เรืองชัย ทรัพย์นิรันดร์ : อยากพูดดีพูดเก่งต้องอ่าน

การบรรยายของ ดร.สุเมธ แสงนิ่มนวล ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย อาจารย์สาขารัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยสยาม และเป็นนักเขียน ในหัวข้อบุคลิกภาพและศิลปะการพูด ซึ่งเป็นหัวข้อเดียวกับอดีตรองนายกรัฐมนตรี พิชัย รัตตกุล ที่ได้เริ่มเกริ่นนำไปแล้วเมื่อสัปดาห์ก่อน

ดร.สุเมธ สรุปบุคลิกลักษณะผู้นำ 5 ประการ คล้องจองกันคือ

1.ฝึกนั่งแถวหน้า 2.สบตาเข้าไว้ 3.เดินไวกว่าเดิม 4.ฝึกเพิ่มการพูด 5.ครบสูตรยิ้มกว้าง

จำได้ง่ายดี เช่นเดียวกับองค์ประกอบของบุคลิกภาพ ประกอบด้วย 4 ข้อ คือ

1.บุคลิกทางกายภาพ 2.บุคลิกทางอารมณ์ 3.บุคลิกภาพทางสังคม 4.บุคลิกภาพทางสติปัญญา

ส่วนแนวทางการพัฒนาบุคลิกภาพ มี 3 ประการ คือ

1.มาดต้องตา คือ เมื่อใดก็ตามที่มีคนเห็นเรา บุคลิกต้องดีเสมอ 2.วาจาต้องใจ คือเมื่อใดก็ตามที่ต้องพูดกับใคร ต้องพูดแต่สิ่งดี มีประโยชน์ และผู้คนชื่นชอบ หรือปิยวาจา 3.ภายในยอดเยี่ยม คือ ไม่ว่าจะอยู่ในสถานการณ์หรือเหตุการณ์อย่างใด ต้องเข้มแข็งและคึกคักเสมอ

สรุปคือ “มาดต้องตา วาจาต้องใจ ภายในยอดเยี่ยม”

ส่วนศิลปะการพูด มี 2 ประการ คือ

1. การสนทนาพบปะพูดคุย คือการสนทนาอย่างไรให้ประทับใจ ด้วยเทคนิค คือ 1.สบตา และยิ้ม 2.ผงกศีรษะรับ (ต้องระวังอย่าผงกจนมากเกินไป) 3.ออกเสียงรับ 4.แสดงสีหน้าประกอบ

2. การพูดต่อหน้าที่ชุมนุมชน ต้องมีพลังผู้นำ 5 ประการในตัว แต่ที่สำคัญที่สุดคือ พลังแห่งการพูด

1.พลังแห่งความคิด 2.พลังแห่งการกระทำ 3.พลังแห่งมนุษยสัมพันธ์ 4.พลังแห่งบุคลิกภาพ 5.พลังแห่งการพูด


ทฤษฎีการพูดในที่ชุมชนมีหลายทฤษฎี ตั้งแต่

ทฤษฎี “ธรีซาวด์” บอกว่า จิตแจ่มใส ร่างกายสง่างาม และวาจาดี มีข้อคิดเป็นทฤษฎีการพูด 3 สบาย คือ ฟังสบายหู ดูสบายตา พาสบายใจ

หลักการทฤษฎีการพูด 3 สบาย คือบันได 13 ขั้น ไปสู่ฝันการพูด ดังนี้

เตรียมให้พร้อม ซักซ้อมให้ดี ท่าทีให้สง่า หน้าตาให้สุขุม ทักที่ประชุมไม่วกวน เริ่มต้นให้โน้มน้าว เรื่องราวให้กระชับ ตาจับที่ผู้ฟัง เสียงดังให้พอดี อย่าให้มีเอ้ออ้า ดูเวลาให้พอครบ สรุปจบให้จับใจ (และ) ยิ้มแย้มแจ่มใสตลอดการพูด – คล้องจองจนไม่ต้องเป็น 1. 2. 3. …

อาจารย์วสันต์ พงศ์สุประดิษฐ์ ให้ข้อคิดจากการใช้หลักบัญญัติ 10 ประการ “ทะยานสู่การพุด” คือ

1.ถ้ารู้ดีก็พูดได้ 2.เตรียมพร้อมไว้ก็พูดดี 3.พูดทั้งทีต้องเชื่อมั่น 4.แต่งกายนั้น ต้องเหมาะสม 5.ปรากฏโฉมกระฉับกระเฉง

6.ไม่ต้องเกร็ง ใช้ท่าทาง 7.สบตาบ้างอย่างทั่วถึง 8.ภาษาซึ้ง เข้าใจง่าย 9.น้ำเสียงไซร้ เป็นธรรมชาติ 10.อย่าให้ขาดรูปธรรม

ส่วน อาจารย์ทินวัฒน์ มฤคพิทักษ์ จากสถาพัฒนาบุคลิกภาพและศิลปะการพูด ย้ำกฎทองการพูดของ เดล คาร์เนกี้ สถาบันฝึกการพูดระดับโลก กำหนดไว้ 5 ประการ คือ

1.พูดเสียงดังฟังชัด 2.พูดชัดถ้อยชัดคำ 3.พูดให้ช้าลงบ้าง 4.พูดตาสบตา 5.เนื้อหาสาระดี

อาจารย์ทินวัฒน์บอกว่าเดิม เดล คาร์เนกี้ กล่าวไว้ว่า สัจธรรมการพูดคือ “สูงสุด คืนสู่สามัญ” และ “ผู้คนเขาสนใจว่าเราจะพูดอะไร มากกว่าจะพูดอย่างไร”

สำหรับเทคนิคการพูดในแต่ละโอกาส สิ่งที่ต้องคำนึง คือ

1. รู้วัตถุประสงค์ของงาน หรือจุดมุ่งหมายของการประชุมว่า การประชุมนั้น หรือการชุมนุมนั้น จัดขึ้นเพื่ออะไร ผู้ฟังเป็นใคร มาชุมนุมหรือมาร่วมงานในฐานะอะไร และสาระสำคัญของการชุมนุมอยู่ตรงไหน

2. รู้ลำดับรายการ คือ ต้องรู้ลำดับรายการทั้งหมดของงานนั้น ว่าเรียงลำดับไว้อย่างไร อะไรก่อน อะไรหลัง รายการของเราที่ต้องขึ้นพูดอยู่ช่วงเวลาไหน จะได้มีเวลาเตรียมตัว ต้องรู้ว่าขึ้นพูดในฐานะอะไร กล่าวในนามใคร เวลาที่กำหนดไว้นานเท่าใด ควรเท่าไร ก่อนหรือหลังการพูด มีสิ่งใดน่าสนใจเหตุการณ์พิเศษหรือไม่ ให้นำมาใช้ในการพูดได้

3. รู้สถานการณ์และผู้ฟัง อาจต้องมีการยืดหยุ่น พลิกแพลง ดัดแปลงเนื้อหาที่จะพูดให้เหมาะสมกับสถานการณ์และผู้ฟัง ดูด้วยว่าผู้ฟังมาฟังด้วยความสมัครใจ หรือถูกขอร้องให้มา หรือมาเพราะถูกบังคับ พูดก่อนรับประทานอาหารหรือไม่ ระหว่างพูดมีบุคคลสำคัญเดินเข้ามาในงาน เป็นอีกสถานการณ์หนึ่งที่ต้องระวัง

โอกาสในการพูดมี 7 โอกาส คือ

1.กล่าวแสดงความยินดี 2.กล่าวไว้อาลัย 3.กล่าวอวยพร 4.กล่าวสดุดี 5.กล่าวมอบรางวัล หรือมอบตำแหน่ง 6.กล่าวต้อนรับ 7.กล่าวแนะนำผู้พูดหรือองค์ปาฐก

หลักการพูดในแต่ละโอกาสที่สำคัญ มีดังนี้

1.พยายามคิดค้นลักษณะเฉพาะของโอกาส หรือบุคคลที่เรากล่าวถึง อย่าพูดเหมือนกันทุกงาน 2.อย่าลืมขึ้นต้น และลงท้ายให้ดี 3.อย่าพูดนานเกินไป ควรรวบรัด 4.จำชื่อเจ้าภาพให้ได้ 5.อย่าใช้การอ่าน ยกเว้นจำเป็น 6.ใช้อารมณ์ขันได้บ้างตามความเหมาะสม (ข้อห้าม อย่าใช้อารมณ์ขันในงานเศร้าเสียใจ)

ส่วนเทคนิคในการพูดแต่ละโอกาส ต้องเปิดฉากให้น่าสนใจ จะให้ดีจงกล่าวสั้นๆ พูดให้เกี่ยวข้องกับ “งาน” และ “คน” อย่าสับสน จงพูดแต่สิ่งที่ดี พูดให้มีหลักสุนทรพจน์ คือมีคำนำ เนื้อเรื่อง และบทสรุป

สุดท้าย สูตรขั้นตอนการพูดในแต่ละโอกาส เริ่มต้นด้วยกล่าวทักและแสดงความรู้สึก พูดถึงความสัมพันธ์กับเจ้าภาพ พูดถึงคุณงามความดีของเจ้าภาพ พูดถึงความสำคัญของงาน ให้ข้อคิดและคติ สุดท้ายคือสรุปและอวยพร

เป็นอันจบเรื่องบุคลิกภาพและศิลปะการพูด ซึ่งหากนำไปประยุกต์ใช้จะเป็นประโยชน์กับผู้นำมาก

ปิดการบรรยาย เป็นการว่าถึงเคล็ดลับการรักษาสุขภาพอนามัยสำหรับผู้นำเมือง ผู้มาให้ข้อคิดเห็นคือ คุณหมอพรเทพ ศิริวนารังสรรค์ เมื่อสัปดาห์ก่อน ผมแจ้งว่า คุณหมอเป็นผู้หนึ่งที่เข้าอบรมในรุ่นนี้ อาจเป็นเพราะผมสับสนที่เรียนสองหลักสูตรติดต่อกัน ซึ่งคุณหมอเป็นผู้หนึ่งที่อบรมร่วมในหลักสูตรก่อน

ขออภัยไว้ ณ ที่นี้ เรื่องของคุณหมอขอนำเสนอสัปดาห์หน้าครับ