ทำอย่างไร…เปลี่ยนไทย ให้เป็น “สตาร์ตอัพ ฮับ”

เมื่อต้นเเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา “เทก อิน เอเชีย” สื่ออิเล็กทรอนิกส์ด้านเทคโนโลยีและสตาร์ตอัพในเอเชียจากสิงคโปร์ เปิดให้ “ดิสคัส” กันเรื่องเป้าหมายการก้าวขึ้นเป็น “สตาร์ตอัพ ฮับ” แห่งใหม่ของไทย ที่รัฐบาลพยายามผลักดัน โดยมีเป้าหมายเพื่อแข่งขันกับ “เจ้าเก่า” อย่างสิงคโปร์ในอนาคตอันใกล้

เป้าหมายที่ว่านี้สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงมากน้อยแค่ไหน เป็นไปได้มากน้อยเพียงใด คือประเด็นที่เปิดถกกันครับ

ความเห็นที่น่าสนใจมาจาก “สแตนลีย์ หว่อง” กรรมการผู้จัดการของ เค 2 เวนเจอร์ แคปปิตอล ที่มีเป้าหมายเพื่อการลงทุนกับสตาร์ตอัพโดยตรง

 

กับคำถามที่ว่า ไทยจะทำได้หรือไม่? สแตนลีย์เชื่อว่า ผลลัพธ์ที่ออกมาไม่น่าจะบอกได้ชัดเจนนัก แต่จะผสมผสานกันมากกว่าที่จะเห็นกันชัดๆ

เหตุผลก็คือ ในกิจการบางเซ็กเตอร์ ไทยเหมาะที่จะเป็นจุดหมายของสตาร์ตอัพอยู่แล้ว อย่างเช่น เทคโนโลยีการเกษตร, ดิจิตอล เฮลท์แคร์ หรือดิจิตอล ทัวริสต์ เป็นต้น

แต่ในอีกหลายเซ็กเตอร์ ไทยยังจำเป็นต้องดำเนินการอีกหลายขั้นตอนมากเพื่อที่จะสามารถแข่งขันกับรายอื่นๆ ได้ในฐานะเป็นจุดหมายในการเริ่มต้นกิจการ แม้ว่ารัฐบาลชุดปัจจุบันจะลงทุนไปมากแล้วในการพัฒนาสาธารณูปโภค, ให้แรงจูงใจทางภาษี อย่างเช่นที่ดำเนินอยู่ในโปรเจ็กต์ “ระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก” หรือ “อีอีซี” แถมยังตอบสนองต่อความต้องการอื่นๆ อีก อย่างเช่น การปรับปรุงกฎหมายและระเบียบข้อบังคับต่างๆ อาทิ เรื่องกฎเกณฑ์การซื้อขายเงินดิจิตอลหรือการนำเสนอเงินสกุลดิจิตอล เป็นต้น

แต่สแตนลีย์ชี้ให้เห็นว่าความต้องการและสภาวะแวดล้อมที่จำเป็นของ “เทกสตาร์ตอัพ” นั้น แตกต่างไปจากบริษัททั่วไปที่เป็นอุตสาหกรรมหรือธุรกิจการผลิต

 

แรกสุด คือสตาร์ตอัพพึ่งพา “บุคลากรคุณภาพ” สูงมาก แต่พึ่งพา “เงินทุน” น้อยกว่า

ยุทธศาสตร์ในการดึงดูดเอา “คน” ที่มีคุณภาพในระดับ “ทาเลนต์” ย่อมแตกต่างออกไปจากยุทธวิธีในการดึงดูด “เงินทุน” เข้ามาในประเทศไม่น้อยเลยทีเดียว

นั่นคือเหตุผลที่ว่า ทำไมเมื่อปี 2017 ที่ผ่านมา ไทยถึงถูกจัดอยู่ในอันดับที่ 70 ในการจัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันของบุคลากรคุณภาพระดับโลก ในขณะที่สิงคโปร์อยู่อันดับที่ 2

อันดับของไทยนั้น ตามหลังประเทศอย่างมาเลเซีย, ฟิลิปปินส์, จีน หรือแม้กระทั่งมองโกเลียด้วยซ้ำไป

ข้อเสนอของสแตนลีย์ หว่อง ในการแก้ปัญหา “คน” นี้ มีแค่ 3 หัวข้อ แต่น่าสนใจมากครับ

แรกสุด คือต้องเพิ่ม “ทาเลนต์” ในท้องถิ่นให้มากขึ้นในแง่ปริมาณและสูงขึ้นในแง่คุณภาพไปพร้อมๆ กัน ถ้าทำไม่ได้ ไทยก็ไม่มีทางแข่งขันกับสิงคโปร์ได้ เพราะนี่คือสิ่งที่สิงคโปร์ได้เปรียบไทยมากที่สุดอยู่ในเวลานี้ ประเด็นนี้จะกลายเป็น “เหตุปัจจัยเชิงลบ” ของไทยตลอดไป

หนทางแก้ไขนั้นมีบางหน่วยงานในไทยทำอยู่แล้ว แต่ต้องทำเพิ่มขึ้นอีกในความเห็นของสแตนลีย์ นั่นคือการร่วมมือระหว่างประเทศในด้านการวิจัยและการศึกษาเทคโนโลยี

เหมือนกับที่สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้า (เคเอ็มไอที) ร่วมมือกับคาร์เนกี เมลลอน มหาวิทยาลัยอเมริกันในด้านอินฟอร์เมชั่น คอมพิวติ้ง แอนด์ ออโตโนมัส เทคโนโลยี ที่ควรส่งเสริมให้มากขึ้นไปอีกครับ

 

ประเด็นที่ 2 คือเรื่องของการพัฒนาคลัสเตอร์ด้านการวิจัยและพัฒนา ด้วยเหตุผลที่ว่า สตาร์ตอัพด้านเทคโนโลยีนั้นมีแนวโน้มที่จะเกิดขึ้นอยู่รอบๆ สถาบันและศูนย์วิจัยต่างๆ

สถาบันเพื่อการวิจัยและพัฒนา และศูนย์วิจัยต่างๆ เหล่านี้คือจุดสำคัญที่นวัตกรรมกับบุคลากรคุณภาพระดับทาเลนต์มาบรรจบกัน

นี่คือเหตุผลที่ว่าทำไมโครงการอย่าง “ไซเบอร์พอร์ต” และ “ทรู ดิจิตอล ปาร์ก” ของไทยถึงมีความสำคัญในการแสวงหาความร่วมมือกับสถาบันวิจัยต่างประเทศและช่วยดึงดูดบุคลากรคุณภาพระดับอินเตอร์เข้ามาในประเทศไทย

 

ประเด็นสุดท้าย คือเรื่องของการปรับปรุงกฎระเบียบด้านแรงงาน ที่เป็นอีกจุดแข็งสำคัญของสิงคโปร์ ซึ่งอ้าแขนต้อนรับแรงงานเทคโนโลยีต่างชาติอย่างเต็มที่และเต็มใจเสมอมา

แม้ไทยจะมีโปรเจ็กต์อย่าง “สมาร์ต วีซ่า สคีม” แต่ก็ยังจำกัดอยู่มาก ในการดึงดูดบุคลากรจากต่างประเทศและเปิดโอกาสให้สตาร์ตอัพด้านเทคโนโลยีทั้งหลายเข้ามาเปิดออฟฟิศในประเทศ

การออกใบอนุญาตในการทำงาน หรือเวิร์ก เพอร์มิต ของไทยจำเป็นต้องได้รับการปรับปรุงให้เอื้อต่อการนี้ด้วยถึงจะดี

เพียงเท่านี้ การเป็นสตาร์ตอัพ ฮับของไทยก็ไม่ใช่เป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้อีกต่อไป