่า

Our Sunshine

ซึ่งเป็นนิทรรศการเดี่ยวของคธา แสงแข ศิลปินหนุ่มแห่งคณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ

ชื่อของนิทรรศการครั้งนี้ได้แรงบันดาลใจมาจากชื่อของนวนิยายของนักเขียนชาวออสเตรเลีย โรเบิร์ต ดรูว์ (Robert Drewe) ที่เล่าชีวประวัติของจอมโจรชื่อดังชาวออสเตรเลีย เน็ด เคลลี่ (Ned Kelly) ผู้มีชีวิตอยู่ในศตวรรษที่ 19

ชายหนุ่มธรรมดาผู้ถูกกดดันให้ต้องกลายเป็นโจรปล้นชิงทรัพย์สิน สังหารเจ้าหน้าที่ทางการ

แต่ในขณะเดียวกันเขาก็เป็นจอมโจรขวัญใจคนยาก ผู้ปล้นคนรวยช่วยคนจน

และกลายเป็นวีรบุรุษนอกกฎหมายผู้ลุกขึ้นต่อต้านอำนาจรัฐอันไม่เป็นธรรมจากรัฐบาลอาณานิคมภายใต้การปกครองของจักรวรรดิอังกฤษ

ภายหลังจากถูกจับกุมและประหารชีวิต

เน็ด เคลลี่ กลายเป็นตำนานบทหนึ่งในประวัติศาสตร์ชาติออสเตรเลีย วีรกรรมของเขาถูกเล่าขานผ่านนิทานพื้นบ้าน นวนิยาย ดนตรีโฟล์ก ภาพยนตร์ และงานศิลปะในแขนงอื่นๆ อีกมากมาย

นิทรรศการ Our Sunshine

คธาเองก็เป็นอีกคนหนึ่งที่ได้รับแรงบันดาลใจจากเรื่องราวนี้ โดยคธากล่าวถึงที่มาของผลงานครั้งนี้ว่า

“ผมรู้จักเน็ด เคลลี่ ในช่วงที่ผมกำลังเรียนปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัย Royal Melbourne Institute of Technology (RMIT) ออสเตรเลีย ผมสนใจความเกี่ยวข้องเชื่อมโยงระหว่างความเป็นมนุษย์ และการต่อสู้กับการถูกกดขี่รังแกและอำนาจอันไม่เป็นธรรม ในยุคที่กฎหมายไม่ได้อยู่ข้างประชาชนคนทั่วไป หากแต่อยู่ข้างอำนาจรัฐ”

“ผมใช้ตำนานของจอมโจรนอกกฎหมายอย่างเน็ด เคลลี่ เป็นเหมือนเครื่องมือในการช่วยอธิบายสภาวะของเมืองไทยในปัจจุบัน ที่แม้จะผ่านกระบวนการสร้างรัฐอันยาวนานจนน่าจะทำให้ประเทศมั่นคงและลงตัว หากแต่ในปัจจุบันสภาวการณ์ในประเทศกลับดูเหมือนจะย้อนกลับไปในยุคสมัยก่อนที่จะมีการสร้างรัฐ ความศิวิไลซ์ถูกเปลี่ยนแปลง รื้อทิ้ง จนไร้ความมั่นคงและลงตัว และดูเหมือนจะมีความดิบเถื่อนบางอย่างแฝงอยู่”

ในผลงานชิ้นแรกของนิทรรศการ We Are Ned Kelly (2018) คธาทำการสวมบทบาทเป็นจอมโจรชาวออสเตรเลียผู้นี้

We Are Ned Kelly (2018)

โดยใช้เวลาราวหกเดือนเปลี่ยนแปลงตัวเองด้วยการไว้ผมและหนวดเครารุงรังจนคล้ายกับภาพของเน็ด เคลลี่ ที่เผยแพร่ในอินเตอร์เน็ต

จากนั้นเขาก็ทำการถ่ายภาพตัวเองด้วยเทคนิค “Wet Plate” (Collodion process) ซึ่งเป็นเทคนิคการถ่ายภาพโบราณจากศตวรรษที่ 19 ซึ่งเป็นยุคสมัยเดียวกันกับเน็ด เคลลี่ โดยเลียนแบบทั้งมุมมอง รูปลักษณ์ และใช้เทคนิคที่ให้ความรู้สึกเก่าแก่โบราณ จนดูเหมือนกับว่าเป็นภาพถ่ายในยุคสมัยของจอมโจรนามกระเดื่องผู้นี้จริงๆ

สิ่งที่น่าสนใจก็คือ ในช่วงเวลาที่คธาไว้หนวดเครายาวรุงรังเพื่อสวมบทบาทเป็นจอมโจรในตำนาน

พอเขาต้องออกไปพบปะกับใครหรือทำธุระปะปังที่ไหน ปฏิกิริยาที่ได้รับจากคนรอบข้างก็มักจะเป็นความหวาดระแวงและไม่ไว้วางใจ ราวกับเขาเป็นโจรหรือผู้ก่อการร้ายเลยก็ปาน

ซึ่งแสดงให้เห็นถึงมายาคติในสังคมที่มองว่า คนไว้หนวดเครา = ผู้ร้าย เสมอๆ

“สิ่งที่ผมสนใจไม่ใช่ตัวตนของเน็ด เคลลี่ หากแต่เป็นความเป็นเน็ด เคลลี่ ที่มีอยู่ในตัวคนเราทุกคน ซึ่งจริงๆ ก็คือจิตวิญญาณแห่งความเป็นขบถ และการยืนหยัดเคียงข้างมวลชน เพื่อต่อสู้กับการกดขี่ข่มเหงโดยอำนาจรัฐอันไม่เป็นธรรมนั่นแหละ”

ในทางกลับกัน สัญลักษณ์ของอำนาจรัฐที่อยู่ตรงข้ามมวลชนก็ถูกสะท้อนผ่านผลงานชิ้นที่สองอย่าง The Devil”s Rope (2018) ศิลปะจัดวางคล้ายกับขดลวดหนามสีทองอร่าม ติดล้อมรอบผนังห้องแสดงงาน

The Devil’s Rope (2018)

คธามองว่าลวดหนามเป็นสัญลักษณ์ของการยึดครอง การแสดงความเป็นเจ้าของ และการขีดเส้นแบ่งดินแดน (ที่เดิมไม่เคยมีเส้นแบ่งอยู่จริง) ไม่ว่าจะเป็นการที่คนอเมริกันยึดครองดินแดนที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นของกลุ่มชนพื้นเมืองในทวีปอเมริกา และอ้างสิทธิแสดงความเป็นเจ้าของพื้นที่นั้นด้วยการล้อมลวดหนามขวางกั้น (จนทำให้ชนพื้นเมืองเรียกขานมันว่า “เชือกปิศาจ” (The Devil”s rope))

หรือแม้แต่การใช้ลวดหนามกั้นพื้นที่เพื่อกระชับวงล้อมโดยเจ้าหน้าที่รัฐ และติดป้าย “พื้นที่การใช้กระสุนจริง” ในเหตุการณ์ล้อมปราบและสลายการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดงในปี พ.ศ.2553

ด้วยกลวิธีทางศิลปะ คธาเปลี่ยนเครื่องมือเปี่ยมอันตรายที่ถูกใช้เป็นเครื่องกีดขวางมวลชน ให้กลายเป็นศิลปวัตถุ เครื่องประดับตกแต่ง หรือวัตถุสวยงามสำหรับการจ้องมองและเสพความงามด้วยสายตา โดยไม่อาจบุกรุกคุกคามใครได้อีกต่อไป

แต่ในขณะเดียวกัน มันก็ยังเปี่ยมอันตรายหากเราเข้าไปสัมผัสโดน ไม่ต่างอะไรกับกุหลาบงามที่มีหนามแหลมคม

นัยยะของการใช้อำนาจรัฐในผลงานทั้งสองชิ้นนี้ สอดคล้องกับงานวิจัยในช่วงปริญญาเอกของคธาเกี่ยวกับความหลากหลายทางอัตลักษณ์ของไทย (Hybridity of Thai Identity)

“งานวิจัยนี้ทำให้ผมต้องค้นคว้าเกี่ยวกับสังคม การเมือง การปกครอง และความเป็นรัฐชาติของไทย และพบว่า อำนาจทางการทหารถูกใช้มาตั้งแต่ครั้งที่มีเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี พ.ศ.2475 นั่นหมายความว่าประเทศไทยเราเป็นรัฐทหารมาตั้งแต่ต้นแล้ว”

Helmet of Military Power #1, #2 (2015 – 2018)

สิ่งเหล่านี้ถูกสื่อสารผ่านผลงาน Helmet of Military Power #1, #2 (2015-2018) ภาพถ่ายตัวเองของศิลปินที่สวมหมวกเหล็กทหารที่มีตุ๊กตุ่นทหารและช้าง (ซึ่งเป็นของเล่นของลูกชายของเขา) วางเทินกันเป็นยอดสูงจนดูคล้ายกับมงกุฎหรือชฎา

ซึ่งให้อารมณ์เสียดสีเหล่าบรรดาชนชั้นนำผู้ยึดติดกับการสวมหัวโขนและลุ่มหลงในอำนาจอยู่ไม่หยอก

นอกจากการจำลองภาพแทนของขบถนอกกฎหมายหรืออำนาจรัฐที่คุกคามประชาชนแล้ว คธายังแสดงออกถึงการใช้อาวุธและความรุนแรง อันเป็นพลังที่ถูกใช้โดยอำนาจทั้งสองฝ่าย ผ่านทางผลงานวิดีโอจัดวางในจอโทรทัศน์ Assassini (2018) ที่ฉายภาพศิลปินยิงอาวุธปืนต่อหน้าผู้ชม โดยภาพบนจอถูกนำเสนอแยกกับเสียงปืนที่ดังมาจากลำโพงที่อยู่อีกห้องหนึ่ง

ผลงานชิ้นนี้ของคธาทำให้เรานึกไปถึงผลงานสุดอื้อฉาวของศิลปินชาวอเมริกัน คริส เบอร์เดน อย่าง Shoot (1971) ที่ทำงานศิลปะแสดงสดด้วยการให้คนเอาปืนยิงเขาต่อหน้าผู้ชมจริงๆ ในพื้นที่แสดงงาน

ผลงานของคธาและเบอร์เดนเป็นการดึงผู้ชมให้สัมผัสกับประสบการณ์อันรุนแรงของการใช้อาวุธปืนอย่างจะแจ้ง ตรงไปตรงมา เพื่อกระตุ้นให้ผู้ชมที่อาจจะชาชินกับภาพเจนตาในการใช้อาวุธปืนผ่านสื่อสมัยนิยมต่างๆ กลับมาตระหนักถึงความเป็นจริงอันรุนแรงของอาวุธสังหารชนิดนี้

คธากล่าวว่า ผลงานชิ้นนี้ของคริส เบอร์เดน อาจจะไม่ได้เป็นแรงบันดาลใจให้เขาโดยตรง แต่ก็อาจจะมีแรงบันดาลใจทางอ้อมอยู่บ้าง เพราะสมัยตอนที่เรียนปริญญาโทที่มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ลอสแองเจลิส (UCLA) อยู่นั้น หนึ่งในอาจารย์ที่สอนเขาก็คือ แนนซี่ รูบินส์ (Nancy Rubins) ภรรยาของคริส เบอร์เดน นั่นเอง

กับคำถามที่ว่า สำหรับผลงานศิลปะที่สุดแสนจะท้าทายและสุ่มเสี่ยงดังเช่นในนิทรรศการนี้ ศิลปินควรจะมีกรอบและขอบขีดจำกัดของตัวเองหรือไม่

และในฐานะศิลปิน ตัวเขาพร้อมที่จะรับความเสี่ยงจากผลของมันแค่ไหน?

คธาตอบเราว่า

“คนทุกคนย่อมต้องมีกรอบของตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นหรือไม่เป็นศิลปิน เพียงแต่กรอบจะมากหรือน้อยก็ขึ้นอยู่กับบริบทของแต่ละคน และท้ายที่สุดแล้ว ทุกสิ่งทุกอย่างที่เราทำนั้นต้องมาพร้อมกับความรับผิดชอบ เราทุกคนย่อมต้องยอมรับต่อผลลัพธ์ของการกระทำของตัวเอง ไม่ว่าจะมากหรือน้อย”

“ส่วนเรื่องของความเสี่ยง ผมก็ต้องถามกลับว่า มีอะไรไม่เสี่ยงบ้างในชีวิต?”

ผลงานของคธามุ่งเน้นในการนำเสนอความสัมพันธ์ระหว่างศิลปะและสังคมที่ไม่อาจแยกขาดออกจากกันได้

เขามักสำรวจอัตลักษณ์ความเป็นไทยทั้งในระดับชาติและระดับปัจเจก ที่ก่อร่างสร้างตัวตนผ่านกระบวนการทางประวัติศาสตร์และโครงสร้างของอำนาจรัฐ อันเกิดจากความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองการปกครองนับตั้งแต่ยุค 2475 รวมถึงสำรวจผลกระทบจากวัฒนธรรมต่างชาติที่มีต่ออัตลักษณ์ของความเป็นไทย และปัญหาทางอัตลักษณ์ของผู้คนที่ก่อตัวจากการเปลี่ยนแปลงถิ่นที่อยู่อาศัย โดยมักจะใช้ตัวของเขาเองเป็นเครื่องมือในการทดลองด้วยประสบการณ์ตรงอย่างถึงลูกถึงคนตลอดมา

คธาทำงานศิลปะอย่างต่อเนื่องและมีนิทรรศการเดี่ยวและกลุ่มมากมายทั้งในและต่างประเทศ

ปัจจุบันเขาเป็นศิลปินอิสระและเป็นอาจารย์สอนในสาขาทัศนศิลป์ คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ

นิทรรศการ Our Sunshine

นิทรรศการ Our Sunshine จัดแสดงที่แกลเลอรี่เวอร์ (Gallery VER) ซอยนราธิวาส 22 ตั้งแต่วันที่ 11 สิงหาคม-23 กันยายน 2561 สนใจสอบถามรายละเอียดได้ที่ facebook @galleryver อีเมล [email protected] หรือเบอร์โทรศัพท์ 0-2103-4067 กันได้ตามอัธยาศัย

ขอบคุณภาพจากแกลเลอรี่เวอร์